บทบาทของครูยุค IT
IT ซึ่งมาจากคำว่า Information Technology หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า "เทคโนโลยีสารสนเทศ" คำๆนี้ถูกใช้บ่อยขึ้น เช่นเดียวกับคำว่า "โลกาภิวัฒน์" หรือ "โลกไร้พรมแดน" (Globalization)
ไอทีหมายถึงเป็นผลรวมของเทคโนโลยี 2 ประเภท คือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้เเก่ ตัวคอมพิวเตอร์ หน่วยความจำ ชิพ เครื่องพิมพ์ สายสัญญาณ โมเด็ม โปรมเเกรม ฯลฯ และเทคโนโลยีโทรคมนาคม หรือที่เรียกว่าการสื่อสารทางไกล เช่น โทรศัพท์ โทรสาร ไมโครเวฟ สายใยเเก้วนำเเสง ดาวเทียม สื่อสาร เป็นต้น มนุษย์เราได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทั้ง 2 ประเภท ได้อย่างกว้างขวางเเละหลากหลายขึ้น โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นตัวอย่างของการนำไอทีมาใช้งานที่ชัดเจนที่สุด ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และการทำงานของคนเราทำให้เกิดสังคมยุคสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีโทรคมนาคมในการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันและการเรียนรู้ ดังเห็นได้จากบริบทของสำนักงานอัตโนมัติ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การศึกษาทางไกลผ่านระบบเครือข่าย การติดต่อสื่อสารทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตและเว็บบริบทต่าง ๆ
กระบวนการเรียนการสอนในปัจจุบันจึงมีความจำเป็นอย่างสูงที่จะต้องนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาจัดการ ด้วยเหตุว่าข้อมูลข่าวสารที่จะนำเข้ามาสู่ห้องเรียนในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูล เกี่ยวกับสารสนเทศกระบวนการสอนของครูและวิธีการศึกษาของนักเรียนก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยปรับรูปแบบของความรู้ให้เหมาะสมกับกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน
เมื่อกล่าวถึงการเรียนในชั้นเรียนแล้ว ทุกคนมักนึกภาพห้องเรียนที่มีคุณครูยืนอยู่หน้าชั้นแล้วบ่นอะไรไปเรื่อยๆ นักเรียนหลังห้องก็หลับบ้าง คุยกันบ้าง มีนักเรียนตั้งใจเรียนกันอยู่หน้าห้องไม่กี่คน ซึ่งบรรยากาศอย่างนี้ไม่ใช่บรรยากาศในการเรียนรู้เลย เมื่อผู้เรียนรู้สึกไม่สนุกกับการเรียน ผู้สอนรู้สึกเบื่อหน่ายกับการสอนได้แต่นับเวลาให้ผ่านไปแต่ละชั่วโมงแล้วจะให้การเรียนบรรลุผลคงเป็นไปไม่ได้
บทบาทของครูในยุคไอทีนั้นจะต้องเป็นผู้สร้างสรรค์และส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้สื่อเพื่อการศึกษาอย่างเป็นกระบวนการ ได้รับความรู้จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองอย่างแท้จริง โดยผู้เรียนจะต้องมีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ขององค์ความรู้กับการค้นคว้า เข้าใจและรู้จักเลือกสรรข้อมูลที่มีอยู่อย่างมากมาย นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งในปัจจุบันนานาประเทศต่างให้ความสำคัญของการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นจึงต้องเอาใจใส่ติดตามเป็นประจำ มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนล้าหลัง นอกจากนั้นครูต้องส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองทั้งนอกและในโรงเรียน
ครูจึงต้องเน้นในเรื่องการจัดการความรู้ มากกว่าเน้นการจัดการสารสนเทศ เพื่อที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายของการเป็นแหล่งองค์ความรู้และองค์กรในการถ่ายทอดความรู้ สถาบันการศึกษาสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อบรรลุเป้าหมายได้หลายรูปแบบ เช่น การใช้เทคโนโลยีเว็บในการเผยแพร่ความรู้ Search Engine ใน การค้นหาข้อมูลที่ต้องการระบบฐานข้อมูลในการเก็บองค์ความรู้ ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนต์ในการถ่ายทอดความรู้ทางไกล ในปัจจุบันมีสถาบันการศึกษา หลายแห่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยสนับสนุนในโครงการต่าง ๆ เช่น eUniversity, eLibrary, eClassroom, eLearning หรือ Itcampus เป็นต้น ฐานข้อมูลสำหรับอ้างอิงที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการเรียนและวิจัย
ดังนั้นเราจึงพอที่จะสรุปบทบาทของครูในยุคไอที ได้ดังต่อไปนี้
1. การะบวนการเรียนการสอนโดยยึดนักเรียนเป็นสำคัญ คือ ครูทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนอย่างเต็มศักยภาพตามพระราชบัญญัติการศึกษาแหงชาติ 2542 ได้กำหนดไว้
2. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ ครูต้องฝึกนิสัยให้นักเรียนรักการเรียนรู้ รักการค้นคว้า และรู้จักคิดวิเคราะห์ ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
3. ครูต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสารสนเทศและการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม คือ ครูต้องเป็นผู้ชี้แนวทางในการเลือกใช้ความรู้หรือไอทีต่างๆให้มีความเหมาะสม ไม่ให้ผู้เรียนถูกมอมเมาจากข้อมูลที่มีอย่างมากมายในโลกอินเทอร์เนต
4. ครูต้องสร้างให้นักเรียนเป็นผู้รู้อย่างเท่าทัน เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สามารถรู้ว่าสิ่งใดเป็นข้อมูลที่ควรนำไปใช้ ข้อมูลใดไม่ควรเลือกบริโภค
5. ครูต้องเป็นผู้ที่สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างหลากหลายที่จะชี้แนะแนวทางในการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้
ถึงแม้เทคโนโลยีความทันสมัยต่างๆจะมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าในโรงเรียนที่ห่างไกลความเจริญนั้นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นั้นมีน้อย หรือครูผู้ที่ทำหน้าที่สอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีในโรงเรียนก็ขาดแคลน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา คือ เด็กไม่ได้รับโอกาสที่จะได้เรียนรู้ความรู้จากโลกอินเตอร์เนท ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่กว้างใหญ่ที่สุดในขณะนี้ ปัญหาในส่วนนี้ต้องให้รัฐบาลต้องเป็นผู้ดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป
แม้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก แต่การอบรมทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมนั้น ครูจะต้องเป็นผู้อบรมสั่งสอนของควบคู่กันไปกับการเรียนรู้ต่างๆ เป็นการช่วยเตรียมให้นักเรียนมีความพร้อมในการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างเหมาะสม พัฒนานักเรียนให้มีความรู้ทางด้านไอที ควบคู่กับการมีคุณธรรมจริยธรรมได้แล้วก็จะถือว่า ครูยุคไอทีได้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนานักเรียนแล้ว
ที่มา : http://www.l3nr.org/posts/375929
บทบาทของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวัน
1. ด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล
2. ด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
2.1. ข้อมูลประเภทข่าว
2.2. ข้อมูลประเภทความรู้เชิงวิชาการและความรู้ทั่วไป
2.3. ข้อมูลประเภทโฆษณาประชาสัมพันธ์
2.4. ด้านความบันเทิง
2.5. ด้านงานราชการ
2.6. ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์
2.7. ด้านโทรคมนาคม
2.8. ด้านธุรกิจ
2.9.ด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม