ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




การเคลื่อนศพ

ธรรมเนียมการเคลื่อนศพ (เดือ มา - đưa ma)

แต่เดิมมาวันเคลื่อนศพไปส่งที่สุสานนั้นถือเป็นวันสำคัญของงานศพแบบเวียตนาม
โดยทั่วไปมักพูดติดปากว่า ดี-เดือ-มา ( Ði đưa ma )
แปลว่า ไปส่งศพซึ่งถ้าจะนับกันไปการไปส่งศพหรือไปร่วมในพิธีเคลื่อนศพนั้นถือกันว่าให้เกียรติคนตาย
และยังให้ความสำคัญกับเจ้าภาพของงานด้วย
ญาติทางไกล หรือมิตรสหาย ลูกหลาน จะต้องกลับมาให้ทัน
คืนสุดท้ายที่ศพตั้งอยู่ที่บ้าน และอยู่จนถึงวันรุ่งขึ้นเพื่อส่งศพที่สุสาน
จึงจะเรียกว่ารักกันจริง และถือว่าเป็นผู้รู้ธรรมเนียม



การเคลื่อนศพแบบเวียตนามนั้นมีข้อแตกต่างกันไปตามแต่ในชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดนครพนมในขบวนเคลื่อนศพนั้นริ้วขบวนจะต้องประกอบไปด้วย (เรียงจากหน้าสุดไปหลังสุดของขบวน)

1.ริ้วขบวนธง ตั้ง 2 แถว (2 ข้าง) ขนานกันไป
(โดยธงคู่สุดท้ายที่ถือชิดกับรถศพที่สุดจะเป็นธงตระกูลเขยหรือสะใภ้)



2.พวงหรีดของสมาคมหมู่บ้าน
(ในภาพงานศพชุดนี้เป็นสมาคมหมู่บ้านต้นผึ้ง-ดอนโมง หรือสังกัดศาลเจ้าพ่อแท่งฮวา)



3.หญิงม่ายโปรยกระดาษเงิน-กระดาษทอง และข้าวสาร
(เพื่อซื้อทาง และเป็นสัญลักษณ์ให้วิญญาณเดินทางกลับบ้านได้ถูกต้องเมื่อมีการเชิญวิญญาณกลับมาร่วมพิธีต่าง ๆ หลังจากนี้)



4.กลองและฆ้อง เดินขนาบ 2 ข้าง
(ปัจจุบันจะอยู่บนรถยนต์นำหน้า คนโปรยกระดาษ)



5.รถเข็นคันเล็กที่มีรูปผู้ตาย กระถางธูป ป้ายวิญญาณ ถาดผลไม้ แจกันดอกไม้ ตะเกียง
เกิมอุ๊บและที่ท้ายของรถจะติด หลา-เจี่ยว
(ป้ายสีแดง=หนังสือเดินทางของผู้ตาย) รถเล็กคันนี้พัฒนามาจากเก้าอี้หามเรียกว่า “Linh Xa - ลิง ซา” โดยจะเป็นที่สถิตของวิญญาณในการเดินทางไปสุสาน มีนัยว่าวิญญาณจะได้ไม่ต้องเดินไป แต่จะนั่งเก้าอี้หาม
หรือในปัจจุบันนี้เป็นการนั่งรถคันเล็ก ๆ นี้ไปสุสาน



6.หลาน และเหลน ทั้งหลานนอกและหลานใน ที่ผูกผ้าสีขาว และที่ผูกผ้าสีแดงไว้ทุกข์จะเดินตามรถคันเล็กนี้



7.ผู้อาวุโสตีกรับไม้ เดินนำ คอยให้จังหวะการลากจูงรถส่งศพ (แซ ดอน รอง) ของเหล่าชายฉกรรจ์



8.ลูกชายคนโต และหลานชายคนโตสืบสกุล (เจ๋า ดึ๊ก โตน) เดินถอยหลังกั้นรถส่งศพ แต่จะมีลูกชายบางส่วนเข้าร่วมเดินถอยหลังด้วย



9.ลูกชายที่รู้ธรรมเนียมรู้ตำแหน่ง รวมทั้งลูกสาว ลูกสะใภ้
ที่สวมชุดไว้ทุกข์ที่ขาว จะเดินตามรถส่งศพ
ตรงนี้ก็จะมีลูก ๆ กางร่มให้แม่ตนเองด้วย
เพราะแต่ละคนสูงอายุแล้วเดี๋ยวเป็นล้มพับไปจะยุ่งกันใหญ่



10.ขบวนเดินเท้าของชาวบ้านที่มาร่วมส่งศพ ปัจจุบันมีคนเดินในขบวนน้อยมาก โดยส่วนใหญ่มักจะไปคอยที่ศาลาสุสานไม่เดินกันให้ร้อนแล้ว ยกเว้นคนที่รักใคร่ และยังถือธรรมเนียมร่วมเดินส่งศพครั้งสุดท้าย



ลองดูเทียบกับสมัยก่อน ภาพนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 40 - 50 ปี



ปัจจุบันการเดินในขบวนก็ไม่เคร่งครัดนัก เอาจุดใหญ่ ๆ ถูกต้องเป็นใช้ได้ ใครอยากเดินตรงไหนก็เดิน ไม่มีใครว่าใครเพราะผู้รู้ก็ตายไปเกือบหมดแล้ว
อีกอย่างคนสมัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง
เมื่อมีคนกล้าบอก กล้าแนะนำ แล้วเขาไม่ทำตาม
คนบอกคนพูดก็เลิกพูดเลิกแนะนำไปในที่สุด



เมื่อเดินทางมาถึงสุสานก็จะเข้าไปทำพิธี

ดี ด่าง ( Ði Ðàng)

พิธีนี้เมื่อก่อนจะทำเมื่อขบวนหยุดพักการเคลื่อนศพข้างทางที่ใกล้จะถึงสุสานเพื่อพักดื่มน้ำไปพร้อมกัน

ดี ( Ði) แปลว่า ไป
ด่าง หรือ เดือง ( Ðàng) แปลว่า ทาง หรือถนน

กล่าวโดยสรุป พิธี ดี ด่าง นี้เดิมจะทำที่ข้าง ๆ ถนน โดยเจ้าภาพ
จะเป็นผู้บริจาคเงินก้อนใหญ่ให้กับสมาคมหมู่บ้าน
เพื่อขอบคุณที่มาช่วยจัดการเคลื่อนศพผู้ตาย โดยจะมีเครือญาติ หรือมิตรสหายที่สนิทสนมแต่ละตระกูลร่วมแสดงน้ำใจโดยการบริจาคเงิน สมทบเข้าไปด้วยโดยจะมีการขานชื่อ และประกาศให้ทุกคนทราบว่าได้ยอดเงินรวมกันเท่าไร โดยเงินส่วนนี้จะไปใช้ในสาธารณกุศลหรืองานที่เกี่ยวกับส่วนรวมของหมู่บ้าน
กระซิบให้ทราบกันครับว่าเงินส่วนนี้แต่ละหมู่บ้านมีมากบางแห่งมีเป็นหลักล้านทีเดียวเชียว




การบริจาคเงินในการ ดี ด่างนี้ เปรียบได้กับการร่วมกันซื้อทาง ส่งศพให้ไปถึงสุสานโดยลุล่วงนั้นเอง
นอกจากนี้ทางเจ้าภาพที่หัวสมัยใหม่ก็จะมีการบริจาคเงินช่วยสาธารณกุศลต่าง ๆ เช่นโรงเรียนในชุมชน
สมาคมไทยเวียตนาม โรงพยาบาลที่ผู้ตายรักษาตัว
โดยเงินที่นำมาบริจาคนี้เป็นเงินที่คนร่วมทำบุญขณะตั้งศพไว้ที่บ้านนั้นเอง
เรียกว่าบุญต่อบุญครับ



เมื่อเสร็จจากพิธี ดี ด่าง ก็จะเป็นการอ่านประวัติ อ่านคำไว้อาลัย
ทั้งภาษาไทย และภาษาเวียตนาม ของสมาคมหมู่บ้านร่วมกับลูกหลาน
ในการนี้ผมก็ได้รับมอบหมายให้อ่านคำไว้อาลัยภาษาเวียตนามให้ปู่เป็นครั้งสุดท้าย
ผมไม่ได้แต่งเอง แต่คุณลุงพี่ชายของแม่
ท่านกรุณาแต่งให้ตามคำร้องขอของผม



โดยท่านจับเอาตัวผมมาฝึกซ้อมออกเสียงให้ถูกต้องเสียหลายชั่วโมง
ผมเองนั้นไม่เคยเรียนภาษาเวียตนามแบบเป็นเรื่องเป็นราวเลยเป็นแต่สนทนาแบบชาวบ้าน ๆ
ได้เพราะเคยอยู่กับยายตอนเด็ก ๆ
และอาศัย เรียนรู้เองตามเวปไซด์ ตามตำรา ที่พอจะหาได้
รวมทั้งสอบถามจากพ่อ แม่ บ้าง เวลาที่ท่านอารมณ์ดี
จึงทำให้พออ่านออกเขียนได้บ้าง

เมื่อเสร็จพิธีที่ศาลานี้การเดินทางระยะสุดท้ายจริง ๆ ก็มาถึงแล้ว
ศพจะถูกเคลื่อนออกจากศาลาไปทำพิธีกันภายในหมู่ญาติสนิทที่หลุมศพ
ถึงตรงนี้แขกส่วนใหญ่ก็จะเดินทางกลับกันครับ









เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน