ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




เชื้อเพลิงชีวภาพ ความท้าทายของอุตสาหกรรม พลังงานทางเลือก

เชื้อเพลิงชีวภาพ ความท้าทายของอุตสาหกรรม พลังงานทางเลือก         

ในช่วงหลายปีมานี้ที่ราคาน้ำมันปิโตรเลียมอยู่ในภาวะผันผวนจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก ประกอบกับกระแสรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากการใช้น้ำมัน กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง ปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงการหาพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานชีวภาพ (Biofuel) และเอทานอลซึ่งเป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมจากพืช เช่น อ้อย ข้าวโพด โดดเด่นขึ้นมา 

          หากแต่การขยายศักยภาพของอุตสาหกรรมเอทานอลให้ก้าวขึ้นไปสู่แถวหน้าของตลาดเชื้อเพลิงในระดับโลก หรือมีสัดส่วนราว 10-15% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในอีก 10-20 ปีข้างหน้ายังคงมีอุปสรรคอยู่บางประการจากข้อมูลการศึกษาของบริษัท แอคเซนเจอร์ฯซึ่งเป็นผู้ให้บริการคำปรึกษาด้านการบริหารจัดการธุรกิจระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจน การรับรู้ในเชิงลบของผู้บริโภค และปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ความจำเป็นด้านการลงทุนในสายการผลิตและเครื่องมือการบริหารความเสี่ยง 

          เมลิซซา สตาร์ก หัวหน้าฝ่ายพลังงานชีวภาพระดับโลกของแอคเซนเจอร์ในลอนดอน และเป็นผู้ทำการศึกษาเรื่อง "พลังงานชีวภาพ ถึงเวลาการเปลี่ยนผ่าน" ระบุว่า ผลการศึกษาพลังงานชีวภาพเชิงลึกในครั้งที่ 2 พบปัญหาในการขยายโอกาสของอุตสาหกรรมหนักกว่าที่เคยคาดไว้ในการศึกษาครั้งแรกเมื่อปี 2550 ขณะที่องค์ประกอบที่จะส่งให้พลังงานชีวภาพก้าวสู่อุตสาหกรรมระดับโลกมีพร้อมหมดแล้ว ขาดก็แต่ส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน 

          ตัวอย่างเช่น กฎระเบียบที่กำหนดการใช้พลังงานชีวภาพทั่วโลกมีลักษณะแตกไปคนละทิศละทาง ส่วนใหญ่ขึ้นกับผู้วางนโยบายว่าจะให้น้ำหนักกับเรื่องใดมากกว่ากันระหว่างการสนับสนุนภาคเกษตร ความมั่นคงด้านพลังงาน หรือปัญหาโลกร้อน

          โดยประเด็นที่ถือเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพตามที่กล่าวข้างต้นคือ อยู่ที่ในส่วนสายการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน และทุน ซึ่งตามการศึกษาของแอคเซนเจอร์มองว่า เป็นปัญหาแบบไก่กับไข่ สาเหตุที่ทำให้ตลาดไม่โตก็ด้วยเหตุว่าไม่มีสถานีบริการเอทานอลสำหรับผู้ใช้รถที่ใช้น้ำมันเอทานอล 85% หรืออี85 อย่างเพียงพอ แต่อีกด้านหนึ่งก็มองได้ว่าเพราะไม่มีรถที่รองรับน้ำมันอี 85 มากพอที่จะจูงใจให้ปั๊มน้ำมันหันมาติดตั้งหัวจ่าย อี85 นั่นเอง 

          จากตัวอย่างในสหรัฐอเมริกานั้น นายฟิล แลมเพิร์ต ผู้อำนวยการบริหารจากกลุ่มยวดยานที่ใช้เอทานอลแห่งชาติ ระบุว่าจนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีสถานีบริการน้ำมันอี85 อยู่ราว 1,557 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในแถบมิดเวสต์ติดกับสถานที่ผลิตเอทานอล แต่หากจะติดตั้งสถานีบริการน้ำมันอี85 ในรัศมี 5 ไมล์ ที่มีผู้ใช้ยวดยานอยู่อย่างหนาแน่น จะต้องเพิ่มสถานีเป็นทั้งหมด 20,000 แห่ง 

          หากพิจารณาด้านต้นทุนในการเปลี่ยนปั๊มปกติเป็นอี85 จะมีต้นทุนอยู่ที่ 3,350 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อแห่ง จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ในอิลลินอยส์ ซึ่งมีสถานีให้บริการที่จะต้องเปลี่ยนทั้งสิ้น 64 แห่ง และยังไม่นับการติดตั้งปั๊มใหม่สำหรับอี85 อีกซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อแห่ง 

          ต้นทุนการเปลี่ยนปั๊มบริการก็เป็นแรงฉุดแล้วเรื่องหนึ่ง สิ่งที่จะสร้างความลังเลให้กับบริษัทน้ำมันไม่กล้าเพิ่มการลงทุนอีก ยังมาจากสัญญาณที่ไม่ชัดเจนจากรัฐบาลที่จะสนับสนุนให้ตลาดพลังงานชีวภาพเติบโตไปในทิศทางใด 

          ขณะเดียวกัน ความท้าทายอีกประการยังมาจากเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ที่จะพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานได้ระบุว่า ถึงตอนนี้ เทคโนโลยีที่พัฒนาไปมากจะช่วยส่งเสริมพลังงานเอทานอลและไบโอดีเซลในฐานะทางเลือกสำหรับพลังงานเชื้อเพลิงในระดับโลกได้ เช่นเดียวกับกรรมวิธีการเกษตรที่สร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นทำให้สามารถแปลงวัตถุดิบอาหาร เช่น ข้าวโพดไปใช้เพื่อการผลิตพลังงานได้ ทำให้คาดว่าจะเป็นปัจจัยเร่งวิทยาการสำหรับพลังงานชีวภาพในระยะที่ 2 ที่จะผลิตจากวัตถุดิบกากใย ประเภทเซลลูโลส ซึ่งจะได้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีรองรับไว้ตั้งแต่ระยะแรกนี้ 

          ตัวอย่างเช่น บริษัทโพเอ็ทฯ บริษัทเอกชนที่ผลิตพลังงานชีวภาพ มีแผนว่าภายในปีนี้จะเริ่มโรงงานนำร่องในเซาธ์ ดาโกตา ที่ยกระดับเทคโนโลยีการผลิตจากพลังงานเอทานอลที่ใช้วัตถุดิบจากอาหารไปเป็นเซลลูโลส ที่ใช้ซังข้าวโพดเป็นวัตถุดิบแทน 

          ทั้งยังมีเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ เช่น ไบโอดีเซลที่พัฒนาจากสาหร่าย หรือชีววิทยาสังเคราะห์ที่รู้จักกันว่าเป็นพลังงานชีวภาพระยะที่ 3 ที่จะตามออกมาเช่นเดียวกับรถยนต์ลูกผสมที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือโฮโดรเจน

          ทั้งหมดนี้นอกจากสะท้อนความก้าวหน้าทางวิทยาการแล้ว อีกด้านหนึ่งยังหมายถึง คู่แข่งทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นมาในตลาดพลังงานทางเลือกนอกจากพลังงานชีวภาพ ซึ่งแม้จะมีพื้นที่ในตลาดสำหรับเทคโนโลยีทุกประเภท แต่ก็นับว่าพลังงานชีวภาพซึ่งหมายถึงในระยะที่ 1 นี้ยังพอมีเวลาอย่างน้อยถึง 10 ปีที่จะก้าวนำเทคโนโลยีอื่นที่เตรียมจะเข้ามาสู่การแข่งขันเพื่อวางรากฐานตลาดในฐานะพลังงานเชื้อเพลิงที่เชื่อถือได้และยั่งยืน อยู่ที่ว่าแต่ละประเทศจะมีการวางยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมอย่างจริงจังเพียงใดเท่านั้น








เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน