แก๊งอิทธิพล “ยึดอุทยาน-ฆ่าสัตว์สงวน” เป็นปัญหาร้ายแรงและเรื้อรังจนทำลายทรัพยากรธรรมชาติของไทยมานานแสนนาน แถมเป็นปัญหาที่ชาวบ้านรู้ดี เจ้าหน้าที่รู้ลึก แต่ไม่มีใครทำอะไรแก๊งอิทธิพลเหล่านี้ได้
จนกระทั่ง “รัฐบาล คสช.” ทนไม่ไหวสั่งจัดตั้ง 3 ทีมพิฆาตเป็นชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ ออกปราบปรามยึดคืนพื้นที่ป่าไม้และสัตว์สงวนที่กำลังถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ “ชุดปฏิบัติการพญาเสือ” ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช “ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร” ของกรมป่าไม้ และ “ชุดปฏิบัติการฉลามขาว” ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เฉพาะปี 2559 พญาเสือ–พยัคฆ์ไพร–ฉลามขาว 3 ทีมปฏิการเฉพาะกิจตรวจสอบยึดคืนพื้นที่ป่าอุทยาน ป่าสงวนและพื้นที่ชายฝั่งทะเลได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่ เรียบร้อยแล้วสมกับที่ คสช.ตั้งเป้าไว้ แถมยังจับกุมผู้ทำผิดดำเนินคดีมากกว่า 3,000 คดีตัวอย่างเช่น
ปฏิบัติการยึดรีสอร์ทเกือบ 40 แห่ง บนพื้นที่ผืนป่า “ภูทับเบิก” อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ หรือปฏิบัติการทวงคืน “ผืนป่ามรดกโลกทับลาน” ในพื้นที่รอยต่อปราจีนบุรีและนครราชสีมา จำนวนกว่า 900 ไร่ จากกลุ่มธุรกิจบ้านพักตากอากาศและรีสอร์ท นอกจากนี้ยังเข้าตรวจสอบยึดคืนพื้นที่บุกรุกในอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ที่อ้างว่ามีสัญญาเช่ากับที่ราชพัสดุแล้วบุกรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่อุทยาน
ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพลในธุรกิจรีสอร์ทขนาดใหญ่เท่านั้น แม้กระทั่งคนทั่วไปที่แอบไปซื้อที่ในเขตอุทยานเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศก็โดนเช่นเดียวกัน เช่น กรณีบ้านพัก 3 หลังในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก
ช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ทีมพญาเสือเข้ายึดพื้นที่บุกรุกในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง เนื้อที่รวมประมาณ 200 ไร่ คาดว่ามูลค่ากว่า 800 ล้านบาท เดือนพฤษภาคม 2560 ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติบนเกาะพะงันกว่า 300 ไร่ ซึ่งถูกบุกรุกมาหลายสิบปีจากการร่วมมือของแก๊งนายทุนคนไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงการพบกลุ่มบุกรุกเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าต้นน้ำเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าเขาบรรทัด มากถึง 2,600 ไร่ ส่วนกลางเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา มีการสนธิกำลังเข้าตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี กว่า 400 ไร่
ไม่เฉพาะกลุ่มนายทุนข้างต้นเท่านั้น แม้แต่ “วัด” ก็บุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสาธารณะ เช่น กรณีวัดป่าธรรมอุทยาน จ.มหาสารคาม รุกล้ำเข้าไปเขตพื้นที่ป่าสาธารณะโคกดินแดง ต้องตามยึดคืนมาอีก 500 กว่าไร่
หลังจากยึดพื้นที่ดินคืนกลับมาจำนวนมาก...ปัญหาต้องขบคิดต่อไปคือ ทำอย่างไรให้พื้นที่เหล่านั้นเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะรีสอร์ทสวยงานหรือบ้านพักตากอากาศหรูหราในเขตธรรมชาติที่มีวิวสวยระดับมรดกโลก?
หลายครั้งที่ผู้บริหารระดับสูงของกรมอุทยานแห่งชาติฯ พยายามเสนอให้แก้กฎหมาย ไม่ทำลายหรือทุบทิ้งรีสอร์ทและบ้านพักตากอากาศตามกฎหมายเก่ากำหนดไว้ แต่ขอนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน เช่น เปิดให้เช่าทำธุรกิจ หรือนำไปใช้ในกิจการของรัฐ แม้กระทั่งพื้นที่ป่าลึกชาวบ้านครอบครองทำไร่หรือทำเกษตรแบบผิดกฎหมายมาหลายชั่วอายุคน ก็ควรเปลี่ยนรูปแบบเป็นให้เช่าทำประโยชน์ด้านเกษตรต่อไป ดีกว่ายึดคืนแล้วขับไล่ชาวบ้านออกไปโดยไม่มีทางเลือก
แนวคิดข้างต้นถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย เนื่องจากเกรงเล่ห์เหลี่ยมของนายทุน เป็นการเปิดช่องให้กลุ่มธุรกิจเข้ามายึดพื้นที่ป่าสงวนมากขึ้น หรือเปิดโอกาสให้ชาวบ้านบางกลุ่มเข้าไปรุกล้ำพื้นที่ป่าสมบูรณ์ เพื่อตัดต้นไม้ใหญ่ไปขายแล้วเอาปัญหาไม่มีที่ดินทำกินมาอ้างเหมือนที่ผ่านมา
ล่าสุด วันที่ 30 มกราคม 2560 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีวาระพิจารณา 2 ร่างกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้แก่ “ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ....” และ “ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ....” ตามที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้เสนอ
เนื่องจากปัจจุบันปัญหาการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีจำนวนสูงถึง 6 ล้านไร่ และกลไกกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดประสงค์ในการปรับปรุงกฎหมายเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายสนับสนุน แต่ปรากฏว่าเนื้อหาข้างในมีบางส่วนถูกท้วงติงว่าจะกลายเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์กับฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะเนื้อหาส่วนที่ระบุไว้ว่า
“บรรดาอสังหาริมทรัพย์จำพวกสิ่งปลูกสร้างที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ และอาจนำมาใช้ประโยชน์ในภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ”...
“อธิบดีมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลดังกล่าวสามารถอยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินที่ได้อยู่อาศัยหรือทำกินอยู่แล้วได้เป็นการชั่วคราว แต่ต้องไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัว และมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี แต่ไม่ถือว่าได้สิทธิในที่ดินตามกฎหมาย โดยให้สิทธิตกทอดถึงทายาทได้ และให้อำนาจอธิบดีในการพิจารณาอนุญาต หรือเพิกถอนสิทธิ รวมทั้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้พื้นที่และการตกทอดสิทธิได้”
สรุปคือ ให้อำนาจอธิบดีในการออกหนังสืออนุญาตให้บุคคลเข้าไปอยู่อาศัยหรือทำกินได้ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัว มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี
หลายฝ่ายเริ่มกังวล เพราะเป็นการระบุชัดเจนว่า “อธิบดีมีอำนาจ” อนุญาตให้คนมาอยู่อาศัยหรือทำมาหากินในพื้นที่อุทยานได้ และให้อยู่ยาวนานถึง 20 ปี หรือ “สัมปทาน 20 ปี” อำนาจนี้อาจเปิดช่องให้กลุ่มนายทุนนักธุรกิจเข้ามาแสวงประโยชน์ในพื้นที่มรดกโลก หรือพื้นที่ชายฝั่งทะเลใช่หรือไม่?
ดูเหมือนเสียงทักท้วงข้างต้นไม่เข้าถึงหู คสช.
เนื่องจากที่ประชุม สปท.มีมติลงคะแนนร่างกฎหมายข้างต้นแบบ ผ่านฉลุยด้วยเสียงท่วมท้น “เห็นชอบ” 159 คะแนน “งดออกเสียง” 7 คะแนนจากนี้ไปเหลือเพียงขั้นตอนปรับปรุงเนื้อหานิดหน่อย ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี..
เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรีบออกมาเคลื่อนไหว นำโดย “พีมูฟ” หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมฯ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
แต่เกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 รัฐบาลส่งทหารและตำรวจกดดันไม่ให้จัดเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นของภาคประชาชนที่มีต่อ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ กับ ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พร้อมตั้งด่านตรวจเข้มบริเวณ “มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย” เขตวังทองหลาง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน โดยเฉพาะ "สื่อมวลชน” ไม่ให้เข้าร่วมทำข่าว “ภานุเดช เกิดมะลิ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวบนเวทีวันนั้นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายส่วนใหญ่เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐและลดบทบาทชาวบ้าน “สิทธิชุมชน” หายไป กลายเป็นเพียงผู้อาศัย มีโอกาสเกิดความขัดแย้งรุนแรง กลายเป็น “ศึกแย่งชิงที่ดิน”
เจ้าหน้าที่อาจเลือกปฏิบัติ ขับไล่ชาวบ้านให้กลายเป็นแค่ “ผู้เช่าอาศัย” ส่วนกลุ่มนายทุนขยับฐานะขึ้นมารอรับ “สัมปทาน 20 ปี” !?!
ที่ผ่านมาผลงาน “3 ทีมพิฆาต” พญาเสือ–พยัคฆ์ไพร–ฉลามขาว ยึดคืนพื้นที่ป่ามาประมาณ 4.4 แสนไร่ แบ่งเป็น ชุดพยัคฆ์ไพรของกรมป่าไม้ยึดได้ 3.3 แสนไร่ ชุดพญาเสือของกรมอุทยานฯ ยึดคืนมาได้ 8.5 หมื่นไร่ และชุดฉลามขาว ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยึดได้ 2.7 หมื่นไร่
หมายความว่า หากกฎหมายใหม่ประกาศใช้เมื่อไร ผืนป่าที่ยึดคืนมาได้ 4.4 แสนไร่ จะกลายเป็นเค้กเนื้อนุ่มให้หลายฝ่ายมาลุ้นว่า “อธิบดี” จะตัดแบ่งให้ใครบ้าง
เค้กชิ้นนี้ไม่ได้มีแค่ 4.4 แสนไร่ เพราะตัวเลขคาดการณ์ปัจจุบันพบนายทุนและชาวบ้านบางกลุ่มแอบบุกรุกยึดพื้นที่ป่าอนุรักษ์อีกไม่น้อยกว่า 6 แสนไร่ต่อปี โดยหวังเกาะกระแส “สิทธิป่าชุมชน”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ถึงร่างกฎหมายข้างต้นเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมาว่า ไม่ใช่การเปิดโอกาสให้นายทุนเข้าบุกรุกพื้นที่ป่า ส่วนรีสอร์ทก็ไม่ให้สร้างเพิ่มเติม แค่ต้องการให้ชนเผ่าที่อาศัยในอุทยานบางส่วนสามารถทำมาหากินได้ในลักษณะป่าชุมชน แต่จะเอาที่ดินไปขายต่อไม่ได้
ที่น่าสงสัยคือ หากรัฐบาลบริสุทธิ์ใจและไม่ได้มีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลังทำไมต้องปิดกั้น เวทีภาคประชาชน? ควรเปิดให้พูดคุยอธิบายซักถาม เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเสรี จนกว่าสังคมจะตกผลึกว่าต้องการให้ร่างกฎหมายออกมาในรูปแบบใดกันแน่ โดยเฉพาะประเด็น “ใครได้ประโยชน์จากสัมปทาน 20 ปี...ชนเผ่าหรือนายทุน?”