แนวทางแก้ โรครากขาวยางพารา

กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ได้จัดทำแปลงเรียนรู้โรครากขาวยางพาราขึ้น หลังพบการระบาดในพื้นที่ โดยเติมเชื้อราไตรโคเดอร์มาและสารเคมีกำจัดเชื้อราในทรีทเมนต์ และนำมาทดลองเปรียบเทียบกัน เพื่อศึกษาผลการป้องกันกำจัดโรครากขาวจากยางพารา ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมืองตรัง โดยยางพารามีอายุการปลูก 3 ปี เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การแก้ปัญหาโรคยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้ โรครากขาว (white root disease) เป็นโรคที่เกิดกับระบบรากของยางพาราในหลายพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อราชั้นสูงจำพวกเห็ด สร้างความเสียหาย โดยเข้าไปทำลายระบบรากทำให้ต้นยางที่เป็นโรคจะยืนต้นตาย และหากปล่อยไว้โดยไม่จัดการจะทำให้มีการแพร่ลุกลามในวงกว้างได้อันจะยังผลให้เกษตรกรต้องสูญเสียรายได้จากผลผลิตน้ำยาง และไม้ยางมากขึ้นทุกปี
นอกจากนี้จะกระทบต่อแปลงปลูกใหม่ ซึ่งหากต้นยางเป็นโรคอาจจะขยายวงเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากกว่าเดิม ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวงในอนาคตได้ข้อมูลจากสำนัก งานเกษตรจังหวัดตรัง ระบุว่า เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนของพื้นที่ภาคใต้ ทำให้สภาพอากาศในจังหวัดตรังเหมาะสมที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุโรครากขาวในยางพารา เนื่องจากอากาศมีความชื้นจากที่มีฝนตกมาอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ หากต้นยางพาราเกิดโรคนี้แล้วจะทำให้ยางพารายืนต้นตาย และจะแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว จนสร้างความเสียหายให้แก่สวนยางพาราในวงกว้าง สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราเฝ้าระวังการแพร่ระบาด โดยให้สังเกตจากยอดพุ่มใบต้นยางพาราว่า หากมีสีเหลืองและใบมีลักษณะงองุ้มลงให้สันนิษฐานเป็นการเบื้องต้นว่าเป็นโรครากขาว
ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับยางพาราได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต แต่มักจะพบมากในยางพาราอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในยางที่ปลูกเป็นรอบที่ 2 ซึ่งต้นยางพาราที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการใบเหลืองและร่วง หากขุดดูรากจะพบกลุ่มเส้นใยสีขาวเจริญแตกสาขาปกคลุม และเกาะติดแน่นกับผิวรากและเมื่อเส้นใยอายุมากขึ้นจะกลายเป็นเส้นกลมนูนสีเหลืองซีด ส่วนเนื้อไม้ของรากที่เป็นโรค ในระยะแรกมักแข็งกระด้างเป็นสีน้ำตาลซีด แต่เมื่อรุนแรงขึ้นจะกลายเป็นสีครีม ถ้าอยู่ในพื้นที่แฉะรากยางพาราจะอ่อนนิ่ม และมีดอกเห็ดขึ้นที่โคนต้น
สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดนั้นสำนักงานเกษตรจังหวัดตรังระบุว่า หากพบต้นยางพาราที่เป็นโรคให้ขุดทำลายเสีย และรักษาต้นข้างเคียง ส่วนยางพาราที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป และเป็นโรค ควรขุดคูล้อมบริเวณต้น ขนาดคูกว้าง 30 เซนติเมตร ลึก 60 เซนติเมตร เพื่อกั้นระหว่างต้นที่เป็นโรค และต้นปกติไม่ให้รากสัมผัสกันหรือจะป้องกันในระยะยาว โดยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 50 กิโลกรัม และรำ 4-10 กิโลกรัม คนให้เข้ากัน แล้วนำไปหว่านรอบโคน 3-6 กิโลกรัมต่อต้น ปีละ 2 ครั้ง.... อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/agriculture/541097