"ธุรกิจคู่หูแม่ค้าส้มตำง่ายๆ" กับวิธีเพาะพันธุ์ปูนา
เมื่อกล่าวถึง “สัตว์นา” ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในท้องทุ่ง เชื่อว่า “ปูนา” คงเป็นสัตว์ชนิดแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงและรู้จักอย่างแพร่หลาย ที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะ “ปูดอง” ที่เป็นวัตถุดิบหลักของเมนูส้มตำ ทำให้ปริมาณปูนาที่จับได้จากธรรมชาติของไทยไม่เพียงพอ ประเทศไทยต้องนำเข้าปูนาจากประเทศเมียนมามาทำปูดองใส่ในส้มตำ ถ้าอยากรู้ให้สังเกตที่ก้าม ถ้าเป็นสีม่วงแสดงว่าเป็นปูเมียนมาจริงแท้แน่นอน
ไม่เฉพาะคนอีสานเท่านั้นที่นิยมบริโภค “ปูนา” เพราะเมนูส้มตำ (ปูปลาร้า) กลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมทั่วทั้งประเทศ (รวมถึงต่างประเทศด้วย) ทำให้ปูนาเป็นที่ต้องการของตลาด ปูนาที่หาจับตามท้องนาจึงมีไม่พอกับความต้องการ และยิ่งถ้าไม่ใช่ฤดูของเขาจริง ๆ ก็แทบจะหากินกันไม่ได้เลย แล้วจะหาปูดองจากไหนใส่ส้มตำล่ะ
ปูนานับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้และเป็นแหล่งโปรตีนที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวนาไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะฤดูฝนจะพบเห็นปูนาในท้องทุ่งนาและแหล่งน้ำจำนวนมาก ซึ่งนอกจากนำมาทำเป็นปูดองใส่ส้มตำแล้ว ปูนายังนำมาต้ม ผัด แกง ทอด ได้เช่นเดียวกับปูทะเลแถมรสชาติก็ดีไม่แพ้กัน ส่วนราคาปูนาในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 50-60 บาท ถือเป็นราคาที่ดีเลยทีเดียว และนอกจากจับได้จากธรรมชาติแล้ว การเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ปูนาจำหน่ายก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากนัก จึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ที่ดีให้กับผู้เลี้ยง
ปัจจุบันตามสื่อออนไลน์จะมีข้อมูล “การเลี้ยงปูนา” เผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติตาม ซึ่งการเลี้ยงเพื่อเพิ่มผลผลิตปู ก็น่าจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนปูนาได้เป็นอย่างดี ทำให้คนไทยยังมีปูนาไว้บริโภค รวมทั้งยังเป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้ที่น่าสนใจ
ดังตัวอย่าง คุณณัฐพัชร์ จารุธารเกษม หรือ คุณแบงค์ (โทร. 08-3844-6096) หนุ่มผู้หลงใหลมนต์เสน่ห์การเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเริ่มแรกมีกิจกรรมยามว่างคือการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่ได้รับความนิยมช่วงหลายปีมานี้ ต่อมามีโอกาสไปเห็นปูนา 2-3 ตัว ที่อยู่ในทุ่งนา จึงเกิดความคิดนำมาเลี้ยงเล่นๆ เป็นสัตว์เลี้ยง ขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาวงจรชีวิต ซึ่งทำให้เห็นถึงพฤติกรรมการเป็นอยู่ของปูนา รู้ถึงวิธีการกิน อาหาร ลักษณะของน้ำที่ชอบอยู่ ตลอดจนพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของปูนา กระทั่งทำให้เพาะขยายพันธุ์ปูนาได้สำเร็จ
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้เดินเล่นตามคันนาและจับปูนามาได้ 2-3 ตัว เป็นปูนาที่ตัวเล็กมาก เล็กกว่าเหรียญบาทเสียอีก ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นปูอะไร นำมาทดลองเลี้ยงไส้ในตู้ปลาขนาด 24 นิ้ว พร้อมสังเกตพฤติกรรมต่างๆ การอยู่ การกินจึงเกิดคำถามว่าปูนาเพาะพันธุ์ได้หรือไม่ จึงเริ่มศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เรียนรู้ต่อยอดจากการสังเกต ในที่สุดก็ทำการเพาะขยายพันธุ์ปูนาได้”
คุณแบงค์บอกว่า จากการลองถูกลองผิดและศึกษาจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ทำให้ทราบว่าปูสามารถแยกเพศได้ด้วยการดูที่ “จับปิ้ง” (หรือบางพื้นที่เรียกว่าสะดือ) ปูตัวผู้จับปิ้งฐานจะกว้างเรียวๆ แหลมๆ และก้ามซ้ายจะมีขนาดใหญ่กว่าข้างขวาอย่างเห็นได้ชัด ส่วนตัวเมียจับปิ้งฐานจะป้านๆ หนาๆ และมีขนาดใหญ่กว่า ก้ามมีขนาดเล็กแต่ก้ามทั้งสองจะมีความแตกต่างกันไม่มาก ที่ขอบจับปิ้งมีขนละเอียดเพื่อประโยชน์ในการอุ้มไข่
เมื่อปูนาเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จะมีขนาดประมาณ 1.5-2 นิ้ว อายุประมาณ 80-90 วัน หรือลอกคราบมาแล้วประมาณ 7-9 ครั้ง และเมื่อเปรียบเทียบขนาด ถ้าอายุเท่ากันปูเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าปูเพศเมียพอประมาณ
โดยธรรมชาติแล้ว ปูนาจะผสมพันธุ์กันในฤดูฝน ซึ่งคุณแบงค์ได้ศึกษาและทดลองผสมพันธุ์ในตู้ปลาขนาด 24 นิ้ว โดยปล่อยปูตัวผู้ 1 ตัว และตัวเมีย 3 ตัว ซึ่งการผสมพันธุ์จะใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที การสังเกตพฤติกรรมปูที่พร้อมผสมพันธุ์ ดูจากความก้าวร้าว ดุร้าย แสดงอาการปกป้องตัวเองพร้อมกับไล่ตามปูตัวเมียเป็นระยะ ๆ เมื่อได้จังหวะปูตัวผู้จะขึ้นคร่อมและใช้ขาเดินคู่ที่ 2-4 พยุงปูตัวเมียไว้ข้างล่าง การจับคู่ในลักษณะนี้จะดำเนินต่อเนื่องกันประมาณ 3-4 วัน
เมื่อปล่อยให้ผสมพันธุ์ ปูตัวผู้สามารถผสมพันธุ์และปล่อยน้ำเชื้อได้หลายครั้ง จึงจำเป็นต้องจับปูตัวผู้ออกจากตัวเมีย ส่วนปูตัวเมียสามารถรับน้ำเชื้อได้ 1-2 ครั้ง เพราะมีจับปิ้ง 2 รู เป็นถุงเก็บน้ำเชื้อสำรองไว้ผสมไข่ได้อีกครั้ง น้ำเชื้อของปูตัวผู้ที่เก็บไว้ในปูตัวเมียสามารถมีชีวิตประมาณ 3-4 เดือน แม่ปู 1 ตัว สามารถให้ลูกปูนา ครั้งละ 300-500 ตัว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดและความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์นั่นเอง
เมื่อไข่พัฒนาสมบูรณ์เต็มที่ จะถูกแยกเป็นเม็ดแล้วส่งออกไปตามท่อนำไข่เพื่อผสมกับน้ำเชื้อที่จะถูกขับออกมาจากถุงเก็บน้ำเชื้อ ไข่ที่ผสมแล้วจะถูกขับออกมาทางรูเปิดที่หน้าอก รยางค์ที่ 2-5 จะผลิตสารเหนียวออกมายึดไข่ติดไว้กับขนของรยางค์ทั้งสี่คู่ ที่มีลักษณะเป็นแผงคล้ายขนนก ที่จับปิ้งหน้าท้อง
ประมาณ 10-12 วัน ไข่ที่ผสมแล้วที่ติดกับจับปิ้งในบริเวณหน้าอกก็จะฟักเป็นลูกปูขนาดเล็ก แต่ลูกปูเหล่านี้คงเกาะอาศัยอยู่กับจับปิ้งอยู่ โดยแม่ปูจะใช้รยางค์ที่บริเวณหน้าท้องโบกพัดกระแสน้ำมีอาหารและออกซิเจนมา เลี้ยงตัวอ่อน ประมาณ 20-23 วัน ลูกปูก็จะลอกคราบเป็นลูกปูวัยอ่อนที่มีลักษณะครบถ้วนเหมือนพ่อและแม่ เมื่อแม่ปูเห็นว่าลูกปูแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็จะใช้ก้ามเขี่ยลูกปูให้หลุดออกจากจับปิ้ง แต่ถ้าสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่นไม่มีน้ำ หรือแล้งเกินไป การพัฒนาของลูกปูในช่วงนี้อาจจะช้า บางครั้งอาจจะยึดเวลาอีก 1- 2 เดือน ถึงจะลอกคราบ แม่ปูถึงจะเขี่ยออกจากจับปิ้ง
ลูกปูนาที่ฟักออกจากไข่จะฟักเป็นตัวขณะที่ยังอยู่ในแผ่นท้องของแม่ปู และจะอาศัยในแผ่นท้องของแม่ปู่นาน 2-3 สัปดาห์ ก่อนแม่ปูจะใช้ขาเขี่ยให้ออกไปอาศัยในแหล่งน้ำ หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมแม่ปูจะเก็บลูกอ่อนไว้นานขึ้น โดยลูกปูที่ฟักออกมาใหม่จะมีลำตัวขนาดเล็กเพียงไม่กี่มิลลิเมตร ลำตัวจะมีสีนวล เมื่อเติบโตจะมีสีเข้มเป็นสีน้ำตาลอ่อน และสีน้ำตาลเข้ม ตามลำดับ
การอนุบาลลูกปูนา
คุณแบงค์บอกว่า หลังจากพ่อแม่พันธุ์ผสมพันธุ์กันเรียบร้อยแล้ว จะแยกพ่อพันธุ์ออกจากตู้ จากนั้นจะใส่สาหร่ายหางกระรอก ไว้เป็นอาหารสำหรับแม่ปูและลูกปู จะไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือให้อาหารแต่อย่างใด และเมื่อลูกปูมีอายุ15-30 วัน หรือเริ่มออกจากท้องแม่แล้วจะจับแม่ปูออกและย้ายลูกปูไปเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ ให้มีขนาดโตเต็มวัย ในความหนาแน่นที่ควรปล่อยเลี้ยงปริมาณ 10,000 ตัว/ ตารางเมตร การเจริญเติบโตของปูเกิดจากการลอกคราบ หลังจากฟักเป็นตัวแล้วปูนาจะลอกคราบประมาณ 13-15 ครั้ง ก็จะโตเป็นปูเต็มวัยได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6-8 เดือน
ปูนาเป็นสัตว์น้ำจืดที่กินอาหารง่าย ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร เศษผักต่างๆ กุ้งฝอย เนื้อปลา ฯลฯ หรือแม้กระทั่งอาหารเม็ดสำเร็จรูป สำหรับการเลี้ยงของคุณแบงค์จะให้เป็นอาหารกุ้งเม็ดจมที่มีโปรตีนสูงเพราะหากให้อาหารสด จะทำให้น้ำเน่าเสียง่าย
ข้อแนะนำในการเลี้ยงปูนา
สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและบ่อปูน ภายในบ่อจำเป็นต้องมีพื้นที่บก โดยการหาท่อนไม้หรือท่อพีวีซี วางไว้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หลบซ่อนตัวและเป็นพื้นที่วางไข่ของแม่ปู ระดับน้ำที่เหมาะในการเลี้ยงปูนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร
คุณแบงค์ ได้กล่าวว่า“การวางแผนการขายปูนา ควรจับผลผลิตออกจำหน่ายในช่วงฤดูหนาวเพราะเป็นเวลาที่ปูมีรสชาติอร่อยที่สุด สามารถขายได้ราคาที่สูงกว่าช่วงเวลาอื่น ราคาจำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 2-5 บาท ซึ่งแม่ปูตัวหนึ่ง สามารถสร้างรายได้กว่าหมื่นบาทเลยทีเดียว และหากวางแผนดี มีช่องทางการตลาดที่ดี นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจเลยก็ว่าได้”