ป.ป.ช. แถลงข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาการเบิกจ่ายยา และปัญหาต่างด้าว
ป.ป.ช. แถลงข่าว ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และปัญหาอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 20 ก.ค.60 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าว “กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีออกมาตรการป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว”
โดยนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่ากรณีการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สืบเนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 20,476 ล้านบาท ในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็น 46,481 ล้านบาท ในปี 2550 และยังคงมีอัตราค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตัวเลขล่าสุดในปี 2559 อยู่ที่ 71,016 ล้านบาท
ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการตรวจสอบถึงสาเหตุของปัญหาดังกล่าวพบว่ามีกระบวนที่เกี่ยวข้องโยงเใยเครือข่ายทุจริต 3 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ กลุ่มสถานพยาบาลและบุคลากรในสถานพยาบาล และกลุ่มบริษัทจำหน่ายยา ซึ่งพบว่ามีพฤติกรรมได้แก่ 1.พฤติกรรมช็อปปิ้งยา โดยเป็นกลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ ตระเวนใช้สิทธิพร้อมขอรับยาเกินความจำเป็นทางการแพทย์ ซึ่งบางรายนำไปจำหน่ายต่ออีกที 2.พฤติกรรมยิงยา ซึ่งจะเป็นกลุ่มบุคลากรในสถานพยาบาลสั่งจ่ายยาเกินความจำเป็น โดยเป้าหมายเพื่อจ่ายยาออกไปในจำนวนมากๆเพื่อทำยอด ซึ่งจะร่วมมือกับบริษัทจำหน่ายยา
โดยทาง ป.ป.ช. จึงมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการวางมาตรการป้องกันเหตุทุจริต ผลักดันยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล การกำหนดหลักเกินในการจัดซื้อยา การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมปลุกจิตสำนึกให้กับบุคลากรของภาครัฐ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้การเฝ้าระวังพฤติกรรมการส่งเสริมการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิอย่างไม่เหมาะสม
สำหรับกรณีการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว จากการรวบรวมข้อมูลแล้วพบพฤติการณ์กระทำผิดของคนต่างด้าวในหลายกรณี ซึ่งบางกรณีมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จนเกิดปัญหาช่องโหว่ในการกระทำความผิดขึ้น ทาง ป.ป.ช. จึงมีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้กำหนดนโยบายจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าวที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นระบบ ปรับปรุงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง