ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ปอดบวมในเด็ก

ปอดบวมในเด็ก

วันเสาร์ ที่ 30 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

 

“โรคปอดบวมในเด็ก” เกิดจากการที่เชื้อโรคผ่านทางเดินหายใจลุกลามเข้าไปถึงถุงลมของปอด ทำให้เกิดการอักเสบของถุงลม  มีเชื้อโรค เม็ดเลือดขาว และสารคัดหลั่งต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามาแทนที่อากาศในถุงลม ทำให้ถุงลมไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนได้ตามปกติ  ถ้าเป็นมาก ๆ ร่างกายจะขาดออกซิเจน เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
   
ลักษณะอาการและความแตกต่างจากไข้หวัด อาการของเด็กที่เป็นโรคปอดบวมจะมีไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ซี่โครงบาน ปีกจมูกบาน และหายใจแรงกว่าปกติ  ถ้าเป็นมาก ๆ ปากจะเขียว ซีด ซึม หรือหงุดหงิดร้องไห้ งอแงมากกว่าปกติ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากอาการไอจากไข้หวัดธรรมดาโดยเด็กที่เป็นปอดบวม มักจะไอแรง ไอลึก ไอถี่ หอบเหนื่อย หายใจเร็วกว่าปกติร่วมด้วย ในขณะที่ถ้าเด็กเป็นแค่ไข้หวัดมักจะหายใจได้ตามปกติ ไม่เหนื่อยมักจะไอโขลก ๆ แบบมีเสมหะ
   
แนวทางการรักษา ถ้าอาการไม่มาก สามารถให้ยาและรักษาแบบไปกลับได้ แต่ถ้ามีอาการหอบมาก กินไม่ได้ ปากเขียว ซีด วัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วได้ต่ำกว่าปกติ ซึม หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด ก็ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
   
การรักษาโรคปอดบวมในโรงพยาบาล ต้องให้ออกซิเจน ยาแก้ไข้ ให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือดดำ และที่สำคัญคือ ให้ยาปฏิชีวนะตรงกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ  หากอาการไม่ดีขึ้น มีการล้มเหลวของการหายใจก็ต้องใส่ท่อหลอดลมคอ และใช้เครื่องช่วยหายใจ
       
เด็กที่เป็นปอดบวม มักจะได้รับเชื้อจากคนใกล้ชิดที่มีเชื้อโรค ที่ไอ จาม หายใจรดกัน  บางครั้งได้รับมาจากสถานที่แออัด เช่น เนอร์สเซอรี่ สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า รถโดยสารประจำทาง เป็นต้น  เด็กเล็ก ๆ บางรายได้รับเชื้อโรคมาจากพ่อแม่ ญาติ หรือพี่น้องที่ไปรับเชื้อโรคมาจากโรงเรียนหรือที่อื่น ๆ
   
เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ มักมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปอดบวมมากที่สุด เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่รู้จักวิธีป้องกันตัวเอง การไอ จาม หายใจรดกัน เป็นการแพร่เชื้อโรคให้กันและกัน  อีกทั้งภูมิต้านทานโรคของเด็กยังไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ เด็กเล็กบางรายได้รับควันบุหรี่อยู่เสมอ ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจของเด็กมีการเปลี่ยนแปลง ขนอ่อนที่คอยโบกพัดสิ่งแปลกปลอมไม่ทำงาน เม็ดเลือดขาวไม่แข็งแรง กรองเชื้อโรคไม่ได้ แล้วปล่อยให้เชื้อโรคลุกลามเข้าสู่ถุงลมได้ง่าย ทำให้เกิดปอดบวมตามมา ที่สำคัญคือ การหายใจล้มเหลว เด็กหายใจไม่ทัน อาจจะมีอาการหอบเหนื่อย เขียว และถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนโรคแทรกซ้อนของปอดบวมอื่น ๆได้แก่ มีน้ำหรือหนองในเยื่อหุ้มรอบปอด ปอดแฟบ หลอดลมโป่งพอง เป็นฝีที่ปอด ถุงลมโป่ง ตึง แตก ทำให้การรักษายาก และนานขึ้น ทำให้เป็นอันตรายต่อเด็กมากยิ่งขึ้น
   
ในเด็กบางรายที่เคยเป็นปอดบวม รักษาหายไปแล้วก็กลับมาเป็นอีกได้ อาจจะเป็นที่เนื้อปอดที่เดิม หรือกระจายไปที่อื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการเป็นปอดบวมซ้ำ ซึ่งอาจจะเกิดจากการสำลักน้ำลายหรืออาหาร  การเป็นโรคหืดที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง  ความผิดปกติทางกายวิภาคของปอดหรือหลอดลม  หรืออาจจะเป็นที่ตัวเด็กเองมีภูมิต้านทานบกพร่อง  เช่น  ติดเชื้อเอดส์  เป็นต้น
   
วิธีการป้องกันและหลีกเลี่ยง โดยทั่วไป การดูแลเด็กให้เป็นเด็กแข็งแรง มีสุขอนามัยที่ดีทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน  ให้ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่  ออกกำลังกายกลางแจ้งอยู่เสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ  ให้วัคซีนภาคบังคับตามเกณฑ์อายุ  สำหรับเด็กที่เป็นหวัดบ่อย ๆ หรือเป็นภูมิแพ้ หอบหืด ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล  และวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพิ่มเติมขึ้นจากวัคซีนปกติ
   
ที่สำคัญ พยายามหลีกเลี่ยงควันบุหรี่  ไม่ไปสถานที่แออัดที่อากาศไม่ค่อยถ่ายเท  ไม่คลุกคลีใกล้ชิดผู้ที่มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล เจ็บคอ มีไข้
   
ข้อแนะนำอื่น ๆ ได้แก่ หากมีพี่น้องที่ไปโรงเรียน กลับมาให้อาบน้ำ ล้างมือก่อนมาเล่นกับน้องเล็กที่บ้าน
   
หากมีคนที่บ้านป่วย ต้องพยายามให้อยู่ห่างจากเด็ก และสวมหน้ากากอนามัย
   
สิ่งที่สำคัญควรเน้นย้ำคือ ถ้าพ่อหรือแม่สูบบุหรี่ ควรเลิกสูบบุหรี่  มิฉะนั้นเด็กเล็ก ๆ ที่สัมผัสกับควันบุหรี่จะมีโอกาสเป็นปอดบวมได้ง่ายขึ้น.

ศ.พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์
หัวหน้าหน่วยระบบหายใจเด็กภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 



แพทย์ วิสัญญี เภสัชกร ยาแผนปัจจุบัน การดูแลผู้ป่วย สาระน่ารู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ

ควรทานยาปฏิชีวนะให้ครบ
ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
โรคฉี่หนู
อย่ากินแอปเปิ้ลไซเดอร์ถ้าไม่รู้ 4.5 ข้อนี้ article
ผิวดำง่ายมากเกิดจาก 6 ข้อนี้ article
กินอาหารแล้วอ้วนจริงหรือ article
เอ็นข้อศอกอักเสบ เกิดจากอะไร? article
เจาะลึกกระบวนการ 'ทดลองยาในคน' article
กว่าจะเป็นยา ต้องผ่านขั้นตอน อะไรบ้าง? article
5 โรคร้ายรักษาง่ายๆด้วย ข้าวกล้อง article
เคล็บลับนอนหลับง่ายๆโดยไม่ต้องใช้ยา article
5 อาหารไขมันสูงยิ่งกินยิ่งผอม article
มือชา รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
กระดูกพรุน รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
เท้าปุก คืออะไร? รักษาอย่างไร? article
กระดูกสันหลังเสื่อม รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
ปวดหลังร้าวลงขา นั่งไม่ได้ รักษาอย่างไร? article
โรคท้องผูก ลำไส้ทำงานอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
การรับมือกับโรคมะเร็ง article
โรคหลอดเลือดหัวใจในหนุ่มสาว article
การจัดการโรคไตเรื้อรัง และสิ่งที่เชื่อผิดๆ article
น้ำดื่มบำรุงไต ไม่อยากฟอกไตต้องดู article
5 ความเชื่อผิดๆที่ทำให้ลดน้ำหนักไม่มีวันสำเร็จ article
7 วิธีควบคุมความดันโดยไม่ต้องพึ่งยา article
3 เทคนิคลดความอ้วน “#ไม่ต้องออกกำลังกาย” article



เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน