ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ก๊าซธรรมชาติ..พลังงานใส เพื่อโลกสวย

 ก๊าซธรรมชาติ..พลังงานใส เพื่อโลกสวย

 ก๊าซธรรมชาติประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิดรวมเข้าด้วยกัน แต่โดยทั่วไปจะประกอบด้วยก๊าซมีเทนเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 70 ขึ้นไป นอกจากนั้นยังอาจประกอบด้วยก๊าซอื่นๆ  

   ก๊าซธรรมชาติประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิดรวมเข้าด้วยกัน อาทิ ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซอีเทน (C6H4)  ก๊าซโพรเพน  (C3H8)  ก๊าซบิวเทน  (C4H10)   แต่โดยทั่วไปจะประกอบด้วยก๊าซมีเทนเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 70 ขึ้นไป นอกจากนั้นยังอาจประกอบด้วยก๊าซอื่นๆ อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไฮโดรซัลไฟด์ ก๊าซไนโตรเจน และน้ำ เป็นต้น


        ทั้งนี้ก๊าซธรรมชาติแต่ละชนิดจะมีสถานะที่ต่างกัน กล่าวคือ ก๊าซมีเทนและก๊าซอีเทน (ก๊าซแห้ง) จะมีสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ ส่วน ก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทน (ก๊าซชื้น) จะมีสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ แต่เมื่อถูกเพิ่มความดันบรรจุลงในถังก๊าซจะเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลว เรียกว่า ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas หรือ LPG) ซึ่งก็คือก๊าซหุงต้มที่ใช้กันในครัวเรือนนั่นเอง ส่วน เพนเทน เฮกเซน เฮปเทน และอ๊อกเทน มีสภาพเป็นของเหลว เรียกรวมกันว่าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ คอนเดนเสท (Condensate) ซึ่งสามารถแยกออกจากก๊าซธรรมชาติได้บนแท่นผลิตและขนส่งโดยใช้การลำเลียงทางเรือหรือส่งตามท่อเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อไป

คุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติ
               สะอาด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และเผาไหม้ได้หมดจดกว่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียมอื่น
               ปลอดภัย เบากว่าอากาศ (ความถ่วงจำเพาะ 0.5-0.8 เท่าของอากาศ) เมื่อรั่วไหลจะลอยขึ้นสูง โอกาสติดไฟยากและติดไฟได้เองในอุณหภูมิที่สูงมากถึง 540 องศาเซลเซียส
               เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากก่อให้เกิดมลภาวะน้อยกว่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียมอื่น

การใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ
แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

1. ใช้เป็นเชื้อเพลิง
              ก๊าซธรรมชาติ ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ในระบบผลิตพลังงานความเย็นร่วมกับไฟฟ้า (Gas District Cooling and Co-generation) ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมสุขภัณฑ์ เหล็ก กระจก ฯลฯ และเมื่อนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูง ก็สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ได้ เรียกว่า ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas for Vehicles – NGV)

2. ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  
              โดยการนำก๊าซธรรมชาติไปผ่านกระบวนการแยกในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพราะในเนื้อก๊าซธรรมชาติมีสารประกอบที่เป็นประโยชน์อยู่มากมาย เมื่อผ่านกระบวนการแยกก๊าซฯ จะได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ก๊าซธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ที่ควรรู้จัก
               ก๊าซธรรมชาติที่ขนส่งโดยทางท่อ (Pipe natural Gas)  เรียกชื่อทางการตลาดว่า Sales Gas คือ ก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซมีเทนเป็นส่วนใหญ่ ถูกขนส่งด้วยระบบท่อเพื่อส่งให้กับผู้ใช้ที่เป็นลูกค้า นำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือในโรงงานอุตสาหกรรม

               ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas for Vehicles – NGV) คือ รูปแบบการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลัก เมื่อจะนำมาใช้งานก๊าซฯ จะถูกอัดด้วยความดันสูงประมาณ 3,000-3,600 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และบรรจุในถังที่มีความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ บางครั้งจึงเรียกว่า ก๊าซธรรมชาติอัด หรือ CNG (Compressed Natural Gas) สรุปว่า NGV และ CNG ก็คือก๊าซธรรมชาติอัดตัวเดียวกันที่ใช้กับรถยนต์นั่นเอง  

               ก๊าซหุงต้ม (Liquefied Petroleum Gas – LPG) หรือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทนเป็นองค์ประกอบหลัก นิยมนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมเพราะให้ค่าความร้อนสูง ก่อนนำไปใช้งานจะถูกอัดด้วยความดันให้เป็นของเหลว บรรจุในถังทนแรงดัน สะดวกแก่การขนส่ง

               ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas – LNG) คือ ก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซมีเทนเป็นส่วนประกอบหลัก ที่ถูกทำให้อยู่ในรูปของ “ของเหลว” เพื่อประโยชน์ในการขนส่งไปใช้ในที่ไกลๆ จากแหล่งผลิตที่การขนส่งทางท่อฯ ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยมีกระบวนการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิ -160 องศาเซลเซียส ซึ่งปริมาตรจะลดลง 600 เท่า บรรจุลงถังชนิดพิเศษเพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงสถานะในรูปของเหลว สามารถขนส่งได้ในปริมาณมาก

เปรียบเทียบคุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติและก๊าซหุงต้ม

ข้อเปรียบเทียบ 
  ก๊าซธรรมชาติ  ก๊าซหุงต้ม
ความปลอดภัย มีความปลอดภัยสูงกว่า เนื่องจากเบากว่าอากาศ
เมื่อเกิดการรั่วไหลจะฟุ้ง
กระจายไปในอากาศอย่างรวดเร็ว 
มีความปลอดภัยน้อย เนื่องจากหนักกว่า
อากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหล
จะกระจายอยู่ตามพื้นราบ
ความพร้อมในการนำมาใช้งาน  สถานะเป็นก๊าซ นำไปใช้ได้เลย  สถานะเป็นของเหลว ต้องทำให้เป็นก๊าซ
ก่อนนำไปใช้งาน
ประสิทธิภาพการเผาไหม้  เผาไหม้ได้สมบูรณ์  เผาไหม้ได้สมบูรณ์
คุณลักษณะของเชื้อเพลิง  ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เผาไหม้ปราศจากเขม่า
และกำมะถัน 
ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น โดยทั่วไปจะเติม
สารเติมกลิ่นเพื่อความปลอดภัย
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ  ไม่ต้องสร้างถังเก็บสำรองเชื้อเพลิง  ต้องมีถังเก็บสำรอง ต้องสั่งซื้อ
เชื้อเพลิงล่วงหน้า

               ก๊าซชีวิภาพ (Biogas) เกิดจากการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิต ทั้งซากพืช ซากสัตว์และของเสียจากสัตว์ รวมถึงขยะมูลฝอยที่เป็นขยะอินทรีย์ โดยการย่อยสลายของจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ในสภาวะที่ปราศจากออกซิเจน (Anaerobic Digestion) ประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน (CH4)  50-70% และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  30-50% ส่วนที่เหลือเป็นก๊าซอื่นๆ เช่น แอมโมเนีย  (NH3)  ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S)  และไอน้ำ เป็นต้น

               City Gas คือ ก๊าซธรรมชาติที่จัดส่งผ่านระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ แรงดันต่ำในเขตเมืองเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ขนส่ง และครัวเรือน สำหรับนำไปเป็นเชื้อเพลิงประกอบอาหารด้วยเตาแก๊ส เตาอบ หรือ หม้อหุงข้าวทดแทนก๊าซหุงต้ม ใช้ในการผลิตน้ำหรือหรือไอน้ำเพื่อการซักรีดในโรงแรมหรือเพื่อฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาล รวมถึงใช้ในการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น (District Cooling and Cogeneration System) ในอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กรุงเทพฯ

แหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย
              ประเทศไทยนำก๊าซธรรมชาติมาจากแหล่งผลิตในประเทศถึงร้อยละ 75 และอีกร้อยละ 25 เป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติหลักๆ ได้แก่
              1. ทะเลอ่าวไทย อาทิ แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ ฯลฯ เป็นต้น
              2. บนบก ได้แก่ แหล่งน้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และแหล่งภูฮ่อม อ.หนองแสง จ.อุดรธานี
              3. นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ แหล่งยาดานา แลแหล่งเยตากุน จากสหภาพพม่า
              4. พื้นที่ทับซ้อน ได้แก่ แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA)








เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน