ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




แก้ กม. 30 บาท ต้องไม่ลืมเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 แก้ กม. 30 บาท ต้องไม่ลืมเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559  เรียบเรียงโดยทีมงาน www.legendnews.net

ในฐานะนักวิชาการผู้ร่วมร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และผู้ซึ่งมีบทบาทในการติดตามและร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน

หลังมีกระแสผลักดันเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ หรือที่เรียกทั่วไปว่า กฎหมายบัตรทองผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้วิเคราะห์เพื่อสะท้อนมุมมองต่อปัญหาและอุปสรรคของกฎหมายที่มีต่อระบบในช่วง 14 ปี รวมถึงข้อเสนอแก้ไขกฎหมายจากภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ

มองอย่างไรกับการเสนอแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ?

ภญ.ยุพดี : เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ต้องแก้ไขเพราะเป็นกฎหมายที่ใช้มานานแล้ว จึงต้องมีการปรับให้ทันกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลง เพียงแต่หลักคิดการแก้ไขกฎหมายต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงคุณภาพและบริการ ครอบคลุมและคุ้มครองประชาชนให้มากขึ้น ไม่ใช่แก้ไขเพื่อปรับระบบให้แย่ลง ซึ่งที่ผ่านมามีบางกลุ่มที่พยายามเสนอแก้ไขในหลายประเด็นที่ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ระบบล้าหลังและถดถอยลง ทั้งที่ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยวันนี้ถูกยอมรับว่าก้าวหน้ามาก

ในฐานะผู้ติดตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีมาตราใดของกฎหมายบัตรทองที่ควรแก้ไข ?

ภญ.ยุพดี : จากที่ระบบดำเนินมา 14 ปี แม้ว่าโครงสร้างการบริหารกองทุนจะพอไปได้ แต่องค์ประกอบของบอร์ด สปสช.ยังไม่สมดุล ซึ่งบอร์ด สปสช.ประกอบด้วยผู้แทน 3 ส่วน คือ ส่วนราชการ ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ โดยส่วนผู้แทนส่วนราชการนอกจากมีจำนวนมากแล้ว การทำหน้าที่ออกเสียงและความเห็นในเรื่องต่างๆ ยังขาดความเป็นอิสระ จึงทำให้บอร์ดเกิดความโน้มเอียง ผิดวัตถุประสงค์กฎหมายที่ต้องการให้บอร์ดมีการคานอำนาจระหว่างผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ ดังนั้นควรแก้ไขส่วนนี้ ซึ่งองค์กรต่างๆ ที่บริหารในรูปแบบบอร์ด ส่วนใหญ่ในกฎหมายจะกำหนดให้ผู้แทนส่วนราชการไม่มีอำนาจออกเสียง แต่ให้ทำหน้าสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการ หลักการ รวมทั้งความเป็นไปได้ในการดำเนินงานต่างๆ ของบอร์ด

ขณะที่ในส่วนผู้ให้บริการ มองว่าสัดส่วนสภาวิชาชีพในบอร์ดมีมากเกินไป ขณะที่ตัวแทนผู้ให้บริการมีไม่มาก จึงเห็นด้วยกับข้อเสนอให้เพิ่มผู้แทนหน่วยบริการเข้ามาเพิ่มเติม เกิดการถ่วงดุลผู้ให้บริการและผู้รับบริการอย่างแท้จริง แต่ในส่วนผู้แทนสภาวิชาชีพที่ขณะนี้ถูกจัดอยู่ฝั่งผู้ให้บริการนั้น เท่าที่ดูมีจำนวนมากเกินไป ซึ่งต้องเข้าใจว่าบทบาทของบอร์ด สปสช.คือการกำหนดนโยบายเป็นหลัก รวมทั้งดูในเรื่องสิทธิประโยชน์ ไม่เน้นบทบาทการกำกับคุณภาพและมาตรฐานการบริการที่เป็นหน้าที่ของบอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการ ดังนั้นตัวแทนสภาวิชาชีพน่าจะอยู่ในบอร์ดควบคุมฯ มากกว่า ส่วนฝั่งผู้รับบริการมองว่ายังมีสัดส่วนที่น้อยเกิดไป ควรปรับเพิ่มเพื่อให้เกิดความสมดุลในบอร์ด

การแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่าย เป็นข้อเสนอใหญ่ที่มีความพยายามผลักดัน มองอย่างไร ?

ภญ.ยุพดี : การยกร่างกฎหมายฉบับนี้ในปี 2545 ผู้ที่เสนอรวมเงินเดือนมาจากฝั่งวิชาชีพเอง เนื่องจากเป็นหลักการสามัญที่ต้องนำค่าแรงจัดทำสินค้ามาประกอบเพื่อตั้งราคาขาย หากตัดค่าแรงออกก็ไม่สามารถซื้อบริการได้ ดังนั้นจึงมองข้อเสนอนี้เป็นเรื่องแปลกที่จะขอตัดค่าแรงออกไป ขณะเดียวกันยังเป็นวิธีเพื่อกระจายทรัพยากรด้านสุขภาพไปยังพื้นที่ต่างๆ ตามประชากร ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหางบประมาณโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีสาเหตุจากเงินเดือนนั้น ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดสรรงบเงินเดือนบางส่วนไปยัง สธ.อยู่แล้ว เพื่อให้มีช่องบริหารจัดการงบประมาณภายในให้โรงพยาบาลที่มีปัญหาได้ ซึ่งเป็นการบริหารที่ดีอยู่แล้ว

อีกทั้งช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สธ.ได้ปรับการบริหาร โดยตัดเงินเดือนระดับเขต และมีการจัดงบเพิ่มเติมสำหรับโรงพยาบาลที่มีปัญหาสภาพคล่อง ดังนั้นไม่อยากให้เดินถอยหลังกลับไปใช้วิธีแยกเงินเดือน เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการล้มการปฏิรูปทรัพยากรคนในระบบสุขภาพของประเทศ

ที่ผ่านมามีข้อเสนอแก้มาตรา 5 จำกัดสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบ เฉพาะคนไทยเท่านั้น?

ภญ.ยุพดี : มาตรา 5 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ระบุให้บุคคลทุกคนมีสิทธิรับบริการสาธารณสุข ซึ่งในช่วงยกร่างปี 2545 ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนไทย แต่รวมคนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งรัฐควรจัดบริการให้เสมอภาคเท่าเทียม แต่การจัดบริการที่นี้ไม่ได้หมายถึงการรักษาฟรีทุกกลุ่ม แต่ควรจัดระบบรักษาพยาบาลเพื่อครอบคลุมและรองรับอย่างชัดเจน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งที่ผ่านมามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่อยู่ในสิทธิแต่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ส่งผลภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจึงตกที่หน่วยบริการ อย่างเช่น นักท่องเที่ยว ซึ่งในต่างประเทศมีการจัดเก็บค่าประกันภัยก่อนเข้าเมือง เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอมาตรา 41 การชดเชยความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ครอบคลุมถึงผู้ให้บริการ?

ภญ.ยุพดี : เรื่องนี้ตรงไปตรงมาและเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เกิดการดูแลฝั่งผู้ให้บริการ แต่ข้อเสนอที่ให้ตัดมาตรา 42 ไล่เบี้ยผู้กระทำผิด หลังจ่ายเงินชดเชยเยียวยานั้น ในช่วงร่างกฎหมายเรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากภาคประชาชนเสนอ แต่มาจากนักวิชาการฝ่ายกฎหมายที่ยืนยันว่าเป็นหลักสากลทั่วไปของกฎหมายที่ต้องมีไว้ รองรับกรณีหากเกิดจากเจตนาหรือประมาทเลินเล่อร้ายแรง จนทำให้ฝ่ายวิชาชีพและผู้ให้บริการกังวล แต่ข้อเท็จจริงหลังกฎหมายบังคับใช้ 14 ปี ยังไม่เคยมีการใช้มาตรา 42 ไล่เบี้ยผู้กระทำผิด เนื่องจากมาตรา 41 ได้ระบุเงื่อนไขการจ่ายเงินเยียวยาที่ต้องเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือระบบขัดข้องเท่านั้น และการวิเคราะห์ของบอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ ยังเน้นไปเชิงระบบ จึงไม่เคยกล่าวโทษบุคคลเพื่อหาผู้กระทำผิด

 

ส่วนมาตราเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่เลขาธิการ สปสช. และสำนักงาน ควรมีการปรับหรือไม่?

ภญ.ยุพดี : ตามที่มีข้อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น 1 ชุด จากบอร์ด สปสช. เพื่อทำหน้าที่กำกับและดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการฯ และสำนักงานนั้น ปัจจุบันในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการจัดตั้งอนุกรรมการแต่ละด้านเพื่อติดตามการบริหารอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค กองทุนเอดส์ กองทุนไต จึงมองว่าไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ ทั้งยังอาจส่งผลให้การทำงานของ สปสช.ขาดความคล่องตัวได้

 

มองข้อเสนอของแต่ละกลุ่มในการปรับแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ อย่างไร?

ภญ.ยุพดี : ข้อเสนอของภาคประชาชนตรงไปตรงมา เน้นการมีส่วนร่วมและครอบคลุมการดูแลประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ข้อเสนอสภาวิชาชีพ ก่อนอื่นต้องเข้าใจถึงหลักการและวัตถุประสงค์การแก้ไขกฎหมาย อีกทั้งยังต้องมีข้อมูลและหลักวิชาการมาสนับสนุนการแก้ไข ไม่ใช่เพื่อปกป้องวิชาชีพเท่านั้น ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เอง การแก้ไขกฎหมายแต่ละฉบับต้องรอบคอบและรอบด้าน มีการฟังความเห็น การมีส่วนร่วม รวมถึงต้องมีเหตุผลชัดเจนที่นำไปสู่การแก้ไขแต่ละมาตรฐาน โดย สนช.ถือเป็นสถาบันวิชาการ ต้องดำเนินบนฐานวิชาการและข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ใครเสียงดังก็แก้ไขตามนั้น และที่สำคัญต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ให้ต้องตามแก้ไขในอนาคต

การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ที่ดำเนินอยู่ตอนนี้ เป้าหมายสำคัญควรนำไปสู่อะไร ?

ภญ.ยุพดี : ต้องทำให้คนไทยคนในแผ่นดินเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียม ถึงเข้าถึงการรักษาได้ง่าย ไม่มีข้อจำกัดการเงิน เพียงแต่หากระบบนี้เกินความสามารถที่งบประมาณของรัฐจะรองรับ ต้องหาแหล่งทุนระยะยาวเพื่อรองรับ เชื่อว่าประชาชนยินดีมีส่วนร่วม เพียงแต่ต้องเป็นการจ่ายที่ไม่สร้างผลกระทบต่อการเข้าถึงการรักษา คนมีมากจ่ายมาก คนมีน้อยจ่ายน้อย ที่มีการนำเสนอจัดเก็บในรูปแบบภาษี

นอกจากนี้ควรยกเลิกแนวคิดเพื่อทำให้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับคนจน แต่ควรทำให้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ให้สมกับที่ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

ที่มา www.matichon.co.th/news/224393




แพทย์ วิสัญญี เภสัชกร ยาแผนปัจจุบัน การดูแลผู้ป่วย สาระน่ารู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ

ควรทานยาปฏิชีวนะให้ครบ
ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
โรคฉี่หนู
อย่ากินแอปเปิ้ลไซเดอร์ถ้าไม่รู้ 4.5 ข้อนี้ article
ผิวดำง่ายมากเกิดจาก 6 ข้อนี้ article
กินอาหารแล้วอ้วนจริงหรือ article
เอ็นข้อศอกอักเสบ เกิดจากอะไร? article
เจาะลึกกระบวนการ 'ทดลองยาในคน' article
กว่าจะเป็นยา ต้องผ่านขั้นตอน อะไรบ้าง? article
5 โรคร้ายรักษาง่ายๆด้วย ข้าวกล้อง article
เคล็บลับนอนหลับง่ายๆโดยไม่ต้องใช้ยา article
5 อาหารไขมันสูงยิ่งกินยิ่งผอม article
มือชา รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
กระดูกพรุน รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
เท้าปุก คืออะไร? รักษาอย่างไร? article
กระดูกสันหลังเสื่อม รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
ปวดหลังร้าวลงขา นั่งไม่ได้ รักษาอย่างไร? article
โรคท้องผูก ลำไส้ทำงานอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
การรับมือกับโรคมะเร็ง article
โรคหลอดเลือดหัวใจในหนุ่มสาว article
การจัดการโรคไตเรื้อรัง และสิ่งที่เชื่อผิดๆ article
น้ำดื่มบำรุงไต ไม่อยากฟอกไตต้องดู article
5 ความเชื่อผิดๆที่ทำให้ลดน้ำหนักไม่มีวันสำเร็จ article
7 วิธีควบคุมความดันโดยไม่ต้องพึ่งยา article
3 เทคนิคลดความอ้วน “#ไม่ต้องออกกำลังกาย” article



เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน