ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




รู้เท่าทัน 'ภาวะอ่อนแรงเฉียบพลัน' หมั่นสังเกตอาการ...ลดความเสี่ยง

รู้เท่าทัน 'ภาวะอ่อนแรงเฉียบพลัน' หมั่นสังเกตอาการ...ลดความเสี่ยง

สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างปรารถนา การรู้เท่าทันต่อโรคภัยไข้เจ็บดูแลสุขภาพเตรียมความพร้อมไว้สิ่งนี้มีความหมายความจำเป็น

ยิ่งกลุ่มผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงหรือกำลังเผชิญกับ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงหรือความดันเลือดสูง ควรดูแลสุขภาพใกล้ชิดและหากมีอาการผิดปกติ อย่างเช่น อ่อนแรงเฉียบพลัน อย่านิ่งนอนใจควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ !!
   
อ่อนแรงเฉียบพลันจากสมองขาดเลือด อาการดังกล่าวพบในกลุ่มผู้สูงอายุ นพ.อนุสรณ์ โสฬสรุ่งเรือง รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ศูนย์รังสีวินิจฉัยรัชวิภาเอ็มอาร์ไอเซ็นเตอร์ ให้ความรู้ พร้อมแนะนำถึงการดูแลรักษาสุขภาพ ลดเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงหลีกไกลจากอาการดังกล่าวว่า โรคดังกล่าวเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทอย่างหนึ่งซึ่งผู้ป่วยจะมาด้วยอาการแขนขาอ่อนแรง ชา อาจจะมีอาการพูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ฯลฯ ซึ่งในความผิดปกติจะอยู่ที่สมองเป็นส่วนใหญ่ อาจเกิดจาก สมองขาดเลือดและอีกอย่างหนึ่งคือมีเลือดออกในสมอง
   
“ในอาการสมองขาดเลือดมีสาเหตุจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง อาจมีการตีบเนื่องจากมีไขมันไปพอกมีแคลเซียมเกาะหรืออาจมีการอุดตันของลิ่มเลือด เนื่องจากภาวะความผิดปกติของหัวใจ ขณะที่ภาวะเลือดออกในสมองมีหลายเหตุที่พบได้บ่อยคือความดันโลหิตสูง ส่วนสาเหตุอื่นที่อาจพบเจอในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยอาจเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดสมองแต่กำเนิดซึ่งสาเหตุทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความผิดปกติของอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาทซึ่งจะไปทำลายเนื้อสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย เกิดความอ่อนแรงขึ้นได้”
    
อาการอ่อนแรงเฉียบพลันที่เกิดขึ้นจึงไม่ควรมองข้ามควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเร็วเท่าไหร่ก็จะสามารถช่วยฟื้นฟูรักษาได้ทันท่วงที ดังที่ทราบ ช่วงที่สมองขาดเลือดเนื้อสมองอาจจะยังไม่ตายทันทีแต่การที่เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงจะทำให้การทำงานมีความผิดปกติ ในทางตรงข้ามถ้าช่วยให้เลือดเลี้ยงสมองได้มากขึ้นก็จะช่วยฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ปกติได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้สมองขาดเลือดนานก็อาจจะถูกทำลายทำให้มีอาการเหล่านั้นถาวร
   
“ภาวะอาการดังกล่าวพบได้บ่อยโดยมากมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง ในกลุ่มที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ฯลฯ ก็อาจมีปัจจัยเสริมกัน ดังนั้นควรเพิ่มความระมัดระวังดูแลสุขภาพเตรียมความพร้อมไว้
   
ส่วนสัญญาณเตือนก่อนต้องเผชิญกับภาวะอ่อนแรงเฉียบพลันในผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อยอาจจะพบอาการแขนขาอ่อนแรงเมื่อตื่นขึ้นมา แต่ก็จะเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ และจะหายไปหรือหากมีภาวะความเสี่ยงสมองขาดเลือดชั่วคราวก็จะมีอาการหายเป็นปกติได้ภายใน 24 ชม. แต่อย่างไรแล้วก็ถือเป็นความเสี่ยงเป็นเหมือนสัญญาณเตือนซึ่งไม่ควรนิ่งนอนใจควรได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”
   
นอกจากนี้บางครั้งอาจไม่มีการเตือนล่วงหน้า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสมองที่ถูกทำลาย ถ้าถูกทำลายไปไม่มากอาการที่เกิดขึ้นก็อาจมีปรากฏเล็กน้อย แต่หากถูกทำลายไปมากก็จะมีกระบวนการต่าง ๆ ตามมา เช่น เซลล์จะบวมมากขึ้น เนื้อสมองแน่นขึ้น และเนื่องจากภายในกะโหลกศีรษะของคนเราจะมีเนื้อที่จำกัด หากสมองบวมจะยิ่งกดเบียดที่อันตรายสุดเป็นการเบียดดันร่นมาที่บริเวณสำคัญ ดังนั้นหากทราบเร็วได้รับการตรวจรักษาทันท่วงทีก็จะมีโอกาสมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
   
ขณะที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น ซีที สแกนหรือ เอ็มอาร์ไอ เครื่องมือช่วยการตรวจวินิจฉัยที่มีความก้าวหน้าสามารถตรวจได้อย่างรวดเร็วเข้าถึงซึ่งก็จะมีผลต่อการรักษาช่วยเหลือผู้ป่วยซึ่งการรักษาแต่ละโรคจะมีความต่างกัน อย่าง สมองขาดเลือด เลือดออกในสมอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสมองจะเป็นผู้วินิจฉัยในการรักษาและการรักษาอาการทางสมองแต่ละวินาทีมีความสำคัญ หากได้รับการวินิจฉัยได้รวดเร็วก็จะยิ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วย
   
ดังนั้น หากพบว่ามีอาการชา อ่อนแรงอย่านิ่งนอนใจควรรีบมาพบแพทย์เพราะอาการที่ปรากฏนั้นไม่อาจทราบได้ว่าจะมีความผิดปกติของเนื้อสมองหรือความผิดปกติด้านใด มากน้อยแค่ไหนและถ้าปล่อยเนิ่นนานไปก็อาจจะยากต่อการแก้ไขให้กลับคืน
   
“อาการอ่อนแรงมีหลายระดับนับแต่กำมือไม่แน่น กำมือไม่ได้ไปจนกระทั่งถึงยกขาใช้มือขยับไม่ได้ซึ่งความอ่อนแรงนั้นคือไม่มีกำลัง อย่างปกติมือสามารถจะหยิบจับสิ่งของได้ แต่ในอาการดังกล่าวอาจหยิบจับแล้วหลุดออกจากมือหรือไม่สามารถหยิบจับได้ก็ไม่ควรประมาท อาการเหล่านี้จะต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคหรือความผิดปกติของเนื้อสมองที่ได้รับความเสียหาย”
   
 ด้วยที่สมองมีความหมาย ความสำคัญเช่นเดียวกับหัวใจ การจะหลีกไกลจากภาวะอาการดังกล่าวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญท่านเดิมให้คำแนะนำทิ้งท้ายว่า การควบคุมพฤติกรรมอาหารการกิน หมั่นตรวจวัดความดันตรวจสุขภาพประจำปีสิ่งเหล่านี้ต้องไม่ละเลย
   
เช่นเดียวกับเรื่องของการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลากหลาย รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอสิ่งเหล่านี้นับเป็นพื้นฐานที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องและยิ่งกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต้องเพิ่มความระมัดระวังรวมทั้งไม่มองข้ามกับอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้น.

เคล็ดลับสุขภาพดี รู้จัก 5 โรคของผู้หญิงที่ป้องกันได้

ผู้หญิงวัยทำงานมักป่วย และมีโรคประจำตัวอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าผู้ชาย แต่หากเรารู้จักอาการเริ่มต้นของโรคต่าง ๆ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ลุกลามถึงขั้นรุนแรงและสามารถรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ วันนี้เคล็ดลับสุขภาพดีมีเรื่องราวเกี่ยวกับ 5 โรคที่มักพบในผู้หญิงรวมทั้งวิธีการตรวจรักษามาบอกกล่าวให้ทราบกันค่ะ
   
โรคแรกคือ “โรคกระดูกพรุน” โดยเฉพาะผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดก่อนอายุ 45 ปี ประจำเดือนไม่มีนานเกิน 1 ปี (ยกเว้นตั้งครรภ์) เคยผ่าตัดรังไข่ก่อนอายุ 50 ปี เคยกระดูกหักจากอุบัติเหตุแม้เพียงเล็กน้อย มีประวัติกระดูกหักในครอบครัว ทานยาสเตียรอยด์นานกว่า 3 เดือน โรคปวดตามไขข้อและโรคปวดบวมอักเสบ ผอมแห้ง น้ำหนักน้อย ส่วนสูงลดลงมากกว่า 3 ซม. แต่การตรวจเช็กสุขภาพกระดูกทุก 1 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนได้ด้วยเครื่อง Bone Densitometry ตรวจความหนาแน่นของกระดูก โดยเฉพาะผู้หญิงวัยทองที่มีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
   
โรคที่ 2 “โรคกรดไหลย้อน” ถือเป็นโรคฮิตคู่สาวออฟฟิศโดยเฉพาะคนที่ทำงานจนลืมเวลาทานอาหารหรือเมื่อถึงเวลาทานก็ทานอย่างรีบเร่ง แถมยังมีนิสัยกินจุบกินจิบ บ่งบอกได้ว่ากำลังเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อน มีอาการ คือ รู้สึกปวดแสบปวดร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก มักเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหาร รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ ท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง เจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ กลืนติดขัดเหมือนมีก้อนจุกในคอ หากมีอาการแบบนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร กลืนแป้งหรือตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหารและตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหารซึ่งได้ผลแม่นยำดีที่สุดในปัจจุบัน
   
โรคที่ 3 “โรคช็อกโกแลตซีสต์”   ผู้หญิงไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคช็อกโกแลตซีสต์สูงขึ้นโดยเฉพาะสาวโสด เนื่องจากเลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในรังไข่ผ่านทางหลอดมดลูกทำให้เกิดเป็นถุงน้ำและมีเลือดออกในถุง โดยเมื่อเลือดหยุดไหลน้ำก็ถูกดูดซึมกลับทำให้เลือดในถุงเข้มขึ้นจนกลายเป็นสีน้ำตาลเหมือนช็อกโกแลต โดยอาการจะปวดท้องมากเวลาที่มีประจำเดือนหรือก่อนและหลัง ประจำเดือนออกมาก ในรายที่เป็นระยะรุนแรงจะมีพังผืดเกิดขึ้นจำนวนมากเกาะหรือฝังตัวในท่อนำไข่หรือท่อนำไข่ถูกทำลายไป ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหามีบุตรยากได้ ใครที่รู้ตัวว่ามีอาการที่กล่าวไปแล้วควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเจอก่อนจะได้รักษาทันท่วงที
   
โรคที่ 4 “โรคความดันโลหิตสูง” เป็นโรคเรื้อรังของผู้หญิง โดยผู้หญิงที่เสี่ยงเป็นโรคมักมีอาการเครียด อ้วน อยู่ในวัยทอง ตั้งครรภ์ เป็นโรคไต มีประวัติคนในครอบครัวเป็น ดังนั้นควรระวังและไปพบแพทย์หากมีอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยในตอนเช้า บางครั้งใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะหาย อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น เหนื่อยง่าย ปัสสาวะเป็นเลือด ตาพร่ามัว 
   
และโรคที่ 5 “โรคมะเร็งเต้านม” ผู้หญิงที่เสี่ยงคือ ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนช้ากว่าปกติคือหมดหลังอายุ 55 ปี ผู้หญิงที่ไม่มีลูกหรือมีลูกคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ไม่เคยมีน้ำนมหรือไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง ผู้หญิงที่ทานยาคุมกำเนิดมากกว่า 10 ปี และได้รับฮอร์โมนทดแทนวัยทองมากกว่า 5 ปี ดังนั้นการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอล แมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้ โดยสตรีที่มีความเสี่ยงควรตรวจเต้านมด้วย ดิจิตอล แมมโมแกรม เป็นประจำทุกปี
   
หากสาว ๆ รู้ทันโรคภัยต่าง ๆ ที่จะถามหาเราแบบนี้แล้วก็ถือเป็นเกราะป้องกันชั้นแรก เพื่อนำไปสู่การตรวจรักษาในขั้นต่อไป เพราะหากเรารู้จักใส่ใจสุขภาพด้วยการตรวจทุกปี โรคร้ายต่าง ๆ ก็ไม่กล้ามากล้ำกราย.

(ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ)

สรรหามาบอก

- สถาบันมะเร็งแห่งชาติและสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนา เรื่อง “โรคมะเร็งปากมดลูก ภัยเงียบของสตรีไทย”  พร้อมให้คำปรึกษาฟรี ในวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2554 เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค สนใจสำรองที่นั่งโทร. 0-2345-7025 ต่อ 2215
   
- สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยาย เรื่อง “มารู้จักมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกันเถอะ” ในวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2554 เวลา 08.30–12.00 น. ณ ห้องประชุมตรีเพ็ชร์ อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 15 (รับจำนวนจำกัด 200 ท่าน) ผู้สนใจสอบถามและลงทะเบียนได้ที่ โทร. 0-2884-0560 มือถือ 08-1656-6080
   
- โรงเรียนศรีวิกรม์ ขอเชิญร่วมงานเสวนา “โภชนาการ ลูกรัก วัยเรียน” ในวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2554 เวลา 09.00–12.00 น. ณ ห้องมินิเธียเตอร์ ชั้น 6 อาคาร 45 ปี โรงเรียนศรีวิกรม์ ภายในงานมีกิจกรรมพิเศษ อาทิ บริการตรวจสุขภาพ รวมทั้งปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ พิเศษสำหรับผู้ปกครอง 60 ท่านแรกที่ลงทะเบียนจะได้รับ กิฟต์เซต จากผลิตภัณฑ์นมดัชมิลล์และหนังสือคู่มือการเลี้ยงลูก สนใจสอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่โทร. 0-2712-1001-4 ต่อ 514
   
- โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ร่วมกับ นิตยสาร Health Plus ขอเชิญผู้รักสุขภาพทุกท่านร่วมกิจกรรม “Gift  for your Health by Health Plus ครั้งที่ 4” ในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 27–28 สิงหาคม 2554 เวลา 09.30–15.00 น. ณ บริเวณชั้น จี โรงพยาบาลไทยนครินทร์ พร้อมฟังการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “เคล็ด (ไม่) ลับกับเทคนิคผิวสวย หน้าใส” ร่วมเวิร์กชอป “สาธิตการทำอาหารเพื่อสุขภาพ” สนใจสำรองที่นั่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่โทร. 0-2361-2727 ต่อ 3838

ทีมวาไรตี้




แพทย์ วิสัญญี เภสัชกร ยาแผนปัจจุบัน การดูแลผู้ป่วย สาระน่ารู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ

ควรทานยาปฏิชีวนะให้ครบ
ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
โรคฉี่หนู
อย่ากินแอปเปิ้ลไซเดอร์ถ้าไม่รู้ 4.5 ข้อนี้ article
ผิวดำง่ายมากเกิดจาก 6 ข้อนี้ article
กินอาหารแล้วอ้วนจริงหรือ article
เอ็นข้อศอกอักเสบ เกิดจากอะไร? article
เจาะลึกกระบวนการ 'ทดลองยาในคน' article
กว่าจะเป็นยา ต้องผ่านขั้นตอน อะไรบ้าง? article
5 โรคร้ายรักษาง่ายๆด้วย ข้าวกล้อง article
เคล็บลับนอนหลับง่ายๆโดยไม่ต้องใช้ยา article
5 อาหารไขมันสูงยิ่งกินยิ่งผอม article
มือชา รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
กระดูกพรุน รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
เท้าปุก คืออะไร? รักษาอย่างไร? article
กระดูกสันหลังเสื่อม รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
ปวดหลังร้าวลงขา นั่งไม่ได้ รักษาอย่างไร? article
โรคท้องผูก ลำไส้ทำงานอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
การรับมือกับโรคมะเร็ง article
โรคหลอดเลือดหัวใจในหนุ่มสาว article
การจัดการโรคไตเรื้อรัง และสิ่งที่เชื่อผิดๆ article
น้ำดื่มบำรุงไต ไม่อยากฟอกไตต้องดู article
5 ความเชื่อผิดๆที่ทำให้ลดน้ำหนักไม่มีวันสำเร็จ article
7 วิธีควบคุมความดันโดยไม่ต้องพึ่งยา article
3 เทคนิคลดความอ้วน “#ไม่ต้องออกกำลังกาย” article



เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน