ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




วิวัฒนาการของสีที่ใช้กับรถยนต์

 วิวัฒนาการของสีที่ใช้กับรถยนต์

 เรียบเรียงข้อมูลโดย www.legendnews.net   

 เทคโนโลยีและวิวัฒนาการของสีพ่นรถยนต์ที่ได้พัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการคิดค้นและผลิตรถยนต์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การสร้างรถยนต์ให้มีลักษณะรูปร่างที่ทันยุคทันสมัย การใช้วัสดุต่างๆรวมทั้งรูปแบบการใช้งานรถยนต์ของคนในยุคนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการพัฒนาเรื่องของสีที่นำมาใช้กับรถยนต์เพื่อให้ทันตามกัน

ในอดีตเรื่องของสีสันที่มีอยู่ในตัวยานยนต์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่จำกัดอยู่ในวงแคบๆ หากเทียบกับการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่เป็นจุดเด่น และทำให้รถยนต์มียอดจำหน่ายในตลาด แต่ปัจจุบันนี้อาจเป็นคนละเรื่องกันในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างในตัวรถยนต์เป็นตัวกำหนดหรือเป็นสิ่งที่อยู่ในการตัดสินใจที่จะเลือกและที่ปฏิเสธไม่ได้คือสีของรถยนต์ซึ่งคนจะซื้อรถให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ รองลงมาจากเรื่องเทคโนโลยี สมรรถนะ และรูปทรง

จุดเริ่มต้นของสีพ่นรถยนต์

ช่วงเวลาปี ค.ศ. 1900หรือประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมา หลังจาก Ford Motor ได้เริ่มกิจการผลิตรถยนต์เป็นอุตสาหกรรม หลังจากนั้นประมาณอีก 6 ปีเรื่องราวของสีพ่นรถยนต์ได้เริ่มมีบทบาทกับรถยนต์มากขึ้น โดยกลุ่มผู้ผลิตน้ำยาเคลือบเงาไม้ที่ต้องการให้รถของเขามีความงาม แต่ลักษณะของสีเคลือบไม้ที่ต้องใช้แปรงทา และจะต้องขัดด้วยกระดาษทราย และปรับพื้นผิวให้เรียบ ไม่ขรุขระ และอีกหลายขั้นตอนในการทำสีนั้นกินเวลาในการทำยาวนาน และสีที่ได้ไม่ฉูดฉาดเท่าไหร่

หลังจากในช่วงปี ค.ศ. 1930 นั้นอุตสาหรรมยานยนต์ได้เริ่มให้มีการอบเคลือบสีโดยมีพื้นฐานจากเรซิน (Resin) ชนิดหนึ่งที่ทำสีและเป็นตัวยึดติด โดยเริ่มแรกผลิตภัณฑ์นี้ได้ถูกประยุกต์ใช้เหมือนกับวัสดุเคลือบเงาที่เคยใช้ก่อนหน้านี้ สารเคลือบรถยนต์นี้ได้ถูก ใช้เนื่องจากความเงาที่สูงกว่าระบบเก่าที่เคยใช้ และยังมีความหนาของสีเคลือบที่ดีกว่าและกระบวนการหรือขั้นตอนที่เร็วกว่าเล็กน้อย จากนั้นในช่วงปี ค.ศ. 1940 ได้มีการคิดค้นปืนพ่นสี ( โดยคนที่มีอาชีพเป็นหมอฟัน ) สามารถพ่นสีได้รวดเร็วกว่าการทาด้วยแปรงทาสีสามารถลดขั้นตอนการขัดด้วยกระดาษทรายระหว่างชั้นสีได้เป็นอย่างดีสามารถลดเวลาลงมาได้หนึ่งส่วนสาม และผลิตภัณฑ์นี้ได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแพร่หลาย

ในปี ค.ศ. 1955 ทาง GM ได้ร่วมงานกับกลุ่มผู้ผลิตวัสดุพ่นสีโดยผู้ผลิตได้เลือกใช้วัสดุเคลือบสีที่แตกต่างกันออกไป แทนที่จะใช้ Alkyd Resin กลับเลือกใช้อะครีลิค (Acrylic) แทน ผู้ผลิตได้นำผลิตภัณฑ์นี้เข้ามาใช้ในกระบวนการพ่นสีสารเคลือบนี้จะถูกประยุกต์ใช้กับผิวรถยนต์โดยการใช้ปืนพ่นในจุดนี้เมื่อพ่นสีไป ผลิตภัณฑ์ยังดูเปียกที่ผิวและมีส่วนผสมของสารละลายหลายอย่าง ดังนั้นจึงมีขั้นตอนการอบสีเกิดขึ้น การอบสีในเตาอบขนาดใหญ่ทำให้สารละลายต่างๆ  ระเหยออกและสร้างพื้นผิวของตัวถังให้เรียบประสานกันอย่างสวยงามมีความเงาระดับหนึ่งแต่ไม่เท่ากับการเคลือบแบบเดิม อย่างไรก็ตามระบบพ่นสีนี้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพจึงเริ่มได้รับความนิยมมากจนถึงปี ค.ศ. 1960

ในช่วงปี ค.ศ. 1970รถยนต์ที่ผลิตจากฝั่งเอเชียอย่างประเทศญี่ปุ่นกำลังเริ่มได้รับความนิยม และสีที่ใช้สำหรับพ่นรถยนต์เป็นแบบสองชั้นเกิดขึ้น และได้รับความสำเร็จอย่างมากเมื่อทางผู้ผลิตจากยุโรป ได้ร่วมมือกันผสมสีเมทัลลิค (Metallic) ซึ่งเป็นสีผสมเกล็ดโลหะขึ้น ถือเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร หลังจากนั้นผู้ผลิตหลายรายที่ได้เริ่มหาสีที่มีความแข็งมากขึ้น และสีต้องแห้งได้เร็วขึ้นเพื่อให้ทันกับการผลิตรถยนต์สู่ตลาดที่มีตัวเลขมากขึ้น และคำตอบเกิดขึ้นจากการค้นพบเมื่อได้ใช้สารเติมแต่งเสริมการเชื่อมต่อโมเลกุลของเนื้อสี (CrossLinking Additive) หรือตัวเร่งปฏิกิริยาใช้ผสมลงในสูตรสีระบบนี้ได้รับความนิยมมากสำหรับรถยนต์ รวมไปถึงการทำสีของเครื่องบิน และงานอย่างอื่น

ในช่วงปี ค.ศ. 1970จำนวนของสีรถยนต์มีมากขึ้น เช่น DUPONT,DITZSLER,PPG และอีกมากมาย ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถที่จะเลือกสีและระบบการพ่นสีรถยนต์ที่ดีที่สุดได้  และรถยนต์ในปัจจุบันนี้ยังใช้สีที่คิดค้นจากยุคนั้นอยู่ ระบบพ่นสีได้พัฒนาจนได้มีความเงางามที่สุดยอด แต่ความทนทานของชั้นผิวเคลือบหรือชั้นเคลียร์ยังไม่ดีพอ จนถึงช่วงปี ค.ศ. 1980 ผู้ผลิตสีได้พัฒนาความทนทานของตัวสี จนมั่นใจได้ว่าจะทนอยู่นานถึง 5 ปี ซึ่งถือว่าเพียงพอสำหรับผู้ใช้รถยนต์ ต่อ 1 คัน

ในช่วงปี ค.ศ. 1975 ถึงช่วงปี ค.ศ. 1980ในสหรัฐอเมริกามีการวิจัยและศึกษาผลกระทบจากสีที่ใช้พ่นรถยนต์ซึ่งมีต่อผู้ใช้รถและผู้ที่อาศัยในแถบบริเวณที่ใกล้เคียงกับโรงงาน รวมถึงสภาพแวดล้อม และโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ และเกิดความร่วมมือในการลดจำนวนปริมาณส่วนผสมของสารละลายที่ผสมอยู่ในตัวสีที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยีใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม

 

 

 ผู้ผลิตสีได้เริ่มเข้ามาใช้การพ่นสีแบบ Water Based Paint Systems หรือการใช้น้ำเป็นตัวทำละลายส่งผ่านสีสู่ตัวถังรถยนต์ แต่ผลิตภัณฑ์นี้ไม่ได้รับความนิยมและไม่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ และมีใช้อยู่ในแถบแคลิฟอร์เนียเท่านั้นสาเหตุเพื่อลดปัญหาด้านมลภาวะเป็นพิษและหมอกควันในพื้นที่เท่านั้น  ในช่วงปี ค.ศ. 1990 ระบบสี ทั้งสีพื้นสีจริง สีเคลือบได้มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นมาเรื่อยๆมีเฉดสีที่แปลกใหม่ทั้งมิติและความสว่างรวมถึงความเงางามขั้นสูงสุดอีกทั้งความคงทนที่มากขึ้นเป็นกระบวนการผลิตแบบ 3 ขั้นตอนขั้นแรกรถยนต์จะถูกฉีดสีด้วยสีพื้นเพื่อการยึดเกาะเหล็ก (Primer Sprayed or E-coated) จากนั้นสีจะถูกพ่นลงผิว และขั้นตอนสุดท้ายคือชั้นของแล็กเกอร์ จากนั้นประกอบเพื่อสร้างชั้นผิวที่เงางาม ระบบการพ่นเกือบทั้งหมดจะถูกจำกัดอยู่ในมาตรฐาน VOC Limits  และจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐาน EPA หรือมาตรฐานการแพร่กระจายของมลพิษในขณะใช้งาน และในผู้ผลิตรถยนต์บางรายเริ่มใช้ระบบ Water Based Paints Systems ได้แล้ว

 

 

ปัจจุบัน โรงงานผลิตรถยนต์ได้ใช้ระบบการพ่นสี อะควาเทค ( Aqua-tech)  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดและมีมาตรฐานสูงสุดของโลก ระบบดังกล่าวยังสามารถช่วยลดการปล่อยสารระเหยอินทรีย์และคาร์บอนไดอ๊อกไซด์อันเกิดจากการใช้พลังงานในขั้นตอน การพ่นสีรถยนต์สำหรับระบบการพ่นสี Aqua-tech นี้จะช่วยปล่อยแก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์อยู่ในระดับต่ำและอยู่ในระดับเดียวกันกับระบบพ่นสีแบบเปียก 3 ชั้น (3 Wets) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในโรงงานผลิต และยังสามารถลดการปล่อยสารระเหยอินทรีย์ได้มากกว่าระบบเดิมถึง 57%ด้วยระดับการปล่อยที่ต่ำเพียง 15 กรัมต่อพื้นผิวตัวถังรถหนึ่งตารางเมตร ที่สำคัญระบบการพ่นสี Aqua-tech นี้เป็นระบบพ่นสีที่ใช้น้ำเป็นตัวทำลาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดในโลก ระบบใหม่นี้ยังช่วยให้ได้คุณภาพสีที่ดีกว่าระบบเดิมอีกด้วย นอกจากนี้สีพ่นรถยนต์ที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลายจะปล่อยสารระเหยอินทรีย์อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสีพ่นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นตัวทำละลายอยู่มาก เนื่องจากมีปริมาณส่วนผสมของสารระเหยอินทรีย์ที่ต่ำกว่า แต่การใช้สีพ่นรถยนต์ระบบน้ำจะสิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าเพราะต้องผ่านขั้นตอนการอบเพื่อให้น้ำระเหยออกไป ซึ่งกระบวนการนี้ก่อให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในปริมาณมากและกลายเป็นปัญหาของสีพ่นระบบน้ำมายาวนานจึงเกิดเทคโนโลยี Aqua –tech ที่มีการใช้ระบบปรับอากาศในห้องพ่นสีที่ปรับปรุงขึ้นใหม่

       ปัจจุบันสีของรถยนต์นั้นถึงแม้จะอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายเพียงใดก็สามารถทนได้แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของผู้เป็นเจ้าของรถยนต์ด้วยและในอนาคตจะมีระบบการพ่นสีแบบใดนั้นคงต้องคอยตามกันถึงเทคโนโลยีใหม่ๆที่ไม่หยุดนิ่ง ตราบใดที่ยังมีการผลิตและคิดค้นการสร้างรถยนต์

 








เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน