ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




การประหยัดพลังงานไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม

การประหยัดพลังงานไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม          

          ในยุคที่เศรษฐกิจฝึดเคืองเช่นนี้ การบริหารโรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องคำนึงถึงการผลิตที่มีค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง หนทางหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต คือการใช้พลังงานทุกประเภทอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
                      
          การประหยัดพลังงานของโรงงาน หมายถึงการลดใช้พลังงานลงโดยการจัดการใช้พลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยไม่ทำให้กระบวนการผลิตลดลงและไม่ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลง

จำเป็นแค่ไหน
          พลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานที่มีความจำเป็นและการใช้ในการผลิตของทุกโรงงาน ความจำเป็น และความสำคัญของการประหยัดพลังงานไฟฟ้า  จึงไม่ใช่เพียงแต่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้นแต่ยังเป็นความจำเป็นและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังต้องพึ่งเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะต้องมีการนำเข้าเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม   ซึ่งเป็นสาขาที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ดังจะเห็นได้จากรายงานสถานการณ์พลังงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี พศ. 2543
ระบุว่าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมยังต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.3

มีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร
          กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้เสนอแนะว่าการประหยัดพลังงานในโรงงาน ควรมีการดำเนินเป็นขั้นตอนโดยเริ่มจากเทคโนโลยีที่ง่ายที่สุด และใช้เงินลงทุนน้อยที่สุดไปจนถึงงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง และเงินลงทุนมากได้แก่
          1. การบำรุงรักษาและการดูแลเบื้องต้น (House Keeping) การประหยัดพลังงานโดยวิธีนี้  เป็นการปรับแต่งเครื่อง และการทำงานต่างๆ เช่น การกำหนดให้มีกรรมวิธีดูแลรักษาที่ถูกต้อง วิธีเหล่านี้โดยมากแล้วจะไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรือเป้นมาตรการที่เสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่มีระยะคืนทุนสั้นๆ คือน้อยกว่า 4 เดือน
          2. การปรับปรุงขบวนการเดิมเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือทำให้การสูญเสียต่างๆ ลดน้อยลง ซึ่งจะต้องอาศัยการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด โดยทั่วไปมาตรการนี้จะต้องการเงินลงทุนปานกลาง โดยมีระยะเวลาคืนทุน1 - 2 ปี                        
          3. การเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์หรือระบบ (Major Change Equipment)   เมื่อการตรวจวิเคราะห์ขั้นต้นชี้ให้เห็นว่า
สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มาก โดยการเปลี่ยนหรือเพิ่มอุปกรณ์ ทั้งนี้จะต้องมีการประเมินผลตอบแทนทางการเงินที่ได้จากการดำเนินการมาตรการดังกล่าว     ถ้าพบว่ามีความสอดคล้องเข้ากับเกณฑ์การลงทุนของฝ่าย บริหาร ก็จะเสนอขอความเห็นชอบ มาตรการนี้จะต้องมีการลงทุนสูงโดยมีระยะเวลาคืนทุน 2-5 ปี

ทำอย่างไรได้บ้าง
          การประยัดพลังงานไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถทำได้หลายวิธี เช่น                    
                        -  การปรับปรุงต้นพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยการผลิต
                        -  การปรับปรุง Load Factor ให้สูงขึ้น
                        -  การปรับปรุงค่า Power factor
                        -  การควบคุมค่ากำลังไฟฟ้าสูงสุดของโรงงาน                             
         ซึ่งแต่ละวิธีสามารถทำได้โดยการบริหารจัดการ การปรับปรุงการทำงาน  การใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพการลดการสูญเสีย การบำรุงรักษา ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานไฟฟ้า

จะเริ่มต้นย่างไร
          ในการวางแผนจัดการด้านพลังงานให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการตรวจสอบ  และวิเคราะห์หาสภาพการใช้พลังงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของโรงงานที่เรียกว่า   Energy Audit เสียก่อน การตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานดังกล่าวจะให้ทราบถึงสภาพการใช้พลังงาน และการสูญเสียพลังงานที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปมีการปฏิบัติอยู่ 3 ขั้นตอนคือ
          1. การตรวจสอบวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น (Preliminarly Audit) เป็นการตรวจสอบรวบรวมข้อมูลด้านการผลิตระบบการใช้พลังงานในปีก่อนๆ ที่ทางโรงงานจดบันทึกไว้เพื่อทราบปริมาณการใช้พลังทุกรูปแบบ  ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน  ผลผลิตที่ได้ต่อพลัลงานที่ใช้ ตัวแปรของการใช้พลังงานในแต่ละช่วงตลอดจนรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง                             
          2. การตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานโดยการสำรวจแผนผังโรงงานเพื่อทราบลักษณะทั่วไปของโรงงาน กระบวนการผลิตและเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ พิจารณาบริเวณที่มีการใช้พลังงานสูง     ระบบการใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆและบริเวณที่เกี่ยวข้อง และในขั้นตอนต่อมาคือ การเข้าสำรวจในโรงงานเพื่อหาสาเหตุการสูญเสียพลังงาน โดยการสำรวจใช้พลังงานทุกระบบทั้งในช่วงทำการผลิต และช่วงหยุดการผลิต รวมทั้งทำการตรวจวัดโดยใช้เครื่องมือต่างๆทำให้ได้ข้อมูลสภาพการใช้พลังงานของโรงงานนั้น
          3. การตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานอย่างละเอียด (Detailed Audit) ผลการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น นำข้อมูลมาสร้างรูปแบบการใช้พลังงานว่าจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขส่วนใดบ้างซึ่งจะต้องทำการตรวจสอบและวิเคราะห์อย่างละเอียด โดยการตรวจวัดและบันทึกข้อมูลอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นช่วงเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อให้ทราบสภาพการทำงานและวิเคราะห์การสูญเสียพลังงานโดยจัดทำสมดุลพลังงาน เพื่อหาประสิทธิภาพของระบบ และของอุปกรณ์ที่สำคัญ และหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ในแต่ละมาตรการลงทุนเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมและเป็นไปได้

แล้วจะได้ผลแค่ไหน                       
           ตัวอย่างการศึกษาวิจัยเพื่อทำการปรับปรุงการใช้พลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ และเกิดการประหยัดพลังงานโดยใช้วิธีการของ Energy Audit ที่จะนำเสนอในบทความนี้ คือการศึกษาศักยภาพการประหยัดพลังงานไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตมิเตอร์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทราบการใช้พลังงานของโรงงาน ประเมินหาศักยภาพในการประหยัดพลังงาน และเสนอแนวทางการปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ โดยโรงงานที่เข้าทำการศึกษาคือ บริษัทมหาจักรไฟฟ้าสากล จำกัด ตั่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่จัดอยู่ในประเภทขนาดกลาง ตามการจัดแบ่งประเภทกิจการไฟฟ้าในการคิดอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยเข้าทำการสำรวจ ตรวจวัดและวิเคราะห์หาสถาพการใช้พลังงานและการสูญเสียพลังงานที่เกิดขึ้นในเครื่องจักรอุปกรณ์ไฟฟ้าของโรงงานได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศซึ่งมีสัดส่วนการใช้พลังงานมากกว่า 90 เปอร์เซนต์ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของโรงงาน
                          
          ผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบันโรงงานมีการใช้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 1,376,160 kWh โดยมีค่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 426 kW ค่าตัวประกอบภาระ 0.47 และค่าตัวประกอบกำลัง 0.09 มีสัดส่วนการใช้พลังงานสูงสุดในระบบมอเตอร์ของเครื่องจักรอุปกรณ์ร้อยละ 56..70 รองลงมาคือระบบปรับอากาศร้อยละ 34.71 และระบบแสงสว่างร้อยละ 8.59 อัตรา การใช้พลังงานไฟฟ้าต่อผลผลิตเท่ากับ 3.46 kWh/เครื่อง    มีศักยภาพในการประหยัดพลังงานได้ทั้งโดยวิธีที่ไม่มีการ ลงทุน และวิธีการที่ลงทุนรวม 5 แนวทางคือ                       
                            1. การยุบภาระหม้อแปลงรวมกันในช่วงที่ไม่ทำการผลิต                            
                            2. การสับเปลี่ยนมอเตอร์ให้พิกัดเหมาะสมกับภาระของเคื่องจักร         
                            3. การลดระยะเวลาการใช้งานของเครื่องปรับอากาศลง                 
                            4. การเปลี่ยนอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิเป็นแบบอิเลคทรอนิคส์เทอร์โมสตัท
          จากการวิเคราะห์ความเหมาะสมในการดำเนินการ และความคุ้มทุนโดยหาระยะเวลาคืนทุน (Playback Period) และวิธีมูลค่าปัจจุบันสนธิ (Net Present Value) แล้วพบว่า มีแนวทางการประหยัดพลังงานที่สมควรเสนอแนะให้แก่โรงงานในการปรับปรุงการใช้พลังงานของโรงงานเหลือเพียง 3 แนวทางได้แก่                      
                             1. การลดระยะเวลาการใช้เครื่องปรับอากาศลง                    
                             2.การปรับตั้งอุณหภูมิที่เหมาะสมให้แก่เครื่องปรับอากาศ
                             3. การเปลี่ยนอุปกรณ์ควบคุมของเครื่องปรับอากาศ         
          จึงได้เสนอแนะให้โรงงานใช้แนวประหยัดพลังงานดังกล่าวร่วมกัน    เพื่อให้ศักยภาพในการประหยัดพลังงานไฟฟ้าของโรงงานสูงสุด โดยสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 14,0001.63 kWh  ( หรือลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ ปีละ10.68 เปร์เซนต์) หรือคิดเป็นค่าพลังงานไฟฟ้าที่สามารถประหยัดได้ปีละ 452,765 บาท
          จะเห็นได้ว่าแนวทางการประหยัดพลังงานที่เสนอแนะไว้ในตัวอย่างการศึกษาข้างต้น เป็นแนวทางที่สามารถดำเนินการได้โดยใช้เทคโนโลยีง่ายๆ ลงทุนน้อย และไม่ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานมาดำเนินการอย่างใด  จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อขโรงงานขนาดกลางลงไป เนื่องจากโรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดำเนินการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง อันเนื่องมาจากไม่ได่อยู่ในขอบข่ายที่ต้องปฏิบัติตามกฏหมาย พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พศ. 2535 และการที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการปฏิบัติตามกฏหมายดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินในการดำเนินการประหยัดพลังงานรวมถึงการขาดผู้รับผิดชอบโดยตรงด้านพลังงานประจำโรงงานด้วย
 
          ดังนั้น บทความนี้จึงประสงค์จะกระตุ้นและชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดกลางลงไป ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 25,000 แห่งในเขตของภูมิภาค ให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ได้รับจากการประหยัดพลังงาน ซึ่งถ้าหากทุกโรงงานได้ดำเนินการประหยัดพลังงาน และได้ผลลัพธ์อย่างน้อยที่สุด เช่นเดียวกับกรณีตัวอย่างที่ได้ทำการศึกษาแล้วนี้ ย่อมจะสามารถช่วยให้ประเทศชาติประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้มากถึงปีละ  235 เมกกะวัตต์ หรือถ้าคิดเทียบสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของโรงงานแม่เมาะ ซึ่งมีกำลังผลิตปีละประมาณ 2,625  เมกกะวัตต์ โดยมีความต้องการถ่านหินปีละประมาณ 16 ล้านตัน แล้วเท่ากับสามารถลดค่าใช้ถ่านหินลงไปได้ถึงปีละมากกว่า 1.4 ล้านตันดังนั้น การประหยัดพลังงานไฟฟ้าในกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่โรงงาน และยังช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงของประเทศแล้ว ยังสามารถช่วยลดมลพิษ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อยทีเดียว

          กล่าวโดยสรุป การประหยัดพลังงานไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมมีความจำเป็นมาก สามารถดำเนินการได้โดยอาศัยวิธีการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานหรือ Energy Audit ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเนื่องจากช่วยให้สามารถหาแนวทางการประหยัดพลังงานลงได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตของผู้ประกอบการลงได้   และเป็นผลดีต่อเศรษกิจของประเทศ รวมทั้งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม








เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน