ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




เราจะตรวจสอบนักการเมืองกันอย่างไร

 

เราจะตรวจสอบนักการเมืองกันอย่างไร

24 สิงหาคม 2554 เวลา 12:02 น. โพสต์ทูเดย์

 

เมืองไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่จะนำเสนอและเปิดเผยข้อมูลการทำงานของนักการเมืองที่เป็น สส.

โดย...โกวิทย์ พวงงาม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมเคยได้ไปศึกษาและมีประสบการณ์เกี่ยวกับการดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ในเรื่ององค์กรตรวจสอบนักการเมือง ในองค์กรที่มีชื่อว่า “People Sodality for Participatory Democracy” หรือเรียกชื่อย่อว่า “องค์กร PSPD” ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมของนักการเมืองในประเทศเกาหลีใต้ โดยคอยเก็บรวบรวมข้อมูลของนักการเมืองในทุกแง่มุม ซึ่งองค์กรดังกล่าวมีแกนนำคนสำคัญชื่อ Mr.Park Won Soon ผู้เป็นหัวขบวนในการตรวจสอบข้อมูลพฤติกรรมของนักการเมือง

โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลที่เรียกว่า “ระบบเปิด” โดยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติทางการศึกษา ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการทำงาน ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าประชุมสภา ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ โดยการเปิดเผยข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ และเอกสารสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ให้ประชาชนชาวเกาหลีใต้ได้เข้าถึงและง่ายต่อการตรวจสอบ จนทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ สส.ของตนเองได้

และถือได้ว่าองค์กร PSPD ของเกาหลีใต้ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ขึ้นบัญชี หรือ Blacklist ของนักการเมืองซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรของตนเอง จนทำให้นักการเมืองเกาหลีใต้ ส่วนหนึ่งเกิดความกลัว เพราะจะทำให้ตนเองต้องสอบตกในคราวต่อไป

จากกรณีตัวอย่างข้อมูลขององค์กร PSPD ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังการทำงานของนักการเมืองในประเทศเกาหลีใต้นั้น ถือว่าเกิดขึ้นจากองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศของเขาที่ได้รวมพลังเสียสละทุนทรัพย์ และจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระที่คอยเฝ้าระวังนักการเมือง
ผมเห็นว่าน่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบนักการเมืองไทย ทั้งฝ่ายที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) และฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ว่าได้ทำตามนโยบายที่ให้ไว้หรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ เพราะผมเห็นว่านักการเมืองไทยมักจะมีประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก็คือ การทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ภายหลังการเลือกตั้งในฐานะผู้ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องให้ความสำคัญกับการประชุมสภา และการทำหน้าที่ในด้านนี้ก็มักจะเป็นจุดอ่อนของ สส.ว่ามาทำหน้าที่ไม่คุ้มค่ากับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการให้ความใส่ใจกับการออกกฎหมายต่างๆ อย่างจริงจัง จนทุกวันนี้ สส.ถูกขนานนามว่า “สส.หลังยาวผลาญภาษีราษฎร”

ผมมีข้อสังเกตว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ในครั้งแรกๆ มีประเด็นการกำหนดวันและประเด็นการกำหนดเวลาการประชุม แค่ตกลงเรื่องเวลาการประชุม ก็มีความเห็นขัดแย้งกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัน เวลาการประชุม ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็มักจะมีการโต้แย้ง เล่นเกมกันในสภาแล้ว ซึ่งเห็นว่าการประชุมสภา สส.ควรจะใส่ใจและให้เวลากับการประชุมสภาให้มาก เพราะประชาชนเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือพิจารณากฎหมายเพื่อการบริหารประเทศ ซึ่ง สส.ไม่ควรจะเกี่ยงเวลาหรือมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความขี้เกียจของการกำหนดวันเวลาประชุมในสมัยประชุม

ผมเห็นข้อมูลการเมืองไทยของ “เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย” ซึ่งมีอาจารย์จรัส สุวรรณ มาลา แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมสภาของ สส. ประวัติเรื่องราวต่างๆ ของผู้แทน การวิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งผมขอชมเชยว่าสามารถทำได้ดี และเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ประชาชนสามารถติดตามดูข้อมูลได้ ตัวอย่างเช่น สถิติการเข้าประชุมสภาของ สส.เราจะสามารถเห็นตัวเลขได้ว่า สส.ของพรรคใดเข้าประชุมสภามาก และ สส.พรรคใดขาดการประชุมสภามาก โดยมีการแสดงจำนวนตัวเลขของ สส. แต่ละพรรคที่ขาดการประชุมสภา ซึ่งในส่วนดังกล่าวนี้จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ สส.ของตนเองว่าเมื่อเลือกเข้ามาแล้วมีพฤติกรรมเกี่ยวกับการทำหน้าที่ว่าเป็นอย่างไร

ผมเข้าใจว่าในเมืองไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่จะนำเสนอและเปิดเผยข้อมูลการทำงานของนักการเมืองที่เป็น สส. ประวัติการทำงานของ สส.ในสภา ประวัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหาร ประวัติการศึกษา เป็นต้น เพื่อเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อประกอบการพิจารณาพฤติกรรมของผู้แทนที่เลือกเข้าไปทำหน้าที่ และพิจารณาเพื่อการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง

ผมจึงอยากเสนอให้สังคมไทยมีองค์กรที่คอยตรวจสอบนักการเมืองและช่วยกันมีส่วนร่วม ในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อตรวจสอบนักการเมือง และช่วยกันมีส่วนร่วมในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อตรวจสอบนักการเมืองในทุกๆ ด้านเพื่อให้ประชาชนได้เกิดการเรียนรู้ เกิดความคิด เกิดปัญญา และมีหูตาสว่างในการเรียนรู้พฤติกรรมของนักการเมืองไทย เพื่อจะได้ทำหน้าที่ในส่วนของภาคประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากกว่าองค์กรของรัฐ หรือองค์กรอิสระที่มีอยู่ในปัจจุบัน








เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน