ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




คดี ปรส.หมดอายุความ ปี 2556 ทำชาติเสียหาย 8 แสนล้าน

คดี ปรส.หมดอายุความ ปี 2556 ทำชาติเสียหาย 8 แสนล้าน 

 
 
 
          หากย้อนอดีตไปเมื่อปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ปาเข้าไปนานถึงสิบกว่าปี กับสำนวนคดี การขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส.เกี่ยวกับการเร่ขายสินเชื่อที่อยู่อาศัย 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มูลค่า 851,000 ล้านบาท ไปประมูลขายเพียง 190,000 ล้านบาท อีกทั้งกำหนดหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์ให้เอกชน และหลบเลี่ยงภาษี คดีหมายเลขดำที่ อ.3344/2551 ซึ่งแต่เดิมนั้น ปรส. ในสมัยของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี นั้นได้สั่งปิด 56 ไฟแนนซ์ และตั้งปรส.ขึ้นมา เพื่อแยกหนี้ดี-หนี้เสียออกจากกัน แล้วค่อยประมูลขาย เพื่อปลดล็อกสินทรัพย์ทั้งหลายถูกแช่แข็งอยู่ออกมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์ อย่างรวดเร็วที่สุดและโปร่งใสที่สุด โดยสินทรัพย์ดีจะได้ขายได้ในราคาที่ดี (โดยใช้วิธีประมูล) อีกทั้งช่วยเหลือผู้ฝากเงิน และเจ้าหนี้ที่สุจริต โดยเฉพาะกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ในสัดส่วน 87.54% และเพื่อชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้
 
          แต่ในทางปฏิบัติ สมัย นายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปปัตย์มาบริหารประเทศนั้น มีการตั้งข้อสังเกตกันว่ากระทำขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งแก้ไข ระบบสถาบันการเงินด้วยการฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินการ ไม่ได้มีการแยกสินทรัพย์ดี และเสีย ( Good Bank –Bad Bank ) ทำรัฐเสียหายกว่า 800,000 ล้าน เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์โดยมิชอบ จาก 8 แสนล้าน เหลือ 2 แสนล้าน มีผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 5 คดี ประกอบด้วย
 
           คดี ที่ 1 กรณี บริษัท เลห์แมนบราเดอร์ โฮลดิ้ง อิงค์ ผู้ชนะการประมูลซื้อสินทรัพย์ประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก ปรส. แล้วโอนสิทธิให้กับกองทุนรวมโกลบอลไทยพร็อพเพอร์ตี้ เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2541 ยอดคงค้างทางบัญชี 24,616.95 ล้านบาท แต่ประมูลขายไปเพียง 11,520 ล้านบาท
 
           คดีที่ 2 กรณีบริษัท โกลด์แมน แซคส์ เอเชีย ไฟแนนซ์ จำกัด ผู้ชนะการประมูลซื้อสินทรัพย์จาก ปรส. แล้วโอนสิทธิให้กับกองทุนรวมบางกอกแคปปิตอล ยอดคงค้างทางบัญชี 115,890.96 ล้านบาท แต่ประมูลขายไปเพียง 22,454.87 ล้านบาท
 
           คดีที่ 3 – 4 กรณี บริษัท เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ผู้ชนะการประมูลซื้อสินทรัพย์ จาก ปรส. แล้วโอนสิทธิให้กับ กองทุนรวมเอเชียรีคอฟเวอรี่ 1 – 3 ยอดคงค้างทางบัญชี 64,303.34 ล้านบาท แต่ประมูลขายไปเพียง 23,176.38 ล้านบาท
 
           คดีที่ 5 กรณี บริษัท วีคอนกลอมเมอเรท จำกัด ผู้ชนะการประมูลซื้อสินทรัพย์ จาก ปรส. แล้วโอนสิทธิให้กับกองทุนรวมวีแคปปิตอล ยอดคงค้างทาง บัญชี2,376.73 ล้านบาท แต่ประมูลขายไปเพียง 3,189.90 ล้านบาท เหล่านี้ คือผลของการกระทำดังกล่าวทำให้ การประมูลทรัพย์ ได้ราคาที่ต่ำมาก ซึ่งดีเอสไอสรุปสำนวนคดี ปรส. ชี้การกระทำดังกล่าวว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และนายวิชช์ จีระแพทย์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีล้มละลาย แถลงสรุปผลการประชุม ยังพบว่า มีการดำเนินการหลายกรณี ไม่เป็นไปตามกฎหมายระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น 10 ประเด็น ดังนี้
 
     1.ปรส.ยินยอมให้นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปรส.เข้าประมูลซื้อทรัพย์สิน จากปรส.โดยมิชอบ
     2.คณะกรรมการปรส.บางคนมีส่วนเกี่ยวข้องปกปิดข้อเท็จจริง กระทำการโดยไม่โปร่งใส
     3.ข้อกำหนดของปรส.ที่ให้ผู้ชนะการประมูลโอนสิทธิได้ขัดต่อกฎหมาย
     4.การโอนสิทธิของผู้ชนะการประมูล ไม่ชอบ ขัดต่อพรก.ปรส.
     5.ข้อกำหนดการขายทรัพย์สินของคณะกรรมการปรส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
     6.คณะกรรมการปรส.และกลุ่มนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปรส.ฝ่าฝืนข้อสนเทศการขาย ทรัพย์สิน
     7. กองทุนรวมที่รับโอนสิทธิจากผู้ชนะการประมูลซื้อทรัพย์สินจาก ปรส. ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
     8.มีการทำสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
     9.สิทธิของนิติบุคคลที่ชนะการประมูลไม่สมบูรณ์ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามข้อกำหนดการขายทรัพย์สินของ ปรส.
    10.ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการปรส.บางคนขาดคุณสมบัติเนื่องจากดำรงตำแหน่งทับซ้อน กับสถาบันการเงินอีกแห่ง
 
             จึงมีการทวงถาม ติดตามความคืบหน้าคดีดังกล่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เพราะเกรงว่าจะหมดอายุความในปี 2556 และหาก ปปช. ปล่อยให้คดี ปรส. หมดอายุความไปกับมือ ปปช. จะแสดงความรับผิดชอบค่าเสียหายอย่างไรต่อประเทศชาติ ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องตามสรุปคดี เพื่อไขปัญหาดังกล่าวไม่ให้หลุดไป ตามเจตนารมณ์แก้ไข ไม่แก้แค้น อย่างแท้จริง







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน