ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




งัด ม.157 ขู่จนท.ปล่อยบุกรุกป่า

งัด ม.157 ขู่จนท.ปล่อยบุกรุกป่า

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2556 เวลา 16:36 น.

 
 
                วันนี้ (14 ม.ค.) ที่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข  รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นประธานเปิดงานวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ประจำปี 2556 โดยนายบุญชอบ สุทธิมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ข้อมูลการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ ในปี 2555 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียงประมาณ 108 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 33.8 ของพื้นที่ประเทศไทย ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้  34 ล้านไร่ ถือว่าน้อยมาก สาเหตุจากปัญหาการบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง และได้ส่งผลทำให้สภาพป่าในแทบทุกพื้นที่เข้าสู่สภาวะเสื่อมโทรม ระบบนิเวศป่าขาดสมดุล  

                  อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า ดังนั้น กรมป่าไม้จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการป้องกันป่าเดิม และปลูกป่าใหม่ 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ป้องกันป่าเดิม จะบูราณาการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ร่วมปกป้องป่าที่ยังคงเหลือ ไม่ให้ถูกบุกรุกทำลายเพิ่ม 2.ปลูกเสริมป่าใหม่ จะนำพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลายทั้งในส่วนของพื้นที่ที่คดีสิ้นสุดแล้ว และพื้นที่ที่ได้เจรจากับประชาชนกลับคืนมา ฟื้นฟู และ 3.ใส่ใจบำรุงรักษา จะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะเป็นผู้ปกปกรักษาผืนป่าในแต่ละชุมชนด้วยการเป็นเจ้าของผืนป่าร่วมกัน
 
                  ด้านนายปรีชา กล่าวว่า สภาพป่าที่เหลืออยู่เพียงร้อยละ  33.8 ของพื้นที่ประเทศไทย ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต กระทรวงทรัพยากรฯ จะมีมาตรการเข้มข้นในการดูแลรักษาป่า โดยตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.นี้จะถือเป็นวันดีเดย์ที่จะเริ่มใช้มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทั้งของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับล่าง จนถึงหัวหน้าหน่วย ทั้งป่าอนุรักษ์ ส่วนฟื้นฟู เป็นต้น ถ้าปล่อยให้มีการบุกรุกป่าใหม่ ก็จะมีการใช้มาตรา 157 ดำเนินการอย่างเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยให้มีการบุกรุก เพราะไม่เช่นนั้นก็เอาไม่อยู่
 
                 จากนั้นนายปรีชา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า จากนี้เป็นต้นไป กระทรวงทรัพยากรฯ จะส่งผู้ตรวจราชการทั้งระดับกรม และกระทรวง ลงไปตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละพื้นที่ว่า พื้นที่ใดมีการบุกรุกป่าเพิ่มหรือไม่ โดยให้รายงานมาที่ตนทุกเดือน ถ้าพบพื้นที่ไหนมีการบุกรุกใหม่ก็จะมีการใช้มาตรา 157 กับเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด ซึ่งการใช้มาตรานี้ในการดำเนินการ ก็จะได้รู้ว่าข้าราชการที่วิ่งเต้นของไปอยู่พื้นที่ดีๆ ถ้าไปอยู่แล้วทำไม่ได้ก็ต้องโดนมาตรา 157 ด้วย ส่วนประชาชนที่บุกรุกพื้นที่ป่า ก็จะมีการตั้งหน่วยไปสร้างจิตสำนึก ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม  และให้ออกไปจากพื้นที่ เพราะลำพังเจ้าหน้าที่จะทำงานคนเดียวไม่ได้ เช่นเดียวกับมาตรการปลูกป่าที่เริ่มขึ้นใน 1-2 เดือนข้างหน้า ก็จะมีการตั้งหน้าก็จะมีการตั้งคณะกรรมการปลูก และดูแลป่าชัดเจน ไม่ใช่ปลูกแล้วทิ้ง หรือปลูกลมก็ต้องเข้ามุ้งสายบัว
 
                 ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีพื้นที่พิพาทเช่นกรณีอุทยานฯ ทับลาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี  หรืออุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายมาตรา22 ของพ.ร.บ.อุทยานฯ หรือมาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ ได้เลยหรือไม่ นายปรีชา กล่าวว่า สามารถบังคับใช้ได้เลย ยกเว้นในส่วนที่อยู่ในกระบวนการของศาล ถ้าจับผู้บุกรุกได้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เลย เพราะถ้าไม่ทำก็จะโดนข้อหาละเว้นตามมาตรา 157
 
                  เมื่อถามว่าขณะนี้โครงการสำรวจแนวเขตและฐานข้อมูลทรัพยากรที่ดินของรัฐ(รีเชฟ) มีความคืบหน้าถึงไหนแล้ว เพราะมีการระบุว่าสัญญาระหว่างบริษัทเอกชนและกระทรวงทรัพยากรฯหมดอายุแล้ว นายปรีชา กล่าวว่า เท่าที่สอบถามจากนายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ในฐานะที่รับผิดชอบทราบว่าเสร็จประมาณ 70-80 % แล้ว ส่วนสัญญาระหว่างกระทรวงกับบริษัทเอกชนจะหมดอายุหรือไม่ ตนไม่ทราบ เป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงในการติดตาม ตรวจสอบ แต่ตนได้รับการร้องเรียนทั้งจากประชาชนและผู้เกี่ยวโดยเฉพาะกรรมาธิการชุดต่างๆ ในสภา ว่าโครงการดังกล่าวมีความไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินการจะต้องลงพื้นที่เดินสำรวจแนวเขตป่าอย่างละเอียด  ซึ่งเจ้าของพื้นที่เองไม่รู้เรื่องและไม่มีส่วนร่วมเลย ที่สำคัญเงินจำนวน 2,000 กว่าล้านบาท จากกองทุนสิ่งแวดล้อม เอามาใช้ถูกประเภทหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งข้อร้องเรียนเหล่านี้ตนได้ทำหนังสือไปให้นายโชติตรวจสอบด่วน ว่าข้อร้องเรียนเป็นอย่างที่กล่าวหาหรือไม่ ถ้าพบมีข้อสงสัยจะตั้งกรรมการสอบทันที เพราะโครงการดังกล่าวมีปัญหามาก และมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการมาแล้วหลายชุด
 
                 เมื่อถามว่าระยะเวลาในข้อสัญญาของโครงการรีเชฟป่า ใช้เวลาในการดำเนินการ  720 วัน ขณะนี้สิ้นสุดระยะเวลาตามโครงการแล้ว แต่ยังไม่มีการส่งมอบงาน จะต้องมีการทบทวนยกเลิกสัญญาหรือไม่ นายโชติ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการของกระทรวงว่าจะมีกึ๋นในการตรวจสอบหรือไม่ ตนมีหน้าที่กำกับนโยบาย ถ้าไม่ถูกต้องสุดท้ายก็ให้ไปจบที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)  ใครทำอะไรไว้ก็รับกรรมกันไป ทั้งนี้โครงการดังกล่าวอนุมัติตั้งแต่สมัยอดีตรัฐมนตรีคนก่อน ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งแต่ ปี 2552  
 
                 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายปรีชา ให้นโยบายจะใช้มาตรา 157 กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ปรากฎว่าได้สร้างความสับสนให้กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาก เพราะปฎิบัติตัวไม่ถูก เนื่องจากก่อนหน้านี้นายปรีชา ได้มีนโยบายให้ชะลอการจับกุมผู้บุกรุกป่าและถ้าจับคนที่บุกรุกให้รายงานไปที่อธิบดีกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานฯ รวมถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ก่อนจึงจะดำเนินการได้
 







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน