“คณิน” เตือน กรธ. ให้คำนึงถึง เสถียรภาพทางการเมือง หวั่นรบ.เลือกตั้งจะกลายเป็น "ลูกไก่ในกำมือ" องค์กรอิสระ ทำงานก็ถูกหาว่าโกง-ไม่ทำงานปชช.ก็ด่า

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เรียบเรียงโดยทีมงาน www.legendnews.net
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. กล่าวถึง มาตรการเข้มข้นที่กรธ. ออกแบบไว้สำหรับการตรวจสอบฝ่ายบริหารและนักการเมือง เพื่อป้องกันการทุจริต ว่า การตรวจสอบเป็นเรื่องดีแต่ก็ควรพึงสังวรเอาไว้ด้วยเหมือนกันว่า การให้ท้ายฝ่ายค้านและการเพิ่มเขี้ยวเล็บให้แก่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญจนมากเกินไป ก็อาจกลายเป็นอาวุธที่ย้อนกลับมาทำร้ายประเทศได้เหมือนกัน
นายคณิน กล่าวว่า ถ้ากรธ. คิดแต่จะเพิ่มเขี้ยวเล็บและอำนาจในการตรวจสอบให้แก่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเอาใจฝ่ายค้านมากเกินไปอย่างเช่นที่กรธ. พยายามออกแบบโดยหวังแต่เพียงจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเดียว แต่ละเลย และไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและหลักการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันแล้ว อาจจะทำให้การคอร์รัปชั่นลดน้อยลงได้บ้าง แต่นั่นก็เป็นเพราะฝ่ายประจำและฝ่ายการเมืองไม่กล้าทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะกลัวอิทธิฤทธิ์ขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะทำให้หมดอนาคตได้ง่ายๆ แต่ผลเสียกลับจะตกอยู่กับประเทศชาติและประชาชน เพราะทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต้องกลายเป็นอัมพาต นอกเหนือจากความไร้เสถียรภาพทั้งของรัฐบาลและการเมืองโดยรวม เพราะฝ่ายบริหารจะตกอยู่ใน “ระหว่างเขาควาย” กล่าวคือ ถ้าทำงานหนักก็จะถูกหาว่าโกง และถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ครั้นจะไม่ทำงานก็จะถูกประชาชนลงโทษว่าไร้ผลงานและไม่ดูแลประชาชน กรธ. อยากเห็นการเมืองมีสภาพเช่นนี้หรือ
นายคณิน กล่าวอีกว่า กรธ. ควรตระหนักอยู่เสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่รัฐธรรมนูญ ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งมีสภาพเป็น “เป็ดง่อย” หรือ “ลูกไก่ในกำมือ” ของฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ แล้วละก็ เมื่อนั้น นอกจากรัฐบาลจะไร้เสถียรภาพ และสั่นคลอนอย่างรุนแรงแล้ว ประเทศยังจะกลายเป็นอัมพาตอีกด้วย และผู้ที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดและก่อนใครเพื่อนก็คือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนยากคนจน
ทั้งนี้ การร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรหลงติดกับ “ภาพจำ” ของบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่ต้องยึดหลักการเป็นตัวนำ คือ ต้องเป็นมาตรการที่ใช้ได้ดีสำหรับทุกฝ่ายและก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ไม่ว่าผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาล ยกตัวอย่าง สมมุติว่า กรธ.ออกแบบมาตรการเข้มข้นที่ชอบเรียกกันว่า “ยาแรง” เพื่อให้ใช้กับรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำก็จะเป็นโอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะอาศัยองค์กรอิสระ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญใช้มาตรการเหล่านั่นรุมกระหน่ำ จนรัฐบาลอยู่ไม่ได้ ถึงอยู่ได้ก็จะถูกทหารปฏิวัติอีกเหมือนเมื่อปี 2557 เข้าตำรา ถึงจะใช้ “ยาแรง” แล้วก็ยังเอาไม่อยู่ ต้องให้ยาแรงขึ้นไปอีก
ในทางกลับกัน ถ้าพรรคการเมืองอื่นเป็นรัฐบาลและพรรคพท.เป็นฝ่ายค้าน ถึงแม้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญอยากจะอุ้มรัฐบาล แต่ก็จะอุ้มไม่ถนัดเพราะฝ่ายค้าน ประชาชน และมวลชน จะกดดัน ให้จัดการกับรัฐบาล จนอยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะถ้าไม่เช่นนั่น องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่ไม่ได้ ยิ่งถ้าเอาคนนอกมาเป็นนายกฯโดยมีกองทัพหนุนหลังก็ยิ่งแล้วกันไปใหญ่ เพราะเมื่อถึงทางตันก็ไม่ยอมยุบสภา ในขณะที่กลไกที่วางไว้สำหรับการผ่าทางตัน คือ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือประธานสามศาลก็แล้วแต่ก็จะไม่ยอมทำงานเพราะเกรงใจทหาร เหตุการณ์ก็จะย้อนกลับไปเหมือนเมื่อตอนที่จอมพลถนอม ปฏิวัติตัวเองและปราบปรามประชาชนจนเกิดการนองเลือด ในเหตุการณ์ วันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั่นเอง
ที่มา MatichonOnline