ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




‘ไทย’ ผู้นำการแพทย์ดั้งเดิมอาเซียน มิติใหม่ทางการแพทย์ทางเลือกระหว่างประเทศ article

‘ไทย’ ผู้นำการแพทย์ดั้งเดิมอาเซียน มิติใหม่ทางการแพทย์ทางเลือกระหว่างประเทศ

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 24 สิงหาคม 2554 17:52 น.


รูปภาพ



ความป่วยไข้ เป็นสิ่งที่ไม่มีมนุษย์คนไหนปรารถนา กระนั้นก็ยังไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้พ้น ดังนั้นเมื่อความป่วยไข้เกิดขึ้น ก็ย่อมต้องมีการรักษาเยียวยาตามมา ถ้าเป็นในสมัยปัจจุบันถ้าใครสักคนป่วย สิ่งแรกที่ทำก็คือการไปหาหมอที่โรงพยาบาลหรือคลินิก เพื่อทำการตรวจรักษาตามวิถีของการแพทย์แผนตะวันตกอันทันสมัย
       
        แต่ในสมัยโบราณครั้งที่การแพทย์แผนปัจจุบันยังเข้ามาไม่ถึงประเทศไทยเวลาที่เกิดความป่วยไข้ขึ้น คนในบ้านเราก็มีวิธีการรักษาเยียวยาอาการเหล่านั้นอยู่เหมือนกัน บ้างก็รักษาด้วยยาสมุนไพร บ้างก็รักษาด้วยพิธีกรรมที่เชื่อมโยงกับความเชื่อของคนในสังคม
       
        ซึ่งภูมิปัญญาในการรักษาโรคเหล่านั้น ส่วนหนึ่งก็ได้ตกทอดมาสู่ปัจจุบันและถูกเรียกรวมๆว่า 'แพทย์แผนโบราณ' และในบางครั้งก็เรียกกันว่า ‘แพทย์แผนไทย’ หรือไม่ก็ ‘แพทย์แผนดั้งเดิม’ แม้ว่าในปัจจุบันการแพทย์แผนโบราณจะอยู่ในสถานะของ 'ทางเลือก' แต่ก็นับว่ามีความก้าวหน้าไปจากเดิมมากเพราะในช่วง 20 กว่าปีผ่านมา ประเทศไทยได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นระบบโดยได้มีการจัดตั้งศูนย์การประสานงานการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทยขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2532
       
        และล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขก็จะมีแผนการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ‘ผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมในภูมิภาคอาเซียน’ ทั้งนี้เพื่อตอบรับกับนโยบายการรวมตัวของประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่จะมาถึงในปี 2558
       
       แพทย์แผนไทยจะก้าวไปเป็นผู้นำอาเซียน
        
        แม้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนจะมีการแพทย์ดั้งเดิมของตนเองอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศหนุนไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมนั้น ก็เนื่องมาจากไทยเป็นหนึ่งประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรสมุนไพรและมีความพร้อมที่จะเดินหน้าเรื่องการแพทย์ดั้งเดิมได้อย่างเต็มสูบ ซึ่งในประเด็นนี้ พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ให้ความเห็นว่า
       
        “การแพทย์แผนไทยของเราก็ได้รับการยอมรับมาก อย่างฝรั่งมังค่าเขาก็บินมาเรียนการนวดแผนไทยเป็นเครดิตส่วนหนึ่งของการเรียนสาขาแพทยศาสตร์ พยาบาล แล้วก็กายภาพบำบัด ซึ่งเขาถือเป็นเครดิตประกอบกับการได้วุฒิของเขา สะท้อนว่าเขาให้ความเชื่อถือ ส่วนทางด้านสมุนไพรนั้น เราสามารถก้าวสู่ระดับอาเซียนได้ เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายในด้านสมุนไพรและมีความก้าวหน้าในเชิงอุตสาหกรรมยา ที่สำคัญคือเรามีองค์ความรู้ที่เชื่อมต่อทั้งตัวบุคคลและความสนับสนุนจากเครือข่ายภาครัฐ”
       
        พญ.วิลาวัณย์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ขั้นตอนต่อไปก็คือการวิจัยให้เกิดเป็นบรรทัดฐาน อธิบายได้ว่าสรรพคุณนั้นเป็นจริงอย่างไร มีการพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งจังหวะก้าวตรงนี้ จะเกี่ยวพันกับหลายๆ ฝ่าย
       
        “กระบวนการทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันหมด ไม่ใช่เฉพาะกรมพัฒนาแพทย์แผนไทย แต่รวมไปถึงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การอาหารและยา หรือว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในคณะแพทยศาสตร์ ในคณะเภสัชศาสตร์ จะเชื่อมโยงกันหมด จนถึงกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
       
        ส่วนเป้าหมายในการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในเรื่องการแพทย์ดั้งเดิมของอาเซียนนั้น พญ.วิลาวัณย์ กล่าวว่า เราจำเป็นจะต้องสร้างความเป็นปึกแผ่นในประเทศเราเองเสียก่อน ประกอบกับสร้างองค์ความรู้ให้พัฒนาไปตามลำดับ เมื่อถึงจุดที่พร้อมแล้วนานาประเทศก็จะเล็งเห็นและเข้ามาเชื่อมต่อพร้อมทั้งเรียนรู้จากเมืองไทยเอง ซึ่งจะสร้างให้เป็นผู้นำขึ้นมาโดยปริยาย
       
       ข้างนอกสุกใสแต่ข้างในอาจเป็นโพรง
       
        ถ้าความเป็นผู้นำ หมายถึง การมีดีมากกว่า, พัฒนาไปได้ไกลกว่า ก็คงต้องย้อนมาดูกันว่าวงการแพทย์แผนไทยของเราเข้าสู่เกณฑ์ที่ว่านั้นหรือยัง
       
        “ถ้ามองแพทย์พื้นบ้านอย่างของเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศ พวกนี้ไม่ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาเท่ากับของไทย ซึ่งตอนนี้เราก็มีความพร้อมมากขึ้น มีระบบการเรียนการสอนที่จัดขึ้นในระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ ตอนนี้ก็มีร่วม 20 แห่งได้ ความรู้พื้นฐานการแพทย์แผนไทยเรามีเยอะพอสมควรนะ”
       
        นพ.ลือชา วนรัตน์ คณบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าการแพทย์แผนไทยนั้นได้รับการฟื้นฟูและพัฒนามากว่า 30 ปีแล้ว ทั้งยังมีการเปิดการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ฉะนั้นการที่จะบอกว่าแพทย์แผนไทยเป็นผู้นำของศาสตร์แพทย์พื้นบ้านในแถบอาเซียนก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยไปนัก
       
        แต่ในมุมมองของ นพ.สมหมาย ทองประเสิรฐ แพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร กลับมองว่า แม้สังคมภายนอกไม่ว่าจะในวงวิชาการไทย หรือในระดับอาเซียนจะมีการยอมรับเรื่องของการแพทย์แผนไทยหรือแผนดั้งเดิมมากขึ้น แต่ในหมู่แพทย์แผนปัจจุบันตามโรงพยาบาลนั้น ก็ยังคงปฏิเสธการรักษาแบบแผนไทยหรือแพทย์ทางเลือกอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
       
        “ชาวบ้านเขาสนใจเพิ่มขึ้นกันเยอะ แต่หมอตามโรงพยาบาลบ้านเรายังต่อต้านกันอยู่ ถ้าลองไปหาหมอตามโรงพยาบาลแล้วถามว่า กินยาสมุนไพรได้ไหม เขาจะด่าเอาเลย หลายรายมารักษามะเร็งเต้านมกับผม แล้วกลับไปที่โรงพยาบาลหมอไม่ยอมอัลตราซาวนด์ให้ เพราะมารักษากับหมอแผนไทย อย่างนี้มันเป็นการต่อต้านกันน่าดูเลย”
       
        ซึ่งในความเห็นของ นพ.สมหมาย การที่การแพทย์แผนไทยหรือยาสมุนไพรจะเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้นั้น มันน่าจะเริ่มจากการที่แพทย์แผนปัจจุบันในไทยยอมรับและเชื่อถือเองเสียก่อน เพราะถึงแม้ภาพลักษณ์จะดูดีในสายตาเพื่อนบ้านมากแค่ไหนแต่ถ้าข้างในยังคงเละเทะ มันก็คงไม่สามารถก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำได้อย่างมั่นคง
       
        “มียุคหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขมีการสั่งให้ทุกโรงพยาบาลปลูกพืชสมุนไพร เดี๋ยวนี้แปลงสมุนไพรพวกนั้นหายไปหมดแล้ว ปลูกไปก็เท่านั้นเพราะหมอในโรงพยาบาลเขาไม่ใช้”
       
       คนไทยเองก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง...
       
        ไม่ใช่แต่บรรดาหมอๆ เท่านั้นที่มีความเห็นไม่ตรงกัน คนธรรมดาที่ไม่ได้มีความรู้ด้านการแพทย์ก็มีความเห็นแตกเป็นสองฝ่ายเช่นกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งนั้นเชื่อมั่นเต็มที่ว่าแพทย์แผนดั้งเดิมของไทยนั้นเจ๋งสุดยอด แต่ในขณะที่อีกฝ่ายก็มีความเห็นไปในทำนองแบ่งรับแบ่งสู้
       
        แต่กับ ชุติมา ผลาจันทร์ พนักงานออฟฟิศแห่งหนึ่ง เธอเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยและเรื่องสมุนไพรต่างๆ เป็นอย่างดี
       
        “ไทยเป็นผู้นำอาเซียนได้ เพราะไทยมีสมุนไพรเป็นของไทยเองเยอะ หากส่งเสริมและให้ความสำคัญมากๆ กว่านี้ ก็จะสามารถผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำด้านยาสมุนไพรได้ไม่ยากเพราะยาพวกนี้มันดีจริงๆ และคนต่างจังหวัดก็นิยมที่จะกินหรือใช้เพื่อรักษากันมาก”
       
        นอกจากนั้นชุติมา ก็ยังเห็นว่ายาสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณมีความจำเป็นสำหรับคนไทย ซึ่งที่บ้านของตนก็มียายที่ทำยาสมุนไพรขายและใช้เอง ซึ่งตนก็เคยรักษาหรือใช้ยาสมุนไพรเหล่านี้ของยายมาแล้ว
       
        “ยายตำยาสมุนไพรขายและกินเองด้วย ยายไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ แม้ตอนนี้ยายจะแก่มากแต่ความดันและทุกอย่างก็เป็นปกติ เพราะกินยาสมุนไพรตำเองทั้งสิ้น ส่วนเราก็เคยกินมาแล้ว เคยกินสมุนไพรตำของยายแก้เมารถ และเมื่อตอนเอารถไปล้มเป็นแผลก็ได้ยาของยายรักษาแผลให้หาย ตอนนี้คนมาซื้อกันเยอะแยะเลยที่บ้านยาย เราจึงอยากให้มีการส่งเสริมเพื่อให้คนหันมาใช้สมุนไพรไทยเยอะๆ และควรนำมาใช้ในโรงพยาบาลด้วย แต่ก็นะ คนไทยเองยังไม่ค่อยเชื่อในของอะไรที่ไทยทำเองไม่มั่นใจ ถ้าไทยไม่เชื่ออย่างนี้จะไปให้ใครเชื่อได้ยังไง ยังไงคนไทยก็คงต้องพึ่งสมุนไพรไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว”
       
        ส่วน ลัดดาวัลย์ ศรีเจริญ ล่ามสาว มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ทางเลือกว่า มันต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน ไม่เหมือนกับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันที่ค่อนข้างจะเห็นผลได้รวดเร็ว
       
        ..........
       
        คงเป็นเรื่องดีไม่น้อย ที่จะมีการรวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายของการแพทย์ดั้งเดิมของทั้งภูมิภาคอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน และจะดีกว่านั้นถ้าประเทศไทยอยู่ในฐานะของตัวตั้งตัวตี
        และถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกมาวางเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมของกลุ่มประเทศอาเซียนในปี พ.ศ.2558 แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาข้างต้น ทำให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ดั้งเดิม และมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเหนือกว่าใคร แต่วงการแพทย์ในบ้านเราทั้งแผนปัจจุบันและแผนดั้งเดิม ยังคงขาดซึ่งความเป็นเอกภาพ และมีการขัดแข้งขัดขากันเองอยู่ไม่ใช่น้อย
        ดังนั้น ถ้าการแพทย์แผนดั้งเดิมของไทยจะเดินไปไม่ถึงจุดที่เรียกว่าผู้นำก็คงไม่ใช่จากปัจจัยอะไร นอกเสียจากปัจจัยที่เป็นอุปสรรคภายในประเทศของเราเอง.




แพทย์ วิสัญญี เภสัชกร ยาแผนปัจจุบัน การดูแลผู้ป่วย สาระน่ารู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ

ควรทานยาปฏิชีวนะให้ครบ
ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
โรคฉี่หนู
อย่ากินแอปเปิ้ลไซเดอร์ถ้าไม่รู้ 4.5 ข้อนี้ article
ผิวดำง่ายมากเกิดจาก 6 ข้อนี้ article
กินอาหารแล้วอ้วนจริงหรือ article
เอ็นข้อศอกอักเสบ เกิดจากอะไร? article
เจาะลึกกระบวนการ 'ทดลองยาในคน' article
กว่าจะเป็นยา ต้องผ่านขั้นตอน อะไรบ้าง? article
5 โรคร้ายรักษาง่ายๆด้วย ข้าวกล้อง article
เคล็บลับนอนหลับง่ายๆโดยไม่ต้องใช้ยา article
5 อาหารไขมันสูงยิ่งกินยิ่งผอม article
มือชา รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
กระดูกพรุน รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
เท้าปุก คืออะไร? รักษาอย่างไร? article
กระดูกสันหลังเสื่อม รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
ปวดหลังร้าวลงขา นั่งไม่ได้ รักษาอย่างไร? article
โรคท้องผูก ลำไส้ทำงานอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
การรับมือกับโรคมะเร็ง article
โรคหลอดเลือดหัวใจในหนุ่มสาว article
การจัดการโรคไตเรื้อรัง และสิ่งที่เชื่อผิดๆ article
น้ำดื่มบำรุงไต ไม่อยากฟอกไตต้องดู article
5 ความเชื่อผิดๆที่ทำให้ลดน้ำหนักไม่มีวันสำเร็จ article
7 วิธีควบคุมความดันโดยไม่ต้องพึ่งยา article
3 เทคนิคลดความอ้วน “#ไม่ต้องออกกำลังกาย” article



เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน