ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ครูมัธยม แยกพ้นสพฐ. ปัญหาเยอะ กระทบ"คุณภาพเด็ก"

ครูมัธยม แยกพ้นสพฐ. ปัญหาเยอะ กระทบ"คุณภาพเด็ก"

วันที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 10:29:01 น.

   
 
 
          เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ห้องอุดรธานีฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาอุดรธานี นายพิทยา ไชยมงคล นายกสมาคมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประเทศไทย นายวัชรินทร์ ศรีบุรินทร์ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) และนายยงยุทธ ทิพรส ประธานสมาพันธ์ครูโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมกันแถลงข่าว มติร่วมสมาคมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประเทศไทย หลังจากมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย

         นายวัชรินทร์ ศรีบุรินทร์ นายก ส.บ.ม.ท. อ่านแถลงการณ์ระบุว่า สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหลายสำนัก ทำให้การทำงานไม่สามารถบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักได้ อีกทั้งมีจำนวนโรงเรียนประถมศึกษามากถึง 28,660 โรงเรียน และโรงเรียนมัธยมศึกษาอีก 2,362 โรงเรียน ทำให้ สพฐ. เป็นองค์กรขนาดใหญ่มาก เกินที่จะแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา การบริหารเป็นไปด้วยความยากลำบาก การบริหารของทั้งสองระดับไม่ได้มีปัญหาหรือขัดแย้งกัน แต่ปรัชญาการจัดการศึกษา วัฒนธรรม ระบบ กระบวนการทำงาน มีความแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถประสานเชื่อมต่อระหว่างเขตพื้นที่การศึกษาได้

         "รวมถึงปัญหาระบบโครงสร้าง การบริหารบุคลากรที่มีการจัดการรวมกันทั้งสองระดับ ปัญหาการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ไม่สอดรับกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องใช้จังหวัดเป็นตัวตั้งในการบริหารราชการ แต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา มีพื้นที่บริการให้โรงเรียนในสังกัดมากกว่า 2 จังหวัด ทำให้การประสานงานด้านบุคลากร งบประมาณ และด้านอื่นๆ เกิดปัญหา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาของประเทศ" นายวัชรินทร์กล่าว

          นายวัชรินทร์กล่าวว่า จากปัญหาข้างต้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และเห็นผลชัดเจน มติที่ประชุมร่วมจึงเสนอแนวทางเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศ ดังนี้ จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการมัธยมศึกษา ในกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มเป็นส่วนราชการ แยกออกมาต่างหาก เช่นเดียวกับ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีฐานะเป็นนิติบุคคล ส่วนการจัดการประถมศึกษาคงอยู่ใน สพฐ. และจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่พิเศษมี 2 เขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งสิ้น 78 เขต นี่คือข้อเสนอกึ่งร้องขอต่อผู้มีอำนาจ หรือกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าเห็นพ้อง หรือยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ทั้ง 3 องค์กรก็จะมีข้อมูลนำเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไปตามลำดับ

          นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า จะรับข้อเสนอของ ส.บ.ม.ท.ไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) โดยเร็วที่สุด ตอนนี้ยังให้ความเห็นไม่ได้ว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะเรื่องนี้ต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อยุติที่ดีที่สุด 

          ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (กพฐ.) กล่าวว่า ไม่รู้ว่าองค์กรครูออกมาเคลื่อนไหวทำไม ทั้งที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกแล้วว่าจะไม่ปรับโครงสร้างใหญ่ น่าจะเอาเวลาไปมุ่งมั่นในการทำงานมากกว่า


(ที่มา : หน้า 1 มติชนรายวัน 8 ก.พ.2556) 







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน