ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ตำราดูพระ

พระราชปรารถของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(คัดมาจากบทพระราชนิพนธ์  กัณฑ์ที่    เทศนาเสือป่า)

 

               “เมื่อได้กล่าวถึงความจำเป็นที่เราทั้งหลาย  ผู้เป็นคนไทยจะต้องช่วยกันป้องกันรักษาพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน  ก็ควรจะพิจารณาดูว่าวิธีรักษานั้นควรทำอย่างไรต่อไป

               กิจที่    ซึ่งชาวเราควรต้องพิจารณา  คือการปฏิบัติของเราทั้งหลายต่อพระภิกษุสงฆ์  ไม่ว่าศาสนาใดจะยั่งยืนอยู่ได้ก็ต้องอาศัยบุคคลจำพวก    ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ทรงธรรมวินัยและสั่งสอนให้กุลบุตรทราบต่อไป  จะเรียกภิกษุก็ตาม  บาทหลวงก็ตาม  หะยีก็ตาม  บุคคลผู้มีหน้าที่สั่งสอนคนให้ประพฤติดี  ย่อมมีเจ้าหน้าที่ต้องประพฤติดีอยู่เป็นนิตย์  จึงจะเป็นที่เลื่อมใสและเชื่อถือแห่งผู้เป็นศิษย์  ถ้าจะสอนไปแต่ปาก  ส่วนตัวผู้สอนไม่ประพฤติให้ตรงตามคำสอนของตนเองด้วยแล้วก็ทำให้ผู้เป็นศิษย์ขาดความนิยมนับถือในคำสั่งสอน  ข้อนี้เป็นข้อสำคัญอัน    ซึ่งผู้มีสติปัญญาได้และกล่าวมานานแล้ว  และเป็นความจริงอันจะเถียงไม่ได้เลย  ไม่ต้องดูอื่นไกลนึกดูแต่ถึงคนในบ้านใดบ้าน    ก็ได้  ถ้าบ้านไหนนายผู้ครองบ้านเป็นผู้ที่ประพฤติดีอยู่โดยปรกติบรรดาครอบครัวและบ่าวไพร่ในบ้านนั้น  ก็คงจะเป็นคนดีโดยมาก  แต่ถ้าในบ้านไหน  นายผู้ครองบ้านเป็นนักเลง  บรรดาครอบครัวและผู้คนในบ้านนั้น  ก็คงจะพลอยประพฤติเป็นนักเลงไปโดยมาก   ด้วยเหตุฉะนี้จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่  พระภิกษุผู้มีหน้าที่ประกาศพระบรมพุทโธวาทจะต้องตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ  โดยอาการอันเคร่งครัดจริงใจ  แต่ที่จริงพระภิกษุซึ่งครองกาสาวพัสตร์อยู่ในเวลานี้  มีที่ปฏิบัติทรามอยู่นั้นเป็นอันมาก  จึงเป็นที่น่าเสียใจ

การที่ผู้ประพฤติบกพร่องยังมีอยู่ได้ในหมู่พระภิกษุสงฆ์นั้น  ถ้าจะว่าไปแล้ว  ต้องกล่าวว่าแท้จริงความผิดอยู่กับพวกเราทั้งหลายผู้เป็นคฤหัสถ์  ทั้งนี้เป็นมาแล้วต่อเนื่องมาแต่โบราณกาลเพราะเหตุใด?  จะขออธิบายให้ท่านทั้งหลายฟังตามความสันนิษฐานโดยสังเขป

               ในขั้นต้น  ผู้ที่จะอุปสมบทในพุทธศาสนาต้องเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสโดยแท้จริง  มีความตั้งใจว่าจะยอมละโลก  คือละเคหสถานบ้านช่องและสมบัติทั้งปวง  ตัดห่วงใยในบรรดาสิ่งซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจไว้กับบ้าน  เพื่อจะได้มุ่งทำประโยชน์ให้แก่ฝูงชนโดยการสั่งสอนให้รู้จักหนทางปฏิบัติชอบ  ผู้ที่ละบ้านและสมบัติเพื่อออกไปอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเช่นนี้   ตามภาษาทางวัดเรียกว่า  บำเพ็ญเนกขัมบารมี  หรือเรียกตามภาษาสันสกฤตว่าเนษกรมณ์  การตัดความห่วงใยในสิ่งทั้งปวง  ซึ่งชนโดยมากเห็นอยู่ว่าเป็นของพึงปรารถนาและเป็นเครื่องบำรุงความสุขเช่นนั้น  ใครๆก็ย่อมเห็นว่าเป็นการยากที่จะทำได้  เพราะฉะนั้นจึงพากันรู้สึกว่าผู้ใดที่ทำได้เช่นนั้นต้องนับว่าเป็นคนอัศจรรย์ผิดกับชนทั่วไป  เพราะผู้ที่มีความกล้าหาญบากบั่นข่มจิตของตนให้ฝืนสิ่งซึ่งเป็นสามัญลักษณะ  คือความเป็นอยู่ตามปรกติแห่งชนทั้งหลายนั้นได้  เพื่อมุ่งจะทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์  โดยการสั่งสอนให้ประพฤติเป็นธรรม  ไม่เบียดเบียนกัน  ให้ได้อยู่ด้วยกันโดยผาสุกเพราะไม่คิดร้ายแก่กัน  ผู้ที่ยอมละสิ่งที่คนโดยมากเป็นห่วงและนิยมอยู่  เพื่อกระทำหน้าที่สั่งสอนเพื่อนมนุษย์เช่นนี้  จึงเป็นผู้ที่สมควรที่จะได้รับความเคารพนับถือแห่งคนอื่น  ซึ่งไม่สามารถจะข่มจิตใจให้น้อมไปในทางเนกขัมเช่นนั้นได้  นี้เป็นสาเหตุให้คนเราเคารพนับถือพระภิกษุสงฆ์

               นอกจากนับถือแล้ว  ยังมีความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง  คือรู้สึกว่าผู้ที่ออกไปอุปสมบท  เป็นพระภิกษุแล้วนั้น  ถึงแม้ว่าจะได้สละความห่วงใยในการบริโภคทั้งปวงแล้วก็จริง  แต่อาหารก็ยังคงต้องกินอยู่เพื่อบำรุงชีวิตและร่างกายให้ดำรงคงอยู่  ยังต้องการเครื่องนุ่งห่มเพื่อกันความร้อนความเย็นที่จะมากกระทบกาย  และกันริ้นยุงและสัตว์เล็กที่จะเจาะกัดให้รำคาญ  ยังต้องมีที่พอพักอาศัยกันความร้อนความหนาวกันแดดกันลมและฝน  กับยังต้องการหยูกยาอันต้องใช้เพื่อป้องหรือเยียวยารักษาความไข้ในร่างกาย  สิ่งซึ่งจำเป็นทั้ง    อย่างนี้  ภิกษุจะเที่ยวหาโดยใช้ทุนทรัพย์ซื้อหา  หรือแลกเปลี่ยนอย่างเช่นสามัญชนนั้นหาได้ไม่เพราะได้สละบรรดาทรัพย์สมบัติเสียสิ้นแล้ว  จึงเป็นหน้าที่ของผู้เป็นคฤหัสถ์จะต้องจัดหาให้แก่พระภิกษุด้วยน้ำใจอันศรัทธา  เป็นการให้ของทั้ง    อันกล่าวแล้วนั้น  จึงนับว่าเป็น  การทำบุญอย่างดีเหมือนช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรวัฒนาอยู่  เพราะเมื่อบำรุงพระภิกษุผู้มีหน้าที่จะต้องรักษาพระศาสนาไว้  และประกาศสั่งสอนให้แก่เราเช่นนั้น  พระภิกษุก็จะได้มีกำลังพอที่จะดำรงพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้

 

               การเคารพพระภิกษุก็ดี  หรือการบำรุงด้วยปัจจัยทั้ง  ๔  ก็ดีนับว่าเป็นความประพฤติอันดีในส่วนคฤหัสถ์  จัดเป็นกุศลกรรมอันประเสริฐได้ส่วน  ๑  บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่จึงสั่งสอนลูกหลานให้ปฏิบัติต่อกันมาหลายชั่วคน  แต่ผลอันมีนานั้นก็มีทั้งทางดีและทางเสีย  ทางดีคือเป็นการบำรุงพระพุทธศาสนาดังได้กล่าวมาแล้ว  ส่วนทางเสียนั้นได้บังเกิดตามมาด้วย  คือคฤหัสถ์ผู้เคารพนบนอบและบำรุงผู้ที่บวชด้วยปัจจัยทั้ง  ๔  นั้น  มิได้เลือกบุคคลที่ควรเคารพ  หรือมิควรถือว่าสักแต่นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วก็เคารพ  และบำรุงเสมอกันหมด  การเคารพและบำรุงโดยมิได้เลือกเช่นนี้ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดผลร้าย  คือเกิดมีคนที่เกียจคร้านเข้ามาบวชในพระศาสนา  โดยรู้สึกว่าหากินได้ง่ายกว่าเป็นฆราวาส  เพราะไม่ต้องทำอะไรนอกจากโกนหัวกับนุ่งผ้าเหลืองเท่านั้น  แล้วก็ได้รับความนบนอบ  ได้มีข้าวกินอิ่มท้องได้มีผ้านุ่งห่ม  ได้มีเรือนพักอาศัย  ได้มีหยูกยาพอที่จะใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ  คนที่เข้าไปบวชเพราะเกียจคร้านเกินไปที่จะคงเป็นคฤหัสถ์เช่นนี้  มีเป็นอันมาก  ก็เพราะคฤหัสถ์โดยมากมักบำรุงเท่ากับผู้ที่มีความตั้งใจดีจริงแท้จริง  ที่มุ่งบำเพ็ญเนกขัมบารมีแท้จริงศาสนาจึงกลายเป็นที่อาศัยของผู้ที่ปรารถนาเอาเปรียบแก่เพื่อนมนุษย์  โดยรับความบำรุงจากเพื่อน

 

 

มนุษย์แต่ฝ่ายเดียว  ตนไม่ต้องขวนขวายออกกำลังกายหรือความคิดเพื่อทำประโยชน์ตอบแทนเลย  นอกจากคนเกียจคร้านแล้ว  ยังมีคนที่ร้ายกว่านี้อีกจำพวก    คือพวกที่แท้จริงเป็นผู้มีใจทุจริต  คิดหากินโดยทางฉ้อโกงหรือแม้ขโมยเพื่อนบ้าน  ซึ่งถ้าแม้จะทำการทุจริตในขณะที่เป็นคนธรรมดาอยู่ก็ไม่ถนัด  จึงเอาผ้ากาสาวพัสตร์หุ้มห่อตัวเพื่อปลอมตัวเป็นพระภิกษุซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป  แล้วทำการทุจริตต่างๆได้สะดวก  โดยอาศัยความนิยมนับถือแห่งชนทั้งหลายอันมีอยู่ในผู้ทรงผ้าสาวพัสตร์  คนจำพวกนี้แท้จริงควรจะนับว่าเป็นคนร้ายอย่างฉกรรจ์  เพราะนอกจากเป็นคนลักเพศแล้ว  ยังจัดได้ว่าเป็นผู้ทำลายพระศาสนาพาให้คนคลายความนิยมในพระภิกษุซึ่งปฏิบัติดีนั้นไปด้วย  ทั้งเป็นผู้เปิดช่องให้ผู้อื่นซึ่งมิได้ถือพระพุทธศาสนา  ได้มีโอกาสพูดจาแคะได้ติเตียนพระพุทธศาสนาของเราได้ถนัด  ทำให้เป็นที่เสื่อมเสียทั่วไปไม่จำเพาะแต่ในส่วนพระพุทธศาสนา  ทั้งยังเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติยศแห่งคนไทย  ที่นิยมเคารพนับถือและทำนุบำรุงคนที่ประพฤติชั่วหลอกลวงโลกเช่นนี้แท้จริง  พวกที่ขโมยเพศเอาผ้าเหลืองไปเป็นเครื่องห่มกันตัว  และปกติความชั่วเช่นกล่าวแล้วนั้น  ควรนับว่าเป็นผู้อย่างชั่วช้าหาควรที่จะกรุณาปราณีอย่างใดไม่  เพราะเป็นผู้ที่มิได้ทำคุณประโยชน์แต่อย่างใด  คงมีแต่โทษร้ายเท่านั้น  เพราะฉะนั้น  คฤหัสถ์ที่หลงบำรุงคนจำพวกนี้ก็เหมือนอุดหนุนโจรให้ปล้นพระศาสนา  และอุดหนุนผู้ร้ายที่ทำลายเกียรติคุณของชาติ

               เมื่อแลเห็นโทษแห่งการบำรุงคนนุ่งห่มเหลืองโดยไม่เลือกหน้าเช่นนี้แล้ว จึงจะต้องกล่าวว่าแท้จริงการที่ผู้ประพฤติบกพร่องในหน้าที่แห่งภิกษุยังคงมีได้นั้น  ต้องนับว่าเป็นความผิดของเราทั้งหลาย  ผู้เป็นคฤหัสถ์  ส่วนยาที่แก้นั้น  แท้จริงเราทั้งหลายมีอยู่ในมือเราเองแล้ว  แต่หากไม่ใช้ยานั้นเท่านั้น

               ยาที่กล่าวนี้ก็คือการเลือกเคารพ  เลือกบำรุงแต่ผู้ที่ควรเคารพและบำรุง  กล่าวคือ  เคารพและบำรุงแต่จำเพาะพระภิกษุผู้ปฏิบัติควรแก่หน้าที่แห่งพระภิกษุ  ตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ของเราทั้งหลายได้ทรงตั้งพระหฤทัยไว้ให้กระทำ  กล่าวคือ

               ๑. เป็นผู้ที่ได้ตั้งใจในทางเนกขัม  ละฆราวาสวิสัย  ทิ้งบ้านเรือนและสมบัติ  เพื่อจะได้กระทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์

              ๒. เป็นผู้ตั้งใจอุตส่าห์เล่าเรียนพระธรรมวินัย  เพื่อให้ยืนยงคงอยู่ได้  มิให้เสื่อมทราม

              ๓. เป็นผู้สั่งสอนชักจูงใจประชาชน  ให้ประพฤติสัมมาจารี  ตั้งอยู่ในศีลธรรม  รักษาความสุจริต  ละเว้นทุจริต  เพื่อจะได้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

              ๔. เป็นผู้ที่ประพฤติตนดีงาม  เป็นตัวอย่างแก่สามัญชน

              ๕.เป็นผู้ที่ไม่เอาเปรียบเพื่อนบ้าน ไม่ใช่คอยแต่นั่งรับความบำรุงเปล่าๆ  แล้วไม่ทำประโยชน์ตอบแทนเขา

               ผู้ที่ประพฤติพร้อมด้วยองค์    เช่นนี้  จึงจะเป็นผู้ที่สมควรได้รับความเคารพนับถือ  และการทำนุบำรุงจากเราทั้งหลายผู้เป็นอุบาสกและถ้าเราทั้งหลายพร้อมใจกันตั้งใจเสียว่า  ถ้าใครไม่มีลักษณะบริบูรณ์ทั้ง    สถาน  คือไม่เป็นพระภิกษุอย่างเคร่งครัด  ดีจริงๆแล้ว  จะไม่ได้รับความเคารพ  หรือการทำนุบำรุงของเราทั้งหลาย  ฉะนี้เชื่อว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาเป็นอันมาก  ส่วนคนจำพวกที่เข้าไปบวชอยู่เพราะเกียจคร้านนั้น  เมื่อรู้สึกว่าการที่เป็นพระภิกษุก็ต้องมีงานทำหนักอยู่บ้างแล้ว  ก็จะต้องเลือกเอาใน    อย่าง  คือต้องพยายามขยันทำหน้าที่แห่งพระภิกษุ  หรือ  เมื่อไม่สามารถจะทำหน้าที่แห่งพระภิกษุให้บริบูรณ์ได้  จะได้สึกไปเสีย  ส่วนพวกที่เอาผ้าเหลืองห่อกายเป็นเครื่องกำบังเพื่อหากินโดยทางทุจริตนั้น  เมื่อรู้สึกว่าการนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อย่างเดียว  ไม่เป็นเครื่องคุ้มตัวได้แล้ว  ก็จะได้หลีกเลี่ยงไปให้พ้นหมู่ซึ่งตนเข้าไปปลอมตัวอยู่

               นั่งแหละเป็นกิจที่    ซึ่งชาวเราผู้ถือพระพุทธศาสนา  ควรจะกระทำ  เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนต่อไป  “และถ้าเราทั้งหลายนัดกันทำเช่นเดียวกันให้หมด  ในไม่ช้าคงจะได้เห็นผลอันดีเป็นแน่แท้”

               (บทความนี้คัดมาจากพระราชนิพนธ์เทศนาเสือป่า  กัณฑ์ที่    ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงแสดง    วันที่  ๑๖  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๔๕๗  พระราชนิพนธ์บทนี้ไม่ค่อยมีผู้กล้านำออกเผยแพร่  เพราะเกรงกันว่าจะกระทบกระเทือนพวกนักบวช  การกลัวกันเช่นนี้เป็นการเห็นแก่ตัว  โดยยอมให้สถานการณ์ด้านศาสนาทรุดโทรมลงทุกทีๆ  ขนาดนักบวชกล้าทำผิดทุกอย่างที่ชาวบ้านเขาทำกันแล้ว  ถ้าปล่อยกันอย่างนี้ไม่มีการเตือนกันเสียบ้าง  สงฆ์ก็จะกลายเป็นสถาบันที่ล้าหลังที่สุดในเมืองไทย)

 

คำนำเดิม

               พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่    นี้  ถึงแม้ว่าจะได้ทรงแสดงไว้เมื่อ  ๔๕  ปีมาแล้ว  และมุ่งสอนพุทธศาสนิกชนก็ตาม  แต่ก็เป็นคำสอนที่คนทั่วไปไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด  ควรสนใจและปฏิบัติตาม  เพราะแม้ทุกวันทุกวันนี้พระราชดำรัสที่ว่า  “พระภิกษุผู้มีหน้าที่ประกาศพระบรมพุทโธวาท  จะต้องอยู่ในสัมมาปฏิบัติโดยอาการอันเคร่งครัดจริงใจ  แต่ที่จริงพระภิกษุซึ่งครองกาสาวพัสตร์อยู่ในเวลานี้  มีที่ปฏิบัติทรามอยู่นั้นเป็นอันมาก”  ก็ยังเป็นความจริงอยู่และจริงหนักยิ่งขึ้นทุกที  โดยคณะสงฆ์  หรือทางราชการไม่สามารถทำการกำราบได้  ดังปรากฏตามข่าวหนังสือพิมพ์เกือบแทบทุกเดือน  หรือที่ชาวบ้านรู้ๆกันอยู่  จนเป็นที่เศร้าสลดและสะเทือนใจแก่ชาวพุทธแท้อย่างยิ่ง

               ฉะนั้น  เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน  ผู้หวังก่อกู้ศาสนาของตนๆ  ในอันที่จะเลือกบำรุงแต่นักบวชที่ดี  และเลิกเชิดชูนักบวชปลอมองค์การฟื้นฟูพุทธศาสนาฯ  จึงได้รวบรวมเอาถ้อยคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิกฎทั้งฝ่ายหินและมหายาน  มาย่อให้สั้นลงมีขนาดพอเหมาะที่เป็นหนังสือคู่มือของศาสนิกชน  สำหรับใช้ตรวจสอบดูว่านักบวชคนใดเป็นนักบวชแท้หรือนักบวชเทียม  ถึงแม้พระพุทธพจน์นี้จะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนาก็ตาม  แต่ก็น่าจะนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์พิจารณานักบวชใน

 

ศาสนาอื่นๆได้เป็นอย่างดี  เพราะในสมัยนี้พวกอลัชชี  พวกมิจฉาชีพทิฏฐิและพวกมิจฉาชีพที่ส่งเสริมศาสนาผีกำลังมีอิทธิพล  คอยต่อต้าน  และประณามพระภิกษุผู้มุ่งประกาศโลกุตตรธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ว่าเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนา  ย่ำยีภิกษุสงฆ์องค์เจ้า  และเหยียดหยามประชาชนคนทั้งประเทศ  ดังกรณีที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สารเสรีและบางกอกไทม์ไม่นานมานี้  ได้โจมหนังสือที่ชื่อว่า  “ความงมงาย”  ซึ่งมีบทความของท่านพุทธทาสท่านปัญญานันทะ  ฯลฯ  อันเป็นเหตุให้องค์การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาฯ  ต้องออกหนังสือใหม่อีกเล่มหนึ่งคือเล่มนี้  เพื่อให้ผู้มีปัญญาพิจารณาเอาเองว่าใครเป็นฝ่ายเจตนาดีและเจตนาร้ายต่อพระพุทธศาสนาและประชาชน      แล้วจะได้ช่วยกันปราบพวกที่เป็นฝ่ายอธรรมเสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

               หากผู้ใดยังเห็นว่าหนังสือเล่มนี้จะทำลายพุทธศาสนา  ย่ำยีภิกษุสงฆ์และเหยียดหยามประชาชนคนไทยทั้งประเทศอีก  ก็เชิญคัดค้านหรือประณามสมเด็จพระผู้พระภาคมีพระภาคเจ้าและล้นเกล้าล้นกระหม่อมรัชกาลที่    เถิด  หากท่านผู้ใดเห็นว่าคำแปลภาษาไทยจากพระบาลีนี้ผิด  ก็โปรดทักท้วงไปยังคณะธรรมทาน  ไชยา  เพราะองค์ฟื้นฟูพุทธศาสนาฯคัดลอกคำแปลมาจากหนังสือ  “ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์”  ของคณะธรรมทาน  เปลี่ยนคำยากบางคำที่สามัญชนไม่เข้าใจให้เป็นคำง่ายๆ  แล้วจัดพิมพ์เผยแผ่แก่ปัญญาชนเพื่อปกป้องและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา  ตามพระราชประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  และพระมหาธีรราชเจ้า  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

               อย่างไรก็ตาม  เชื่อแน่ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นที่ถูกใจของสาธุชนที่มีเจตนาดีต่อพระพุทธศาสนา  และคงจะได้รับการสนับสนุนจากภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่แต่จะทำให้นักบวชที่ชั่วๆ  ตายแล้วไม่ต้องไปตกนรก  แต่ยังช่วยให้ภิกษุที่ดีๆ  ได้บรรลุมรรคผลนิพพานง่ายขึ้นอีกด้วย  ท่านองค์ใดใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือในการประพฤติพรหมจรรย์แล้ว  การบวชของท่านก็ได้บุญกุศลอันมหาศาลอย่างแน่นอน  จึงใคร่ขอให้พุทธบริษัททั้งหลายได้อ่านโดยทั่วถึงกัน

                                                                                       องค์การฟื้นฟูพุทธศาสนาฯ

                                                                                            (ปุ่น   จงประเสริฐ)

               (การอ้างข้อความในพระไตรปิกฎใช้  เล่ม/หน้า/ข้อ  ตามลำดับ  เช่น  ๑๔/๒๔๕/๓๕๖  หมายความว่า  คัดมาจากพระไตรปิกฎเล่ม  ๑๔  หน้า  ๒๔๕  ข้อ  ๓๕๖)

 

ภิกษุหล่นจากศาสนา

               ภิกษุทั้งหลาย! นักบวชที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๔  ประการแล้วย่อมกล่าวได้ว่าเป็นผู้หล่นจากพระธรรมวินัยนี้  เหตุ ๔  ประการคืออะไรกันเล่า ? เหตุ ๔ ประการนั้นคือ

               . เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยศีล  ชนิดที่ทำตนให้พ้นไปจากทุกข์โดยตรง  เรียกได้ว่าเป็นคนหล่นจากธรรมวินัยนี้ ( พุทธศาสนา )

               . เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยสมาธิ  ชนิดที่ทำตนให้พ้นไปจากทุกข์โดยตรง  เรียกได้ว่าเป็นคนหล่นจากธรรมวินัยนี้

               . เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยปัญญา  ชนิดที่ทำตนให้พ้นไปจากทุกข์โดยตรง  เรียกได้ว่าเป็นคนหล่นจากธรรมวินัยนี้

               . เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยความหลุดพ้น  ชนิดที่ทำตนให้พ้นไปจากทุกข์โดยตรง  เรียกได้ว่าเป็นคนหล่นจากธรรมวินัยนี้

               ภิกษุทั้งหลาย!  นักบวชที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ    ประการเหล่านี้แล  เรียกได้ว่าเป็นผู้หล่นจาธรรมวินัย ( พุทธศาสนา )

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  จตุกฺก  องฺ  ๒๑//  พุทธพจน์บทนี้ทำให้นึกถึงสภาพของผลไม้อ่อนที่ยังไม่แก่  ไม่สุก  แต่หล่นจากลำต้นของมันเสียแล้ว  จะมีอนาคตเป็นอย่างไร  ผู้ใดมีศีล  สมาธิ  ปัญญา  โดยมิใช่เพื่อมรรคผลนิพพานแล้ว  ผู้นั้นก็จะหล่นจากพุทธศาสนาอย่างน่าเสียดาย)

ภิกษุเปลือกปอ

               ภิกษุทั้งหลาย!  ผ้าทอด้วยเปลือกปอ  ถึงจะยังใหม่อยู่  หรือแม้จะกลางใหม่กลางเก่า  หรือแม้จะเก่าคร่ำคร่าแล้ว  สีก็ไม่งาม  นุ่งห่มเข้าก็เจ็บเนื้อ  ราคาก็ถูกมากอยู่นั่นเอง  และผ้าเปลือกปอที่เก่าคร่ำคร่าแล้ว  ก็มีแต่จะใช้เช็ดหม้อข้าว  หรือทิ้งอยู่ตามกองขยะมูลฝอย  นี้ฉันใด

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุที่ทุศีล  มีความเป็นอยู่เลวทรามก็ฉันนั้นเหมือน  แม้เพิ่งบวชใหม่หรือพรรษาปานกลาง  หรือเป็นเถระ  เมื่อเป็นคนทุศีลมีความเป็นอยู่เลวทรามก็เป็นอย่างเดียวกัน  เราถือว่ามีผิวพรรณไม่งามเหมือนผ้าเปลือกปอ  ถึงแม้ยังใหม่อยู่ก็ดูไม่งามฉันนั้นเราถือว่าภิกษุนั้นมีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ  อนึ่ง  ชนเหล่าใดคบหาสมาคม  นั่งใกล้  ทำตามเยี่ยงอย่างภิกษุนั้น  ข้อนั้นจะเป็นทางให้เกิดสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์  เป็นทุกข์แก่ชนเหล่านั้นเองตลอดกาลนาน  เราจึงถือว่าภิกษุนั้น  ใครใกล้ชิดเข้าก็เจ็บเนื้อ  เหมือนผ้าเปลือกปอ  นุ่งห่มก็เจ็บเนื้อ  ฉันนั้น อนึ่ง  ภิกษุนั้นรับจีวร  อาหาร  ที่อยู่  และยารักษาโรคของชนเหล่าใด  ทานนั้นย่อมไม่มีผลใหญ่  ไม่มีอานิสงส์ใหญ่แก่ชนเหล่านั้น  เราถือภิกษุนั้นมีค่าน้อย  เหมือนผ้าเปลือกปอ  แม้ยังใหม่อยู่ก็มีราคาถูก  เราถือว่าภิกษุนั้นเปรียบเทียบได้กับผ้าเปลือกปอ  อนึ่ง  ภิกษุเถระชนิดนี้  เมื่อกล่าวอะไรขึ้นในท่ามกลางสงฆ์  ภิกษุทั้งหลายก็จะว่าได้ว่า  คำพูดของท่านก็จะเป็นประโยชน์อะไร  เพราะท่านเป็นคนพาล  เป็นคนเขลาคนอย่างท่านหรือจะรู้จักสิ่งที่ควรพูด  ดังนี้ภิกษุเถระนั้นถูกเขาว่าให้ก็โกรธแค้นใจ  กล่าววาจาหยาบคายออกมาโดยอาการที่ทำให้ตนต้องถูกสงฆ์ลงโทษ  โดยขับออกไปจากหมู่คณะชั่วคราว  จึงเป็นเหมือนผ้าเปลือกปอเก่าคร่ำคร่า  ที่เขาทิ้งเสียตามกองขยะฝอยฉันนั้น  แล.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  ติกฺ.องฺ  ๒๐/๓๑๗/๕๓๙  ตรัสภิกษุทั้งหลายเพื่อมิให้สมาคมกับภิกษุไม่ดี  ใครทำบุญแก่ภิกษุศีล  ก็ย่อมไม่ได้บุญเลย  ฉะนั้น  ผู้ใดจะทำบุญช่วยเหลือหรือสงเคราะห์นักบวชไม่ว่าชาติใดศาสนาใด  ก็ควรได้พิจารณาความประพฤติและการปฏิบัติของนักบวชผู้นั้นเสียก่อน  เพราะการหลงไปบำรุงนักบวชประเภทเปลือกปอเหล่านี้  นอกจากเสียเงินทองและไม่ได้บุญแล้ว  ยังกลับเป็นการส่งเสริมคนไม่ดีหลอกลวงประชาชนอีกด้วย  ชื่อภิกษุแปลกๆที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งให้เช่นในบทนี้และบทต่อๆไปนั้น  ควรจำไว้ให้ได้  ภิกษุบวชใหม่ควรมีหนังสือเล่มนี้ไว้เป็นคู่มือ  การบวชจะได้ไม่เป็นหมันเสียเปล่า  ที่เชื่อกันว่าบวชแล้วทำให้พ่อแม่หรือตัวเองได้บุญนั้น  ไม่จริงเสมอไป  ปรากฏว่าบวชแล้วได้บาปเสียมาก  เพราะโทษที่ไม่รู้พุทธพจน์เหล่านี้เอง)

ภิกษุน้ำติดกะลา

               ราหุล!  เธอเห็นน้ำที่เหลืออยู่นิดหนึ่งที่ก้นกะลานี้ไหม?”

               เห็นพระเจ้าข้า

               ราหุล!  นักบวชที่ไม่มีความละอาย  ในการแกล้งกล่าวเท็จ  ทั้งนี้รู้อยู่ว่าเป็นเท็จ  ก็มีความเป็นสมณะนิดเดียว  เหมือนน้ำที่เหลืออยู่ที่ก้นกะลานี้  ฉันนั้น

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสาดน้ำนั้นเทไป  ( เพื่อให้เหลือติดอยู่แต่น้อยที่สุด )  แล้วตรัสว่า

               ราหุล!  เธอเห็นน้ำที่สาดเทไปมิใช่หรือ ? ”

               เห็นแล้ว  พระเจ้าข้า

               ราหุล!  นักบวชที่ไม่มีความละอายในการแกล้งกล่าวเท็จ  ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จ  ก็มีความเป็นสมณะเหลืออยู่น้อย  เหมือนน้ำที่สักว่าเหลือติดอยู่ที่ก้นกะลานี้  ฉันนั้น

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคว่ำกะลาน้ำนั้นแล้ว  ตรัสว่า

               ราหุล!  เธอเห็นกะลาที่คว่ำอยู่แล้วมิใช่หรือ?”

               เห็นแล้ว  พระเจ้าข้า

               ราหุล!  นักบวชที่ไม่มีความละอายในการแกล้งกล่าวเท็จ  ทั้งที่รู้ว่าเป็นเท็จ  ก็มีความเป็นสมณะ  เท่ากับน้ำที่เขาคว่ำกะลาเสียแล้วอย่างนี้  ฉันนั้น

               พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงหงายกะลานั้นขึ้นมาดู  แล้วตรัสว่า

               ราหุล!  เธอเห็นกะลาอันว่างจากน้ำนี้แล้วมิใช่หรือ?”

               เห็นแล้ว  พระเจ้าข้า

               ราหุล!  นักบวชที่ไม่มีความละอายในการแกล้งกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จ  ก็มีความเป็นสมณะ  เท่ากับความไม่มีของน้ำในกะลานี้  ฉันนั้นเหมือนกัน  ฯลฯ

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  จูฬราหุโลวาทสูตร  ..๑๓/๑๒๓/๑๒๕  ตรัสแก่พระราหลุ  ขณะที่ทรงล้างพระบาทด้วยพระองค์เอง  แล้วทรงเหลือน้ำติดก้นกะลา  เพื่อเป็นการอุปมาให้เห็นความหมดเป็นสมณะแล้วของภิกษุที่กล้าพูดเท็จแก่ผู้อื่นโดยเจตตา  ฉะนั้น  ถ้าใครจับว่านักบวชผู้ใดเจตนากล่าวเท็จแก่เราหรือผู้อื่น  ก็ควรตั้งข้อสังเกตไว้เป็นพิเศษว่า  นักบวชผู้นั้นกำลังมีความเป็นสมณะน้อยลงๆจนถึงขนาดที่ไม่เป็นสมณะเอาเสียเลยก็ได้  การเคารพกราบไหว้นักบวชที่ไม่มีความเป็นสมณะ  ก็คือการเคารพกราบไหว้ลูกชายของชาวบ้านเขานั่นเอง  ฉะนั้น  นักบวชจึงไม่มีควรกล่าวเท็จแม้ในเรื่องที่ชักชวนคนให้ทำบุญ  นอกจากจะผิดศีลมุสวาทแล้ว  ยังหมดความเป็นสมณะอีกด้วย  เงินที่มีได้มาจากการกล่าวเท็จเป็นเงินชั่ว  และจะทำให้ผู้รับนั้นมีอันเป็นไปต่างๆนานาได้)

ภิกษุอุจจาระ

               ภิกษุทั้งหลาย!  นักบวชชนิดไรที่ทุกๆคนควรขยะแขยง  ไม่ควรสมาคม  ไม่ควรคบ  ไม่ควรเข้าใกล้

               ภิกษุทั้งหลาย!  นักบวชบางคนที่หมายถึงนี้  เป็นคนทุศีล  มีความเป็นอยู่เลวทราม  ไม่สะอาด  มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง  มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น  ไม่ใช่สมณะก็อ้างตัวว่าเป็นสมณะ  ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ก็อ้างว่าประพฤติพรหมจรรย์  เป็นคนเน่าใน  เปียกแฉะ  มีสัญชาติหมักหมมเหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย  ภิกษุทั้งหลาย!  นักบวชชนิดนี้แลที่ทุกๆคนควรขยะแขยง  ไม่ควรสมาคม  ไม่ควรคบ  ไม่ควรเข้าใกล้  ข้อนั้นเพราะอะไรภิกษุทั้งหลาย?  เพราะเหตุว่าถึงแม้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะไม่ถือเอานักบวชชนิดนี้เป็นตัวอย่างก็ตาม  แต่ว่าเสียงร่ำลืออันเสื่อมเสีย  จะระบือไปว่า คนๆนี้  มีมิตรเลว  มีเพื่อนทราม  มีเกลอลามก  ดังนี้

               ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนงูที่ตกลงไปจมอยู่ในหลุมอุจจาระกัดไม่ได้ก็จริงแล  แต่มันอาจทำให้คนที่เข้าไปช่วยยกมันขึ้นจากหลุมอุจจาระให้เปื้อนด้วยอุจจาระได้  ( ด้วยการดิ้นของมัน )นี้ฉันใด  แม้ผู้เข้าใกล้ชิดจะไม่ถือเอานักบวชชนิดนี้  เป็นตัวอย่างก็จริงแล  แต่ว่าเสียงเล่าลืออันเสื่อมเสียจะระบือไปว่า  คนๆนี้  มีมิตรเลว  มีเพื่อนทราม  มีเกลอลามก  ดังนี้ฉันเหมือนกัน  เพราะเหตุนั้น  นักบวชชนิดนี้จึงเป็นคนที่ทุกๆคนควรขยะแขยง  ไม่ควรสมาคม  ไม่ควรคบไม่ควรเข้าใกล้.

               (คัดจากบาลี  พระพระพุทธภาษิต  ติก.องฺ  ๒๐/๑๕๘/๔๖๖  ตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลายเพื่อสอนมิให้เข้าใกล้หรือคลุกคลีกับภิกษุชั่ว  เพราะชื่อเสียงจะพลอยเสียไปด้วย  แเท่าที่พบเห็นอยู่ในสมัยปัจจุบันนี้  พระอุจจาระมักเป็นนักบวชที่บริบูรณ์ไปด้วยลาภสักการะมีลูกศิษย์มาก  ร่ำรวยด้วยเงินทองข้าวของนานาชนิด  อำนาจของเงินและการมีบริวารมากจึงทำให้เขามีอิทธิพล  ดลบันดาลให้ตัวเขาพ้นอันตรายเมื่อภัยมาถึงตัว  ภิกษุอุจจาระชนิดนี้ไม่แต่ส่งกลิ่นเหม็นภายในประเทศไทย  เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ  ก็ยังไปส่งกลิ่นเหม็นในต่างประเทศ  หากพระสงฆ์จะส่งภิกษุผู้ใดไปต่างประเทศแล้ว  ควรจะได้พิจารณาให้ละเอียดว่า  ภิกษุผู้นั้นมีนิสัยและความประพฤติเป็นสมณะจริงหรือไม่  โปรดอย่าเห็นแก่พรรคพวก  มิฉะนั้นภิกษุอุจจาระทำชื่อภิกษุไทยให้เหม็นไปด้วยทั้งประเทศอย่างกรณีเคยมีมาแล้ว)

ภิกษุมหาโจร

               ภิกษุทั้งหลาย!  มหาโจรผู้ประกอบด้วยองค์ห้า  ย่อมมีโอกาสตัดช่องก็ได้   ย่องเบาก็ได้ปล้นสะดมก็ได้   ตีชิงก็ได้  องค์ห้าอย่างไรกันเล่า?  องค์ห้าในกรณีนี้คือมหาโจรได้อาศัยที่ส้องสุม ได้อาศัยที่กำบัง  ได้อาศัยพึ่งพิงผู้มีอำนาจ  ได้อาศัยการโปรยทรัพย์  เที่ยวไปคนเดียว

               มหาโจรได้อาศัยที่ส้องสุมเป็นอย่างไร?  มหาโจรได้อาศัยเกาะแก่งในแม่น้ำ  หรือได้อาศัยหุบเหวตามภูเขา   นี้แลเรียกว่า  มหาโจรได้อาศัยที่ส้องสุม

               มหาโจรได้อาศัยที่ส้องสุมเป็นอย่างไร?  มหาโจรได้อาศัยพงหญ้าหรือป่ารก  ได้อาศัยเนินดินหรือราวป่าใหญ่  เพื่อเป็นที่กำบัง  นี้แลเรียกว่า  มหาโจรได้อาศัยที่กำบัง

               มหาโจรได้อาศัยพึ่งพิงผู้มีอำนาจนั้นเป็นอย่างไร?  มหาโจรได้อาศัยพระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชาเป็นที่พึ่งว่า  ถ้าใครจักว่าเราด้วยเรื่องอะไรๆ  พระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชาเหล่านี้จักช่วยได้แทนเรา  ดังนี้  ครั้นใครว่ามหาโจรนั้นด้วยเรื่องไรๆ  ขึ้นจริง  พระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชาเหล่านั้น  ก็ช่วยโต้แทนให้จริง  นี้แลเรียกว่ามหาโจรได้อาศัยพึ่งพิงผู้อำนาจ

               มหาโจรได้อาศัยการโปรยทรัพย์นั้นเป็นอย่างไร?  กรณีนี้คือมหาโจรเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์สมบัติมากเขามีแผนการไว้ว่า  ถ้าใครจักว่าเราด้วยเรื่องไรๆ  เราจะปิดปากมันด้วยทรัพย์สมบัติ  ดังนี้  ครั้นใครว่ามหาโจรนั้นด้วยเรื่องไรๆขึ้นจริงเขาปิดปากนเหล่านั้นเสียด้วยทรัพย์สมบัตินั้นนี้แลเรียกว่ามหาโจรได้อาศัยการโปรยทรัพย์

               มหาโจรเที่ยวไปคนเดียวเป็นอย่างไร?  มหาโจรประพฤติตนเป็นคนไม่มีเหย้าเรือน  เที่ยวไปแต่ผู้เดียว  ที่ทำเช่นนี้เพราะเหตุไร?  เพราะมหาโจรนั้นคิดว่า  ความลับของตนจะได้ไม่แพร่งพรายออกไป  นี้แลเรียกว่า  มหาโจรเที่ยวไปคนเดียว

               ภิกษุทั้งหลาย!  มหาโจรผู้ประกอบด้วยองค์ห้าเหล่านี้แล้ว  ย่อมมีโอกาสตัดช่องก็ได้  ย่องเบาก็ได้  ปล้นสะดมก็ได้  ตีชิงก็ได้  ข้อนี้ฉันใด  ภิกษุทั้งหลาย!  ฉันใดฉันนั้น  ภิกษุลามกผู้ประกอบด้วยเหตุห้าอย่าง  ย่อมทำตนให้ถูกขุดราก  กำจัดความดี  เป็นผู้มีความชั่วติดตัวผู้รู้พากันติเตียนได้ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก  เหตุห้าอะไรกันเล่า?  เหตุห้าอย่างไรกรณีนี้คือ  ภิกษุลามก  ได้อาศัยที่ส้องสุม  ได้อาศัยที่กำบัง  ได้อาศัยพึ่งพิงผู้มีอำนาจ  ได้อาศัยการโปรยทรัพย์  และเที่ยวไปคนเดียว

               ภิกษุลามกได้อาศัยที่ส้องสุมเป็นอย่างไร?  ภิกษุลามกที่เป็นผู้ประกอบด้วย  กายกรรม  วจีกรรม  และมโนกรรมอันคดโกง  นี้แลเรียกว่า  ภิกษุลามกได้อาศัยที่ส้องสุม

               ภิกษุลามกได้อาศัยที่กำบังเป็นอย่างไร?  ภิกษุลามกที่เป็นคนมีความเห็นผิดเป็นชอบ  ประกอบด้วยความคิดยึดมั่นอันแล่นดิ่งไปยึดเอาปลายสุดโต่งแห่งความเห็นทั้งปวง  นี้แลเรียกว่า  ภิกษุลามกได้อาศัยที่กำบัง

               ภิกษุลามกได้อาศัยพึ่งพิงผู้อำนาจเป็นอย่างไร?  ภิกษุลามกที่ได้อาศัยพระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชาเป็นที่พึ่งว่า  ถ้าใครจักว่าเราด้วยเรื่องอะไรๆ  พระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชาเหล่านี้จักช่วยโต้แทนเรา  ดังนี้  ครั้นใคร่ว่าภิกษุลามกนั้นด้วยเรื่องไรๆขึ้นจริง  พระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชาเหล่านั้นก็ช่วยโต้แทนให้จริง  นี้แลเรียกว่า  ภิกษุลามกได้อาศัยพึ่งพิงผู้มีอำนาจ

               ภิกษุลามกได้อาศัยการโปรยทรัพย์เป็นอย่างไร?  ภิกษุลามกที่เป็นผู้ร่ำรวยด้วยจีวร  อาหาร  ที่อยู่  และยารักษาโรค  เขามีแผนการใช้ว่า  ถ้าใครจักว่าเราด้วยเรื่องไรๆ   เราปิดปากเขาเสียด้วยลาภนี้  ดังนี้  ครั้นใครว่าภิกษุลามกนั้นด้วยเรื่องไรๆขึ้นจริง  เขาก็ปิดปากคนเหล่านั้นเสียด้วยลาภนั้น  นี้แลเรียกว่า  ภิกษุลามกได้อาศัยการโปรยทรัพย์

               ภิกษุลามกเที่ยวไปคนเดียวเป็นอย่างไร?  ภิกษุลามกที่เลี่ยงไปอยู่เสียตามชนบทปลายแดนแต่ผู้เดียว  เขาเข้าไปสู่ครอบครัวทั้งหลายในชนบท  ( ที่ไร้การศึกษา )  นั้นๆ ย่อมได้ลาภ  นี้แลเรียกว่า  ภิกษุลามกเที่ยวไปคนเดียว

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุลามกผู้ประกอบด้วยเหตุห้าอย่างเหล่านี้แล  ย่อมทำตนให้ถูกขุดราก  กำจัดความดี  เป็นผู้มีความชั่วติดตัว  ผู้รู้พากันติเตียน  ได้ประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก  อย่างนี้ฯ

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  ปญฺจก  องฺ  ๒๒/๑๔๕/๑๐๓  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อให้รู้ว่าภิกษุใดมีความประพฤติตามที่กล่าวในบทนี้  ก็ถือได้เป็นภิกษุมหาโจร  เขาเป็นอันตรายต่อสังคมมาก  โดยคนไม่รู้ตัว  เพราะมัวนึกว่าเขาเป็นนักบวชนักบุญ)

ภิกษุนกแก้ว  นกขุนทอง

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุที่หลายถึงนี้  เล่าเรียนปริยัติธรรม  ( นานาชนิด )  แต่เธอไม่รู้ความหมาย  อันยิ่งแห่งธรรมนั้นด้วยปัญญา  ภิกษุนี้เราเรียกว่า  ผู้มากด้วยปริยัติ ( นักศึกษา )  ยังมิใช่ธรรมวิหารี  ผู้อยู่ด้วยธรรมและได้ประโยชน์แห่งธรรม

               อีกอย่างหนึ่ง  ภิกษุแสดงธรรมดาตามที่ได้ฟังได้มาจากอื่นโดยละเอียด  แต่เธอไม่รู้ความหมายอันยิ่งแห่งธรรมนั้นด้วยปัญญา  ภิกษุนี้เราเรียกว่า  ผู้มากด้วยการบัญญัติ  ( นักเทศน์ )  ยังมิใช่ธรรมวิหารี  ผู้อยู่ด้วยธรรมและได้ประโยชน์แห่งธรรม

               อีกอย่างหนึ่ง  ภิกษุทำการสาธยายธรรม  ตามที่ได้ฟังได้เรียนมาโดยละเอียด  แต่เธอไม่รู้ความหมายอันยิ่งแห่งธรรมนั้นด้วยปัญญา  ภิกษุนี้เราเรียกว่า  ผู้มากด้วยการสวด  ( นักสวด )  ยังมิใช่ธรรมวิหารี  ผู้อยู่ด้วยธรรมและได้ประโยชน์แห่งธรรม

               อีกอย่างหนึ่ง  ภิกษุคิดพล่ามไปในธรรม  ตามที่ได้ฟังได้เรียนมาแต่เธอไม่รู้ความหมายอันยิ่งแห่งธรรมนั้นด้วยปัญญา  ภิกษุนี้เราเรียกว่า  ผู้มากด้วยการคิด  ( นักคิดฟุ้งซ่าน )  ยังมิใช่ธรรมวิหารี  ผู้ด้วยธรรมและได้ประโยชน์แห่งธรรม

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  ปญฺจก.องฺ  ๒๒/๑๐๐/๗๔  ตรัสแก่รูปหนึ่ง)

ภิกษุโอ้เอ้

               ภิกษุทั้งหลาย!  มูลเหตุ    อย่างนี้  ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสียสำหรับภิกษุ  ผู้ยังไม่จบกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อลุถึงนิพพาน  มูลเหตุ ๘  อย่างไรกันเล่า?    อย่างนั้นคือ

               . ความเป็นผู้พอใจในการทำงานก่อสร้าง

               . ความเป็นผู้พอใจในการคุย

               . ความเป็นผู้พอใจในการนอน

               . ความเป็นผู้พอใจในการจับกลุ่มคลุกคลีกัน

               . ความเป็นผู้ไม่ควบคุมตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ

               . ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการกิน

               . ความเป็นผู้พอใจในการกระทำเพื่อให้เกิดสัมผัส  สนุกสบายทางกาย

               . ความเป็นผู้พอใจในการขยายกิจการงานต่างๆ  ให้โยกโย้โอ้เอ้เนิ่นช้า

               ภิกษุทั้งหลาย!  มูลเหตุ    อย่างนี้แล  ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสีย  สำหรับภิกษุผู้ยังไม่จบกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อลุถึงนิพพาน

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  อฏฺฐก  องฺ  ๒๓/๓๔๓/๑๘๓  ตรัสแก่ทั้งหลายเพื่อเตือนให้รู้ว่า  ใครมัวหลงพอใจเรื่องใดใน    อย่างนี้แล้ว  ผู้นั้นจะไม่ได้รับประโยชน์แห่งการเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา  เสียเวลาอันมีค่าของตนเองไปหนึ่งชาติ  ความสุขทุกอย่างที่พวกฆราวาสเขาได้  ตนเองก็ไม่มีโอกาส  เป็นการพลาดทั้งประโยชน์ทางโลกและทางธรรม

               เท่าที่สังเกตเห็นอยู่ในยุคนี้  มีการสร้างสำนักสงฆ์วัดวาอารามขึ้นใหม่อีกหลายร้อยหลายพันแห่ง  ภิกษุวุ่นแต่เรื่องเรี่ยไรหาเงินมาสร้างวัด   ส่วนที่มีวัดอยู่แล้วก็วุ่นแต่หาเงินซ่อมแซมหรือขยายกุฏิ  เพื่อให้สุขสบายมากขึ้น  หาเงินกันด้วยวิธีที่น่าสลดใจหลายวิธีไม่มีความขวนขวายใสนการประกาศธรรมหรือปฏิบัติธรรม  วัดจึงกลายเป็นสำนักงานเรี่ยไรเมื่อไม่มีทางจะได้จากคนในท้องที่  ก็เช่ารถบรรทุกมีเครื่องขยายเสียง  ออกไปโฆษณาหาเงินตามชุนนุมชนต่างจังหวัด  จัดงานการเล่นขึ้นในบริเวณวัดวุ่นกันจนไม่มีวันที่จะเข้าถึงธรรมะ  เป็นพระโอ้เอ้ไปหมด  คณะสงฆ์ควรสอดส่องเรื่องการเรี่ยไรให้มากๆ  เพราะมีผู้ทุจริตในเครื่องแต่งกายของนักบวช  เดินขอเงินชาวบ้านเสียเกียรติของพระภิกษุไทยและพระพุทธศาสนาอย่างน่าสังเวชที่สุด  เคยเห็นภิกษุบ้านนอกเข้ากรุงภิกษุในกรุงไปบ้านนอก  เพื่อเรี่ยไร  ทำใบฏีกาเท็จ  อ้างชื่อวัดเท็จ  ทำเอกสารเท็จ  หลอกลวงเงินของประชาชน  มีฆราวาสร่วมมือประกอบอาชีพกันเป็นล่ำเป็นสัน  ผู้ใดพบปะนักบวชเดินทางเรี่ยไรเงินแบบนี้  ควรแจ้งแก่เจ้าที่ตำรวจ  เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์เสียก่อนที่จะให้เงินไป  ทั้งนี้เป็นการป้องกันภิกษุมหาโจรปล้นประชาชน  และเป็นการรักษาเกียรติของภิกษุไทยทั่วไป

               อนึ่ง  ขอ  ภิกษุโอ้เอ้  ทั้งหลาย  โปรดรำลึกไว้ว่าการที่พระพุทธเจ้าชักชวนให้คนบวช ก็ไม่ใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่นใดเลย  นอกจากเพื่อให้ได้มรรคผลนิพพาน  กล่าวคือการความทุกข์ใจให้หมดไปๆตามลำดับ   จนหมดทุกข์ได้สิ้นเชิง  ถ้ามันเป็นเรื่องเหลือวิสัยของมนุษย์แล้ว  พระอรหันต์ก็คงไม่มีในโลกและพระพุทธเจ้าก็จะไม่ชักชวนให้บวช  ฉะนั้น  ความโอ้เอ้จึงเป็นความเขลาที่สุด  โอกาสของตนมอยู่แล้วทุกประการไม่ต้องประกอบอาชีพ  ไม่ต้องวุ่นกับสังคม  มีเวลาเป็นของตัวเอง  และถ้าใครเห็นว่าการบวชนั้นสบายแล้ว  เพราะมีคนเขาเลี้ยง  เขาให้เงินใช้  ไม่ต้องเอามรรคผลนิพพานก็ได้  ผู้นั้นก็เป็นเช่นภิกษุประเภทต่างๆ  ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหนังสือเล่นนี้)

ภิกษุกินไฟ

               ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลายจักตัดสินเนื้อความสองข้อนี้ว่าอย่างไหนจะดีกว่าดีกัน  คือการที่ถูกบุรุษมีกำลังแข็งแรง  เอาขอเหล็กอันร้อนเปลวไฟลุกโพลงส่งแสงโชติช่วง  กระชากปากให้ปิด  แล้วโยนก้อนเหล็กแดงลุกโพลงส่งโชติช่วงเข้าไปในปาก  มันไหม้ริมฝีปาก  ไหม้ปาก  ไหม้ลิ้น  ไหม้คอ  ไหม้ท้อง  ไหม้ลำไส้ใหญ่ของเขาพาลำไส้น้อยออกทางทวารเบื้องต่ำ  กับการบริโภคก้อนข้าวที่พวกกษัตริย์หรือพราหมณ์หรือคฤหบดีผู้ยิ่งใหญ่ถวายด้วยศรัทธา

               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  การบริโภคก้อนข้าว  ฯลฯ  นั้นแหละดีกว่า  ฯลฯ  พระเจ้าข้า

               ภิกษุทั้งหลาย!  การจักอธิบายแก่พวกเธอทั้งหลายให้เข้าใจ  การที่บุรุษมีกำลังแข็งแรง  เอาเหล็กอันร้อนเป็นเปลวไฟลุกโพลงส่งแสงโชติช่วง  กระซากปากให้เปิด  แล้วโยนก้อนเหล็กแดงอันร้อนแรงลุกโพลงส่งแสงโชติช่วงเข้าไปในปาก  มันไหม้ริมฝีปาก  ไหม้ปาก  ไหม้ลิ้น  ไหม้คอ  ไหม้ท้อง  ไหม้สำไส้ใหญ่ของเขา  พาลำไส้เล็กออกมาทางทวารเบื้องต่ำ  นั้นต่างหากเป็นการดี  สำหรับคนซึ่งเป็นคนทุศีล  มีความเป็นอยู่ลามกไม่สะอาด  มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง  มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น  ตนไม่ใช่สมณะก็อ้างว่าเป็นสมณะ  ไม่ใช่คนประพฤติพรหมณ์จรรย์ก็อ้างว่าประพฤติพรหมณ์จรรย์  เป็นคนเน่าในเปียกแฉะ  มีสัญชาติหมักหมมเหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย  ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

               ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะว่าการที่เขาจะต้องตายหรือได้รับทุกข์เจียนตาย  ฯลฯ  ก็หาได้เป็นเหตุให้เขาต้องเกิดในอบาย  ในภูมิชั่ว  ในภพที่รับทุกข์  ในนรกภายหลังแต่ความตายไม่  ส่วนการที่เขาเป็นคนทุศีล  มีความเป็นอยู่ลามกไม่สะอาด  มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง  มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น  ไม่ใช่สมณะก็อ้างว่าเป็นสมณะ  ไม่ใช่คนประพฤติพรหมณ์จรรย์ก็อ้างว่าประพฤติพรหมณ์จรรย์  เป็นคนเน่าในเปียกแฉะ  มีสัญชาติหมักหมมเหมือนบ่อที่เทขยะฝอยแล้วยัง ( มีความคิดที่จะ )  บริโภคก้อนข้าวที่พวกกษัตริย์หรือพราหมณ์หรือคฤหบดีผู้ยิ่งใหญ่  ถวายด้วยศรัทธานั้นย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์  ไม่เกื้อกูลแก่เขาตลอดกาลนาน  ภายหลังแต่ความตาย  คนทุศีลย่อมเข้าถึงอบาย  ภูมิชั่ว  ภพที่รับทุกข์  นรก

               (คัดมาจากบาลี  พระพุทธภาษิต  สตฺตก  องฺ  ๒๓/๑๓๓/๖๙  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่โคนไม้แห่งหนึ่ง  ในเขตประเทศโกศล  เพื่อแสดงให้เห็นว่า  ภิกษุศีลหอกกินข้าวชาวบ้านแล้ว  จะต้องไปตกนรกอย่างไม่ต้องสงสัย)

ภิกษุชอบหญิง

               พราหมณ์!  มีสมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้  อ้างตัวว่าเป็นผู้รักษาพรหมจรรย์โดยชอบ  เขาไม่เสพเมถุนกับหญิงก็จริงแล  แต่เขายังยินดีในการลูบหา  การขัดสี  การอบ  การอาบ  การนวดฟั้น  ที่ทำให้ให้โดยหญิง  เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการกระทำเช่นนั้นจากหญิง  ฯลฯ

               ถึงเขาไม่ยินดีในการลูบทา  การขัดสี  การอาบ  การนวดฟั้นที่ได้รับจากหญิงก็จริงแล  แต่เขายังพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอกกับหญิง  เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการกระทำเช่นนั้นกับหญิง ฯลฯ

               ถึงเขาไม่ยินดีในการพูดจาซิกซี้  เล่นหัว  สัพยอกกับหญิงก็จริงแล  แต่เขายังชอบสบตากับหญิง  เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการกระทำเช่นนั้นกับหญิง ฯลฯ

               ถึงเขาไม่ยินดีในการสบกับหญิงก็จริงแล  แต่ว่าเขายังชอบฟังเสียงของหญิงที่หัวเราะอยู่ก็ดี พูดจาอยู่ก็ดี  ขับร้องอยู่ก็ดี  ร้องไห้อยู่ก็ดี  ข้างนอกฝาก็ตาม  นอกกำแพงก็ตาม  เขาปลาบปลื้มยินด้วยการกระทำเช่นนั้นของหญิง  ฯลฯ

               ถึงเขาไม่ยินดีในการฟังเสียงของหญิงก็จริงก็จริงแล  แต่ว่าเขาชอบระลึกเรื่องเก่า  ที่เคยหัวเราะเล้าโลมเล่นหัวกับหญิง  เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการระลึกเช่นนั้น  ฯลฯ

               ถึงไม่เขาชอบรำลึถึงเรื่องที่เคยหัวเราะเล้าโลมเล่นหัวกับหญิงก็จริงแล  แต่เขาเพียงเห็นคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้อิ่มเอิบเพียบพร้อมด้วยยกามคุณทั้งห้า  ได้รับการบำเรอด้วยกามคุณ  เขาก็ปลาบปลื้มยินดีด้วยการได้เห็นการกระทำเช่นนั้น  ฯลฯ

               ถึงเขาไม่ยินดีที่จะเห็นพวกคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้อิ่มเอิบเพียบด้วยกามคุณทั้งห้า  ได้รับการบำเรอด้วยกามคุณ  แล้วตนพลอยนึกปลื้มใจก็จริงแล  แต่ว่าเขาประพฤติพรหมจรรย์  โดยตั้งความปรารถนาเพื่อไปเกิดเป็นเทพดา  พวกใดพวกหนึ่ง  (บวชเพื่อความเจริญทางโลกๆเพื่อสึกไปหาความสำราญ)

               พราหมณ์!  นี่แลคือความขาด  ความทะลุ  ความด่าง  ความพร้อยของพรหมจรรย์  เราถือว่าผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์  ยังประกอบด้วยการเกี่ยวพันกับเมถุน  ย่อมไม่พ้นจากความเกิด  ความแก่  ความตาย  ความโศก  ความร่ำไร  รำพัน  ความทุกข์  ความคับแค้นใจ  ถือว่ายังไม่พ้นทุกข์ได้

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  สตฺตก.องฺ  ๒๓/๕๖/๗๔  ตรัสแก่พราหมณ์ชานุสโสณี  ผู้ทูลถามถึงข้อที่พระพุทธเจ้ายังปฏิญาณตนเป็นผู้รักษาพรหมจรรย์อยู่หรือหาไม่  ได้รับคำตอบจากพระองค์ว่า  ถ้าใครกล่าวอย่างนั้น  ควรกล่าวเจาะถึงตัวเรา  เพราะเรานี้แลประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์”)

ภิกษุเก๊

               ภิกษุทั้งหลาย!  ลาที่เดินตามฝูงโคไปข้างหน้า  แม้มันจะร้องอยู่ว่า  กูก็เป็นโค  ดังนี้  ก็ตามที  แต่สีของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่  เสียงของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่  เท้าของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่  มันได้แต่เดินตามฝูงโคไปข้างหลัง  แล้วร้องเอาเองว่า  กูก็เป็นโค  กูก็เป็นโค  ดังนี้เท่านั้น  ข้อนี้ฉันใด

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุบางรูปก็ฉันนั้นเหมือนกัน  คือแม้จะเดินตามหมู่ภิกษุ (แท้)  ไปข้างหลัง  แม้ร้องประกาศอยู่ว่า  ข้าก็เป็นภิกษุ  ข้าก็เป็นภิกษุ  ดังนี้ก็ตามที  แต่ความปรารถนาในการประพฤติศีลสิกขาของเขา  ไม่เหมือนของภิกษุ  (แท้)  ทั้งหลาย  ความปรารถนาในการประพฤติจิตตสิกขาของเขา  ไม่เหมือนของภิกษุ  (แท้)  ทั้งหลาย  ความปรารถนาในการประพฤติปัญญาสิกขาของเขา  ไม่เหมือนของภิกษุ (แท้)  ทั้งหลาย  ภิกษุรูปนั้นได้แต่เดินตามหมู่ภิกษุ  (แท้)  ไปข้างหลัง  แล้วร้องประกาศเอาเองว่า  ข้าก็เป็นภิกษุ!  ข้าก็เป็นภิกษุ  ดังนี้เท่านั้น

               ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า  ความปรารถนาในการประพฤติศีลสิกขาขิงเราต้องเข้มงวดเสมอ  ความปรารถนาในการประพฤติจิตตสิกขาของเราต้องเข้มงวดเสมอ  ความปรารถนาในการประพฤติปัญญาสิกขาของเราต้องเข้มงวดเสมอ  ดังนี้  ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลายพึงพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  ติก.องฺ  ๒๐/๒๙๔/๕๒๒  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย  เพื่อให้รู้ว่าในหมู่สงฆ์นั้น  มีผู้แอบแฝงปลอมแปลงเข้ามาปะปน  โดยตนเองไม่มีความปรารถนาที่รักษาธรรมวินัย  คนทั้งหลายไม่ควรไปเข้าใจว่าเขาผู้นั้นเป็นภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา  เขาเป็นเสมือนลาแอบอยู่ในหมู่โค  เมื่อทำผิดทำชั่วถูกคนกระหนาบเข้า  ก็ร้องตะโกนว่า  พระพุทธศาสนาถูกทำลายพระภิกษุสงฆ์ถูกย่ำยี  คนไม่รู้ทั้งหลายก็พลอยร้องตามกันไปด้วย  แต่ที่น่าเสียดายก็คือเถระสังฆมนตรีบางรูปที่รู้พุทธพจน์ข้อนี้ดี  แต่กลับพูดปกป้อง  พระเก๊   ให้ได้ใจเช่นกล่าวว่า  เมื่อพูดถึงพระแล้วในฐานะที่ยังเป็นปุถุชนอยู่  ผิดทั้งนั้นเว้นแต่พระอรหันต์  การกล้ายืนยันเช่นนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า  ฝูงของท่านที่คนทั้งหลายนึกว่าเป็นโคนั้น  อันที่จริงเป็นลาทั้งนั้น  ไม่ว่าจะเป็นตัวเดินนำหน้าหรือตัวเดินตามหลังระวังเป็นให้ดีเถิด  เถระชนิดจะต้องตกนรกทั้งเป็นภายในระยะทันตาเห็น)

ภิกษุติดบ่วงกามคุณ

               ภิกษุทั้งหลาย!  กามคุณมี    อย่าง    อย่างอะไรบ้าง?  ๕ อย่างคือ  รูปที่เห็นด้วยตา  เสียงที่ฟังด้วยหู  กลิ่นที่ดมด้วยจมูกรสที่ลิ้มด้วยลิ้น  และสัมผัสที่เกิดจากการถูกต้องด้วยส่วนต่างๆของร่างกาย  อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา  น่ารักใคร่น่าพอใจ  ยวนตายวนใจให้รัก  ทำให้เกิดความใคร่  ทำให้เกิดความกำหนัดย้อมใจ  ภิกษุทั้งหลาย!  กามคุณมี    อย่างนี้แหละ

               ภิกษุทั้งหลาย!  สมณะหรือพราหมณ์พวกใดติดอกติดใจ  สยบอยู่  เมาหมกอยู่ในกามคุณ ๕  อย่างเหล่านี้แล้ว  ก็จะจะมองไม่เห็นส่วนที่เป็นโทษ  เป็นผู้ไม่แจ่มแจ้งในอุบายออกไปจากทุกข์  ทำการบริโภคกามคุณทั้ง    อย่างนั้นอยู่  สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้แหละ  คนทั้งหลายพึงพอใจเถิดว่า  เขาเป็นผู้ถึงความพินาศย่อยยับ  มารผู้ใจบาปต้องการจะทำอย่างใดแก่เขาก็ได้

               ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบได้ดั่งเนื้อป่าที่ติดบ่วง  นอนจมอยู่ในบ่วงเมื่อนายพรานมาถึงเข้า  มันจะหนีไปไหนไม่พ้นเลย  ฉันใด  ภิกษุทั้งหลาย!  สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น  ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  พวกเขาพากันติดอกติดใจ  สยบอยู่  เมาหมกอยู่ในกามคุณ    อย่างเหล่านี้แล้ว  ก็มองไม่เห็นส่วนที่เป็นโทษ  ไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายออกไปจากทุกข์  ทำการบริโภคกามคุณทั้ง    นั้นอยู่  เขาเป็นผู้ที่คนทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า  จะถึงความพินาศย่อยยับ  แล้วแต่มารผู้ใจบาปต้องการจะทำอย่างใดแก่เขาก็ได้

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  ปาสราสิสูตร  ..  ๑๒/๓๓๓/๓๒๗-  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่เชตวัน  เพื่อเตือนมิให้ลุ่มหลงในกามสุข  อันเนื่องมาจากการบำรุงบำเรอของชาวบ้าน  ที่อยู่ของภิกษุบางองค์ในสมัยนี้  สมบูรณ์ไปด้วยเครื่องเล่นเครื่องสำราญดังกับบ้านเศรษฐี  มั่งมีเงินทองข้าวของยิ่งกว่าผู้บริจาค  ถึงจะถือว่าเป็นสมบัติของสงฆ์  แต่ก็ตรงกันข้ามกับพระผู้มีพระภาคเจ้า  ซึ่งสละปราสาทราชฐานมาอยู่ป่าหรือมาอยู่กุฏิกว้างประมาณ    ตารางวา  ใช้ชีวิตส่วนมากอยู่โคนต้นไม้  แต่สมัยนี้  เห็นมีแต่มุ่งออกจากป่าและไร่นา  โดยหวังมาอยู่ปราสาทราชฐาน  (กามสุขัลลิกานุโยค)  มีการบริโภคกามคุณทั้งห้าอย่างเทวดา  ได้ความสำราญทางหู  ตา  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  ไม่ผิดอะไรไปกว่าพวกคฤหบดีที่ครองเรือน  จนภิกษุต่างชาติที่เข้ามาในเมืองไทยได้เห็นเข้า  เอาไปวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆนานา  เสียชื่อสถาบันสงฆ์ไทยไปไม่น้อยเลย

               ในที่แห่งอื่น  พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุพึงสำเหนียก  ดังนี้ว่า  การที่เราออกบวชนี้ไม่ใช่เพราะจีวร  ไม่ใช่เพราะบิณฑบาต  ไม่ใช่เพราะที่อยู่อาศัยเราออกบวชเป็นบรรพชิตนี้  ไม่ใช่เพราะเหตุที่ขาดแคลนสิ่งเหล่านั้น  หรือเพื่อให้ร่ำรวยสิ่งเหล่านั้น  แต่เราเป็นผู้มีความเกิด  ความแก่  ความโศก  ฯลฯ  ครอบง่ำย่ำยีเอา  ได้ชื่อว่าเป็นที่ผู้ที่ความทุกข์เล่นงานเอาแล้ว  ทำประการใด  เราพอจะหาทางทำที่สุดนี้ของความทุกข์ให้ปรากฏชัด  ก็การที่เราจะมาแสวงหากามที่เราละกันมาแล้วนั้น  ย่อมเป็นของต่ำทรามอย่างยิ่ง  ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลยดังนี้”)

ภิกษุถูกล่ามด้วยกามคุณ

               ภิกษุทั้งหลาย!  บรรพชิตรูปใดยังตัดเครื่องล่ามทางใจ    อย่าง  ให้ขาดออกไม่ได้แล้ว  คืนวันของบรรพชิตรูปนั้นย่อมผ่านไปโดยหวังได้  แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมอย่างเดียว  หาความเจริญมิได้  เครื่องล่ามทางใจ    อย่างนั้นเป็นอย่างไรเล่า?

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ยังมีความรักใคร่สิ่งน่ารักน่าใคร่  ยังมีความพอใจ  มีความรัก  มีความกระหาย  มีความเร่าร้อน  มีความทะยานอยากในเรื่องน่ารักน่าใคร่  ภิกษุใดเป็นดังกล่าวจิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเผากิเลส  เพื่อความเพียรเนืองๆ ความเพียรอันติดต่อกัน  และความเพียรอันมั่งคง  จิตของผู้ใดไม่น้อมไปในความเพียรดังกล่าวนั่นแหละ  เป็นเครื่องล่ามทางใจอย่างที่ ๑ ซึ่งเขายังตัดให้ขาดออกไม่ได้

               ภิกษุทั้งหลาย!  อีกอย่างหนึ่ง  ภิกษุยังเป็นผู้มีความรักใครในกาย ฯลฯ  นั่นแหละเป็นเครื่องล่ามทางใจอย่างที่ ๒  ฯลฯ

               ภิกษุทั้งหลาย!  อีกอย่างหนึ่ง  ภิกษุยังเป็นผู้มีความรักใคร่ในรูป  ฯลฯ  นั่นแหละเป็นเครื่องล่ามทางใจอย่างที่ ๓  ฯลฯ

               ภิกษุทั้งหลาย!  อีกอย่าง  ภิกษุได้ฉันอาหารเต็มท้องตามประสงค์แล้ว  ก็มัวหาความสุขในการหลับ  หาความสุขในการเอนกายเล่น  หาความสุขในการนอนซบเซาไม่อยากลุกขึ้น  ฯลฯ  นั่นแหละ  เป็นเครื่องล่ามทางใจอย่างที่ ๔  ฯลฯ

               ภิกษุทั้งหลาย!  อีกอย่าง  ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์โดยตั้งความปรารถนา  เพื่อเป็นเทวดาพวกใดพวกหนึ่ง  (เช่นเพื่อหาความเจริญทางโลก)  ว่า  เราจักเป็นเทวดาผู้มีศักดาใหญ่หรือเป็นเทวดาผู้มีศักดาน้อยชนิดใดชนิดหนึ่ง  ด้วยศีลนี้ด้วยวัตรนี้  ด้วยตบะนี้หรือด้วยพรหมจรรย์นี้  ภิกษุใดเป็นดังกล่าวนี้  จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเผากิเลส  เพื่อความเพียรเนืองๆ  เพื่อความเพียรอันติดต่อกัน  และเพื่อความเพียรอันมั่นคง  จิตของผู้ใดไม่น้อมไปในความเพียรดังกล่าวนี้  นั่นแหละเป็นเครื่องล่ามทางใจอย่างที่ ๕

               ภิกษุทั้งหลาย!  บรรพชิตรูปใดยังตัดเครื่องล่ามทางใจ    อย่าง  ให้ขาดออกไม่ได้แล้ว  คืนวันของบรรพชิตรูปนั้นย่อมผ่านไปโดยหวังได้  แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมอย่างเดียว  หาความเจริญมิได้  เช่นเดียวกับคืนวันแห่งดวงจันทร์เวลาข้างแรม  ดวงจันทร์นั้นสีไม่แจ่มกระจ่างวงกลมก็เล็กแคบเข้า  รัศมีเสื่อมลง  ขนาดก็หดเล็กลง  ฉันใด ก็ฉันนั้นแล.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  ทสก.องฺ  ๒๔/๒๐/๑๔)

ภิกษุเห็นแก่การนุ่งห่มดี

               ภิกษุทั้งหลาย!  ในภายภาคหน้า  จะมีภิกษุผู้ต้องการความสวยงามในเครื่องนุ่งห่ม (จีวร)เมื่อเป็นเช่นนั้นอยู่  จักเลิกร้างจากการใช้ผ้าบังสุกุล  จักเหินห่างที่นอนที่นั่งอันเป็นป่าชัฏเงียบสงัด  จักมั่วสุมชุมนุมกันอยู่แต่ในย่านหมู่บ้าน  นิคม  และเมืองหลวง  และจักแสวงหาสิ่งอันไม่สมควรหลายแบบหลายวิธี  เพราะความต้องการความสวยงามในเครื่องนุ่งห่ม  เป็นเหตุ

               ภิกษุทั้งหลาย!  นี้เป็นภัยในอนาคตข้อที่หนึ่ง  ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้  แต่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อไป  พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้  เมื่อได้สำนึกแล้ว  ก็พึงพยายามเพื่อกำจัดภัยนั้นเสีย.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  ปญฺจก.องฺ  ๒๒/๑๒๔/๘๐  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย  สมัยนี้ก็มีการโฆษณาขายจีวรไนลอน  (ผ้าวิทยาศาสตร์)  และอาจกลายเป็นสมัยนิยม  ที่ผู้ใดไม่มีจีวรไนลอนก็น้อยหน้ากัน  ดังเป็นมาแล้ว  เช่นเรื่องมีเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง  เครื่องวิทยุโทรภาพ  เปิดฟังเพลง  เปิดดูละคร  ประกวดนางงาม  ฯลฯ  กันอย่างครื้นแครง  และกุฏิใดไม่มีวิทยุสวยๆ  ราคาแพงๆ  หรือไม่มีวิทยุโทรภาพแล้ว  ก็ขายหน้ากัน

               ภิกษุน่าจะแข่งขันกันในทางปฏิบัติธรรม  ผู้ใดบวชแล้วไม่ได้เป็นพระที่แท้คือพระอริยบุคคล (โสดาบัน  สกิทาคา  อนาคา  และอรหันต์)  นั่นแหละน่าขายหน้ากัน  เพราะกินข้าวของชาวบ้านเขา โดยตัวเองไม่ปฏิบัติธรรมตามคำมั่นสัญญา ที่ให้ไว้เมื่อตอนขออุปสมบทต่ออุปัชฌาย์)

ภิกษุหมองู

               ภิกษุทั้งหลาย!  โมฆะบุรุษ  (คนเหลวไหลสิ้น)  บางพวกเล่าเรียนปริยัติธรรมแล้ว  ไม่สอดส่องใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นย่อมไม่ทนต่อการเพ่งพิสูจน์ของโมฆะบุรุษเหล่านั้น พวกโมฆะบุรุษเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมด้วยการเพ่งหาข้อบกพร่อง (ของธรรม) และมีวัตถุประสงค์ที่นำไปใช้เป็นเครื่องทำลายลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ส่วนผู้รู้ทั้งหลายนั้นก็หาได้รับคุณประโยชน์แห่งธรรมอันนั้นไม่  ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น  ก็เลยเป็นธรรมที่โมฆะบุรุษเหล่านั้นถือเอาไม่ดี เป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเพื่อทุกข์แก่เขาเหล่านั้นตลอดกาลนาน  ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะโมฆะบุรุษเหล่านั้น จับสาระประโยชน์ของธรรมไว้ไม่ได้

               ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการใคร่จะได้งูเที่ยวเสาะแสวงหางูอยู่  ครั้นเห็นงูตัวใหญ่ก็เข้าจับงูนั้นที่ตัวหรือที่หางอสรพิษตัวนั้นก็จะฉกเอามือหรืออวัยวะแห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น  บุรุษนั้นก็จะตายหรือได้รับทุกข์เจียนตาย  เพราะการฉกเอาของอสรพิษนั้นเป็นเหตุ  ข้อนั้นเพราะเหตุไร?  เพราะความที่บุรุษนั้นจับงูไม่ดี  (คือไม่ถูกวิธี)  ข้อนี้ฉันใด

               ภิกษุทั้งหลาย!  โมฆะบุรุษบางพวกที่หมายถึงนี้  ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  เขาเล่าเรียนปริยัติธรรม  แล้วไม่สอดส่องใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา  เมื่อไม่สอดส่องใคร่ครวญเนื้อความด้วยปัญญา  ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น  ย่อมไม่ทนต่อการเพ่งพิสูจน์ของโมฆะบุรุษเหล่านั้น  โมฆะบุรุษเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมด้วยการเพ่งหาข้อบกพร่อง  และมีวัตถุประสงค์ที่นำไปใช้เป็นเครื่องทำลายลัทธิใดลัทธิหนึ่ง  ส่วนผู้รู้ทั้งหลายเล่าเรียนปริยัติธรรมเพื่อคุณประโยชน์อันใดโมฆะบุรุษเหล่านั้นนั้นก็หาด้รับคุณประโยชน์อันนั้นแห่งธรรมไม่  ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นก็เลยเป็นธรรมที่โมฆะเหล่านั้นถือเอาไม่ดี  เป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล  เพื่อทุกข์แก่เหล่านั้นเองตลอดกาลนานา  ข้อนั้นเพราะเหตุไร?  เพราะโมฆะบุรุษเหล่านั้นจับสาระประโยช์ของธรรมไว้ไม่ได้  เป็นเหตุผลแล.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  อลคทฺทูปมสูตร  ..  ๑๒/๒๖๗/๑๗๘  ตรัสภิกษุทั้งหลายที่เชตวันมหาวิหาร  เพื่อเตือนนักปริยัติธรรม  แบบเตือนหมองูว่าจะต้องตายเพราะงู  นักปริยัติธรรมส่วนมากต้องละเพศอันสูงมาสู่เพศอันต่ำ  (ฆราวาส)  ก็เพราะได้เปรียญชั้นสูงนั่นเอง  ถ้าสึกมาแล้วยังช่วยสอนช่วยประกาศพุทธศาสนาก็ยังน่าชมน่ากราบไหว้ต่อไป  แต่ที่น่าละอายอย่างยิ่งก็คือโมฆะบุุษบางคน  เติบโตขึ้นมา  ได้รับการศึกษาดีก็โดยจีวรและบาตรพระพุทธเจ้า  ครั้นลาสมณะเพศออกมาแล้วกลับหากินทางไสยศาสตร์  แล้วประกาศว่าตัวนับถือศาสนาพุทธ  โดยคุยอวดว่าเคยบวชเคยเรียนมานาน  เคยอ่านพระไตรปิฏกมามาก  โมฆะบุรุษชนิดนี้  ไม่ทำลายวิญญาณของตัวเองให้ถึงความพินาศนี้เท่านั้น  ยังหลอกล่อให้คนที่ไม่รู้จักพุทธศาสนา  ต้องหลงงมงายไปอบายอีกด้วย  จัดได้ว่าเป็นผู้อกตัญญูไม่รู้คุณพระพุทธเจ้า  เมื่อสึกออกมาแล้ว  ก็หลอกลวงเงินของชาวบ้านเอามาใช้สอยอีก  ร้ายยิ่งกว่าผี  เพราะคนเชื่อกันว่าผีหลอกคนแต่ในเวลากลางคืน  ในที่เปลี่ยว  หลอกกันตัวต่อตัว  แต่หมอผีหมอพระภูมินี้หลอกคนทั้งกลางวันทั้งกลางคืน  หลอกในที่สาธารณะมีผู้คนพลุกพล่าน  หลอกคนทั้งชาติเรื่องพระภูมินี้มีเชื่อกันก็แต่ในประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้น  ประเทศชาวพุทธอื่นๆ  เช่น  อินเดีย  ลังกา  พม่าทิเบต  ฯลฯ  ไม่มีใครเขาเชื่อกัน  ศาสนาคริสเตียนหรืออิสลาม  เขาก็ไม่เชื่อเลย  ถ้าเป็นคนป่าคนดงในทวีปแอฟริกาเขาเชื่อกัน  ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าอภัยเพราะเขาเป็นคนไม่มีศาสนามีมันสมองสติปัญญาไม่สูงไปกว่าสัตว์มากนัก  แต่คนไทยที่มีอารยธรรมมาเป็นพันๆปี  มีพุทธศาสนาประจำชาติมาเกินกว่าพันปี  พระพุทธเจ้าก็ห้ามมิให้พุทธบริษัทเชื่อผีสางเทวดาแม้พระเจ้าซึ่งศาสนาอื่นๆเขาเชื่อกัน  พระพุทธเจ้าก็ยังสอนมิให้เชื่อ  ให้เชื่อแต่เรื่องกรรมและผลของการกระทำของตัวเอง  สอนให้กลัวกิเลส  กลัวความชั่ว  สอนให้บูชาความดีของตนและของคนอื่น  แต่แล้วชาวพุทธกลับกลัวผีสางเทวดาต่ำๆ  อย่างพระภูมิ  อย่างพวกเจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งหลาย  ภิกษุช่วยกันประกาศเรื่องผีๆสางๆ  แล้วจะถือว่าสอนพระพุทธศาสนาได้อย่างไร)

ภิกษุทำธรรมะให้อันตรธาน

               ภิกษุทั้งหลาย!  เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว  กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะเรียกว่า  อานกะ  มีอยู่  เมื่อกลองนี้มีแผลแตกหรือปริ  พวกกษัตริย์ก็หาเนื้อไม้อื่นมาเป็นลิ่ม  สอดเสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น  (ทุกคราวไป)  เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนั้นนานเข้า  ก็ถึงสมัยหนึ่งซึ่งเนื้อไม้ของตัวกลองหมดสิ้นไป  เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริมเข้าใหม่เท่านั้น

               ภิกษุทั้งหลาย!  ฉันใดฉันนั้น  ในการยืดยาวต่อไปภายหน้าตัวสูตรส่วนที่ลึกซึ้งเหล่าใดที่เป็นคำสอนของตถาคตเป็นข้อความลึก  มีความหมายซึ้งเป็นชั้นโลกุตตระว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา  (ความว่างจากกิเลส)  เมื่อมีผู้นำสูตรเหล่านั้นมากกล่าวอยู่  เธอจักไม่ฟังด้วยดี  จักไม่เงี่ยหูฟัง  จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง  และจักไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน  ส่วนสูตรเหล่าใดที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เป็นคำร้อยกรองประกาพย์กลอน  มีอักษรสละสลวย  มีพยัญชนะอันวิจิตร  เป็นเรื่องนอกแนว  เป็นคำกล่าวของสาวก  เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่  เธอจักฟังด้วยดี  จักเงี่ยหูฟัง  จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง  และจักคิดว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน

               ภิกษุทั้งหลาย!  ความอันตรธานของตัวสูตรส่วนที่ลึกซึ้งที่เป็นคำของตถาคตเป็นข้อความลึก  มีความหมายซึ้ง  เป็นชั้นโลกุตตระ  ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา  ก็จักมีขึ้นด้วยอาการอย่างนี้แล

               เพื่อยืนยันว่าพระพุทธศาสนา  พระภิกษุสงฆ์  และพุทธศาสนาสนิกชนในประเทศไทย  กำลังอยู่ในฐานอันตรายอย่างร้ายแรงมาก  โดยไม่มีผู้ใดคิดถึงเรื่องนี้กันเลย  จึงขอนำคำพูดของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อังคุตตร.ทุกนินาต  มากล่าวต่อท้ายนี้ไป  เพื่อให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายพิจารณาอีกวาระหนึ่ง  ก่อนที่จะเลยบทหนี้ไป  และขอให้อ่านกันด้วยความสนใจ

               ภิกษุทั้งหลาย!  คนพวกที่แสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรมะว่าเป็นธรรมะ  ย่อมได้ชื่อว่าประพฤติไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล  กระทำไปโดยไม่เป็นการให้ความสุขแก่ชนเป็นอันมาก  กระทำไปโดยไม่เป็นประโยชน์แก่ใคร แต่เป็นไปเพื่อความทุกข์หนักแก่มนุษย์ทั้งหลาย  ทั้งตัวเองก็ประสบสิ่งที่เป็นบาปนักหนาห่างเหินจากบุญเป็นอันมาก  แล้วยังจะทำให้พระสัทธรรมนี้อันตรธานด้วย

               ภิกษุทั้งหลาย!  คนพวกที่แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้  ย่อมได้ชื่อว่าประพฤติไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล  กระทำไปโดยไม่เป็นการให้ความสุขแก่ชนเป็นอันมาก  กระทำไปโดยไม่เป็นประโยชน์แก่ใคร  แต่เป็นไปเพื่อความทุกข์หนักแก่มนุษย์ทั้งหลาย  ทั้งตัวเองก็ประสบสิ่งที่เป็นบาป  ห่างไกลจากความเย็นอกเย็นใจ  คือบุญเป็นอันมาก  และยังทำให้พระสัทธรรมนี้อันตรธานด้วย

               ภิกษุทั้งหลาย!  ฝ่ายพวกที่แสดงให้เห็นว่า  อธรรมเป็นอธรรมนั้น  ได้ชื่อว่าประพฤติเป็นประโยชน์เกื้อกูล  ทำเพื่อให้ความสุขสวัสดีแก่ชนเป็นอันมาก  ทำให้เกิดประโยชน์แก่เป็นอันมาก  เพื่อความสุขแก่มนุษย์ทั้งหลาย  ผู้ทำย่อมประสบบุญกุศลเป็นอันมาก  ทั้งเป็นการธำรงพระสัทธรรมไว้ให้มั่นคงอีกด้วย

               ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลประเภทเดียว  เมื่อเกิดขึ้นในโลกย่อมเกิดมาเป็นประโยชน์เกื้อกูล  เพื่อนำความสุขสวัสดีมาสู่ชนเป็นอันมากเป็นประโยชน์สุขทั้งแก่มนุษย์ทั้งหลาย  บุคคลนี้คือผู้ใดเล่า?  คือผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิมีความเห็นไม่วิปริต  เขาเป็นผู้เป็นอันมากให้พ้นมาเสียจากอสัทธรรม  แล้วให้มาตั้งอยู่ในพระสัทธรรม  ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลประเภทเดียวเท่านี้แล  ฯลฯ

               ภิกษุทั้งหลาย!  ตถาคตมองไม่เห็นสิ่งใดอื่นแม้สิ่งเดียว  ที่จะให้เกิดโทษมากมายเหมือนกับความเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิอันนี้เลย  บรรดาสิ่งที่เรียกว่าโทษ  โทษทั้งหลาย  มิจฉาทิฏฐิเป็นโทษอย่างยิ่ง

               ภิกษุทั้งหลาย!  สัตว์ที่มีปัญญาไม่โง่เง่าไม่เงอะงะ  สามารถที่จะรู้ความหมายแห่งคำที่เป็นสุภาษิต  และคำที่เป็นทุพภาษิตได้  มีเป็นส่วนน้อยสัตว์ที่เขลาโง่เง่าเงอะงะ  ไม่สามารถที่จะรู้ความหมายของคำที่เป็นสุภาษิตและทุพภาษิตได้  มีมากกว่ามากโดยแท้  ภิกษุทั้งหลาย!  สัตว์ที่ประกอบด้วยปัญญาฉลาดอย่างประเสริฐเป็นส่วนน้อย  สัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงอวิชชามืดบอดหลงใหลงมงายนั้นมีมากโดยแท้

               ภิกษุทั้งหลาย!  สัตว์ที่ตายจากมนุษย์แล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกนั้น  มีเป็นส่วนน้อย  สัตว์ที่ตายจากมนุษย์ไปเกิดในนรก  ไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน  ไปเกิดเป็นเปรต  มีมากกว่ามากโดยแท้  ฯลฯ  ภิกษุทั้งหลาย!  สัตว์ที่ตายจากเทวดาแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์  มีเป็นส่วนน้อย  สัตว์ที่ตายจากเทวดาไปเกิดในนรก  เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน  เกิดเป็นเปรต  มีมากกว่ามากนัก

               ภิกษุทั้งหลาย!  เหมือนเขาเอาเครื่องดักปลาวางซุ่มไว้ที่ปากทางน้ำ  อันไม่เป็นการทำเพื่อให้ได้ประโยชน์เกื้อกูลอันใด  แต่เพื่อให้ความทุกข์  ความวอดวาย  ความฉิบหายแก่พวกปลาทั้งหลาย  ฉันใด  โมฆะบุรุษเขาก็ทำเป็นวางเครื่องดักมนุษย์ไว้  เขาเกิดมาในโลก  ก็มิใช่มาทำประโยชน์เกื้อกูล  แต่เพื่อมาทำความทุกข์  ความวอดวาย  ความฉิบหายพินาศ  แก่ปวงสัตว์ทั้งหลายเป็นอันมาก  ฉะนั้น

               ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลผู้ทำการชักชวนคนให้เข้าไปสู่ความเชื่ออันกล่าวไว้ชั่วไว้ผิดก็ดี  บุคคลผู้แนะให้เขาชักชวนก็ดี  บุคคลผู้ถูกเขาชักจูงแล้วลงมือทำอย่างนั้นก็ดี  คนทั้งสามพวกนี้ย่อมประสบกรรมอันเป็นบาป  (ความสูญเสียความดีทางใจ)  เป็นอันมาก  ข้อนั้นเพราะเหตุใด?  ข้อนั้นเป็นเพราะสิ่งนั้นเป็นของกล่าวไว้ไม่ดีไม่ถูก

               ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดา  เมล็ดบวบขม  เมล็ดน้ำเต้าขม  ที่เขาเอาลงเพาะในดินที่ชุ่มเย็นแล้ว  รสดินรสน้ำที่เมล็ดพืชเหล่านั้นดูดซึมเอาไว้ทั้งหมด  ย่อมเป็นสิ่งที่ให้เกิดรสขมรสเฝื่อน  ไม่เป็นที่น่าติดใจทั้งนั้น  ข้อนี้เป็นเพราะเมล็ดเชื้อมันเลวอย่างนั้นเอง  นี้ฉันใด  บุคคลผู้มีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ฉันนั้น  การกระทำที่เป็นการเคลื่อนไหวทางกายของคนมิจฉาทิฏฐิ  การกระทำที่เป็นการพูดทางวาจาของคนมิจฉาทิฏิฐิการกระทำที่เป็นความนึกคิดทางใจของคนมิจาฉาทิฏิฐิ  ความจงใจเจตนาใดๆความปรารถนาใดๆ  ความตั้งใจอันใด  ความคิดอ่านอันใดของคนมิจาฉาทิฏฐิก็ล้วนแต่จะเป็นสิ่งที่ให้เกิดผลเป็นความชื่นชม  ไม่น่าปรารถนา  ไม่น่าใคร่ไม่เป็นทางที่จะเกิดประโยชน์สุข  มีแต่จะเพิ่มพูนทุกข์ให้มากมาย  ข้อนี้เพราะเหตุใด?  ข้อนี้เพราะตัวเหตุคือทิฏิฐินั้น  มันเลวทรามนั่นเอง 

               ภิกษุทั้งหลาย!  ในกลุ่มชนหมู่ใดในธรรมวินัยนี้  กรรมชนิดใดที่ไม่ถูกต้อง  เป็นธรรม  เขาก็หลงทำกันไปจนได้  ที่เป็นธรรมะกลับไม่กระทำกันกรรมที่ไม่ถูกต้องตามวินัยก็ดื้อทำกันไปจนได้  แต่ที่ถูกต้องทางวินัยไม่กระทำกัน  การกระทำทางฝ่ายไม่ใช่ธรรมะ  ก็ปล่อยให้ฟุ้งเฟื่องรุ่งเรือง  การกระทำทางฝ่ายที่เป็นธรรม  กลับปล่อยให้เงียบลับอับเฉาไป  การกระทำที่ไม่ถูกวินัยก็ระบาดเจริญไป  การกระทำที่ถูกตรงวินัยไม่เจริญ  ภิกษุทั้งหลาย!  หมู่ชนอย่างนี้เราตถาคตเรียกว่า บริษัทรีๆ  ขวางๆ

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  นิทาน  .๑๖/๓๑๑/๖๗๒-  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่เชตวัน  ในทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าไม่ค่อยมีภิกษุองค์ใดที่สอนเรื่องสุญญตา  เห็นสอนกันแต่ศีลธรรมจรรยา  อานิสงฆ์ของการถวายปัจจัยแก่สมณะ  น้อยนักที่กล้าสอนหลักแท้จริงของพุทธศาสนา  ประกาศกันแต่ไสยศาสตร์และอำนาจจิต  คัมภีร์พระมาลัยกลายเป็นเรื่องสำคัญ  พุทธบริษัทจำนวนมากเอาใจใส่อยากจะไปเกิดในศาสนาพระศรีอารยเมตไตรย  พอใครเอาพุทธโอวาทที่เป็นชั้นโลกุตตระมาเผยแพร่  ก็ถูกพวกมิจฉาทิฏฐิที่บูชาภูติผีปีศาจ  กล่าวหาว่าทำลายพุทธศาสนา  ดูถูกภิกษุสงฆ์องค์เจ้า  เหยียดหยามคนไทยทั้งประเทศ  นี่แหละแสดงให้เห็นว่าเนื้อแท้ของสัจธรรมขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า  กำลังอัตรธานด้วยฝีมือของพวกผลาญพุทธศาสนาในประเทศของเรานี่เอง  ไม่ใช่ใครอื่นไกลที่ไหนเลย  เขาเป็นผู้ที่ทำให้ศาสนาพุทธแท้เป็นศาสนาเทียม  แล้วรอคอยอาศัยมือคนต่างชาติเข้ามาทำลายพุทธศาสนาให้หมดไป  โดยเห็นว่าเป็นศาสนาเหลวไหล)

ภิกษุเห็นแก่การกินดี

               ภิกษุทั้งหลาย!  ในภายภาคหน้า  จะมีภิกษุผู้ต้องการความเอร็ดอร่อยในอาหาร  เมื่อเป็นเช่นนั้นอยู่  จักเลิกร้างจากการเที่ยวบิณบาตจักเหินห่างที่นอนที่นั่งอันเป็นป่าและป่าชัฏเงียบสงัด  จักมั่วสุม  ชุมนุมกันอยู่ในย่านหมู่บ้าน  นิคม  และเมืองหลวง  และจักแสวงหาสิ่งอันไม่สมควรหลายแบบหลายวิธี  เพราะความต้องการเอร็ดอร่อยในอาหารนั้น  เป็นเหตุ

               ภิกษุทั้งหลาย!  นี้เป็นภัยในอนาคตข้อที่สอง  ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้  แต่จักเกิดขึ้นในเวลาต่อไป  พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้  ครั้นได้สำนึกแล้ว  ก็พึงพยายามกำจัดภัยนั้นเสีย

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  ปญฺจก.องฺ  ๒๒/๑๒๔/๘๐  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้กำลังเป็นจริงอย่างพระพุทธเจ้าตรัส  คือภิกษุพากันพอใจแต่การอยู่ในบ้านในเมือง  แม้ที่แสดงตนเป็นพระเดินธุดงค์  ก็แบกลดมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงปักกลดอาศัยใกล้ตลาดแล้วทำการจำหน่ายตะกรุดเชือกวิเศษของขลังเครื่องราง  ตลอดจนการบอกใบ้ให้หวย  ต่อไปก็กลายเป็นพระอาจารย์ศักดิ์สิทธิ์  แต่แล้วก็ไม่พ้นไปกระทำผิด  ติดคุก  ติดตะรางกันเสียมากต่อมากแล้ว  ทางคณะสงฆ์ควรปราบปรามนักธุดงค์แบบนี้เสีย  เพราะอาชีพล่อลวงประชาชนคนที่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าไม่เคยถือภิกษุที่ประกอบเดรัจฉานวิชา  ว่าเป็นสาวกพระองค์  ท่านตำหนิ  ท่านประฌามอย่างหนักที่สุด) 

ภิกษุเห็นแก่นอน

               ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลายจะเข้าใจในเรื่องนี้กันอย่างไร?  พวกเธอเคยได้เห็นได้ฟังมาบ้างหรือไม่ว่า  สมณะหรือพราหมณ์ที่เอาแต่ประกอบความสุขในการนอน  หาความสุขในเอนกาย  หาความสุขในการเอนกาย  หาความสุขในการหลับตามสบายอยู่เสมอๆ  ทั้งเป็นผู้ไม่ระวังตาหูจมูกลิ้นกายใจไม่รู้ประมาณในการบริโภค  ไม่ประกอบธรรมอันเป็นเครื่องทำให้พ้นความหลงผิด  ไม่เห็นแจ่มแจ้งในกุศลธรรมทั้งหลาย  ไม่ประกอบการเนืองๆในธรรมเครื่องให้เกิดปัญญา  ซึ่งจะทำให้พ้นทุกข์ด้วยอำนาจจิตด้วยอำนาจปัญญา  อันหากิเลสมิได้  ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเองแล้วดำรงตนอยู่ในธรรมนั้น?

               ข้อนั้น  ยังไม่เคยได้เห็นได้ฟ้องเลย  พระเจ้าข้า

               ดีแล้วภิกษุทั้งหลาย!  ข้อที่กล่าวนี้  แม้เราเองก็ไม่เคยได้เห็นได้ฟังอย่างนั้นเหมือนกัน  เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้  พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า  เราทั้งหลายจักระวังตาหูจมูกลิ้นกายใจ  เป็นผู้รู้ประมารในการบริโภค  ประกอบธรรมอันเป็นเครื่องทำให้พ้นความหลงผิด  เป็นผู้เห็นแจ่มแจ้งในกุศลธรรมทั้งหลาย  และจักประกอบความเพียรพิจารณาธรรมเครื่องให้เกิดปัญญาอยู่เสมอๆ  ดังนี้

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  ฉกฺก.องฺ  ๒๒/๓๓๓/๒๘๘  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายเพราะพระบวชใหม่ชอบนอนตื่นสาย  เพื่อชี้ให้เห็นว่าการเข้ามาบวชแล้วไม่เล่าเรียน  เห็นแก่การพักผ่อนหลับนอน  ชอบแต่มอง  ดม  ฟัง  ลิ้มรส  สัมผัส  สิ่งที่ไม่บังควรแก่สมณะละเมิดวินัย  ไม่สนใจในศีลสมาธิปัญญาแล้ว  ภิกษุผู้รู้นั้นย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากการบวช  ยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งทำบาปมากขึ้น  ไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและผู้ใดเลย  อุดมคติเดิมและที่ถูกต้องของการบวชก็คือ  หวังมรรคผลนิพพาน  กล่าวคือปฏิบัติธรรมเพื่อละสังโยชน์  ๑๐  ประการ  ซึ่งจะทำให้ได้พระโสดาบัน  พระสกิทาคามี  พระอนาคามี  และพระอรหันต์  โดยเห็นว่าโอกาสที่คนจะเกิดเป็นมนุษย์ได้อีกนั้นมีน้อยนัก  ที่พบพุทธศาสนาก็มีน้อยนัก  ที่พบแล้วและมีปัญญาเข้าใจคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาก็มีน้อยคนนัก  ที่เข้าใจแล้วปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผลนิพพานก็น้อยยิ่งขึ้นไปอีก  การบวชจึงเป็นช่องทางลัดสำหรับอุดมคติดังกล่าว

               น่าเสียดายที่คนสมัยนี้ส่วนมากบวชเพื่ออุดมคติอย่างอื่น  เขาจึงไม่สนใจคำสั่งสอนคำห้ามปรามของพระพุทธเจ้า   ละเมิดศีลและวินัยทั้งภิกษุผู้น้อยและผู้ใหญ่  จนกว่ากล่าวกันไม่ได้  หากไม่มีการแก้ไขกันเสียบ้างแล้ว  สถาบันนี้น่าเกรงว่าจะถูกทำลายด้วยอำนาจบาตรใหญ่อย่างที่เป็นมาแล้วในต่างประเทศ  แล้วจะพากันเสียใจช่วยอะไรไม่ได้  และไม่ต้องร้องโวยวายให้ใครช่วย  ว่าพระพุทธศาสนาถูกทำลาย  ทั้งนี้ก็เพราะการกระทำหรือความประพฤติของตัวเอง  เป็นการทำลายสัจธรรมไปทุกวันๆ  อย่างไม่เคยมีใครห่วงใยไม่เห็นใครแสดงความสนใจที่ก่อกู้พุทธศาสนา  ภิกษุส่วนมากกำลังบิดเบือนเปลี่ยนแปลงกลบเกลื่อนหลักคำสอนที่ถูกต้อง  ปิดบังพุทธพจน์หรือคำสอนที่ขัดประโยชน์ของตนๆ  จนคนไทยส่วนมากไม่รู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริง)

ภิกษุเห็นแก่การอยู่ดี

               ภิกษุทั้งหลาย!  ในภายภาคหน้า  จักมีภิกษุผู้ต้องการนอนสบายนั่งสบาย  เมื่อเป็นเช่นนั้นอยู่  จักเลิกร้างจากการอยู่ป่า  ( หรือจากการอยู่โคนไม้ )  จักเหินห่างที่นอนที่นั่งอันเป็นป่าและป่าชัฏเงียบสงัดจักมั่วสุมชุมนุมกันอยู่แต่ย่านหมู่บ้านนิคมและเมืองหลวง  และจักแสวงสิ่งอันไม่สมควรหลายแบบหลายวิธี  เพราะความต้องการนอนสบายนั่งสบายนั้น  เป็นเหตุ 

               ภิกษุทั้งหลาย!  นี้เป็นภัยเป็นในอนาคตข้อที่สาม  ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้  แต่จักเกิดขึ้น  ในเวลาต่อไป  พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้  ครั้นได้สำนึกแล้ว  ก็พึงพยายามกำจัดภัยนั้นเสีย

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  ปญฺจก.องฺ  ๒๒/๑๒๕/๘๐  ภัยทั้ง    ประการนี้ได้บังเกิดขึ้นแล้วสมัยนี้และจะมากขึ้นทุกทีๆ  ภิกษุเคยได้การยกย่องว่า  บวชเพื่อสืบพระศาสนา  แต่เดี๋ยวนี้มีผู้บวชเพื่อทำลายพระศาสนามากขึ้นๆ  เช่น  พวกภิกษุที่ส่งเสริมไสยศาสตร์  ประกาศหลักความเชื่อของศาสนาพราหมณ์หรือสอนให้คนหลงไหว้ภูติผีปีศาจ  หลงใหลในพิธีพลีกรรมอันเป็นทางนำมาซึ่งลาภผล  และการอยู่ดีกินดีส่วนตนเท่านั้น  ถึงแม้ภิกษุที่รู้ความจริงว่าการกระทำเช่นนั้น  ขัดต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแต่ก็ไม่กล้าพูดความจริง  เพราะเกรงว่าจะไม่ได้อยู่ดีกินดี  ยอมสละพระพุทธศาสนาเพื่อเห็นแก่ตัณหาของตัวเอง  ในจำนวนภิกษุไทยสองแสนรูปนั้น  มีกี่องค์ที่สอนศาสนาพุทธแท้ๆและกล้าบอกประชาชนว่าไสยศาสตร์ไม่ใช่พระพุทธศาสนา)

               แม้ในคัมภีร์อังคุตตร.  ติกนิบาต  พระพุทธเจ้าก็ยังกล่าวไว้ว่า  : -

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุพึงสำเหนียกดังนี้ว่า  ก็เราที่ออกบวชมานี้  ไม่ใช่เพราะจีวร  ไม่ใช่เพราะบิณฑบาต  ไม่ใช่เพราะที่อยู่อาศัย  เราออกบวชเป็นบรรพชิตนี้  ไม่ใช่เหตุที่ขาดแคลนสิ่งเหล่านั้นหรือให้ร่ำรวยสิ่งเหล่านั้น  แต่เราเองเป็นผู้ที่ความเกิด  ความแก่  ความตาย  ความโศก  ฯลฯ  ครอบงำย่ำยีเอา  ชื่อว่าเป็นผู้มีความทุกข์เล่นงานเอาแล้วมีความทุกข์ท่วมทับเอาแล้ว  ทำประการใด  เราพอจะหาทางทำที่สุดสิ้นจากความทุกข์ให้ปรากฏชัด  ก็การที่เราจะมาแสวงหากามที่เราละกันมาแล้วนั้น  ย่อมเป็นของต่ำทรามอย่างยิ่ง  ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย  ดังนี้

               ในที่แห่งอื่นพระพุทธเจ้าก็เคยประฌามว่า  มุนีที่ไม่ละกาม  คือคนลวงโลก  และเป็นผู้ที่ทำให้การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นหมันไป

               * หมายเหตุ  กามหมายถึงความพออกพอใจใคร่จะได้เห็นรูปสวยๆ  กินของรสอร่อยๆได้ดมของหอมๆ  ได้ฟังเสียงไพเราะ  ได้สัมผัสทางร่างกายที่ทำให้เพลิดเพลินเจริญราคะนักบวชไม่ว่าศาสนาใด  ถ้าเช่นนี้  ก็เป็นคนลวงโลก.

ภิกษุไม่รู้อริยสัจจ์

               ภิกษุทั้งหลาย!  สมณะหรือพราหมณ์พวกใด  ไม่รู้จักตามที่เป็นจริงว่า  ทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ  เหตุให้เกิดทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ  ความดับสนิทแห่งทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ  ข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ

               ภิกษุทั้งหลาย!  สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น  ทั้งที่ถูกสมมติว่าเป็นสมณะ  ทั้งที่ถูกสมมติว่าเป็นพราหมณ์ก็ตาม  ก็หาเป็นสมณะหรือพราหมณ์ไปได้ไม่  เพราะไม่รู้ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะหรือความเป็นพราหมณ์  ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเอง  แล้วปฏิบัติธรรมนั้นอยู่.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  มหาวาร..๑๙/๕๔๒/๑๗๐๐  เวลานี้ภิกษุผู้ที่รู้ว่าอริยสัจจ์เป็นอะไรนั้นมีอยู่มาก  แต่ผู้เห็นจริงและประพฤติปฏิบัติตนตามนั้นหาได้ยากเหลือเกิน  การสั่งสอนจึงไม่บังเกิดผล  เพราะคนเห็นว่าผู้ที่สอนมักดีแต่พูด  ตนเองก็ไม่ปฏิบัติที่ตามตัวสอน  เลยพลอยดูหมิ่นดูแคลนคำสอนของพระพุทธเจ้าไปด้วย  ถ้าไม่แก้ไขความประพฤติของนักบวชกันเสียใหม่แล้ว  ภิกษุจะหมดความหมายในสายของคนรุ่นใหม่ๆ  ซึ่งในที่สุดก็คงจะเห็นเป็นสิ่งรกรุงรังของสังคมและเลิกล้มสถาบันอันนี้ไปเสีย  คงเหลือไว้แต่เพียงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น)

ภิกษุลามก

               อานนท์!  ภิกษุลามกเห็นประโยชน์สื่ออย่างเหล่านี้อยู่  จึงยินดีในการทำลายสงฆ์ให้แตกกัน  สื่ออย่างคือ

               . ภิกษุลามกในกรณีนี้เป็นคนทุศีล  มีความเป็นอยู่ลามกไม่สะอาด  มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง  มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น  ไม่ใช่สมณะก็อ้างตัวว่าเป็นสมณะ  ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ก็อ้างตัวว่าประพฤติพรหมจรรย์  เป็นคนเน่าในเปืยกแฉะ  มีสัญชาติหมักหมมเหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย  ภิกษุลามกนั้นหวั่นวิตกไปว่า  ถ้าหากภิกษุทั้งหลายรู้จักเราว่าเป็นคนทุศีล  มีความเป็นอยู่ลามกไม่สะอาด  ฯลฯ  มีสัญชาติหมักหมมเหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย  เมื่อภิกษุพร้อมเพรียงกันดีอยู่  ก็จักทำเราให้ขาดสิทธิ์ในความเป็นภิกษุได้  แต่เมื่อแตกกันเสีย  ก็จักไม่อาจทำเราให้ฉิบหาย  ดังนี้ภิกษุลามกมองเห็นประโยชน์อันนี้เป็นข้อแรก  จึงยินดีในการทำลายสงฆ์

               . อีกข้อหนึ่ง  ภิกษุลามกเป็นคนมิจฉาทิฏฐิ  ประกอบด้วยความเห็นผิดจากหลักธรรมะ   ภิกษุลามกนั้นหวั่นวิตกไปว่า  ถ้าหากภิกษุทั้งหลายรู้จักว่าเป็นคนมิจฉาทิฏฐิ  ประกอบด้วยความเห็นผิดจากหลักธรรมะแล้วไซร้  เมื่อภิกษุพร้อมเพรียงกันดีอยู่  ก็จักทำเราให้ฉิบหายได้  แต่เมื่อแตกกันเสียก็จะไม่เราให้ฉิบหาย  ดังนี้  ภิกษุลามกมองเห็นประโยชน์อันนี้เป็นข้อที่สองจึงยินดีในการทำลายสงฆ์

               . อีกข้อหนึ่ง  ภิกษุลามกเป็นคนเลี้ยงชีวิตผิดทาง  ประกอบมิจฉาชีพ  ภิกษุลามกนั้นวิตกไปว่า  ถ้าหากภิกษุทั้งหลาย  รู้จักเราว่าเราเลี้ยงผิดทาง  เป็นมิจฉาชีพไซร้  เมื่อภิกษุพร้อมเพรียงกันดีอยู่  ก็จะทำเราให้ฉิบหายได้  แต่เมื่อแตกกันเสีย  ก็จะไม่ทำเราให้ฉิบหาย  ดังนี้  ภิกษุลามกมองเห็นประโยชน์อันนี้เป็นข้อที่สาม  จึงยินดีทำลายสงฆ์

               . อีกข้อหนึ่ง  ภิกษุลามกเป็นคนปรารถนาลาภ  ปรารถนาสักการะ  ปรารถนาเสียง  เยินยอ  ภิกษุลามกนั้นหวั่นวิตกไปว่า  ถ้าหากภิกษุทั้งหลายรู้จักเราว่าเป็นคนปรารถนาลาภ  ปรารถนาสักการะ  ปรารถนาเสียงเยินยอไซร้  เมื่อภิกษุพร้อมเพรียงกันดีอยู่  ก็จักไม่สักการะ  เคารพ  นับถือ  บูชาเรา  ดังนี้  ภิกษุลามกเห็นประโยชน์อันนี้เป็นข้อที่สี่  จึงยินดีในการทำลายสงฆ์

               อานนนท์!  ภิกษุลามก  เห็นอำนาจประโยชน์สื่ออย่างนี้  จึงยินดีในการทำลายสงฆ์ให้แตกกัน.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  จตกฺก.  องฺ  ๒๑/๓๒๕/๒๔๓  ตรัสแก่พระอานนท์ในเวลาปัจจุบันนี้  ปรากฏว่า  ภิกษุของนิกายใดกระทำชั่ว  เถระของนิกายนั้นก็พยายามปกปิดเรื่อง  หรือเข้าแก้ตัวแทน  เถระบางรูปถึงกับส่งเสริมให้ภิกษุของตนทำชั่วต่อไปหรือทำมากๆขึ้น  เพื่อให้ผิดเหมือนกันหมด  ถ้าภิกษุผู้น้อยประพฤติตัวดีกว่าภิกษุเถระ  ภิกษุเถระก็ไม่พอใจ  หาทางขับภิกษุผู้น้อยออกไปจากวัด  ภิกษุผู้น้อยจึงมีความหวาดเกรงเรื่องจะถูกขับออกจากวัดกันทั่วไป  ไม่กล้าประพฤติตนดีขึ้นหน้าเจ้าอาวาส  แม้เจ้าอาวาสประพฤติชั่วช้าสามานย์  เป็นปาราชิก  ผิดสังฆาทิเสส อนิยต  นิสสัคคีย์  ปาจิตตีย์  ฯลฯ  ภิกษุลูกวัดก็ไม่กล้าบอกเล่าแก่เจ้าหน้าที่  และต้องช่วยปิดบัง  หรือร่วมมือในการกระทำชั่วเหล่านั้นไปด้วย  หากภิกษุลูกวัดองค์ใดไม่ร่วมมือ  ก็มักถูกเจ้าอาวาสหรือเถระวัดอื่นที่มีตำแหน่งสูงใช้อำนาจบาตรใหญ่  จับภิกษุดีรูปนั้นสึกบ้าง  จ้างคนทำร้ายร่างกายบ้างแม้ในจังหวัดพระนครก็ยังกระทำกันอย่างนี้  เหมือนพวกมหาวายร้ายโจรใจเหี้ยมโหดชาวบ้านทนดูไม่ได้  ช่วยร้องเรียนอย่างไรก็ไม่มีใครฟัง  จนผู้หวังดี้ต่อพุทธศาสนาหมดศรัทธากันไปเอง

               ขอให้พิจารณาดูว่าในสมัยนี้ภิกษุศีล  ภิกษุมิจฉาทิฏฐิ  ภิกษุเลี้ยงชีวิตผิด  และภิกษุเลี้ยงชีวิตผิด  และภิกษุปรารถนาลาภสักการะ  ตามที่พระพุทธเจ้าจำแนกไว้นี้  มีอยู่มากน้อยเพียงใด  แล้วนิกายทั้งสองจะรวมกันได้อย่างไร  ภิกษุทั้งสี่พวกนี้แหละ  พระพุทธเจ้าท่านว่า  เขาคิดทำลายคณะสงฆ์  ชาวบ้านมักยกย่องภิกษุเหล่านี้  ทางการคณะสงฆ์ก็ไม่กล้าแก้ไขเพราะเถระบางรูปก็เป็นแบบนี้  นี่แหละ  ภิกษุลามกกำลังทำลายสงฆ์อยู่ในประเทศไทยแล้วไม่ต้องไประแวงใครที่ไหนอีก โปรดรีบแก้ไขเถิด)

ภิกษุกินอุจจาระ

               ภิกษุทั้งหลาย!  ลาภสักการะและเสียงเยินยอ  เป็นอันตรายที่ทารุณ  แสบเผ็ด  หยาบคาย  ต่อการบรรลุพระนิพพานอันเป็นธรรมให้หลุดจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง  ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า

               ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนตัวกังสฬกะ  ซึ่งกินอุจจาระเป็นอาหาร  อิ่มแล้วด้วยอุจจาระ  อนึ่งกองอุจจาระ  ท้องป่องด้วยอุจจาระ  อนึ่งกองอุจจาระใหญ่ก็มีอยู่ตรงหน้าของมัน  เพราะเหตุนั้นมันจึงนึกดูหมิ่นกังสฬกะตัวอื่นๆ  ว่า  เราผู้มีอุจจาระเป็นอาหาร  อิ่มแล้วด้วยอุจจาระ  ท้องป่องด้วยอุจจาระ  อนึ่ง  กองอุจจาระใหญ่ตรงหน้านี้ของเราก็ยังมี  กังสฬกะตัวอื่นมีบุญน้อย  มีเกียรติน้อย  ไม่รวยลาภด้วยอุจจาระ   ดังนี้

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุบางรูปในศาสนานี้เหมือนกัน  เป็นผู้ถูกลาภสักการะ  และเสียงเยินยอครอบงำเอาแล้ว  มีจิตติดแน่นอยู่ในสิ่งนั้นๆ  ในเวลาเช้าครองจีวรถือบาตร  เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านหรือในเมือง  เธอได้ฉันตามพอใจจนอิ่มแล้วในที่นั้น  ทั้งที่เขาก็นิมนต์ให้ฉันในวันรุ่งขึ้นด้วย  ของบิณฑบาตก็เต็มบาตรกลับมาด้วย  ภิกษุนี้ครั้นกลับมาถึงวัดแล้วก็พูดพล่าม (เหมือนตัวกังสฬกะ)

ในท่ามกลางหมู่เพื่อนภิกษุว่า  เราได้ฉันตามพอใจจนอิ่มแล้ว  ทั้งเขายังนิมนต์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้อีก  ของบิณฑบาตของเรานี้ก็เต็มบาตรกลับมา  เรารวยลาภด้วยจีวร  อาหาร  ที่อยู่และยารักษาโรค  ส่วนภิกษุอื่นๆ  เหล่านี้มีบุญน้อยมีอำนาจน้อย  จึงไม่รวยด้วยลาภ  ดั่งนี้

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุนั้นถูกลาภสักการะ  และเสียงเยินยอครอบงำเข้าแล้ว  มีจิตติดแน่นอยูในสิ่งนั้นๆ  ย่อมนึกดูหมิ่นภิกษุอื่นๆผู้มีศีลเป็นที่รัก  ภิกษุทั้งหลาย!  การได้ลาภของโมฆะบุรุษชนิดนั้นย่อมเป็นไปเพื่อทุกข์  ไร้ประโยชน์เกื้อกูล  สิ้นกาลนาน

               ภิกษุทั้งหลาย!  ลาภสักการะและเสียงเยินยอ  เป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็บ  หยาบคาย  ต่อการบรรลุพระนิพพาน  อันเป็นธรรมให้หลุดจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง  ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า  เพราะฉะนั้น  ในเรื่องนี้  พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ดังนี้ว่า  เราทั้งหลายจักไม่เยื่อใยในลาภสักการะ  และเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น  อนึ่ง  ลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว  ต้องไม่มาห่อหุ้มอยู่ที่จิตของเรา  พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  นิทาน.สํ.  ๑๖/๒๖๙/๕๔๖-  ทุกวันนี้ภิกษุส่วนมากติดลาภสักการะกันมากกว่าพวกชาวบ้านที่เขาบริโภคกามเสียด้วยซ้ำไป)

ภิกษุไม่พ้นทุกข์

               ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนภาชนะสำหรับใส่น้ำดื่ม  สมบูรณ์ด้วยสี  กลิ่น  และรส  แต่ว่ามียาพิษติดอยู่  ครั้งนั้น  มีบุรุษผู้หนึ่ง  ซึ่งกำลังร้อนจัด  เหน็ดเหนื่อย  คอแห้งกระจายน้ำมาถึงเข้าคนทั้งหลายบอกแก่บุรุษนั้นว่า  นี่แน่ะท่านผู้เจริญ!  ภาชนะสำหรับใส่น้ำดื่มใบนี้สมบูรณ์ด้วย สี กลิ่น  และรส  สำหรับท่าน  แต่ว่ามียาพิษติดอยู่  ถ้าหากท่านต้องการดื่มก็ดื่มได้  เมื่อท่านดื่ม  จักติดใจสีของมันบ้าง  กลิ่นของมันบ้าง  รสของมันบ้าง  แต่ว่าครั้นดื่มเข้าไปแล้ว  ท่านจักถึงความตายหรือรับทุกข์เจียนตาย  ดังนี้  บุรุษนั้นไม่ทันพิจารณา  รีบดื่มเอาๆไม่ยอมวาง  บุรุษนั้นก็ถึงความตายหรือรับทุกข์เจียนตาย  ฉันใด

               ภิกษุทั้งหลาย!  สมณะหรือพราหมณ์ก็เหมือนกัน  ใครเห็นสิ่งอันเป็นที่รักที่สนิทใจในโลกว่าเป็นของเที่ยง  ว่าเป็นสุข  ว่าเป็นตัวตนว่าเป็นของไม่เสียดแทง  ว่าเป็นของปลอดภัย  สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้นย่อมทำตัณหาให้เจริญ   เมื่อทำตัณหาให้เจริญอยู่ก็ทำกิเลสให้เจริญ  เมื่อทำกิเลสให้เจริญอยู่  ก็ทำทุกข์ให้เจริญ  เมื่อทำทุกข์ให้เจริญอยู่  สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้นย่อมไม่หลุดพ้นจาก  ความเกิด  ความแก่  ความตาย  ความโศก  ความร่ำรำพัน  ความทุกข์กาย  ความทุกข์ใจ  ความคับแค้นใจ  เราตถาคตย่อมกล่าวว่า  พวกเหล่านั้นย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์  ดังนี้แล.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  นิทาน  .๑๖/๑๓๓/๒๖๐  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อมิให้พอกพูนความอยากต่างๆ  อันจะนำความทุกข์มาสู่ตนทั้งชาตินี้และชาติต่อไป  เมื่อภิกษุยังไม่พ้นทุกข์  หรือปฏิบัติตนเพื่อความพ้นทุกข์ดังที่พร่ำสอน  บรรดาผู้ที่กำลังแสวงทางแห่งความพ้นทุกข์ก็หมดกำลังใจ  เพราะภิกษุผู้ควรจะเป็นบุคคลตัวอย่างแห่งความพ้นทุกข์  ก็หาได้พ้นทุกข์ไปไม่  การทำให้คนทั้งหลายหมดกำลังใจที่จะปฏิบัติธรรม  ย่อมเป็นบาปหนัก  ฉะนั้นเราจงเลือกคบหาแต่ภิกษุที่เชื่อฟังและปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  แล้วจงช่วยกันเทิดทูนภิกษุชนิดนั้นเถิด  เพราะท่านเหล่านั้นเป็นเนื้อนาบุญการบำรุงท่านก็คือการบำรุงหรือการสืบพระสาสนาโดยตรง  ไม่เสียข้าวปลาอาหารเปล่าๆ

               เป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่งที่จะถือเอาจำนวนของภิกษุสงฆ์  จำนวนวัดวาอาราม  จำนวนของคัมภีร์  พระไตรปิกฎที่ซื้อเก็บไว้ในตู้ตามวัด  ไม่มีใครสนใจอ่าน  จำนวนพุทธศาสนิกชน  ฯลฯ  ว่าเป็นเครื่องวัดความเจริญของพุทธศาสนา  เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเปลือกศาสนาเท่านั้น  ส่วนการเรียนรู้หลักคำสอนพระพุทธศาสนาที่แท้จริงการปฏิบัติธรรมตามที่เรียนรู้  การทำตนและทำคนอื่นให้พ้นความพ้นทุกข์ใจได้นั้นแหละ  มีมากขึ้นเพียงใด  จึงจะได้ชื่อว่าพุทธศาสนาเจริญหรือไม่เจริญคนสมัยนี้บำรุงศาสนาผิดทางเป็นส่วนมาก  เพราะได้รับคำสอนที่ผิดๆ  มาจากภิกษุไม่พ้นทุกข์  ภิกษุส่วนมากก็ยังไม่รู้ว่า  พระพุทธจ้าสอนอะไรห้ามอะไร  จึงทำผิดกันทั้งเมือง  ไม่แต่ผิดศีลและวินัยบางคนยังผิดกฎหมายของบ้านเมืองเสียด้วย)

ภิกษุตกเหว

               ภิกษุทั้งหลาย!  สมณะหรือพราหมณ์พวกใดก็ตาม  ยังไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่า  ทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ  เหตุให้เกิดทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ  ความดับสนิทแห่งทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ  ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ  สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น  ย่อมยินดีอย่างยิ่งในเหตุปัจจัย  เครื่องปรุงแต่ง  ชนิดที่เป็นไปเพื่อความเกิด  ความแก่  ความตาย  ความโศก  ความร่ำไรรำพัน  ความทุกข์กาย  ความทุกข์ใจ  ความคับแค้นใจ  เขาผู้ยินดีในเหตุปัจจัยชนิดนั้นๆแล้ว  ย่อมก่อสร้างเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชนิดที่เป็นไปเพื่อความเกิดเป็นต้น  ครั้นเขาก่อสร้างเหตุปัจจัยนั้นๆแล้ว  เขาก็ตกลงไปในเหวแห่งความเกิดบ้าง  ในเหวแห่งความแก่บ้าง  ในเหวแห่งความตายบ้าง  ในเหวแห่งความโศกบ้าง  ในเหวแห่งความร่ำไรรำพันบ้าง  ในเหวแห่งความคับแค้นใจบ้าง  อยู่นั่นเอง  สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น  ย่อมไม่หลุดพ้นจากความเกิด  ความตาย  ความโศก  ความร่ำไรรำพัน  ความทุกข์กาย  ความทุกข์ใจ  ความคับแค้นใจ  เราตถาคตย่อมกล่าวว่า  พวกเหล่านั้น  ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์  ดังนี้แล.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  มหาวาร.สํ.  ๑๙/๕๖๐  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่เขาคิชฌกุฏ นครราชคฤห์  ในสมัยนี้คงมีภิกษุที่ไม่ตกเหวอยู่น้อยเหลือเกิน  นักบวชบางคนไม่รู้ตัวว่าตกลงไปในเหว  เพราะหน้ามืดไปมากจนไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี  กล่าวคือผิดเสียจนไม่เห็นความจริง  หรือไม่ก็ตายไปจากสมณเพศเสียนานแล้ว  ฉะนั้น การครองจีวรเหลือง  หรือการโกนศีรษะ  การอยู่ประจำวัด  ก็ไม่ใช่เป็นเครื่องแสดงว่าผู้นั้นเป็นภิกษุหรือสมณะ  ผู้ใดปฏิบัติธรรมและอยู่ในศีลในวินัยเป็นอย่างดี  จึงจะได้ชื่อว่าเป็นภิกษุสมควรแก่การกราบไหว้และการถวายทาน  ชาวพุทธควรพิจารณาความประพฤติของนักบวชทุกคนที่มาติดต่อด้วย  ถ้าเห็นผู้ใดยังมีความโกรธ  ความโลภและความหลงผิด  ในหลักของพุทธศาสนาแล้ว  ก็พึงถือได้ว่าผู้นั้นเป็นนักบวชปลอมเป็นผู้บ่อนทำลายพุทธศาสนา

               ภิกษุตกเหว  ประเภทนี้  ชอบแต่สอนให้คนเมาบุญเมาสวรรค์  หลอกให้คนโง่บำรุงตน  ให้เงินแก่ตน  ฯลฯ  โดยอ้างจะได้ไปเกิดในสวรรค์ในวิมาน  อิ่มเอิบไปด้วยการารมณ์  การสอนเรื่องสวรรค์ก็คือสอนคนให้ก่อเหตุชนิดที่ทำให้คนนั้นต้องเกิดอีก  แก่อีก  ตายอีก  โศกอีก  ร่ำไรรำพันอีกมีความทุกข์ใจ  คับแค้นใจ  ไม่หลุดพ้นจากทุกข์  ไปเช่นเดิม  เวียนว่ายตายเกิดเช่นเดิม  ติดกิเลส  ติดตัณหาอุปาทานเช่นเดิม  พระพุทธเจ้าชี้แจงเรื่องโทษของสวรรค์เอาไว้มาก  แต่ภิกษุไม่กล้าบอกประชาชน  เพราะกลัวว่าจะขาดคนปรนเปรอ  จึงสอนแต่เพียงว่าสวรรค์เป็นของที่มนุษย์ควรได้ในชาติหน้า  นี่เป็นการผิดความประสงค์ของพระพุทธเจ้า  พระองค์ท่านมุ่งสอนคนมิให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งอะไรๆสอนคนไม่ให้โลภ  จึงแนะให้ให้ทำทาน  เพื่อทำลายความตระหนี่และความเห็นแก่ตัวจัดไม่ได้มุ่งให้คนเกิดตัณหา  เกิดความอยากไปอยู่สวรรค์  ไปเสพกามคุณที่ดีเลิศ  เพราะสวรรค์ก็ยังเป็นสภาพที่ไม่หมดที่ไม่ความทุกข์ใจ  ยังเต็มไปด้วยกิเลส  คนที่ตายจากสวรรค์แล้ว  ก็ตกนรกเสียเป็นส่วนมาก  พระองค์จึงสอนให้แต่นิพพาน  กล่าวคือหมดความยึดมั่นถือมั่น  ซึ่งภิกษุไม่ยอมสอนกัน)

ภิกษุเมา

               ภิกษุทั้งหลาย!  ความเมาสามอย่างนี้มีอยู่  สามอย่างอะไรกันเล่า?  สามอย่างคือความเมาว่ายังอยู่  ความว่ายังไม่มีโรคเบียดเบียน  และความเมาว่ายังมีเช่นชีวิตอยู่

               ภิกษุทั้งหลาย!  ปุถุชน  (ภิกษุที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคล)  ผู้มิได้สดับธรรมมัวเมาว่ายังหนุ่มอยู่  ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย  ทางวาจา  ทางใจ  ครั้นเขาประพฤติทุจริตทางกาย  ทางวาจา  และทางใจแล้ว  พอเขาตายเพราะการแตกทำลายแห่งกาย  ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ  วินิบาต  นรก

               ภิกษุทั้งหลาย!  ปุถุชน  (ภิกษุผู้ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า)  ผู้มิได้สดับธรรม  มัวเมาว่ายังไม่มีโรคเบียดเบียน  ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย  ทางวาจา  ทางใจ  ครั้นเขาประพฤติทุจริตทางกาย  ทางวาจาทางใจแล้ว  พอเขาตายเพราะการแตกทำลายแห่งกาย  ย่อมเข้าถึงอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก

               ภิกษุทั้งหลาย!  (ภิกษุผู้ที่ยังไม่ได้เป็นอริยสงฆ์)  ผู้มิได้สดับธรรมมัวเมาว่ายังมีชีวิตอยู่  ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย  ทางวาจา  ทางใจ  ครั้นเขาประพฤติทุจริตทางกาย  ทางวาจา  ทางใจแล้ว  เมื่อเขาตายเพราะการแยกทำลายแห่งกาย  ย่อมเข้าถึงอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุผู้มัวเมาด้วยความเมาว่ายังหนุ่มอยู่  มัวเมาว่ายังไม่มีโรคเบียดเบียน  มัวเมาว่ายังชีวิตอยู่  ย่อมบอกเลิกสิกขาหมุนกลับคืนไปสู่เพศต่ำแห่งคฤหัสถ์ตามเดิมแล.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  ติก.องฺ  ๒๐/๑๘๕/๔๗๘  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย  ในสมัยนี้มีผู้เจตนาดี  จะแก้ความเมาของภิกษุโดยเห็นแก่พระศาสนาและตัวของภิกษุเอง  แต่กลับถูกภิกษุพาลหรือเถระพาล  กล่าวหาว่าเป็นการก้าวก่ายกิจการของสงฆ์  ไม่ใช่เรื่องของพวกฆราวาสจะมาว่าพระ  แบบคนเมาคนพาล  กล่าวแก่ผู้หวังจะช่วยเขาฉันนั้นทีเดียว  นรกของภิกษุทุศีลที่เห็นได้ในโลกนี้ก็คือ  คุกตะราง  ซึ่งต้องรับเลี้ยงดูพระอาจารย์ของคลังศักดิ์สิทธิ์  เณรวิเศษ  ที่คนเขาหลงกราบไหว้  เคารพนบนอบกันมาแล้วทั้งนั้น  หรืออย่างน้อยก็เสื่อมลาภ  เสื่อมยศ  ถูกถอด  ถูกสึก  ถูกคนประฌาม  ต้องหนีจากถิ่นเดิม  ฯลฯ

               นอกจากมา ๓ ประการดังที่พระพุทธเจ้าอ้างไว้ในบทนี้แล้ว  ภิกษุเถระบางรูปยังเมาตำแหน่ง  เมายศ  เมาอำนาจ  เมาฐานะ  นึกว่าตนเป็นพิเศษเหนือชาวบ้านด้วยประการทั้งปวง  พอเขาพบปะหนังสือที่กระหนาบภิกษุชั่วๆเข้า  เขาก็โกรธหาว่าเป็นการดูถูกดูหมิ่น  พระสงฆ์เถระใดเกลียดหนังสือประเภทนี้  เถระนั้นเป็นเถระชั่ว  เป็นวัวสันหลังหวะ)

ภิกษุควรในคอก

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุผู้ประกอบด้วยเหตุห้าอย่าง  เป็นผู้ที่ยังไม่ควรได้รับการปล่อยออกจากหมู่ไปอยู่ผู้เดียวก่อน  เหตุห้าอย่างอะไรกันเล่า?  ห้าอย่างคือ

               . เธอ  ยังไม่รู้จักพอด้วยจีวรตามมีตามได้

               . เธอ  ยังไม่รู้จักพอด้วยอาหารตามมีตามได้

               . เธอ  ยังไม่รู้จักพอด้วยที่อยู่อาศัยตามมีตามได้

               . เธอ  ยังไม่รู้จักพอด้วยยารักษาโรคตามมีตามได้

               . เธอ  ยังมีความคิดหนักไปในของน่ารักน่าใคร่อยู่มาก

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุผู้ประกอบด้วยเหตุห้าอย่างเหล่านี้แล  เป็นผู้ที่ยังควรได้การปล่อยออกจากหมู่ไปอยู่ผู้เดียวก่อน

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  ปญฺ  จก.องฺ  ๒๒/๑๖๔/๑๒๗  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายเวลานี้มีภิกษุในประเทศไทยประมาณสองแสนรูป  และมีนักบวชของศาสนาอื่นๆอีกมากฉะนั้นน่าจะลองเอาหลักนี้พิจารณาดูนักบวชว่าท่านองค์ใดมีคุณสบัติผิดไปจากชาวบ้านหรือไม่  และควรเคารพองค์ใด)

ภิกษุชอบทะเลาะ

               ภิกษุทั้งหลาย!  พอที  พวกเธอทั้งหลายอย่าหมายมั่นกันเลยอย่าทะเลาะกันเลย  อย่าวิวาทกันเลย  (พระพุทธเจ้าตรัสดังนี้ ๒-๓ ครั้ง)

               เมื่อตรัสอย่างนี้แล้วมีภิกษุบางรูปทูลขึ้นว่า  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นเจ้าของธรรมะขอพระองค์จงหยุดตรัสก่อนเถิดพระเจ้าข้า  ขอจงอย่าลำบากเลยพระเจ้าข้า  ขอจงทรงหาความสุขในชาตินี้อยู่เถิดพระเจ้าข้า  พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน  ด้วยการเอาจริงเอาจังกัน  ด้วยการทะเลาะกัน  ด้วยการโต้เถียงกัน  ด้วยการวิวาทกัน  ดังนี้ 

               กาลนั้นเป็นเวลาเช้า  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองจีวร  ถือบาตรเสด็จเข้าไปสู่เมืองโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต  ครั้นทรงเที่ยวบิณฑบาตในเมืองโกสัมพีแล้วฉันอาหารแล้ว  กลับจากบิณฑบาตทรงเก็บบริขารขึ้นมาถือไว้  แล้วยืนตรัสคำต่อไปนี้ว่า

               คนไพร่ๆทั้งส่งเสียงกันเอ็ดตะโร  แต่หามีคนไหนรู้ตัวเองว่าเป็นพาลไม่  เมื่อหมู่แตกกัน ก็หาได้มีใครรู้สึกเป็นอย่างอื่นให้ดีขึ้นไปกว่านั้นได้ไม่  พวกบัณฑิตลืมตัว  สมัครที่จะพูดตามทางที่ตนปรารถนาจะพูดอย่างไรก็พูดพล่ามไปอย่างนั้น  หาได้นำพาถึงกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกันไม่  พวกใดยังผูกใจเจ็บอยู่ว่า  ผู้นั้นได้ด่าเรา  ได้ทำร้ายเรา  ได้เอาชนะเรา  ได้ลักทรัพย์ของเรา  เวรของพวกนั้นย่อมระงับไม่ลง  พวกใดไม่ผูกใจเจ็บว่า  ผู้นั้นได้ว่าเรา  ได้ทำร้ายเรา  ได้เอาชนะ เราได้ลักทรัพย์ของเรา  เวรของพวกนั้นย่อมระงับได้ในยุคไหนก็ตาม  เวรทั้งหลายไม่เคยระงับได้ด้วยการผูกเวรเลย  แต่ระงับได้ด้วยไม่มีการผูกเวร  ธรรมนี้เป็นของเก่าที่ใช้ได้ตลอดกาล  พวกเราจะแหลกราญเพราะเหตุนี้  พวกใดสำนึกตัวได้  ความมุ่งร้ายกันย่อมระงับได้เพราะความรู้สึกเช่นนั้น  ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  (ในการทำตามกิเลส)  ยังมีได้แก่พวกคนกักขฬะที่ปล้นเมือง  หักแข้งขาชาวบ้านฆ่าฟันผู้คน  แล้วต้อนม้าโค  และขนเอาทรัพย์ไป  แล้วทำไมจะมีแก่เธอไม่ได้เล่า?”

               ถ้าหากใครไม่ได้สหายที่เป็นปราชญ์พาตัวรอด  ที่มีความเป็นอยู่ดี  เป็นเพื่อนร่วมทางแล้วไซร้  ก็จงทำตัวให้เหมือนพระราชาที่ละแคว้นซึ่งชนะได้แล้วไปเสีย  แล้วเที่ยวไปคนเดียวดุจช้างมาตังคะ  เที่ยวไปในป่าตัวเดียวฉะนั้น

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  อุปักกิเลสสูตร  อุปริ.. ๑๔/๒๙๕/๔๔๐  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ด่าทอกัน  จนภิกษุรูปหนึ่งทูลขอร้องให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไประงับเหตุ    ที่โฆสิตารามเมืองโกสัมพี  ข้อที่ว่าแม้คนอันธพาลก็ยังมีความสามัคคีกันได้  แล้วเหตุไฉนบัณฑิตจึงชอบทะเลาะวิวาทกันอยู่  ทำให้นึกถึงการไม่ลงรอยกันระหว่างภิกษุนิกายต่างๆ  อย่าว่าแต่การนับปีกึ่งพุทธกาลจะไม่ตรงกันเลย  วันสำคัญๆของพุทธศาสนา  เช่น  วันธรรมสวนะก็ยังไม่ค่อยตรงกัน  เพราะไม่ยอมกันด้วยมานะทิฏฐิเท่านั้น  เรื่องเท่านี้ยังสามัคคีกันไม่ได้  แล้วจะทำให้กิจการด้านพระศาสนาเจริญได้อย่างไร  บุคคลที่เป็นตัวการแห่งการแตกแยกไม่ปรองดองกันระหว่างนิกายนั้น  น่าจะรำลึกไว้ว่า  การทำให้สงฆ์แตกแยกกันนั้นเป็นบาปหนัก  ซึ่งปิดกั้นมรรคผลนิพพาน  และยังเป็นความผิดสังฆาทิเลสข้อ  ๑๐  ตามพระวินัย  เราเข้ามาบวชเพื่อให้พ้นทุกข์หรือบวชเพื่อทะเลาะกัน  เอาชนะกันน่าเสียดายเวลาอันมีค่าแก่ตัวเองและแก่คนอื่นๆ  ยิ่งกว่านั้นชาวบ้านก็พลอยแตกแยกเป็นนิกายนี้ไปด้วย  ถึงกับไม่ยอมทำบุญภิกษุในนิกายนั้น  แกล้งภิกษุนิกายนี้ว้าวุ่นกันไปหมดทางราชการน่าจะเลิกชื่อของนิกายสงฆ์ในประเทศไทย  เพื่อมิให้ภิกษุรู้สึกว่าตนสังกัดนิกายใด  ทุกนิกายต้องถือวินัยเคร่งครัดอย่างเดียวกันให้เหมือนกันทุกประการ  สงครามนิกายจะได้หมดไปเสียที  ภิกษุรูปใดผิดวินัยก็จับสึกและห้ามบวชใหม่  เถระรูปใดไปบวชให้ก็ถอดเถระรูปนั้นเสีย  เพราะสมรู้กันส่งเสริมภิกษุชั่ว  ที่จะทำให้คนเสื่อมคลายศรัทธาในภิกษุทั้งหลาย)

ภิกษุรังโรค

               ภิกษุทั้งหลาย!  โรคสองอย่างนี้มีอยู่  สองอย่างอะไรกันเล่า?   สองอย่างคือ  โรคทางกาย กับ  โรคทางใจ

               ภิกษุทั้งหลาย!  ย่อมเห็นกันอยู่แล้วว่า  สัตว์ทั้งหลายที่ยืนยันถึงความไม่มีโรคทางกายตลอด    ปีบ้าง    ปีบ้าง    ปีบ้าง  --๑๐๒๐๓๐๔๐๕๐  ปีบ้าง  ๑๐๐  ปีบ้าง  และที่ยืนยันถึงความไม่มีโรคทางกายยิ่งกว่า  ๑๐๐  ปี  ก็พอจะหาได้

               ภิกษุทั้งหลาย!  แต่หมู่สัตว์ที่กล้ายืนยันถึงความไม่มีโรคทางใจแม้ชั่วเวลาเพียงครู่เดียว  เว้นแต่พระขีณาสพแล้ว  นับว่าหาได้แสนยากในโลก

               ภิกษุทั้งหลาย!  โรคของบรรพชิตสี่อย่างเหล่านี้มีอยู่  สี่อย่างอะไรกันเล่า?  สี่อย่างคือ

               . ในกรณีนี้คือ  ภิกษุเป็นผู้มักมาก  มีความร้อนใจเพราะความมักมากอยู่เสมอ  ไม่รู้จักพอด้วยเครื่องนุ่งห่ม  อาหาร  ที่อยู่อาศัย  และหยูกยาแก้ไข้ตามมีตามได้

               . ภิกษุนั้น  เมื่อเป็นผู้มักมาก  มีความร้อนใจเพราะความมักมากอยู่เสมอ  ไม่รู้จักพอด้วยเครื่องนุ่งห่ม  อาหาร  ที่อยู่อาศัย  และหยูกยาแก้ไข้ตามมีตามได้แล้ว  ย่อมตั้งความปรารถนาลามก  เพื่อจะรับคอยเอาอกเอาใจจากคนอื่น  และเพื่อจะได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอ

               . ภิกษุนั้น  ย่อมวิ่งเต้นขวนขวายพยายามเพื่อจะได้รับการเอาอกเอาใจจากคนอื่น  และเพื่อจะได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอ

               . ภิกษุนั้น  ย่อมคิดวางแผนการเข้าสู่ครอบครัวชาวบ้าน  วางแผนการนั่งคุยในครอบครัวของชาวบ้าน  วางแผนการกล่าวธรรมในครอบครัวของชาวบ้าน  ย่อมวางแผนการกลั้นอุจจาระปัสสาวะคลุกคลีในครอบครัวของชาวบ้าน

               ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนี้ในเรื่องนี้  พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจว่า  เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้มักมาก  จักไม่เป็นผู้ร้อนใจเพราะหยูกยาแก้ไข้ตามมีตามได้  จักไม่ตั้งความปรารถนาลามกเพื่อรับการคอยเอาอกเอาใจจากคนอื่น  และเพื่อให้ได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอ  จักไม่วิ่งเต้นขวนขวายพยายามเพื่อรับการคอยเอาอกเอาใจจากคนอื่น  และเพื่อให้ได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอ  จักเป็นผู้อดทนต่อความหนาว  ความร้อน  ความหิวกระหาย  ต่อสัมผัสแห่งเหลือบยุง  ลม  แดด  และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย  ต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่างๆ  เป็นผู้อดทนต่อเวทนาที่เกิดในกายอันเป็นทุกข์  กล้าแข็ง  เผ็ดร้อน  ขมขื่นไม่เจริญใจ  ถึงขนาดจะเคร่าเอาชีวิตเสียได้  ดังนี้

               ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  จตกฺก.องฺ  ๒๑/๑๖๔/๑๒๗  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายพุทธพจน์เหล่านี้  เป็นคำสั่งสอน  คำตักเตือน  เพื่อให้ภิกษุเป็นสมณะที่ดีและมีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพานได้ดีกว่าชาวบ้าน  แต่เสียดายที่ภิกษุในประเทศไทยและในต่างประเทศไม่มีโอกาสได้ทราบคำสั่งสอนตักเตือนเหล่านี้  จึงได้ประพฤติผิดกลายเป็นภิกษุรังโรคกันเกือบหมด  ยังเต็มไปด้วยตัณหาอุปาทาน  นักบวชจึงไม่ผิดแผกไปกว่าปุถุชนคนสามัญทั่วไป  กลายเป็นนักบวชเพื่ออาชีพหาอาหารเลี้ยงท้อง  เพื่อเรี่ยไรสะสมเงินทองทรัพย์สมบัติ  เมื่อได้มากพอและมีความมักคุ้นกับหญิงตามครอบครัวของชาวบ้านใดแล้วก็สึกมาเสพกาม  ฉะนั้น  การแสดงตนเป็นนักบวชของคนประเภทนี้  จึงเป็นการหลอกลวงประชาชน  เอาเปรียบสังคมและทำลายพุทธศาสนา  โดยประชาชนไม่รู้ความจริง  เพราะไม่เคยทราบว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์เกี่ยวกับภิกษุที่จะทำลายศาสนาของพระองค์เอาไว้มากมาย  ปรากฏอยู่ในพระไตรปิกฎ  ปกปิดกันมานาน  จนกระทั่งคณะธรรมทานไชยา  เผยแพร่หนังสือ  ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์  เราจึงได้รู้กัน)

ภิกษุตกหลุมอุจจาระ

               อานนท์!  ภิกษุรูปนั้นชะรอยจักเป็นพระใหม่  บวชยังไม่นานหรือว่าเป็นเถระผู้พาลผู้เขลาข้อที่เราพยากรณ์ดยส่วนเดียวแล้ว  จักกลับกลายเป็นสองส่วนได้อย่างไร  อานนท์!  เรายังไม่เห็นคนอื่นแม้สักคนหนึ่ง  ซึ่งเราได้วินิจฉัยประมวลเหตุการณ์ทั้งปวงแล้ว  จึงพยากรณ์ไว้อย่างนั้นเหมือนอย่างเทวทัต  อานนท์!  ตราบใดเรายังมองเห็นธรรมขาวของเทวทัตเพียงเท่าปลายแหลมสุดแห่งเส้นขน  ตราบนั้นเราก็ไม่พยากรณ์เทวทัตว่าพระเทวทัตต้องไปเกิดในอบายเป็นสัตว์นรก  ตั้งอยู่ชั่วกัลป์หนึ่งช่วยเหลืออะไรไม่ได้  อานนท์!  เมื่อใดแลเรามองไม่เห็นธรรมขาวของเทวทัตแม้เพียงเท่าปลายแหลมสุดแห่งเส้นขน  เมื่อนั้นเราจึงพยากรณ์เทวทัตว่า  พระเทวทัตต้องไปเกิดในอบายเป็นสัตว์นรก  ตั้งอยู่ชั่วกัลป์หนึ่ง  ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ 

               อานนท์!  เปรียบเหมือนหลุมอุจจาระลึกชั่วบุรุษ  เต็มไปด้วยอุจจาระจนปริ่มขอบหลุม  บุรุษคนหนึ่งพึงตกลงไปในหลุมอุจจาระนั้นจนมิดทั้งตัว  ยังมีบุรุษบางคนหวังระโยชน์เกื้อหนุน  หวังความเกษมสำราญของบุคคลผู้นั้น  หวังจะช่วยยกเขาขึ้นจากหลุมอุจจาระนั้น  บุรุษนี้จึงเข้าไปใกล้เดินเวียน  ดูรอบๆหลุมอุจจาระนั้น  มองไม่เห็นอวัยวะของคนในหลุมนั้น  แม้เพียงเท่าปลายแหลมแห่งเส้นขน  ที่ยังไม่ได้เปื้อนอุจจาระ  ซึ่งตนพอจะจับยกขึ้นมาได้  ข้อนี้ฉันใด 

               อานนท์!  เมื่อใดเรามองไม่เห็นธรรมขาวของเทวทัต  แม้เพียงเท่าปลายแหลมสุดสุดแห่งเส้นขน  เมื่อนั้นเราจึงกล้าพยากรณ์ว่า  พระเทวทัตต้องไปเกิดในอบาย  เป็นสัตว์นรกตั้งอยู่ชั่วกัลป์หนึ่ง  ช่วยอะไรไม่ได้  ฉันนั้นแล.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  ฉกฺก.องฺ  ๒๒/๔๔๙/๓๓๓  ตรัสแก่ท่านพระอานนท์โดยที่มีภิกษุรูปหนึ่งถามท่านว่า  ท่านอานนท์!  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวินิจฉัยประมวลเหตุการณ์ทั้งปวงครบถ้วนดีแล้วหรือ  จึงทรงพยากรณ์ว่า  พระเทวทัตต้องเกิดในอบายเป็นสัตว์นรก  ตั้งอยู่ชั่วกัลป์หนึ่ง  ช่วยเหลืออะไรไม่ได้  หรือว่าทรงพยากรณ์โดยปริยายบางอย่างเท่านั้น  พระอานนท์จึงให้คำตอบว่า  ผู้มีอายุ  คำพยากรณ์  ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์แล้ว  ย่อมเป็นความจริงเช่นนั้นเสมอ  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเรื่องนี้  จึงได้ตรัสพระพุทธวจนะนี้  เป็นการยืนยันว่า  คำพยากรณ์ของท่านจะเป็นจริงทุกเรื่องไป

               นักบวชในสมัยนี้ไม่มีโชค  จึงไม่มีพระพุทธเจ้าคอยทรงพยากรณ์ว่า  รูปไหนจะต้องไปเกิดในอบายหรือเป็นสัตว์นรก  และแทนที่เขาจะไปทนทุกข์ทรมานอยู่ชั่วกัลป์หนึ่ง  ก็อาจตกนรกไปถึงหลายๆกัลป์  ฉะนั้น  การนำเอาพระพุทธพจน์มากล่าวเตือนสติแก่นักบวชทั้งหลายซึ่งกำลังหลงผิด  จึงเป็นเหมือนการพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าซึ่งจะช่วยมิให้นักบวชบางคนไม่ต้องไปตกนรกหมกไหม้อยู่หลายๆกัลป์  และสถาบันสงฆ์ไทยจะได้ไม่ถูกทำลายในอนาคต)

ภิกษุเนื้อนาไม่เกิดบุญ

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุเมื่อประกอบด้วยเหตุ    อย่างแล้ว  ย่อมเป็นผู้ไม่ควรแก่การบูชา  ไม่ควรแก่การต้อนรับ  ไม่ควรแก่การทำบุญ  ไม่ควรทำความเคารพ  ไม่เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างดีเยี่ยม  เหตุ    อย่างไรกันเล่า?    อย่าง  คือ

               ภิกษุในกรณีนี้เป็นผู้ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย  ได้เห็นรูปด้วยตาแล้วก็ติดใจยินดีในรูปอันที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี  ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย  เมื่อได้ฟังเสียงด้วยหูแล้ว  ก็ติดใจยินดีในเสียงอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี  ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย  ได้ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้วก็ติดใจยินดีในกลิ่นอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี  ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย  ได้ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว  ก็ติดใจยินดีในรสอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี  ไม่อดทนต่อการสัมผัสด้วยกายทั้งหลาย  ได้สัมผัสด้วยกายแล้ว  ก็ติดใจยินดีในสัมผัสด้วยกายอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี  ไม่อาจตั้งจิตเป็นกลาง  (=จิตว่าง)  อยู่ได้

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุเมื่อประกอบด้วยเหตุ    อย่างเหล่านี้แล  ย่อมเป็นผู้ไม่ควรแก่ของบูชา  ไม่ควรแก่ของต้อนรับ  ไม่ควรแก่ของทำบุญ  ไม่ควรทำความเคารพ  ไม่เป็นเนื้อนาบุญของโลก  อย่างดีเยี่ยมเลย

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  ปญฺจก.  องฺ  ๒๒/๑๗๖/๑๓๙  ตรัสแก่ทั้งหลายความพอใจใน  รูป  รส  กลิ่น  เสียง  สัมผัส  ทางกายนี้เรียกว่า  กามคุณทั้ง    พระพุทธเจ้าได้กล่าวไว้เหมือนกันอีกว่า  สมณะใดยังละกามไม่ได้  ผู้นั้นเป็นคนลวงโลก  ใครทำบุญกับสมณะเช่นนั้น  ย่อมไม่ได้บุญเลย  เพราะไม่ใช่เนื้อนาบุญ  ฉะนั้น  ผู้ใดทำบุญเพื่อให้ได้บุญแล้ว  ก็จำเป็นต้องเลือกเนื้อนาให้ดีๆเสียก่อน  นักบวชใดที่รู้ตัวว่าตนไม่ใช่เนื้อนาบุญ  ก็รีบแก้ไข้ความบกพร่องเสีย  มิฉะนั้นกินอาหารของชาวเมืองเขาแล้ว  จะต้องไปตกนรกดังความปรากฏในบทต่อๆไป

               คนทั่วไปมักได้คำสั่งสอนอบรมมาผิดๆว่า  ถ้าทำบุญตักบาตรถวายอาหารถวายข้าวของแก่ภิกษุแล้ว  ตนจะได้บุญมาก  ตายแล้วจะได้ไปบังเกิดในสวรรค์  ฉะนั้นผู้ที่หวังสวรรค์หรือความสุขในทางกามารมณ์ชั้นดีเยี่ยมอย่างพวกเทวดา  จึงอุตสาห์อดออมกินอดออมอยู่  เพื่อเจียดเอาอาหารหรือข้าวของต่างๆของตน  นำไปถวายภิกษุ  อุตสาห์ตื่นแต่เช้าทำอาหารอันตรายตนเองไม่กล้าซื้อหรือทำกิน  แต่ยินดีซื้อยินดีทำถวายภิกษุ  รายได้ของชาวสวนชาวนาไทยหมดไปไม่น้อยกว่า  ๖๐ %เพื่อบำรุงภิกษุ  ซึ่งส่วนมากเวลานี้ก็เป็นประเภทเนื้อนาที่ไม่เกิดบุญ  เพราะท่านเหล่านั้นยังเต็มไปด้วยความอยากนานาประการ  ชอบดูหญิง  ฟังดนตรี  ชอบดมของหอม  ชอบแสวงอาหารเครื่องดื่มอันโอชารส  ชอบสัมผัสทางกายให้เกิดอารมณ์  ไม่เห็นละกามกันให้ผิดไปจากฆราวาสเลย  แล้วจะถือว่าตัวเองสูงกว่าชาวบ้านไปได้อย่างไร  เป็นเนื้อนาบุญได้อย่างไร)

ภิกษุหมดหวัง

               ภิกษุทั้งหลาย!  คนชนิดใดได้ชื่อว่า  ผู้หมดหวัง

               ภิกษุทั้งหลาย!  ในโลกนี้คนบางคนจำเพาะมาเกิดในตระกูลต่ำ  เช่น ตระกูลจัณฑาล  ตระกูลจักสาน  ตระกูลนายพราน  ตระกูลทำหนังหรือตระกูลคนเทขยะมูลฝอย  เป็นคนยากจนไม่ค่อยมีข้าวน้ำจะบริโภคเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น  แม้จะกินอันเป็นเดนก็หากินได้โดยยาก  ซ้ำมีผิวพรรณขี้เหร่  นุ่งห่มขี้ริ้ว  ร่างแคระอมโรค  ตาพิการ  มือแป  ขาง่อย  อ่อนเปลี้ย  ไม่มีโอกาสจะได้ข้าวได้น้ำ ผ้าผ่อน  ยวดยาน  เครื่องประดับ  เครื่องหอม  เครื่องทา  เครื่องนั่งนอน  และเครื่องโคมไฟกะเขาเลย  คนเข็ญใจผู้นั้นได้ยินข่าวว่าพวกกษัตริย์ได้ทำการอภิเษกกษัตริย์องค์หนึ่ง  ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินด้วยพิธีราชาภิเษกดังนี้  ก็คิดถึงตัวว่า   สำหรับเราย่อมไม่มีหวังที่กษัตริย์ทั้งหลายจักอภิเษกยกเราเป็นเจ้าแผ่นดินด้วยพิธีราชาภิเษกอย่างนั้นเลย  เรียกว่า  คนหมดหวัง

               ภิกษุทั้งหลาย!  ฉันใดก็ฉันนั้น  นักบวชบางคนเป็นคนทุศีล  มีความเป็นอยู่เลวทรามไม่สะอาด  มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง  มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็อ้างว่าเป็นสมณะ  ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ก็อ้างว่าประพฤติพรหมจรรย์  เป็นคนเน่าในเปียกแฉะ  มีสัญชาติหมักหมมเหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย  นักบวชผู้นั้นได้ยินข่าวว่า  ภิกษุรูปหนึ่ง  ได้ทำให้แจ้ง  เจโตวิมุติ  ปัญญาวิมุติ  อันไม่มีกิเลสเพราะหมดกิเลส  ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในชาติที่ปรากฏอยู่นี้  แล้วจึงมีความเป็นอยู่ด้วยธรรมนั้น  ก็คิดถึงตัวว่า  สำหรับเราย่อมไม่มีหวังเลยที่จะทำให้แจ้งเจโตวิมุติ  ปัญญาวิมุติ  อันไม่มีกิเลสเพราะหมดกิเลสด้วยปัญญาอันยิ่งเองในชาติที่ปรากฏอยู่นี้แล้วจึงมีความเป็นอยู่ด้วยธรรมนั้น  นี้เรียกว่า  ผู้หมดหวัง. 

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  ติก. องฺ  ๒๐/๑๓๕/๔๕๒  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย  พระพุทธเจ้ากล่าวว่า  ผู้ใดรักพระองค์  ผู้นั้นจะได้ความสุขใจ  ผู้ใดปฏิบัติตามที่พระองค์สอนผู้นั้นจะได้ไปนิพพาน  ฉะนั้นความหมดหวังไม่น่าจะมีแก่ภิกษุเลย  เว้นแต่พวกที่บวชโดยไม่หวังนิพพาน  ตราบใดที่ภิกษุมีเจตนาจะให้มรรคผลนิพพานแล้ว  ย่อมไม่เป็นการเหลือวิสัยเลย  เพราะพระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า  ตราบที่ใดที่คนยังปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์    อยู่แล้ว  โลกนี้จะไม่สิ้นพระอรหันต์  ผู้ใดละความเห็นแก่ตัวได้  เชื่อมั่นใน  พระพุทธ  พระธรรม  พระอริยสงฆ์  และละความเชื่อผิดนอกแนวของพุทธศาสนากล่าวคือ  ความงมงายทั้งหลายได้แล้ว  ผู้นั้นก็เป็นพระโสดาบัน  ซึ่งจะได้เป็นพระอรหันต์  ภายใน    ชาติเป็นอย่างช้า)

ภิกษุขี้เรื้อน

               ภิกษุทั้งหลาย!  ลาภสักการะและเสียงเยินยอเป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็ดหยาบคายต่อการบรรลุพระนิพพาน  อันเป็นธรรมให้หลุดจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง  ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า

               ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอเห็นสุนัขจิ้งจอกตัวที่อาศัยอยู่เมื่อตอนย่ำรุ่งราตรีไหม?

               เห็นพระเจ้าข้า

               ภิกษุทั้งหลาย!  สุนัขตัวนั้นเป็นโรคหูชัน  (โรคเรื้อนสุนัข)  วิ่งไปบนแผ่นดินก็ไม่สบาย  ไปอยู่ที่โคนไม้ก็ไม่สบาย  ไปอยู่กลางแจ้งก็ไม่สบาย  มันไปในที่ใด  มันนอนในที่ใด  ล้วนแต่ได้รับทุกข์ทรมานในที่นั้นๆ

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ก็เหมือนกัน  ครั้นถูกลาภสักการะและเสียงเยินยอครอบงำเอาแล้ว  มีจิตติดแน่นอยู่ในสิ่งนั้นๆ  ไปอยู่เรือนว่างก็ไม่สบาย  ไปอยู่ที่โคนไม้ก็ไม่สบาย ไปอยู่กลางแจ้งก็ไม่สบาย  เธอไปในที่ใด  เธอยืนในที่ใด  เธอนั่งในที่ใด  เธอนอนในที่ใด  ล้วนแต่ได้รับทุกข์ทรมานในที่นั้นๆ

               ภิกษุทั้งหลาย!  ลาภสักการะและเสียงเยินยอเป็นที่อันตรายที่ทารุณสบเผ็ด  หยาบคายต่อการบรรลุพระนิพพาน  อันเป็นธรรมให้หลุดจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง  ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า  ด้วยอาการอย่างนี้  เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้  พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้ดังนี้ว่า  เราทั้งหลายจักไม่เยื่อใยในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น  อนึ่งลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว  ต้องไม่มาห่อหุ้มที่จิตของเรา  ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้อย่างนี้แล.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  นิทาน  สฺ  ๑๖/๒๗๐/๕๕๓-  ถึงแม้ภิกษุที่เชื่อว่า  เป็นพระโสดาบันแล้วก็ตาม  ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข  ก็ยังทำจิตให้ตกต่ำมาเท่าคนธรรมดาได้  ดังที่เปรียบความไว้ว่า  จะต้องเกิดอีกไม่เกิน    ชาตินั่นเอง  โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อกันได้ฉันใด  ภิกษุขี้เรื้อนก็เป็นเชื้อยั่วยุทำให้ภิกษุซึ่งเคยดีอยู่ต้องกลายเป็นภิกษุขี้เรือนไปด้วย  เพราะเมื่อเห็นภิกษุขี้เรื้อนหาเงินทองข้าวของได้ง่ายๆ  ได้มากๆ  มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย  ภิกษุที่บวชโดยมิได้หวังพระนิพพาน  จึงเกิดความทะเยอทะยานอยากได้เช่นเดียวกัน  เมื่อไม่มีทางได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอโดยประกอบกิจศาสนาหรือปฏิบัติธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็มักวกไปประกอบเดรัจฉานวิชา  หาเงินด้วยอุบายต่างๆนานา  ไม่เกรงกลัวใคร  ไม่ละอายต่อบาป  จิตใจไม่สงบรำงับ  ห่างไกลมรรคผลนิพพานออกไปทุกวันๆ  เข้าใกล้นรกมากขึ้นทุกวันๆ  และเป็นภิกษุที่นำภัยมาสู่พุทธศาสนาอย่างแท้จริง  จะทำให้พระพุทธศาสนาถูกทำลาย  โดยพวกที่ไม่ชอบศาสนา  การที่ศาสนาคริตส์ถูกทำลายไปในบางสมัยบางประเทศ  ก็เพราะนักบวชขี้เรื้อนของสมัยนั้นประเทศนั้น  เขาอยู่ดีกินดีกว่าคนทั่วไป  วัดวาอารามสวยยังกับพระราชวัง  สะสมทรัพย์สมบัติซึ่งได้มาจากงานของศาสนา  มีความเป็นอยู่สบายอย่างเทวดาทีเดียว  ส่วนศาสนิกชนที่ทำบุญยังยากจนอดอยากกันอยู่)

ภิกษุฉิบหายเพราะลาภ  ฯลฯ  ฯลฯ  ฯลฯ

               ภิกษุทั้งหลาย!  พระเทวทัตถูกลาภสักการะและเสียงเยินยอครอบงำเอา  แล้วมีจิตติดอยู่ในสิ่งนั้นๆ  จึงทำลายสงฆ์  ฯลฯ

               รากเหง้าแห่งธรรมอันเป็นกุศลของเธอถึงความพินาศ  ฯลฯ

               ธรรมอันเป็นตัวกุศลของเธอจึงถึงความพินาศ  ฯลฯ

               ธรรมอันขาวสะอาดของเธอ  จึงถึงความพินาศ  ฯลฯ

               (คัดจากบาลีพระพุทธสุภาษิต  นิทาน.  .๑๖/๒๘๒/๕๘๒๕๘๕  พระเทวดาเป็นอาจารย์ผู้มีฤทธิ์เดชมาก  คนนับถือยกย่องก็มาก  แต่แล้วก็ไม่พ้นความพินาศเพราะลาภยศ  และสรรเสริญเยินยอ  ภิกษุเถระทั้งหลายควรสนใจพุทธพจน์ข้อนี้  เพราะเป็นผู้ได้รับลาภสักการะและเสียงเยินยอ  มากกว่าภิกษุผู้น้อย  หากจิตใจอยู่ในสิ่งเหล่านี้แล้ว  ก็อาจลืมตัว  นึกว่าเป็นผู้วิเศษเหนือคนทั้งหลายในโลก  เป็นอภิสิทธิ์บุคคล  ถือตัวถือตนมาก  เมื่อทำผิดสิ่งใดใครว่ากล่าวเข้า  ก็แสดงอาฆาตมาดร้าย  คล้ายๆว่าใครก็ไม่ใหญ่ไม่สำคัญไปกว่าตน  แม้พระพุทธพจน์แบบนี้  เขาก็ไม่อยากฟัง  ไม่อยากอ่านและไม่อยากให้ใครทราบ เกรงว่าความสำคัญของตัวเขาจะน้อยลงไปกว่าเดิม เถระประเภทนี้มีอันตรายเหมือนนักการเมืองชั่ว  และเป็นตัวการเหมือนกันที่ทำให้คนหมดความเลื่อมใสในคณะสงฆ์ไทย  ทำให้คนต่างชาติเห็นว่าพุทธศาสนาก็เป็นยาเสพติด  ไม่ดิบไม่ดีไปกว่าศาสนาอื่นๆ)

ภิกษุแหวกแนว

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุผู้เป็นที่เชื่อถือของมหาชนทั่วไป  เมื่อมีการกระทำสามอย่างต่อไปนี้แล้ว  ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำมหาชนให้เสื่อมเสีย  ทำมหาชนให้หมดสุข  ทำไปเพื่อความฉิบหายแก่มหาชน  ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล  แต่เป็นไปเพื่อความทุกข์  ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายการกระทำสามอย่างอะไรบ้างเล่า?  สามอย่างคือ  .ทำการชักชวนมหาชนในกายกรรม ฯลฯ ๒.ทำการชักชวนมหาชนในวจีกรรม ฯลฯ  . ทำการชักชวนมหาชนในการบำเพ็ญทางจิต  อันผิดแนวแห่งการทำให้พ้นทุกข์ในพระศาสนา

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุผู้เป็นที่เชื่อถือของมหาชนทั่วไป  เมื่อมีการกระทำสามอย่างเหล่านี้แล้ว  ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำมหาชนให้เสื่อมเสีย  ทำมหาชนให้หมดสุข  ทำเพื่อฉิบหายแก่มหาชน  ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล  เป็นไปเพื่อความทุกข์ทั้งแก่เทวดา  และมนุษย์ทั้งหลายแล.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธสุภาษิต  ติก.องฺ  ๒๐/๑๓๓/๔๕๐)

               . กายกรรม  ในที่นี้  อรรถกถากล่าวถึงการชักชวนให้ไหว้ทิศเป็นต้น

               . วจีกรรม  ในที่นี้   อรรถกถากล่าวถึงการชักชวนให้เขวนอกลู่นอกทางของพุทธศาสนาเป็นต้น

               . อรรถกถา  กล่าวถึงการบอกกรรมฐานผิดๆ  วิปัสสนาผิดๆ  เป็นต้น

ภิกษุนอกบัญชี

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุเหล่าใด  เป็นคนหลอกลวง  กระด้าง  พูดพล่าม  ยกตัว  จองหอง  ใจฟุ้ง  ภิกษุเหล่านั้น  ไม่ใช่  คนของเรา

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุเหล่านั้น  ได้ออกไปนอกธรรมวินัยนี้เสียแล้ว  และพวกภิกษุเหล่านั้น  ย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้เลย.

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  จตุกฺก.องฺ  ๒๐/๓๓/๒๖  ปรากฏว่านักบวชในสำนักเดียวกันในนิกายเดียวกัน  ในศาสนาเดียวกันมักจะกระทำการต่อต้าน  ป้องกันพวกของตัว  ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าพวกของตัวผิด  การทำเช่นนี้ไม่ใช่การส่งเสริมศาสนา  แต่เป็นการช่วยทำลายสถาบันของตนเอง  ยิ่งกว่านั้น  ถ้าฆราวาสใดเขากระหนาบนักบวชชั่ว  เพื่อเห็นแก่ความสะอาดจดของศาสนา  เถระชั่วก็มักออกรับเดือดร้อนแทนไปด้วย  คล้ายกับว่าใครจะมาตำหนิพวกสีเดียวกับตนไม่ได้เป็นอันขาด  เป็นการหมิ่นประมาทอภิสิทธิ์บุคคล  นักบวชไม่ว่าในศาสนาใด  มักถือตนเองว่าสูงกว่าฆราวาส  ทำอะไรๆได้ตามความพอใจคนทั่วไปก็ไม่กล้าว่าเพราะกลัวบาป  คนนอกบัญชีแบบนี้  นอกจากตัวเองจะไม่เจริญในธรรมวินัยแล้ว  ยังทำให้ผู้อื่นไม่เจริญอีกด้วย  ฆราวาสที่ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็ควรภูมิใจได้ว่าเองเป็นในบัญชี  และเป็นคนของพระศาสดาแล้ว  เครื่องแต่งกายไม่มีความสำคัญอะไรเลย)

ภิกษุหลวงตา

               ภิกษุทั้งหลาย!  พระหลวงตาที่ประกอบด้วยองค์ห้าอย่างได้ยาก  ห้าอย่างอะไรกันเล่า?  ห้าอย่าง  คือ

               พระหลวงตา  ที่มีปัญญาละเอียดอ่อนในการรู้อริยสัจจ์สี่  หาได้ยาก

               พระหลวงตา  ที่เป็นคนมีท่าทางเรียบร้อย  หาได้ยาก

               พระหลวงตา  ที่เป็นคนสดับตรับฟังแล้วจำได้มาก  หาได้ยาก

               พระหลวงตา  ที่เป็นผู้แสดงธรรม  หาได้ยาก

               พระหลวงตา  ที่เป็นคนปฏิบัติเคร่งตามวินัย  หาได้ยาก

                                                       (อีกสูตรหนึ่ง)

               พระหลวงตา  ที่เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย  หาได้ยาก

               พระหลวงตา  ที่รับคำแนะนำไปปฏิบัติเป็นอย่างดี  หาได้ยาก

               พระหลวงตา  ที่ยอมรับคำเตือนโดยเอื้อเฟื้อ  หาได้ยาก

               พระหลวงตา  ที่เป็นผู้แสดงธรรม  หาได้ยาก

               พระหลวงตา  ที่เป็นคนปฏิบัติเคร่งตามวินัย  หาได้ยาก

               ภิกษุทั้งหลาย!  พระหลวงตาที่ประกอบด้วยองค์ห้าอย่าง  (แต่ละหมวด)  เหล่านี้แล  หาได้ยาก.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  ปญฺจก.  องฺ  ๒๒/๙๐/๕๙,๖๐)

ภิกษุป่าช้าผีดิบ

               ภิกษุทั้งหลาย!  โทษห้าอย่างนี้เป็นโทษในป่าช้าผีดิบ  ห้าอย่างอะไรบ้าง?  ห้าอย่าง คือ  ป่าช้าผีดิบเป็นที่ไม่สะอาดมีกลิ่นเหม็น  มีภัยเฉพาะหน้า  เป็นที่พักอาศัยของพวกอมนุษย์ที่ดุร้าย  และเป็นที่ร้องไห้พิไรร่ำของคนเป็นจำนวนมาก  โทษห้าอย่างเหล่านี้เป็นโทษในป่าช้าผีดิบ

               ภิกษุทั้งหลาย!  ฉันใดก็ฉันนั้น  โทษห้าอย่างเหล่านี้เป็นโทษของนักบวชที่เปรียบด้วยป่าช้า ผีดิบ  ห้าอย่างอะไรบ้าง?  หัวอย่างคือ

               . นักบวชบางคนในกรณีนี้  เป็นผู้ประกอบด้วยการกระทำทางกาย  ทางวาจา  ทางใจอันไม่สะอาด เราถือว่าการกระทำเช่นนี้ของผู้นั้นเป็นความไม่สะอาด ดุจดั่งป่าช้าผีดิบ ซึ่งเป็นที่ไม่สะอาด เราถือว่านักบวชชนิดนี้เทียบกันที่ที่ไม่สะอาด  ฉะนั้น

               . เมื่อนักบวชประกอบกรรมอันไม่สะอาดเช่นนั้นอยู่  เสียงเล่าลืออันชั่วช้าก็ระบือไป  เราถือว่าเสียงเล่าลืออันชั่วช้าของผู้นั้นๆว่า   เป็นกลิ่นเหม็นดุจดั่งป่าช้าผีดิบ  ซึ่งเป็นที่มีกลิ่นเหม็น เราถือว่านักบวชชนิดนี้เทียบกันได้กับที่ที่มีกลิ่นเหม็น  ฉันนั้น

               .ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันซึ่งมีศีลเป็นอันที่รัก ย่อมเว้นห่างไกลจากคนที่มีกลิ่นเหม็นเช่นกล่าวนั้นเสีย  เราถือว่าการที่เพื่อนๆเว้นห่างไกลนี้  เป็นภัยเฉพาะหน้าดุจดั่งป่าช้าผีดิบ ซึ่งเป็นที่มีภัยเฉพาะหน้า  เราถือนักบวชชนิดนี้เทียบกันได้กับที่ที่มีภัยเฉพาะหน้า  ฉันนั้น

               . คนชั่วช้าผู้ประกอบกรรมอันไม่สะอาด  ทั้งกายวาจาและใจก็อยู่ร่วมกันได้แต่พวกที่มีการกระทำเหมือนๆกัน เราถือว่าการที่อยู่ร่วมกันได้ของผู้นั้นว่า เป็นที่พักอาศัยสำหรับพวกเหล่านี้ ดุจดั่งป่าช้าผีดิบ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของพวกอมนุษย์ที่ดุร้าย เราถือว่านักบวชชนิดนี้ เทียบกันได้กับที่พักอาศัยสำหรับคนดุร้าย  ฉันนั้น

               . ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันซึ่งมีศีลเป็นที่รัก ได้เห็นนักบวชชนิดนั้นเข้าแล้ว ก็นึกตำหนิไว้ว่า  พุทโธ่เอ๋ย!  ความทุกข์ของพวกเรามีอยู่ตรงที่พวกเราจำต้องอยู่ร่วมกับนักบวชชนิดนั้นด้วย  ดังนี้เราถือว่าการอยู่ร่วมที่ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นนี้  ว่าเป็นความร้องไห้พิไรร่ำดุจดั่งป่าช้าผีดิบ  ซึ่งเป็นที่ที่ร้องไห้พิไรร่ำของคนเป็นจำนวนมาก  เราถือว่านักบวชชนิดนี้  เทียบกันได้กับที่สำหรับเป็นที่ร้องไห้พิไรร่ำของคนเป็นจำนวนมาก  ฉันนั้น

               ภิกษุทั้งหลาย!  โทษห้าอย่างเหล่านี้  เป็นโทษในนักบวชที่เปรียบด้วยป่าช้าผีดิบแล.

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  ปญฺจก  องฺ  ๒๒/๒๘๙/๒๔๙  ในปัจจุบันนี้หลายวัด  ในพระนครได้กลายเป็นป่าช้าผีดิบไปแล้ว  เพราะเถระเจ้าอาวาสและภิกษุลูกวัดประกอบด้วยโทษ    อย่างดังกล่าวในบทนี้  วัดสาขาในต่างจังหวัดก็พลอยกลายเป็นป่าช้าผีดิบไปด้วย  แต่ที่น่าเสียดายก็คือภิกษุป่าช้าผีดิบทั้งหลาย  เป็นคนหลอกลวงเก่งเล่นละครได้อย่างแนบเนียน  จนชาวบ้านไม่รู้สึกตัวว่าตนเข้าไปในป่าช้าของพวกผีดิบ  ฟังธรรมะปลอมของพวกผีดิบ  วิปัสสนาปลอมของพวกผีดิบ  ชาวบ้านจึงเกิดโทษทุกข์ภัยในทางวิญญาณ  บางคนก็หลงงมงายไปในทางของขลังศักดิ์สิทธิ์  บางคนก็หลงไปว่าตัวเป็นพระอริยบุคคล  ยกตนข่มคนอื่น  ซึ่งแท้ที่จริงตัวเองก็มีกิเลสหนายิ่งไปกว่าปุถุชนคนธรรดาเสียด้วยซ้ำไป  ประเทศไทยมีภิกษุราวสองแสนรูป  ตามธรรมดาย่อมมีภิกษุดีอยู่มากพอสมควร  ภิกษุดีๆน่าจะช่วยกันปราบปรามภิกษุชั่ว  ภิกษุมหาโจร  ภิกษุนอกบัญชี  ภิกษุขี้เรือนภิกษุแหนกแนว  ฯลฯ  เพราะภิกษุประเภทเหล่านั้นทำลายชื่อเสียงอันดีของคณะสงฆ์  ทำลายศาสนาพุทธ  ฉะนั้น  การไม่ปราบปรามกันจึงทำให้สงสัยว่าเป็นภิกษุป่าช้าผีดิบด้วยกันกระมัง)

ภิกษุอุปัชฌายะเสีย

               ภิกษุทั้งหลาย!  ในกาลยืดยาวไปภายหน้า  จักมีภิกษุซึ่งมิได้อบรมกาย  มิได้อบรมศีล  มิได้อบรมจิต  และมิได้อบรมปัญญา  เขาทั้งหลายทั้งที่เป็นเช่นนั้นอยู่  จักเป็นอุปัชฌายะให้อุสมบทคนอื่นๆแล้วจักไม่อาจแนะนำฝึกสอนคนเหล่านั้นในศีลอันยิ่ง  ในสมาธิอันยิ่งและในปัญญาอันยิ่ง  แม้คนบวชแล้วเหล่านั้นก็จักเป็นผู้มิได้อบรมกาย  มิได้อบรมศีล  มิได้อบรมจิต  และมิได้อบรมปัญญาให้ถูกต้อง  เธอทั้งหลายทั้งที่เป็นเช่นนี้อยู่  ก็จักได้เป็นอุปัชฌายะให้อุปสมบท  (ต่อจากอุปัชฌายะแรก)  สืบไปๆ  จักไม่อาจแนะนำฝึกสอนผู้บวชแล้วทั้งหลาย  ในศีลอันศีลยิ่ง  ในสมาธิอันยิ่ง  และในปัญญาอันยิ่งได้  คนที่บวชแล้วเหล่านั้นก็จักเป็นผู้มิได้อบรมกาย  มิได้อบรมศีล  มิได้อบรมจิต  และมิได้อบรมปัญญาอย่างเดียวกัน

               ภิกษุทั้งหลาย!  ด้วยอาการอย่างนี้เอง  วินัยมีมลทินเพราะธรรมมีมลทิน  ธรรมมีมลทินเพราะวินัยมีมลทิน  นี้เป็นอนาคตภัยที่ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้  แต่จักเกิดขึ้นในเวลาต่อไป  พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้  ครั้นได้สำนึกแล้วก็พึงพยายามเพื่อกำจัดภัยนั้นเสีย.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  ปญฺจก.องฺ  ๒๒/๑๒๑/๗๙  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย)

ภิกษุเถระเสีย

               ภิกษุทั้งหลาย!  ในการยึดยาวไปภายหน้า  จักมีภิกษุซึ่งมิได้อบรมกาย  มิได้อบรมจิต  และมิได้อบรมปัญญา  เธอทั้งหลายเมื่อเป็นเช่นนั้น  ทั้งที่เป็นภิกษุชั้นเถระแล้ว  จักเป็นผู้ชอบทำการสะสมบริขาร  ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา  มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์  ไม่สนใจแสวงหาที่สงัดเงียบไม่ใช้ความเพียรเพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง  เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ  เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง  ผู้บวชในภายหลัง  ได้เห็นเถระเหล่านั้นทำเป็นแบบแผนเช่นนั้นไว้  ก็ถือเอาไปเป็นแบบอย่าง  จึงทำให้เป็นผู้ชอบทำการสะสมบริขารบ้าง  ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา  มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์  ไม่สนใจแสวงหาที่สงัดเงียบ  ไม่บำเพ็ญเพียรเพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง  เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ  เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ให้แจ้งตามๆกันสืบไป

               ภิกษุทั้งหลาย!  ด้วยการอย่างนี้เอง  วินัยมีมลทินเพราะธรรมมีมลทิน  ธรรมมีมลทินเพราะวินัยมีมลทิน  นี้เป็นอนาคตภัยที่ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้  แต่จักเกิดขึ้นในเวลาต่อไป  พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้  ครั้นได้สำนึกแล้วก็พึงพยายามเพื่อกำจัดภัยนั้นเสีย.

               (คัดจากบาลี  พระพุทธภาษิต  ปญฺจก.องฺ  ๒๒/๑๒๑/๗๙  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย)

ภิกษุทำศาสนาเสื่อม

               ภิกษุทั้งหลาย!  มูลเหตุ    ประการเหล่านี้ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป ๔ อย่าง  อะไรกันเล่า? ๔ อย่าง  คือ

               . พวกภิกษุเล่าคือสูตรอันถือกันมาผิดๆ  ด้วยคำและสำเนียงก็ใช้กันผิดๆ  เมื่อคำและสำเนียงที่ใช้กันผิดแล้ว  ความหมายก็คลาดเคลื่อน  และทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป

               . พวกภิกษุเป็นคนว่ายาก  ประกอบด้วยเหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายาก  ไม่อดทน  ไม่ยอมรับคำตักเตือนโดยความเคารพหนักแน่น  นี้ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญเสียไป

               . พวกภิกษุเหล่าใดเป็นผู้เรียกมาก  คล่องแคล่วในหลักพระพุทธพจน์  รู้ธรรม  รู้วินัย  รู้แม่บท  ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เอาใจใส่ที่จะบอกสอนใจความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่นๆ  เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับดับไป  สูตรทั้งหลายก็เลยขาดอาจารย์  ไม่มีผู้สอนสืบไป  ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป

               . พระภิกษุชั้นเถระ  ทำการสะสมเครื่องอุปโภคประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา  มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์  ไม่สนใจในแห่งวิเวกธรรม  ไม่ริเริ่มทำความเพียรเพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึงเพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ  เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง  ผู้บวชในภายหลังได้เห็นพวกเถระเหล่านั้นทำแบบแผนเช่นนั้นไว้  ต่างก็ถือเอาไปเป็นแบบอย่าง  จึงทำให้เป็นทำการสะสมเครื่องอุปโภคบริโภคบ้าง  ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา  มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์  ไม่สนใจกิจแห่งวิเวกธรรม  ไม่ริเริ่มทำความเพียรเพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้งตามกันสืบไป  นี้ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป

               ภิกษุทั้งหลาย! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้แล ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.

               (คัดจากพระพุทธภาษิต จตกฺก.  องฺ  ๒๑/๑๙๗/๑๖๐  พระพุทธพจน์บทนี้ชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมหรือสูญสิ้นไปก็เพราะภิกษุเอง  มิใช่คนภายนอก  ฉะนั้นภิกษุที่ทำลายพุทธก็คือผู้ที่ไม่รู้จักพุทธศาสนา  หลงประกาศแต่ศาสนาพราหมณ์ปฏิบัติกิจเกี่ยวกับพิธีตอง  ของศักดิ์สิทธิ์  เป็นผู้ว่ายาก  ใครตักเตือนเข้าก็โกรธเพราะมีมิจฉาทิฏฐิ  และเห็นแก่ตัวจัด  ยกตัวว่าเป็นบุคคลพิเศษ  ใครว่ากล่าวตักเตือนไม่ได้ภิกษุที่รู้จักพระพุทธศาสนาดีก็ไม่มีอิทธิพล  ไม่ได้รับความสนับสนุนจากทางการ  ในที่สุดก็หมดกำลังใจที่จะประกาศสัจธรรม  พอท่านล่วงลับไปไปก็เลยขาดผู้สอน  ภิกษุเถระส่วนมากก็ไม่สนใจในงานพระพุทธศาสนา  คอยแต่จะแต่งกุฏิให้งดงามเป็นปราสาทราชวังปล่อยให้ภิกษุหนุ่มที่โง่และไร้การศึกษา  โฆษณาหลอกลวงประชาชน  โดยคิดว่าตนเป็นศาสดา)

ภิกษุแกลบ

               ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลายจงขับบุคคลนี้ออกไปเสีย  จงนำบุคคลนี้ไปให้พ้น  ลูกนอกคอก  ช่างทำให้ลำบากใจเสียนี่กระไร

               ภิกษุทั้งหลาย!  นักบวชบางคน  มีอาการเดิน  การถอยกลับการดูแล  การเหลียวดู  การคู้ขา การเหยียดมือเหยียดเท้า  การทรงสังฆาฏิ  ถือบาตรครองจีวร  เหมือนพวกภิกษุที่ดีรูปอื่นๆ  ทั้งหลายชั่วเวลาที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นความผิดของเธอ  เมื่อใดภิกษุทั้งหลายเห็นความผิดของเธอเข้า  เมื่อนั้นเขาทั้งหลายก็รู้จักเธอได้ว่า  นี่เป็นสมณะอันตราย  เป็นสมณะแกลบ  เป็นสมณะขยะมูลฝอยดังนี้  ครั้นคนทั้งหลายรู้จักเธอว่าเป็นเช่นนั้นแล้ว  เขาก็เนรทศเธอออกไปนอกหมู่ข้อนั้นเพราะอะไรเพราะคนทั้งหลายมีความประสงค์ว่า  อย่าให้คนชั่วทำลายพวกภิกษุที่ดีอื่นๆทั้งหลาย

               ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเสมือนต้นข้าวผี  ซึ่งออกรวงมีแต่เปลือกไม่มีเนื้อซึ่งบริโภคได้  เกิดขึ้นในนาข้าวเต็มไปหมดในฤดูทำนา  รากของมัน  ลำต้นของมัน  ก็ดูเหมือนๆต้นข้าวที่ดีที่แท้ทั้งหลายชั่วเวลาที่รวงยังไม่ออก  เมื่อใดมันออกรวง  เมื่อนั้นจึงทราบได้ว่า  นี่เป็นต้นข้าวผี  ซึ่งมีแต่เปลือก  ไม่มีเนื้อบริโภคได้  ดังนี้  ครั้นคนทั้งหลายทราบเช่นนี้แล้ว  เขาก็ช่วยกันทึ้งถอนพร้อมทั้งราก  ทิ้งไปให้พ้นนาข้าว  ข้อนั้นเพราะอะไร?  เพราะคนทั้งหลายมีความประสงค์ว่า  อย่าให้ต้นข้าวผีทำลายต้นข้าวที่แท้ที่ดีอื่นๆเลย  ดังนี้

               ภิกษุทั้งหลาย!  ฉันใดก็ฉันนั้น  นักบวชบางคนในกรณีนี้ ฯลฯ  เหมือนพวกภิกษุที่ดีรูปอื่นๆทั้งหลาย  ชั่วเวลาที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นความผิดของเขา  เมื่อใดภิกษุทั้งหลายเห็นความผิดของเข้า  เมื่อนั้นคนทั้งหลายก็รู้จักเขาได้ว่า  นี่เป็นสมณะอันตราย  เป็นสมณะแกลบ  เป็นสมณะขยะฝอย  ดังนี้  ครั้นคนทั้งหลายรู้จักเขาว่าเป็นเช่นนั้นแล้ว  คนก็เนรเทศเขาออกไปนอกหมู่  ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?  เพราะคนทั้งหลายมีความประสงค์ว่า  อย่าให้คนชั่วทำลายพวกภิกษุที่ดีอื่นๆทั้งหลายเลย  ดังนี้

               เพราะอยู่ร่วมกัน  จึงรู้จักกันได้ว่า  คนนี้มีความปรารถนาลามกมักโกรธ  มักลบหลู่คุณท่าน  หัวดื้อ  ตีตนเสมอท่าน  มีความริษยา  มีความตระหนี่  และโอ้อวด

               ในท่ามกลางชน  เขาเป็นคนมีวาจาหวานปานสมณะที่ดีพูด  แต่ในที่ลับคน  ย่อมทำสิ่งที่คนชั่วทำ  มีความเห็นต่ำทราม  ไม่ทำตามระเบียบวินัย  พูดจาปลิ้นปล้อนโป้ปด  เขาทำกันทุกอย่าง ทุกคนพึงร่วมมือกันกำจัดเขาออกไปเสีย  ทุกคนพึงช่วยกันถอนบุคคลที่เป็นดุจต้นข้าวผีนั้นทิ้ง  พึงช่วยกันคัดเอาคนที่มิใช่สมณะ  แต่ยังอวดอ้างตนว่าเป็นสมณะออกทิ้งเสีย  ดุจชาวนาโรยข้าวเปลือกงามกลางลม  เพื่อคัดเอาข้าวลีบออกทิ้งเสีย  ฉันนั้น

               อนึ่ง  คนเราเมื่อมีการอยู่ร่วมกันกับคนที่สะอาดหรือไม่สะอาดก็ตาม  ต้องมีสติกำกับอยูด้วยเสมอ  ครั้นแล้วพึงสามัคคีต่อกัน  จงมีปัญญากำจัดทุกข์ของตนเถิด

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  อฏฺฐก.องฺ  ๒๓/๑๗๐/๑๐๐  ตรัสแก่ภิกษุที่ริมฝั่งสระโบกขรณีคัดครา  เนื่องจากมีภิกษุรูปหนึ่งถูกเพื่อนโจทด้วยอาบัติ  แล้วแกล้งปิดเรื่องของตนไว้  หรือชวนไถลพูดออกนอกเรื่องเสีย  และแสดงท่าโกรธไม่พอใจออกมาให้เห็นชัด  ทุกวันนี้ก็มีภิกษุหนุ่มอาจารย์สอนอภิธรรมบางรูป  มีความเลื่อมใสมากเพราะพูดเก่งอ้างตำราโง่ๆได้อย่างคล่องแคล่ว  แสดงความเกลียดชังหนังสือ  ตำราดูพระ  เล่มนี้มากโจมตีหนังสือเล่มนี้ทั้งทางวิทยุและทางปาฐกถาทั่วประเทศ  จึงน่าสงสัยว่าจะเป็น  ภิกษุแกลบ  ที่ร่ำรวยมากที่สุดผู้หนึ่ง)

ภิกษุโจรกำเริบ

               ภิกษุทั้งหลาย!  คราวใดพวกโจรมีกำลัง  พระราชาเสื่อมกำลังคราวนั้นทั้งพระราชาเองก็หมดความผาสุกที่จะเข้าในออกนอก  หรือที่จะมีใบบอกไปยังชนบทปลายแดน  ถึงแม้พวกพราหมณ์และคฤหบดีก็หมดความสะดวกที่จะเข้าในออกนอก  หรือที่จะอำนวยการงานนอกเมืองข้อนั้นฉันใด

               ภิกษุทั้งหลาย!  คราวใดพวกภิกษุลามกมีกำลัง  และหมู่ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักเสื่อมกำลัง  คราวนั้นหมู่ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก  จำต้องนิ่งเงียบเชียบอยู่ในท่ามกลางสงฆ์  หรือถึงกับต้องไปอยู่ชนบทชายแดนฉันนั้นเหมือนกัน

               ภิกษุทั้งหลาย!  เหตุเช่นนี้  มีขึ้นแล้วย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คนจำนวนมาก  ทำให้มหาชนขาดความสะดวกสบาย  เป็นความเสียหายแก่มหาชนอย่างมาก  และทั้งเป็นความทุกข์  ไม่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลายทั่วไปแล.

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  ทุก.  องฺ  ๒๐/๗๘/๒๘๔  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย  ทุกวันนี้พวกใครมีกำลัง  เราควรจะเข้าข้างใด  ควรส่งเสริมกำลังของฝ่ายใดศาสนาจะยืนยงได้หรือไม่  ก็สุดแต่ตัดสินใจของศาสนาสนิกชนผู้มีปัญญาทั้งหลาย  ใครไม่สนใจในเรื่องนี้ศาสนาของตนก็ถูกทำลาย)

ภิกษุล่อลวงชาวบ้าน

               สมณะหรือพราหมณ์บางพวก  กินอาหารที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว  เขาเหล่านั้นยังเป็นแสวงหาลาถด้วยการกล่าวคำล่อหลอกการกล่าวคำพิริ้พิไร  การพูดแวดล้อมด้วยเลศนัย  การพูดให้ทายกเกิดมานะมุทะลุในการให้  และการใช้ของมีค่าน้อยต่อเอาของมีค่ามาก

               ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้  เธอเว้นขาดจากการแสวงหาลาภ  โดยอุบายหลอกลวงเช่นนั้นเสียแล้ว  แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

               สมณะหรือพราหมณ์บางพวก  กินอาหารที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีวิตผิด  เพราะทำเดรัจฉานวิชา  คืออะไรบ้าง?  คือ

               ทายลักษณะในร่างกายบ้าง          ทายนิมิตลางดีลางร้ายบ้าง

               ทายของตกบ้าง                           ทำนายฝัน

               ทายชะตา                                    ทายผ้าหนูกัด

               ทำพิธีโหมเพลิง                           ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน

               ทำพิธีซัดโปรยแกลบ                   ทำพิธีซัดโปรยรำ

               ทำพิธีซัดโปรยข้าวสาร                ทำพิธีจุดโคมรับพระเจ้า

               ทำพิธีจุดไฟบูชา                          ทำพิธีเสกป่า

               ทำพิธีพลีด้วยโลหิตบ้าง               เป็นหมอดูอวัยวะร่างกาย

               หมอดูภูมิที่ตั้งบ้านเรือน               ดูลักษณะไร่นา

               เป็นหมอปลุกเสก                        เป็นหมอผี

               เป็นหมอทำยันต์กันบ้านเรือน      หมองู

               หมอดับพิษ                                 หมอแมงป่อง

               หมอหนูกัด                                 หมอทายเสียงนกเสียงกา

               หมอทายอายุ    หมอกันลูกศร ( อาจารย์อยู่ยงคงกระพันชาตรี )

               หมอดูรอยสัตว์

               ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้  เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิดเพราะทำเดรัจฉาวิชา  เห็นปานนั้นเสียแล้ว  แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

               สมณะหรือพราหมณ์บางพวก  กินอาหารที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว  ยังเลี้ยงชีวิตผิดเพราะเดรัจฉานวิชา  คืออะไรบ้าง  คือ 

               ดูฤกษ์แต่งงาน                                             ดูฤกษ์ทำการผูกมิตร

               ดูฤกษ์ทำการแตกร้าว                                   ดูฤกษ์ทำการเก็บทรัพย์

               ดูฤกษ์ทำการจ่ายทรัพย์  (ลงทุน)                   ดูโชคดีโชคร้ายบ้าง

               ให้ยาบำรุงครรภ์         ร่ายมนต์ผูกยึด            ปิดอุดบ้าง

               ร่ายมนต์สลัด              ร่ายมนต์กั้นเสียง

               เป็นหมอเชิญผีถามบ้าง      ถามเทวดาบ้าง

               เชิญเจ้าเข้าหญิงถามบ้าง     ทำพิธีบวงสรวงพระอาทิตย์

               บวงสรวงมหาพรหม     ร่ายมนต์พ่นไฟ

               ร่ายมนต์เรียกขวัญให้บ้าง

               ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้  เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิดเพราะทำเดรัจฉานวิชา  เห็นปานนี้แล้ว   แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

               สมณะหรือพราหมณ์บางพวก  กินอาหารที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว  ยังเป็นผู้เล่นการพนัน  หรือการเล่นอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทกันอยู่เนืองๆ  คืออะไรบ้าง?  คือ

               เล่นหมารุกชนิดแถวละ    ตาบ้าง  ๑๐  ตาบ้าง

               เล่นหมากเก็บ  เล่นเชิงนาง   หมากไหว   โยนห่วง  ไม้หึ่ง

               เล่นฟาดให้เป็นรูปต่างๆ  ทอดลูกบาศก์   เป่าใบไม้

               เล่นไถน้อยๆ    เล่นหกคะเมน    เล่นไม้กังหัน    เล่นรถน้อย

               ธนูน้อย   เล่นเซียนทายกัน   เล่นหายใจ    เล่นล้อคนพิการบ้าง

               ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้  เธอเว้นขาดจากการเล่นพนัน (สมัยนี้จะต้องรวมทั้งสลากกินแบ่ง  สลากกินรวบ)  หรือการเล่นอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนั้นเสียแล้ว  แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

               สมณะและพราหมณ์บางพวก  กินอาหารที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว  ยังเลี้ยงชีวิตผิด  เพราะเดรัจฉานวิชายังเป็นผู้เล่นการพนัน

               บนขอลาภผลต่อเทวดา  ทำการบวงสรวงแก้บน

               สอนมนต์กันผี   กันบ้านเรือน   ทำกะเทยให้เป็นชาย

               ทำชายให้เป็นกะเทย   ทำพิธีปลูกเรือน

               ทำการบวงสรวงในที่ปลูกเรือน    พ่นน้ำมนต์    บูชาเพลิง

               ประกอบยาสำรอก   ประกอบยาประจุ   ประกอบยาแก้ประสาท

               ประกอบยาแก้ปวดศีรษะ    หุงน้ำมันหยอดหู    ทำยาหยอดตา

               ประกอบยานัตถุ์    ประกอบยาทำให้กัด    ประยาทำให้สมาน

               เป็นหมอป้ายยาตา    เป็นหมอผ่าบาดแผล    เป็นหมอกุมาร

               หมอพอกยาแก้ยาให้บ้าง

               ส่วนภิกษุในวินัยนี้  เธอเว้นการเลี้ยงชีวิตผิด  เพราะทำเดรัจฉานวิชาเห็นนั้นเสียแล้ว  แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

               ผู้มีศีลสมบูรณ์แล้วอย่างนี้  ย่อมไม่แลเห็นภัยอะไรที่เกิดเพราะเหตุที่รักษาศีล  เหมือนกษัตริย์ผู้ได้มูรธาภิเษกแล้ว  มีปัจจามิตรกำจัดเสียได้แล้ว  ย่อมไม่แลเห็นภัยอะไรจากข้าศึก  ฉะนั้นเธอประกอบด้วยกองศีลอันเป็นคุณสูงสุดนี้แล้ว  ย่อมได้รับความสุขใจอันหาโทษมิได้

               ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้  พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้ว่า  เราทั้งหลายจะบริโภคจีวร  อาหาร  ที่อยู่และยารักษาโรคของทายกทั้งหลาย  โดยประการที่จักทำให้ทายกเหล่านั้นได้รับผลมากมีอานิสงฆ์มากให้จงได้  และการบรรพชาของเราทั้งหลาย  ก็จักไม่เป็นหมันเสียเปล่า  แต่กลับได้ผลมีกำไร

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุผู้หวังผลประโยชน์คนก็ตาม  หวังประโยชน์ผู้อื่นก็ตาม  หวังประโยชน์ทั้งของตน  ทั้งของผู้อื่นก็ตาม  ก็ควรแท้ที่จะทำตนให้มีศีล  สมาธิ  ปัญญา  บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท

               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังแสดงเนื้อความดังกล่าวมาอยู่ภิกษุประมาณ  ๖๐  รูป  กระอักเลือด  ภิกษุประมาณอีก  ๖๐  รูป  ได้บอกเลิกสิกขาหมุนกลับไปสู่เพศต่ำแห่งคฤหัสถ์  โดยตนสำนึกว่าพรหมจรรย์นี้ประพฤติได้ยาก  กระทำได้ยากอย่างยิ่ง  แต่ภิกษุประมาณอีก  ๖๐  รูป  ได้เป็นพระอรหันต์  มีจิตไม่ถือมั่นด้วยอุปทานเพราะหลดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งหลายแล้วแล.

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิตสามัญญผลสูตร  พุทธพจน์เหล่านี้  เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่าภิกษุประพฤติตนผิดศีล  ฝ่าฝืนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากันเพียงใด  ภิกษุแบบนี้มีอยู่เกือบทุกวัด  พระเถระผู้ใหญ่ย่อมรู้ดี  แต่พระเถระที่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของท่านที่ยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อความสะอาดหมดจดของพระพุทธศาสนา  ที่กล้าปราบปรามภิกษุหลอกลวงชาวบ้านให้หมดไปจากวัดของตนๆ  ไม่มีแล้วหรือในเมืองไทยจึงปล่อยให้ภิกษุเลี้ยงชีวิตผิดด้วยเดรัจฉานวิชาทั่วประเทศ  ทำให้คนไทยหลงงมงายไม่สามารถเข้าใจหลักพระพุทธศาสนา  ยกย่องภิกษุเดรัจฉานวิชาว่าเป็นพระอาจารย์ราบไหว้เทิดทูนบูชาหารู้ไม่ว่าภิกษุเหล่านั้นแหละ  เป็นผู้บ่อนทำลายพุทธศาสนา  ภัยภายในที่น่ากลัวที่สุด  คนไทยควรจะนึกคิด  ไม่ควรช่วยกันปกปิด  ช่วยกันส่งเสริม  กลับนิยมชมชื่น  ให้คนทุจริตทำลายศาสนาของตน  เฉพาะอย่างยิ่ง  ก็คือภิกษุล่อลวงชาวบ้าน  ดังที่พระพุทธเจ้ากล่าวในบทนี้ทั้งหลาย  ขอให้เราชาวพุทธพึงสังวรไว้เถิด)

ภิกษุหมกดาบในจีวร

               ภิกษุทั้งหลาย!  มหาชนเขารู้จักเธอทั้งหลายว่าเป็นสมณะ  ถึงเธอทั้งหลายเล่า  เมื่อถูกเขาถามว่าเธอทั้งหลายเป็นอะไร?  พวกเธอทั้งหลายก็อ้างตัวเองว่า  เราเป็นสมณะ  ดังนี้

               ภิกษุทั้งหลาย!  เมื่อเธอทั้งหลายมีชื่อว่าสมณะ  และอ้างตัวเองว่าเป็นสมณะอยู่อย่างนี้แล้วพวกเธอทั้งหลายจะสำนึกว่า  ข้อปฏิบัติอันใดเป็นข้อปฏิบัติสมควรแก่สมณะ  เราจักปฏิบัติข้อปฏิบัติอันนั้น  ด้วยอาการปฏิบัติของอย่างนี้  สมญาว่าสมณะของเราก็จักเป็นจริง  อนึ่งเล่า  เราบริโภคใช้สอยปัจจัยบริขาร  คือ  บาตร  จีวร  อาหารบิณฑบาต  ที่อยู่  และยารักษาโรคของทายกเหล่าใด  การบำเพ็ญทานของทายกเหล่านั้นก็จักมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก  และการบรรพชาของเราเองก็จักไม่เป็นหมันเสียเปล่า  แต่จักมีผลกำไรแก่เรา  ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้อย่างนี้เถิด

               ภิกษุทั้งหลาย              !  เมื่อภิกษุทั้งหลาย!  เมื่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีโลภมาก  ยังละโลภไม่ได้  มีจิตพยาบาท  ยังละพยาบาทไม่ได้  เป็นผู้มักโกรธ  ยังละความมักโกรธไม่ได้  เป็นผู้มักถือความโกรธ  ยังละความถือโกรธไม่ได้  เป็นผู้ความลบหลู่คุณท่านไม่ได้  เป็นผู้แข่งดี  ยังละความแข่งดีไม่ได้  เป็นคนตระหนี่  ยังละความตระหนี่ไม่ได้  เป็นคนโอ้อวด  ยังละความโอ้อวดไม่ได้  เป็นคนมีมายา ยังละมายาไม่ได้  เป็นคนมีความปรารถนาลามก  ยังละความปรารถนาลามกไม่ได้  เป็นคนมีความเห็นผิด  ยังละความเห็นผิดไม่ได้

               ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะละกิเลสเหล่านี้ยังไม่ได้  ก็เป็นเครื่องมัวหมองของสมณะ  เป็นโทษของสมณะ  เป็นน้ำฝาดของสมณะ  เป็นเหตุให้สัตว์เกิดในอบาย  และมีผลอันสัตว์ทั้งหลายจะต้องไปเกิดในภูมิชั่วเหล่านี้  เราก็ไม่เรียกภิกษุนั้นว่า  เป็นผู้ปฏิบัติในข้อปฏิบัติอันสมควรแก่สมณะ  ดังนี้

               ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนอาวุธอันคมกล้า  มีคมสองข้างที่เขาลับไว้อย่างเดียวแล้ว หุ้มห่อไว้ด้วยผ้าสังฆาฏิของภิกษุนั้นเอง  ฉันใด  ภิกษุทั้งหลาย!  เราเรียกการบรรพชาของภิกษุนี้ว่าเปรียบกันได้กับอาวุธมีคมสองข้างฉันนั้น  เราไม่ถือว่าเป็นสมณะ  เพราะเหตุสักว่าครองจีวร ฯลฯ เป็นต้น

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  จูฬอัสสปุรสูตร  มู..  ๑๒/๕๑๒/๔๗๙.๔๘๐  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่อัสสปุรนิคมของชาวอังคะ  เวลานี้คนส่วนมากวัดความเป็นภิกษุด้วยไตรจีวร  แม้พระพุทธเจ้าเองท่านก็เตือนคนอยู่เสมอว่า  อย่าได้เชื่อเช่นนั้น  ยิ่งสมัยนี้ด้วยแล้ว  คำเตือนของท่านย่อมจะต้องรำลึกถึงอยู่เสมอๆ  เพราะผู้ครองไตรจีวรถูกทางราชการสึก  ส่งตัวเข้าคุกด้วยเหตุนานาประการ  เหมือนชาวบ้านเราดีๆนี้เอง  และร้ายยิ่งกว่าชาวบ้านเพราะเอาดาบหมกไวในจีวร  อาศัยผ้าเหลืองเป็นเครื่องบังหน้าทำการทุจริตประกอบมิจฉาชีพ

               คำว่า  พระ  ในทางพุทธศาสนานั้นหมายถึง  อริยบุคคล  ผู้ละสังโยชน์อย่างน้อยได้  ๓ประการ  จึงถือว่าเป็น  พระ  จะครองไตรจีวรหรือไม่ก็ไม่สำคัญ  แม้ฆราวาสที่ละสังโยชน์ได้  ๓อย่างแล้ว  ผู้นั้นก็เป็น  พระ  และเป็น  พระ  จริงๆ  ภิกษุส่วนมากในสมัยนี้เห็นเป็นกันแต่เพียง สมมุติสงฆ์  เท่านั้น  การที่สอนให้เชื่อมั่นในพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ก็หมายถึง  อริยสงฆ์  คืออริยบุคคล  ตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป  ไม่หมายถึง  สมมุติสงฆ์  อย่างที่เข้าใจอยู่ทั่วไป  เพราะสมมุติสงฆ์เอาเป็นสรณะง่ายๆ  เช่น  โสดาปัตติมรรค  โสดาปัตติผล  แต่ท่านก็ไม่กล้าสึกออกมาประกอบอาชีพอย่างฆราวาส  ทนอยู่ในสมณเพศ  ซึ่งเปรียบเอาดาบหมกอยู่ในจีวรของตนเองเป็นอันตรายแก่สังคมอย่างมาก)

ภิกษุสันดานกา

               ภิกษุทั้งหลาย!  กา  เป็นสัตว์ที่ประกอบไปด้วยความเลว  ๑๐  ประการ  ๑๐  ประการอะไรกันเล่า?  ๑๐  ประการ  คือ

               .  กา  เป็นสัตว์ทำลายความดี

               . กา  เป็นสัตว์คะนอง

               . กา  เป็นสัตว์ทะเยอทะยาน

               . กา  เป็นสัตว์กินจุ

               . กา  เป็นสัตว์หยาบคาย

               . กา  เป็นสัตว์ไม่กรุณาปรานี

               . กา  เป็นสัตว์ต่ำช้า

               . กา  เป็นสัตว์ร้องเสียงอึง

               .  กา  เป็นสัตว์ปล่อยสติ

             ๑๐. กา  เป็นสัตว์สะสมของกิน

               ภิกษุทั้งหลาย!  กาเป็นสัตว์ที่ประกอบด้วยความเลว  ๑๐  ประการเหล่านี้

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุลามกก็เช่นเดียวกับกานี้แหละ  เป็นคนประกอบด้วยอสัทธรรม  ๑๐ประการ  ๑๐  ประการอะไรกันเล่า?  ๑๐  ประการ  คือ

               .  ภิกษุลามก   เป็นคนทำลายความดี

              .  ภิกษุลามก   เป็นคนคะนอง

              .  ภิกษุลามก   เป็นคนทะเยอทะยาน

              .  ภิกษุลามก   เป็นคนกินจุ

              .  ภิกษุลามก   เป็นคนหยาบคาย

              .  ภิกษุลามก    เป็นคนไม่กรุณาปราณี

              . ภิกษุลามก    เป็นคนต่ำช้า

              . ภิกษุลามก   เป็นคนพูดเสียงอึง

              . ภิกษุลามก   เป็นคนปล่อยสติ

           ๑๐. ภิกษุลามก    เป็นสะสมของกิน

               ภิกษุทั้งหลาย              !  ภิกษุลามกเป็นคนประกอบด้วยอสัทธรรมสิบประการเหล่านี้  แล.

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  ทสก.องฺ  /๑๕๙/๗๗  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย  ถ้าใครจะเรียกภิกษุรูปใดว่าเป็นภิกษุลามก  ภิกษุนั้นคงโกรธมาก  เพราะถือเป็นการประณาฌที่หนัก  แต่พระพุทธเจ้าจำแนกลักษณะของภิกษุลามกไว้ถึง  ๑๐  อย่าง  ภิกษุหรือฆราวาสทั่วไปน่าจะจำลักษณะเหล่านี้ไว้เป็นสูตรวัด  ความเป็นภิกษุไม่ว่าเถระหรือลูกวัด  เพื่อจะได้รู้ว่าเรากราบไหว้ภิกษุดีหรือภิกษุลามก)

ภิกษุผู้นำเก๊

               ภิกษุทั้งหลาย!  เรื่องเคยมีมาแล้ว  โคบาลชาวมคธ  เป็นคนมีปัญญาทึบโดยกำเนิด  ไม่คำนึงฤดูกาลในเดือนท้ายฤดูฝน  ไม่ตรวจตราดูฝั่งแม่น้ำคงคาทางฟากนี้  ได้ต้อนฝูงโคข้ามฝั่งเหนือแห่งวิเทรัฐฟากโน้น  ตรงที่ที่มิใช่ท่าสำหรับโคข้าม  ฝูงโคจึงต้องว่ายวกเวียนมาในท่ามกลางกระแสแม่น้ำคงคา (เพราะไม่อาจขึ้นฝั่งข้างใดได้)  ก็พากันถึงความตายในกลางกระแสน้ำนั่นเอง  ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร?  เพราะเหตุที่โคบาลชาวมคธเป็นคนมีปัญญาทึบโดยกำเนิด  ไม่คำนึงถึงฤดูกาลในเดือนฤดูฝน  ไม่ตรวจตราดูฝั่งแม่น้ำคงคาทางฟากนี้  ได้รีบต้อนฝูงโคให้ข้ามไปฝั่งเหนือแห่งวิเทรัฐฟากโน้นตรงที่ที่มิใช่ท่าสำหรับโคข้ามเลยนั่นเอง

               ภิกษุทั้งหลาย!  ฉันใดก็ฉันนั้น  สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง  เป็นผู้ไม่ฉลาดเรื่อง

โลกนี้ไม่ฉลาดเรื่องโลกอื่น  เป็นผู้ไม่ฉลาดเรื่องเวียนว่ายตายเกิดอันเป็นที่อยู่ของมาร  ไม่ฉลาดเรื่องนิพพานอันไม่เป็นที่อยู่ของมฤตยูชนเหล่าใดเกิดไปสำคัญว่าด้วยถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น  ควรฟังควรเชื่อ  ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อความทุกข์  ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  จุฬโคปาลสูตร   มู.. ๑๒/๔๑๘/๓๘๙  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่ฝั่งแม่น้ำคงคา  ใกล้เมืองอุกกเวลา  ในประเทศไทยมี  พระผู้นำเก๊  มากมายเหลือ  เพราะสอนธรรมะของพระพุทธเจ้าผิดวัตถุประสงค์ที่พระองค์เจตนาที่แท้จริง  เช่น  พระพุทธองค์สอนคนให้รู้จักให้ทาน  ก็เพื่อให้คนนั้นหมดความตระหนี่  เมื่อหมดความตระหนี่  ก็จะหมดความโลภ  ก็จะหมดความเห็นแก่ตัว  เมื่อหมดความเห็นแก่ตัว  ก็จะหมดเรื่องอัตตา  และจะเข้าถึงธรรมะที่ไม่ยึดเกาะเกี่ยวติดแน่นอยู่กับสิ่งใดๆในโลก  ซึ่งล้วนเป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  ไม่ใช่ของเราทั้งสิ้น  การหมดอุปทานก็จะทำไห้ถึงพระนิพพาน  แต่ภิกษุส่วนมากสอนคนให้มีอุปทาน  ทำบุญทำทานเพื่อหวังสวรรค์วิมานและความสุขในเบญจกามคุณ  อันทำให้ติดวัฏฏสงสารหมดโอกาสถึงพระนิพพาน  คนไทยส่วนมากจึงจมน้ำตายเหมือนโคดังกล่าว  เรื่องสวรรค์นี้ศาสนาอื่นๆ  ใช้เป็รเครื่องหลอกให้คนประพฤติดี  ภิกษุก้ใช้สวรรค์เป็นเครื่องล่อให้คนทำบุญล่อกันมานานพอแล้ว  ควรเลิกล่อกันเสียที  บอกเขาตรงๆเถิดว่าจงทำความดีเพราะมันเป็นเครื่องทำให้สบายใจ  และล้างนิสัยชั่วของของตัวเองไปด้วย  ทำบุญแล้วอย่าหวังเอาสวรรค์วิมาน  เพราะการหวังเช่นนั้นเป็นตัณหาอุปทาน  เป็นความโลภในชาตินี้และชาติหน้า  ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่พบความพ้นทุกข์   พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้คนหวังสวรรค์วิมาน  จึงบอกให้คนทราบถึงโทษของสวรรค์วิมานไว้มาก  พระองค์สอนเรื่องทาน  ศีล  สวรรค์  โทษของสวรรค์และประโยชน์ของออกบวช  ภิกษุเมืองไทยไม่มีใครเทศน์เรื่องโทษของสวรรค์  องค์การฯจึงเผยแพร่เรื่องนี้ดังปรากฏอยู่ในหนังสือ  ล้างสมอง  เล่ม  )

ภิกษุเถระชอบสบาย

               กัสสปะ!  ก็ในเวลานี้  พวกภิกษุชั้นเถระไม่สมาทานการอยู่ป่าเป็นวัตร  และทั้งไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำนั้น  ไม่สมาทานการบิณฑบาตเป็นวัตร  และไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำเช่นนั้น  ไม่สมาทานการใช้ผ้าบังสกุลเป็นวัตร  และไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำเช่นนั้น  ไม่สมาทานการใช้จีวรสามผืนเป็นวัตร  และไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำเช่นนั้น  ไม่จำกัดความต้องการให้มีแต่น้อย  และไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำเช่นนั้น  ไม่สันโดษ  และไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำเช่นนั้น  ไม่อยู่สงบและไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำเช่นนั้น  ไม่เป็นผู้อยู่อย่างไม่คลุกคลีกันและไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำเช่นนั้น  ไม่ปรารถนาความเพียรและไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำเช่นนั้น  ภิกษุรูปใดเป็นคนมีชื่อเสียงคนรู้จักมาก  มีเกียรติยศ  มีลาภ  ด้วยบริขาร คือ  จีวร  บิณฑบาต  เสนาสนะ  และคิลานปัจจัยเภสัช  พวกภิกษุชั้นเถระด้วยกัน  ก็เชื้อเชิญให้นั่งเฉพาะภิกษุรูปนั้น  ด้วยคำเป็นต้นว่า  มาเถิดภิกษุภิกษุนี้ชื่ออะไร? ภิกษุนี้เป็นที่รักผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน  มาเถิดภิกษุ!  นิมนต์ท่านนั่งอาสนะนี้  ดังนี้

               กัสสปะ!  ครั้นภิกษุชั้นเถระประพฤติกันอยู่ดังนี้  ความคิดก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้บวชใหม่ว่า ได้ยินว่าภิกษุรูปใดมีชื่อเสียงรู้จักมาก  มีเกียรติยศ  มีลาภด้วยบริขาร  คือ  จีวร  บิณฑบาต  เสนานะและคิลานปัจจัยเภสัช  พระเถระทั้งหลายย่อมนิมนต์เธอนั้นด้วยอาสนะด้วยคำเป็นต้นว่า  มาเถิดภิกษุ!   ภิกษุนี้ชื่ออะไร?  ภิกษุนี้ช่างมีวาสนาจริง!  ภิกษุนี้เป็นที่รักของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันมาเถิดภิกษุ!  นิมนต์ท่านนั่งอาสนะนี้  ดังนี้  พวกภิกษุบวชใหม่เหล่านั้นก็พากันประพฤติเพื่อให้เป็นเช่นนั้น  และข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกภิกษุเหล่านั้นเองสิ้นกาลนาน

               กัสสปะ!  จริงทีเดียว  เมื่อใดใครจะกล่าวให้ถูกต้องแก่กาลเทศะและบุคคลว่า  พรหมจารีถูกย่ำยีเสียแล้วอันตรายอย่างของพรหมจารี  พรหมจารีถูกร้อยรัดเสียแล้วด้วยเครื่อร้อยรัดอันใหญ่อย่างของพรหมจารี  ดังนี้แล้ว  เขาพึงกล่าวข้อความนั้นได้ในกาลบัดนี้แล.

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  นิทาน  สํ  ๑๖/๒๔๗/๔๙๖  ตรัสแก่ท่านพระมหากัสสปะที่เวฬวัน  บทที่เกี่ยวกับพระเถระต่อไปนี้  เคยเห็นเถระบางรูปแสดงความเกลียดหนังสือที่รวบรวมพุทธพจน์แบบนี้  แสดงความโกรธผู้ที่รวบรวม  เขาเห็นว่าเป็นหนังสือด่าเขาทำให้เขาขาดลาภสักการะ  ตบตาคนต่อไปอีกไม่ได้เช่นเคย  เถระใดคิดเช่นนี้  เขาผู้นั้นเป็นศัตรูของพระพุทธเจ้า  เพราะเขาเกลียดคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน  เขาเป็นเถรปลอมโดยแท้)

ภิกษุเถระที่ต้องระวัง

               กัสสปะ!  ภิกษุแม้เป็นเถระแล้ว  แต่ไม่เป็นผู้ใคร่ต่อไตรสิกขาด้วยตนเอง  ไม่สรรเสริญผู้ปฏิบัติในไตรสิกขา  ไม่ชักจูงผู้ไม่ชอบไตรสิกขา  ไม่กล่าวยกย่องผู้รักการปฏิบัติในไตสิกขา  ตามเวลาที่ควรแก่การยกย่องตามที่เป็นจริง  กัสสปะ!  เราตถาคตไม่สรรเสริญภิกษุเถระชนิดนี้เลย

               ข้อนั้นเพราะอะไร?  เพราะเหตุว่า  ภิกษุทั้งหลายจะไปหลงคบภิกษุเถระชนิดนั้นเข้า  ด้วยคิดว่า  พระศาสดา  สรรเสริญเถระชนิดนี้  ดังนี้  ภิกษุเหล่าใดไปคบหาภิกษุเถระนี้เข้า  ก็จะถือเอาภิกษุเถระชนิดนั้นเป็นตัวอย่างสืบไป  การถือเอาภิกษุเถระชนิดนี้เป็นตัวอย่าง  ก็ย่อมเป็นทางให้เกิดสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์  และเป็นทุกข์แก่ภิกษุเหล่านั้นเองสิ้นกาลนาน

               กัสสปะ!  เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่สรรเสริญภิกษุเถระชนิดนี้

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  ติก.องฺ  ๒๐/๓๐๗/๕๓๑  ตรัสแก่ท่านพระมหากัสสปะที่นิคมของชาวโกศลชื่อ  ปังกธา  ขอภิกษุเถระ  ทุกวันนี้โปรดกรุณาลงมือประกาศหลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริง  อย่ามัวเสกเป่าน้ำมนต์  หาฤกษ์งามยามดีช่วยชาวบ้านในทางที่ผิดขัดกับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากันต่อไปเลย  ท่านช่วยกันพูดความจริงเมื่อใด  ภิกษุผู้น้อยก้คงกล้าพูดความจริงตาม)

ภิกษุเถระพาล

               ภิกษุทั้งหลาย!  คนเราแม้เป็นผู้เฒ่า  จะมีอายุ  ๘๐ , ๙๐ ,  ๑๐๐  ปี  โดยกำเนิดก็ดี  แต่เขามีคำพูดไม่เหมาะแก่กาล  พูดไม่จริง  พูดไม่มีประโยชน์  พูดไม่เป็นธรรม  พูดไม่เป็นวินัย  กล่าววาจาไม่มีเหตุ  ไม่มีที่อิง  ไม่มีที่สิ้นสุด  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์  คนผู้นั้นย่อมถูกนับว่าเป็น  เถระผู้พาล  โดยแท้.

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  จตุกฺก  องฺ  ๒๑/๒๘/๒๒  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่อชปาสนิโครธ  ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  การเป็นเถระเวลานี้  คัดเลือกมาจากการบวชนานการได้มหาเปรียบสูง  มิได้เลือกผู้ประพฤติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยเคร่งครัด  จึงปรากฏว่ามีเถระพาลปะปนอยู่ด้วยเสมอๆ  ยิ่งเถระพาล  ได้ตำแหน่งปกครองหมู่ก็ยิ่งเป็นภัยแก่พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น เพราะเถระพาลย่อมส่งเสริมภิกษุพาล  ภิกษุเดรัจฉานวิชา  เพื่อหาสมัครพรรคพวกและหาเงิน  ภิกษุใดประพฤติผิดชั่วๆเถระพาลก็เข้าไปปกป้อง  ใช้คารมที่ไม่เป็นความจริง  ไม่เป็นธรรม  ไม่เป็นวินัย  แก้ตัวแทนต่างๆนานา  เถระชนิดนี้จะถูกกรรมตามสนอง  ไม่ภายในชาตินี้ก็ชาติต่อๆไป  ขอชาวพุทธทั้งหลายได้ใช้ปัญญามองให้เห็นว่าภิกษุใดเป็นเถระพาล  และช่วยว่ากล่าวเขาเสีย  อย่าได้มัวเกรงใจอยู่เลย  ตำแหน่งปกครองหมู่ก็เหมือนรัฐมนตรี  กลายเป็นตำแหน่งการเมืองของภิกษุ  สมัยพระพุทธเจ้าไม่มีตำแหน่งแบบนี้  เถระจึงไม่หลงมัวเมาในตำแหน่ง  ไม่เกิดกิเลสเพราะตำแหน่ง  ไม่แข่งดีชิงเด่น  หักโค่นกันเพราะตำแหน่ง  เพราะนิกาย  ฉะนั้นน่าคิดว่าตำแหน่งอย่างนี้ถ้าเลิกกันเสียได้  จะเป็นคุณแก่พระพุทธศาสนามาก)

ภิกษุเถระวิปริต

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุเถระที่ประกอบด้วย    อย่างเหล่านี้แล้ว  ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำมหาชนให้เสื่อมเสีย  ทำมหาชนให้หมดความสุข  ทำไปเพื่อความฉิบหายแก่คนเป็นอันมาก  ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นไปเพื่อความทุกข์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย    อย่างอะไรกันเล่า?    อย่าง  คือ

               . ภิกษุเถระ  บวชมานาน  มีพรรษายุกาลมาก

              . เป็นที่รู้จักกันมาก  มีเกียรติยศ  มีบริวาร  ทั้งคฤหัสถ์  และบรรพชิต

              . เป็นผู้ร่ำรวยลาภด้วยจีวร  อาหาร  ที่อยู่  และยารักษาโรค

              . เป็นผู้มีความรู้  จำธรรมที่ฟังแล้ว  สั่งสมธรรมที่ฟังแล้ว ฯลฯ

              . ( แต่ )  เป็นมิจฉาทิฏิฐิ  มีความเห็นวิปริต

               ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุนี้ทำคนเป็นอันมาก ให้ห่างจากพระสัทธรรม ให้ตั้งอยู่ใน อสัทธรรม  ประชาชนทั้งหลายย่อมถือเอาแบบอย่างภิกษุนั้นไป  เพราะคิดว่าเขาเป็นภิกษุเถระบวชมานาน  มีพรรษายุกาลมากบ้าง  เพราะคิดว่าเขาเป็นภิกษุเถระ  ที่มหาชนเชื่อถือรู้จักกันมาก  มีเกียรติยศ  มีบริวารมาก  ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตบ้าง  เพราะคิดว่าเขาเป็นเป็นภิกษุเถระ  ที่ร่ำรวยลาภด้วยจีวร  อาหาร  ที่อยู่  ยารักษาโรคบ้าง  เพราะคิดว่าเขาเป็นภิกษุเถระที่เป็นผู้มีความรู้จำธรรมที่ฟังแล้วสั่งสมธรรมที่ฟังแล้วได้บ้าง  ดังนี้

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุเถระที่ประกอบด้วย    อย่างเหล่านี้แล้ว  ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำมหาชนให้เสื่อมเสีย  ทำมหาชนให้หมดความสุข  ทำไปเพื่อความฉิบหายแก่เป็นอันมาก  ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล  เป็นไปเพื่อความทุกข์  ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแล

               (คัดจากบาลีพุทธภาษิต  ปญฺจก.องฺ  ๒๒/๑๒๙/๘๘  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย  การที่ภิกษุสมัยนี้ละเมิดวินัย  ผิดศีล  ประพฤติตน  นอกแนวทางของพระพุทธศาสนากันทั่วไป  ก็เพราะภิกษุเถระวิปริตสนับสนุนคุ้มครองปกป้องอยู่  เถระวิปริตไปก็เพราะเขามีมิจฉาทิฏฐิ  เห็นผิดเป็นชอบ  มีความเชื่อ  มีการปฏิบัตินอกทางของพระพุทธศาสนาส่งเสริมศาสนาผี  เป็นศาสนาพราหมณ์  ชอบประกอบพิธีพลีกรรม  เถระชนิดนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  เป็นผู้ทำมหาชนให้เสื่อมเสีย  ให้ฉิบหาย  ไม่ประโยชน์แก่สังคมเลย  น่าจะได้รับโทษอย่างหนัก  เพราะเป็นศัตรูสำคัญของมหาชน  เป็นเถระผู้ใหญ่ที่ทำตัวอย่างเลวให้แก่ภิกษุผู้น้อย  เผยแพร่คำสอนที่ผิด  แม้จะเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ  ก็เป็นวิปัสสนาที่ผิดๆหลอกลวงคนเพื่อหวังลาภผล  หาพรรคพวกคะแนนนิยม  ทำให้ชาวพุทธหลงผิดทั้งประเทศ  จนยากที่จะแก้ไข)

ภิกษุสมการผิดหลัก

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ    อย่างเหล่านี้แล้ว  ไม่ควรได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าอาวาส    อย่าง  อะไรกันเล่า?    อย่าง  คือ

               . เจ้าอาวาส  ไม่สมบูรณ์ด้วยมารยาท  ไม่สมบูรณ์ด้วยวัตรปฏิบัติ

              . เจ้าอาวาส  ไม่เป็นพหูสูต  ไม่เป็นเจ้าตำรับ

              . เจ้าอาวาส  ไม่ปฏิบัติขัดเกลากิเลส  ไม่เกิดดีในการหลีกเร้น  ไม่ยินดีในกัลยาณธรรม

              . เจ้าอาวาส  มีวาจาไม่อ่อนหวาน  ไม่เพราะหู

              . เจ้าอาวาส  มีปัญญาน้อย  โง่เขลา  เงอะงะ

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุที่ประกอบด้วยองประกอบ    อย่างเหล่านี้แล  ไม่ควรได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าอาวาส.

               (คัดจากบาลีพุทธภาษิต  ปญฺจก.  องฺ  ๒๒/๒๙๐/๒๓๑  ปรากฏอยู่บ่อยๆ  ว่าภิกษุใดมีเงินมาก  ก็อาศัยเงินเป็นสินบนให้แก่เถระปกครองที่เห็นแก่เงิน  เพื่อซื้อตำแหน่งเจ้าอาวาส  ซึ่งเมื่อได้มาแล้วก็ใช้ทำประโยชน์กอบโกยหารายได้กันต่อไป  เหมือนผู้แทนราษฎรชั่วๆทั้งหลาย  ซึ่งซื้อคะแนนเสียงกัน  มาโกงประเทศชาติ)

ภิกษุสมภารติดถิ่น

               ภิกษุทั้งหลาย              !  โทษในการติดถิ่นมี    อย่าง    อย่าง  อะไรกันเล่า?    อย่าง คือ

               . เขาย่อมมีความตระหนี่ที่อยู่  (คือหวงเสนาสนะที่สบายๆ  เมื่อมีคนดีมาขออยู่ด้วยก็ไม่รับ)

              . เขาย่อมมีความตระหนี่สกุลอุปัฏฐาก  (คือกันท่าไม่ให้ภิกษุอื่นรู้จักมักคุ้นด้วยอุปัฏฐากของตน  โดยกลัวว่าจะถูกแบ่งลาภ  หรือถึงกับสูญเสียอุปัฏฐากไป)

              . เขาย่อมมีการหวงลาภ  (คือการติดถิ่น  ทำให้เกิดความคิดสะสมสิ่งของ  จึงหวงสิ่งของต่างๆเพื่อการสะสม)

              . เขาย่อมมีการชื่อเสียง  เกียรติยศ  (คือไม่ต้องการให้ใครมีชื่อเท่าตนในถิ่นนั้น)

              . เขาย่อมมีการหวงคุณธรรม  (คือการกันท่าไม่ให้ผู้อื่นเจริญด้วยปริยัติธรรมปฏิบัติธรรมและปฏิเวธธรรม  เพราะจะเป็นคู่แข่งที่เหนือไปกว่าเขา)

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  ปญฺจก.  องฺ  ๒๒/๒๘๖/๒๒๔  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย)

ภิกษุเถระโลเล

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุเถระที่ประกอบด้วยเหตุ    อย่าง  ( ห้าหมวด )  เหล่านี้แล้ว  ย่อมไม่เป็นที่ไว้วางใจ  ไม่น่าเคารพ  ไม่น่ายกย่องสรรเสริญ  ของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่อยู่ร่วมกัน    อย่าง  อะไรกันเล่า?    อย่างคือ

               . ภิกษุชั้นเถระนั้น  ยังกำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด  ยังขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง  ยังหลงใหลในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหล  ยังตื่นเต้น  ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความตื่นเต้น  ยังมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

              . ภิกษุชั้นเถระนั้น  ยังเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ  ยังเป็นผู้ไม่ปราศจากโทสะ  ยังเป็นผู้ไม่ปราศจากโมหะ  ยังลบหลู่คุณท่าน  ยังตีตนเสมอท่าน

              . ภิกษุชั้นเถระนั้น  เป็นคนหลอกลวงเก่งด้วย  เป็นคนพูดพิรี้พิไรเก่งด้วย  เป็นคนพูดหว่านล้อมเก่งด้วย  เป็นคนพูดให้เกิดมานะเก่งด้วย  เป็นคนหากำไร  ทำนองเอาลาภเล็กต่อใหญ่เก่งด้วย

              . ภิกษุชั้นเถระนั้น  เป็นคนไม่มีศรัทธา  ไม่มีความละอายบาป  ไม่มีความเกรงกลัวบาป เป็นคนเกียจคร้าน  เป็นคนมีปัญญาทราม

              . ภิกษุชั้นเถระนั้น  เป็นคนไม่อดใจในรูปทั้งหลาย  ไม่อดใจในเสียงทั้งลาย  ไม่อดใจในกลิ่นทั้งหลาย  ไม่อดใจในรสทั้งหลาย  ไม่อดใจในรสทั้งหลาย  ไม่อดใจสัมผัสทางกายทั้งหลาย

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุเถระที่ประกอบด้วยเหตุ    อย่างเหล่านี้แล้ว   ย่อมไม่เป็นที่ไว้วางใจไม่น่าเคารพ  ไม่น่ายกย่องสรรเสริญ  ของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันเลย.

               (คัดจากบาลีพุทธภาษิต  ปญฺจก  องฺ  ๒๒/๑๒๖-/๘๑-  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายเมื่อเอาหลักของพระพุทธเจ้า    ประการนี้  สำรวจดูภิกษุเถระในประเทศไทยและในต่างประเทศแล้ว  จะเห็นได้ว่า  ภิกษุเถระที่ดีมีอยู่มากน้อยเพียงใด  พระพุทธเจ้าตรัสว่าเถระโลเลนี้ไม่น่าไว้วางใจ  ไม่น่าเคารพ  ไม่น่ายกย่อง  ยิ่งมีมากก็ทำให้เกิดตัวอย่างอันเลวมากขึ้นน่าจะงดแต่งตั้งเถระกันเสียสักหนึ่ง  เลือกคุณภาพ  อย่าเลือกปริมาณ  มิฉะนั้นเถระก็จะกลายเป็นตำแหน่งเพื่อสนับสนุนพรรคพวกของตนๆ  น่าจะเลือกจากภิกษุผู้ประพฤติถูกตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น  แม้ไม่ได้เป็นมหาเปรียญก็ไม่สำคัญภิกษุใดสอนศาสนาพุทธที่แท้จนประชาชนยกย่อง  ก็น่าจะได้เป็นผู้บริหารการศึกษาของภิกษุทั่วไป  แต่ทุกวันนี้  ภิกษุที่มีความสามารถในการสอนศาสนาพุทธที่แท้กลับไม่มีใครสนใจให้ร่วมงานการศาสนา  หรือการอบรมภิกษุสงฆ์)

ภิกษุสมภารตกนรกทั้งเป็น

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุเจ้าอาวาสที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่าง ย่อมจะเดือดร้อนเหมือนถูกลากตัวไปเก็บไว้ในนรกในปัจจุบัน  (ตกนรกทั้งเป็น)  ฉันนั้น ๕ อย่าง  อะไรกันเล่า?    อย่างคือ

               . ภิกษุเจ้าอาวาสไม่ใคร่ครวญ  ไม่ไต่สวนให้รอบคอบเสียก่อน  กล่าวยกย่องคนที่ควรตำหนิ  (เช่น  ยกย่องคนทุศีล  หรืออลัชชี  นักบวชเมืองชั่ว  ข้าราชการทราม)

               . ภิกษุเจ้าอาวาสไม่ใคร่ครวญ  ไม่ไต่สวนให้รอบคอบเสียก่อน  กล่าวยกย่องคนที่ควรยกย่อง  (เช่น  ประณามคนที่เขากระหนาบอลัชชีหรือนักบวชทุศีล  และนักการเมืองชั่ว ฯลฯ)

               . ภิกษุเจ้าอาวาสไม่ใคร่ครวญ  ไม่ไต่สวนให้รอบคอบเสียก่อน  แสดงความดีอกดีใจให้ปรากฏ  ในเรื่องที่ควรดีอกดีใจ

               . ภิกษุเจ้าอาวาสไม่ใคร่ครวญ  ไม่ไต่สวนให้รอบคอบเสียก่อน  แสดงความเสียอกเสียใจให้ปรากฏ  ในเรื่องที่ควรเสียอกเสียใจ

               . ภิกษุเจ้าอาวาส  ทำให้ทายกที่ถวายไทยทายด้วยศรัทธาเสียกำลังใจ  (เช่น  เป็นพระผู้ใหญ่  ไม่ประพฤติพรหมจรรย์  เป็นมิจฉาทิฏฐิ  ไม่หวังดีต่อพุทธศาสนา)

               ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุเจ้าอาวาสที่ประกอบด้วยองค์    อย่างเหล่านี้แล  ย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกลากตัวไปเก็บไว้ในนรกในปัจจุบันฉันนั้น )

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  ปญฺจก.  องฺ  ๒๒/๒๙๓/๒๓๖  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย  เคยเห็นเถระสมภารวัดใหญ่วัดหนึ่งในจังหวัดพระนคร  เป็นพระเถระมีอำนาจมาก  แต่เป็น ( ตามคำว่าของพระเจ้า )  ภิกษุทำศาสนาเสื่อม  ภิกษุแกลบ  ภิกษุหมกดาบในจีวร  ภิกษุผู้นำเก๊  เถระชอบสบายภิกษุอุปัชฌายะเสีย  เถระเสีย  เถระที่ต้องระวังเถระวิปริต  เถระโลเล  สมภารผิดหลัก  ฯลฯ  เหลืออีกอย่างเดียวที่จะต้องคอยดูกันต่อไปว่าเขาจะเป็นสมภารที่จะต้องตกนรกทั้งเป็นหรือไม่ในทันตาที่เราจะเห็นเขาได้  เถระผู้ใหญ่เป็นเสียแบบนี้แล้ว  จะหวังให้ภิกษุลูกวัดดีได้อย่างไร  ทางราชการน่าจะเพ่งเล็งเถระแบบเป็นมิจฉาทิฏฐิไปด้วย  หากเขาเผยแพร่หลักคำสอนที่ผิด  หลักวิปัสสนาที่ผิด  คนก็หลงผิดไปทั้งประเทศ  และภิกษุในวัดนั้นส่วนมากก็ตั้งหน้าแต่จะหาเงิน  เช่นการสร้างรูปวิชาที่โง่ๆ  จนร่ำรวยกันมากมายทีเดียว)

ภิกษุธรรมทายาท

               ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาท  (คือรับมรดกธรรม)  ของเราเถิด  อย่าเป็นอามิสทายาท  (คือรับมรดกสิ่งของ) เลย  ความเป็นห่วงของเราในพวกเธอทั้งหลายมีอยู่ว่า  ทำอย่างไรหนอสาวกทั้งหลายของเราจึงเป็นธรรมทายาท  ไม่เป็นอามิสทายาท  ดังนี้

               ภิกษุทั้งหลาย              !  ถ้าพวกเธอเป็นอามิสทายาท  ไม่เป็นธรรมทายาทของเราแล้ว  พวกเธอทั้งหลายก็จะถูกเขาตราหน้าว่า  สาวกทั้งหลายของพระศาสดาเป็นอามิสทายาทอยู่โดยทั่วไป  หาได้เป็นธรรมทายาทไม่เลย  ดังนี้  แม้เราเองก็ถูกเขากล่าวโทษว่า  สาวกทั้งหลายของพระศาสดา  ล้วนแต่เป็นอามิสทายาทกันทั่วไป  หาได้เป็นธรรมทายาทไม่เลย  ดังนี้

               ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าพวกเธอพากันเป็นธรรมทายาทของเรา  และไม่เป็นอามิสทายาทแล้วไซร้  พวกเธอทั้งหลายก็ได้รับการยกย่องว่า  สาวกทั้งหลายของพระศาสดา  ล้วนแต่เป็นธรรมทายาทกันอยู่ทั่วไป  หาได้เป็นอามิสทายาทไม่  ดังนี้  แม้เราเองก็จะได้รับการยกย่องว่า สาวกทั้งหลายของพระศาสดา  ล้วนพากันเป็นธรรมทายาททั้งนั้น  หาได้เป็นอามิสทายาทไม่  ดังนี้  ด้วยเหมือนกัน

               ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะนั้น  ในเรื่องนี้  พวกเธอทั้งหลายจงพากันเป็นธรรมทายาทของเราเถิด  อย่าได้เป็นอามิสทายาทเลย  ความเป็นห่วงของเราในพวกเธอทั้งหลายมีอยู่ว่า  ทำอย่างไรหนอ  สาวกทั้งหลายของเราจึงจะเป็นธรรมทายาท  อย่าได้เป็นอามิสทายาทเลย  ดังนี้

               (คัดมาจากบาลีพระพุทธภาษิต  ธมฺมทายาทสูตร  มู.. ๑๒/๒๑/๒๑  ตามที่สังเกตเห็นอยู่ในเวลานี้  ภิกษุนี้ส่วนมากเป็นอามิสทายาท  เพราะครองจีวรเหลือง  ถือบาตรเรียกตัวเองว่าเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา  แต่ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรที่แท้จริงไม่สนใจฟังหรืออ่านหนังสือที่สอนหลักพระพุทธศาสนาที่แท้  เชื่อในศาสนาพราหมณ์ประกอบพิธีรีตองที่พระพุทธเจ้าห้าม  ละเมิดศีลและวินัย  ไม่ปรารถนามรรคผลนิพพานกรรมอันนี้จะสนองอามิสทายาทเข้าสักวันหนึ่ง  แล้วจะเสียใจแก้ไขอะไรไม่ได้  ธรรมทายาทเท่านั้นจะปลอดภัย  พระเจ้าอโศกมหาราช  ซึ่งถือกันว่าเป็นผู้บำรุงพระพุทธศาสนาและภิกษุสงฆ์  มากกว่ากษัตริย์องค์ใดๆของอินเดีย  ก็ทนดูภิกษุศีลไม่ไหว  ภิกษุถูกสึกภิกษุถูกฆ่า  ถูกลงโทษ  ภิกษุที่ดีได้การยกย่อง  คำสอนถูกปรับปรุง  ให้บริสุทธิ์ศาสนาพุทธที่แท้จึงตกมาถึงพวกเราทุกวันนี้  แต่แล้วก็ไม่มีใครนำของออกเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ  เผยแพร่กันแต่ของปลอมทั่วประเทศ)

ภิกษุสมภารติดที่อยู่

               ภิกษุทั้งหลาย!  โทษในการติดที่อยู่มี    อย่าง  อะไรกันเล่า?    อย่างคือ

               . ภิกษุติดที่อยู่  ย่อมมีภัณฑะสิ่งของมาก  เป็นผู้ชอบสะสมสิ่งของไว้มาก

              . ภิกษุติดที่อยู่  ย่อมมีเภสัชมาก  เป็นผู้ชอบสะสมเภสัชไว้มาก

              . ภิกษุติดที่อยู่  ย่อมมีกิจมาก  มีการงานที่จะต้องจัดต้องทำมาก  เลยเอาดีในหน้าที่ของสมณะโดยตรงไม่ได้

              . ภิกษุติดที่อยู่  ย่อมจะคลุกคลีกับคฤหัสถ์และบรรพชิตอันเป็นสิ่งไม่สมควรแก่สมณะ

              . ภิกษุติดที่อยู่  จะจากถิ่นที่อยู่นั้นไป  เธอย่อมจากไปด้วยจิตที่ห่วงใย

               ภิกษุทั้งหลาย!  โทษในการติดอยู่    อย่างเหล่านี้แล

               (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต  ปญฺจก.  องฺ  ๒๒/๒๘๖/๒๒๓  โทษที่หนักที่สุดก็คือเกิดอุปาทาน  หมดทางที่ได้มรรคผลนิพพาน  อุตส่าห์เข้ามาบวชตั้งแต่ยังเล็กจนแก่แล้วมาหลงติดที่อยู่  ติดวัด  ติดชาติ  ติดภพ  ไม่คุ้มกับการที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนาเสียชีวิตไปชาติหนึ่ง)

วินัยของภิกษุ

               พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย  อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

                  . เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์

                 . เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์

                 . เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก

                 . เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก

                 . เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน

                 . เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต

                . เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

                 . เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

                 . เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม

              ๑๐. เพื่อถือตามวินัย

               ความผิดเพราะการละเมิดข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม  เรียกว่า  อาบัติ  มี ๗ อย่าง  คือ

                          . ปาราชิก                      . สังฆาทิเสส

                         . ถุลลัจจัย                      . ปาจิตตีย์

                        . ปาฏิเทสสนียะ             . ทุกกฏ

                        . ทุพภาษิต

               ปาราชิกนั้น  ภิกษุผิดเข้าแล้ว  ขาดจากความเป็นภิกษุ  จะกลับมาบวชอีกไม่ได้  แม้แต่เป็นเณร

               สังฆาทิเสสนั้น  ผิดเข้าแล้ว  ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้น

               อาบัติอีก ๕ อย่างนั้น  ต้องประจานตัวเอง  ให้สงฆ์รู้หรือภิกษุรูปอื่นรู้  จึงจะพ้นผิด

               อาการที่ภิกษุจะต้องอาบัติเหล่านี้ ๖ อย่าง คือ

               ต้องด้วยไม่ละอาย ๑

               ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ ๑

               ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลง ๑

               ต้องด้วยสำคัญแล้วว่าควรในของที่ไม่ควร ๑

               ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ๑

               ต้องด้วยลืมสติ ๑

ปาราชิก ๔

               . ภิกษุเสพเมถุน

              . ภิกษุถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้  เทียบราคาตั้งแต่ ๕ มาสก

              . ภิกษุจงใจฆ่ามนุษย์ถึงตาย

              . ภิกษุอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน  (มีอวดมรรค  ผล  สมาบัติ  เป็นต้น)

สังฆาทิเสส  ๑๓

               . ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน

              . กำหนัด  แล้วจับต้องกายหญิง

              . กำหนัด  แล้วเกี้ยวหญิง

              . กำหนัด  แล้วพูดล่อหญิงให้บำเรอตนด้วยกาม

              . ชักสื่อให้คนเป็นผัวเมียกัน

              . สร้างกุฏีของตนเองใหญ่เกิน ๗ x ๑๒  คืบพระสุคต (๒๕ ซม.) และต้องให้สงฆ์อนุมัติที่ซึ่งจะปลูกสร้าง

              . เขาสร้างกุฎีให้  ไม่ให้สงฆ์อนุมัติที่ซึ่งปลูกสร้าง

              . โกรธเคืองแล้วกล่าวหาภิกษุอื่นว่าเป็นปาราชิกโดยไม่มีมูล

              . โกรธเคืองแล้วทำเรื่องขึ้นกล่าวหาภิกษุอื่น  ว่าเป็นปาราชิก

            ๑๐. พากเพียรทำให้สงฆ์แตกกัน

            ๑๑. ประพฤติตามที่เขายุให้สงฆ์แตกกัน

           ๑๒. ว่ายาสอนยาก  ห้ามไม่ฟัง

           ๑๓. ประจบคฤหัสถ์  จนเขาดูถูกพระศาสนา

อนิยต 

               . ภิกษุ  นั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง  ถ้ามีคนที่ควรเชื่อถือได้  เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นแล้ว  กล่าวขึ้นว่า  ภิกษุต้องอาบัติ  ปาราชิก  หรือสังฆาทิเสส  หรือปาจิตตีย์  อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอาบัติอย่างนั้น  หรอคนนั้น  เจาะจงว่าเป็นอาบัติก็ให้ปรับอย่างนั้น

              . ภิกษุ  นั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง  ถ้ามีคนที่ควรเชื่อถือได้  เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นแล้ว  กล่าวขึ้นว่า  ภิกษุต้องอาบัติ  สังฆาทิเสส  หรือปาจิตตีย์  อย่างใดอย่างหนึ่ง  ภิกษุรับอย่างใด  ให้ปรับอาบัติอย่างนั้น  หรือคนนั้นเจาะจงว่าเป็นอาบัติใดก็ให้ปรับอย่างนั้น.

นิสสัคคิยปาจิตตีย์  ๓๐

               . ภิกษุใช้จีวรผืนที่เกินไตรเกิน  ๑๐  วัน

              . มีจีวรไม่ครบไตร  แม้คืนเดียว

              . เก็บผ้าจะจีวรเกิน    เดือน

              . ใช้ภิกษุณี  ให้ซักหรือย้อม  หรือทุบผ้าจีวรที่ตนใช้

              . ยอมรับทานจีวรจากภิกษุณี

              . ขอจีวรจากผู้ไม่ใช่ญาติ  หรือผู้ไม่ได้ปวารณา

             . ในโอกาสจะขอจีวรได้  ขอให้เกินผ้านุ่งผ้าห่ม

             . พูดให้เขาถวายจีวรให้ดีกว่าที่เขาตั้งใจ

             . พูดให้เขารวมทุนกันซื้อจีวรให้ดีกว่าที่เขาตั้งใจ

          ๑๐. ขวนขวายทวงจีวรจากผู้ที่รับจัดหาจีวรหลายครั้งเกินงาม

          ๑๑. ทำที่รองนั่งด้วยขนสัตว์ปนไหม

          ๑๒. ทำที่รองนั่งด้วยขนสัตว์สีดำล้วน

          ๑๓. ทำที่รองนั่งด้วยขนสัตว์สีดำปนสีอื่นมากว่า    ส่วน

          ๑๔. ใช้ที่รองนั่ง  ไม่ทนถึง  ๖ ปี

          ๑๕. ทำที่รองนั่งอันใหม่โดยไม่เอาของเก่ามาปนด้วย

          ๑๖.  หอบหิ้วสิ่งที่จะมาทำที่รองนั่ง  เป็นระยะทางไกลเกิน    โยชน์

          ๑๗. ใช้ภิกษุณีให้ทำความสะอาด  ให้ย้อม  ให้สางขนสัตว์  เพื่อทำที่รองนั่ง

          ๑๘. รับเองหรือให้ผู้อื่นรับแทนซึ่งทองและเงินด้วยความยินดียึดถือ

          ๑๙. ซื้อขายด้วยเงินตรา

          ๒๐. แลกเปลี่ยนสิ่งของกับคฤหัสถ์

          ๒๑. ภิกษุมีบาตรเกินจำนวน (คือให้อธิษฐาน  ใช้ได้เพียงบาตรเดียว)

         ๒๒. บาตรยังไม่ชำรุดมาก  ขอเปลี่ยนใหม่

         ๒๓. เก็บเนยใส  เนยข้น  น้ำมัน  น้ำผึ้ง  น้ำอ้อย  เกิน ๗ วัน

         ๒๔. หาผ้าอาบฝนเนิ่นเกินไป  คือก่อนฤดูฝนเกิน ๑ เดือน

         ๒๕. ให้จีวรเขา  ทีหลังโกรธ  ชิงคืน

         ๒๖. ขอด้ายเขามาให้ช่างทอเอง

         ๒๗. สินบนช่างหูกให้ทอจีวรดีๆ  สำหรับผืนที่เขาจะถวาย

         ๒๘. ก่อนออกพรรษา ๑๐ วัน  ให้รับผ้าจำนำพรรษาได้  แต่ถ้าเก็บนาน

         ๒๙. ฝากจีวรคนอื่นแล้วไม่เหลียวแลเกิน ๖ คืน

         ๓๐. น้อมลาภที่เขาจะถวายแก่สงฆ์ส่วนรวมมาเป็นของตนผู้เดียว

               * ภิกษุต้องสละวัตถุที่ทำให้ต้องอาบัติก่อน  จึงจะพ้นอาบัติ  ๓๐ ประการนี้

ปาจิตตีย์  ๙๒

               . ภิกษุพูดปด

              . ด่าภิกษุอื่น

              . ส่อเสียดยุยงภิกษุ

              . สอนผู้ไม่เป็นโดยออกเสียงพร้อมๆกัน

              . นอนร่วมในที่มุง  ที่บังเดียวกันกับผู้ไม่ภิกษุเกิน ๓ เดือน

              . นอนในที่มุง  ที่บังเดียวกันกับหญิง  แม้คืนเดียว

             . แสดงธรรมกับผู้หญิง  ไม่มีผู้ชายอยู่ด้วย  เกิน ๖ คำ

             . อวดคุณวิเศษ เช่น  มรรคผล  สมาบัติ  ฯลฯ  ที่มีจริงแก่คนที่ไม่เป็นภิกษุ

              . บอกเรื่องการต้องอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น  ให้คนไม่เป็นภิกษุทราบ

            ๑๐. ขุดดินเองหรือใช้ให้คนอื่นขุด

            ๑๑. พรากพืชเขียว

           ๑๒. ตนประพฤติไม่ดี  สงฆ์พากันถามแกล้งพูดกลบเกลื่อนหรือนิ่งเสียเฉยๆ

           ๑๓. ติเตียนภิกษุ  เจ้าหน้าที่ผู้ทำงานให้หมู่อย่างผิดๆ

           ๑๔. ละเลยสิ่งของของสงฆ์ที่ตนนำมาใช้แล้วไม่เก็บงำ

           ๑๕. ละเลยเครื่องนอนของสงฆ์ที่ตนนำมาใช้แล้วไม่เก็บงำ

           ๑๖.  แกล้งเบียดเบียนภิกษุที่นอนอยู่ด้วย  ให้เขาหนีย้ายไป

           ๑๗. โกรธ  ขับไล่ภิกษุออกจากกุฏิ

           ๑๘. นั่ง  นอน  บนที่ไม่แข็งแรงสมควร  ด้วยสะพร่า

           ๑๙.  ก่อหลังคาให้หนักเกินสมควร

          ๒๐.  เอาน้ำที่มีตัวสัตว์  เทไปที่หญ้าหรือดิน

          ๒๑.  สอนนางภิกษุณี  โดยยังไม่ได้รับแต่งตั้ง

         ๒๒.  สอนนางภิกษุณี  ภายหลังพระอาทิตย์ตกแล้ว

         ๒๓.  สอนนางภิกษุณี  ถึงในที่อยู่

         ๒๔.  ติเตียนผู้รับหน้าที่สอนนางภิกษุณี  อย่างผิดๆ

         ๒๕.  เป็นฝ่ายให้จีวรแก่นางภิกษุณี

         ๒๖.  เย็บจีวร  หรือให้ผู้อื่นเย็บให้แก่ภิกษุณี

         ๒๗. ชวนภิกษุณีร่วมเดินทางด้วย

         ๒๘. ชวนภิกษุณีร่วมลงเรือลำเดียวกัน

         ๒๙.  ยอมฉันของเคี้ยว  ของฉัน  ที่ภิกษุณีบังคับให้คฤหัสถ์เขาถวาย

         ๓๐.  นั่ง  นอน  ในที่ลับสองต่อสอง  กับนางภิกษุณี

         ๓๑.  ฉันอาหารในโรงทานติดๆกันหลายวัน  ไม่ออกไปบิณฑบาต

         ๓๒. ฉันอาหารที่เขานิมนต์ร่วมกันเป็นหมู่ๆ  ตั้งแต่    รูปขึ้นไป

         ๓๓.  รับนิมนต์ไว้แล้ว  กลับไปฉันเสียที่อื่น

         ๓๔.  รับบาตรเกินกว่า    บาตร

         ๓๕.  บอกเขาว่าอิ่มแล้ว  ไม่รับแล้ว  แต่ยังไปฉันของผู้อื่นอีก

         ๓๖.  แกล้งล่อให้ภิกษุผู้ไม่รับอาหารต่อไปแล้ว  รับจนได้

         ๓๗. ฉันอาหารในเวลาเกินเที่ยงวัน

         ๓๘. ฉันอาหารที่เขาประเคนค้างคืน

         ๓๙.  ขออาหารอันประณีตจากที่มาใช่ญาติ  ไม่ใช่ปวารณา

         ๔๐.  กลืนเกินอาหารที่เขายังไม่ทำอาการให้สิทธิ์

         ๔๑.  ถวายของกินแก่นักบวชนอกศาสนาด้วยกันตนเอง

         ๔๒. ชวนเพื่อนภิกษุออกภิกษุบิณฑบาต  แล้วไล่กลับ  เพื่อจะกระทำไม่ดี

         ๔๓. เข้าไปขัดจังหวะที่ครอบครัวเขากำลังรับประทานอาหาร

         ๔๔. นั่งอยู่ในห้องกับหญิงสองต่อสอง

         ๔๕. นั่งอยู่กับหญิงสองต่อสอง  แม้ในที่แจ้ง

         ๔๖. ก่อนไปฉันหรือหลังจากฉันแล้วจากที่เขานิมนต์  ไถลไปที่อื่นไม่บอกใคร

         ๔๗. ขอปัจจัย    ที่เขาปวารณา  แต่ล่วงเขตกำหนด

         ๔๘. ไปดูกระบวนทัพที่เขายกไปจะรบกัน

         ๔๙.  ถ้าจำเป็นไปอยู่ในฐานทัพ  อยู่เกิน    คืน

         ๕๐.  เวลาอยู่ในกองทัพ  เที่ยวไปดูการซ้อมรบ

         ๕๑.  ดื่มน้ำเมา

         ๕๒. เล่นจี้ภิกษุ

         ๕๓. ว่ายน้ำเล่น

         ๕๔. ไม่เอื้อเฟื้อเรื่องวินัย

         ๕๕.  เล่นหลอกให้ภิกษุอื่นกลัวผี

         ๕๖.  ติดไฟ  หรือให้ผู้อื่นติด  เพื่อจะผิง

         ๕๗. ภิกษุที่อยู่ภาคกลางๆ  ของประเทศอินเดีย  (หาน้ำยาก)  อาบน้ำถี่กว่า  ๑๕  วัน  ต่อครั้ง

         ๕๘. จีวรได้ใหม่มา  ไม่ทำให้เสียสี  ไม่ทำเครื่องหมายไว้

         ๕๙.  จีวรใดใช้ร่วมกันกับภิกษุอื่น  ไม่ทำให้เขารู้ก่อนเอามานุ่งห่ม

         ๖๐.  เล่นซ่อนบริขารของภิกษุอื่น

         ๖๑.  แกล้งฆ่าสัตว์

         ๖๒. ใช้น้ำที่ตัวรู้ว่ามีสัตว์อยู่

         ๖๓.  เรื่องใดที่สงฆ์ส่วนรวมพร้อมกันทำดีแล้ว  ยกเลิกเสียแล้วมาทำใหม่

         ๖๔.  แกล้งปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น

         ๖๕.  เป็นอุปัชฌายะ  ทำการบวชให้แก่คนอายุไม่ถึง  ๒๐  ปี

         ๖๖.  จงใจชวนพ่อค้าผู้หนีภาษีเดินทางด้วยกัน

         ๖๗.  ชวนหญิงเดินทางด้วยกัน

         ๖๘.  กล่าวค้านธรรมะของพระพุทธเจ้า  ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง

         ๖๙.  คบกับภิกษุ  ผู้ค้านธรรมะของพระพุทธเจ้า  จนสงฆ์ลงโทษ

         ๗๐. รับเอกสามเณร  ผู้ค้านธรรมะของพระพุทธเจ้าที่สงฆ์ลงโทษมาให้อยู่ด้วย

         ๗๑. ประพฤติผิดแล้วอ้างว่ายังไม่รู้  แต่ก็ไม่ทำให้ถูก

         ๗๒. แกล้งพูดให้ภิกษุผู้ท่องปาติโมกข์อยู่  ให้คลายอุตสาหะ

         ๗๓. ประพฤติไม่ดี  เขาบอกให้ว่าไม่ดี  แกล้งทำเป็นว่าเพิ่งรู้

         ๗๔. โกรธ  ทำร้ายภิกษุอื่น

         ๗๕. โกรธ  ทำท่าจะอันตรายภิกษุอื่น

         ๗๖.  กล่าวหาภิกษุอื่นด้วยอาบัติสังฆาทิเสส  ที่ไม่มีมูลความจริง

         ๗๗.  แกล้งก่อความรำคาญให้เกิดแก่ภิกษุอื่น

         ๗๘.  แอบฟังความเพื่อจะรู้ว่า  เขาว่าอะไรตนหรือพวกของตน

         ๗๙.  ยอมรับว่าเรื่องอะไรที่สงฆ์ทำนั้นดีแล้ว  ภายหลังกลับติเตียน

         ๘๐.  กำลังประชุมตัดสินอะไรยังไม่เสร็จ  หลีกออกไปเสีย

         ๘๑.  ร่วมกับสงฆ์ให้บำเหน็จแก่ที่สมควร  แล้วทีหลังติเตียน

         ๘๒. น้อมลาภที่เขาจะถวายให้สมควร  ไปให้เฉพาะๆคน

         ๘๓.  เข้าไปให้ห้องที่ผัวเมียเขาอยู่ด้วยกัน  โดยไม่ให้เขารู้เสียก่อน

         ๘๔.  เก็บของตกเอามาเป็นของตน

         ๘๕. ในเวลาวิกาล  ไปไหนไม่บอกใคร

         ๘๖.  นิยามตามสมัย  เช่น  ทำกล่องเข็มแข่งกัน

         ๘๗.  ทำเตียงตั่งสูงกว่า    นิ้วพระสุคต

         ๘๘.  ทำเตียงตั่งหุ้มนุ่น

         ๘๙.  ทำผ้าปูนั่งเกินประมาณ  คือ ๑.๕ x   คืบพระสุคต  (๒๕ ซม.)

         ๙๐.  ทำผ้าปิดแผลเกินประมาณ  คือ ๒ x   คืบพระสุคต

         ๙๑.  ทำผ้าอาบน้ำฝนเกินประมาณ  คือ  ๒.๕ x    คืบพระสุคต

         ๙๒. ทำจีวรเกินประมาณ  คือ  x   คืบพระสุคต

ปาฏิเทสนียะ 

               ๑.  ภิกษุรับอาหารจากมือนางภิกษุณี

              ๒.  ไม่ไล่ภิกษุณีผู้เจ้ากี้เจ้าการ   ให้คนเขาถวายอาหาร

              ๓.  รับของเคี้ยวของฉันจากครอบครัวผู้ได้มรรคผลขั้นต้นแต่ยากจน

              ๔.  ภิกษุอยู่ป่า  ยอมตามใจให้คนอื่นที่ไม่แจ้งล่วงหน้าในการถวายทาน

เสขิยวัตร

               กิจกระทำที่ภิกษุต้องลงมือประพฤติ  กระทำ  เรียกว่า  เสขิยวัตร  ถ้าไม่อย่างนั้นต้องอาบัติทุกกฏ

               ๑ - ๒.  ภิกษุพึงระวังการนุ่งห่มให้เรียบร้อย

               ๓- ๔.  จักปิดกายด้วยดี  เวลาเข้าบ้านและนั่งในบ้าน

               ๕- ๖.  จักระวังมือระวังเท้า  เวลาเข้าบ้านและนั่งในบ้าน

               ๗- ๘.  จักทอดสายตาต่ำ  เวลาเข้าบ้านและนั่งในบ้าน

               ๙-๑๐.  จักไม่เวิกผ้า  เวลาเข้าบ้านและนั่งในบ้าน

            ๑๑-๑๒.  จักไม่หัวเราะ  เวลาเข้าบ้านและนั่งในบ้าน

           ๑๓-๑๔.  จักไม่พูดเสียงดัง  เวลาเข้าบ้านและนั่งในบ้าน

           ๑๕-๑๖.  จักไม่โคลงกาย  เวลาเข้าบ้านและนั่งในบ้าน

           ๑๗-๑๘.  จักไม่ไกวแขน  เวลาเข้าบ้านและนั่งในบ้าน

           ๑๙–๒๐.  จักไม่สั่นศรีษะ  เวลาเข้าบ้านและนั่งในบ้าน

           ๒๑-๒๒. จักไม่เอามือค้ำกาย  เวลาเข้าบ้านและนั่งในบ้าน

           ๒๓-๒๔. จักไม่คลุมศรีษะด้วยผ้า  เวลาเข้าบ้านและนั่งในบ้าน

                  ๒๕.  จักไม่เดินกระโหย่ง  เวลาเข้าบ้าน

                  ๒๖.  จักไม่นั่งกอดเข่า  เวลานั่งในบ้าน

                  ๒๗.  พึงระวังว่ารับอาหารบิณฑบาต  โดยเคารพ

                  ๒๘.  เวลารับบาตร  จักแลดูแต่ในบาตร

                  ๒๙.  การรับ  ก็จะรับแกงพอสมควรกับข้าวสุก

                  ๓๐.  รับพอเสมอขอบปากบาตร

                  ๓๑.  จักฉันอาหารโดยเคารพ

                  ๓๒. เวลาฉัน  จักแลดูแต่ในบาตร

                  ๓๓. เวลาฉัน  จักไม่ขุดข้าวให้แหว่ง

                  ๓๔. จักฉันแกงพอสมควรกับจำนวนข้าวสุก

                  ๓๕. จักไม่ฉันขยุ้มข้าวสุก  ตั้งแต่ยอดลงไป

                  ๓๖.  จักไม่กลบแกง  เพื่อจะรับแกงเติมมากๆ

                  ๓๗.  ไม่ป่วยไม่ไข้  จักไม่ขอแกงหรือข้าวมาเพื่อตัวเอง

                  ๓๘.  จักไม่คอยดูจับผิดผู้อื่นที่กำลังฉันด้วย

                  ๓๙.  ไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก

                  ๔๐.  จักทำข้าวให้กลมกล่อม

                  ๔๑.  เมื่อคำข้าวยังไม่ถึงปาก  จะไม่อ้าปากก่อน

                  ๔๒. เวลาส่งข้าวเข้าปาก  จะไม่สอดนิ้วเข้าไปในปาก

                  ๔๓.  เวลาข้าวยังมีอยู่ในปาก  จักไม่พูด

                  ๔๔.  จักไม่ใช้วิธีโยนคำข้าวเข้าปาก

                  ๔๕.  จักไม่กัดคำข้าว

                  ๔๖.  จักไม่ทำกระพุ้มแก้มให้ตุ่ย

                  ๔๗.  ไม่ฉันพลาง  สะบัดมือพลาง

                  ๔๘.  ไม่ทำให้เมล็ดข้าวหล่นตก  เวลาฉัน

                  ๔๙.  จักไม่ฉันแลบลิ้น

                  ๕๐.  จักไม่ฉันเกิดเสียงดังจับๆ

                  ๕๑.  จักไม่ฉันเกิดเสียงดังซูดๆ

                  ๕๒. ไม่ฉันเลียมือ

                  ๕๓.  ไม่ฉันเลียบาตร

                  ๕๔.  ไม่ฉันเลียริมฝีปาก

                  ๕๕.  จักไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะใส่น้ำ

                  ๕๖.   จักไม่น้ำล้างบาตรซึ่งมีเมล็ดข้าว  ลงในบ้าน

                  ๕๗.  จักไม่ยอมพูดคุย  กับคนกางร่มในท่าไม่แสดงความเคารพ

                  ๕๘. จักไม่ยอมพูดคุย  กับคนถือไม้พลองในท่าไม่แสดงความเคารพ

                  ๕๙.  จักไม่แสดงธรรม  กับคนถือศัสตราในท่าไม่แสดงความเคารพ

                  ๖๐.  จักไม่แสดงธรรม  กับคนถืออาวุธในท่าไม่แสดงความเคารพ

                  ๖๑.  จักไม่แสดงธรรม  กับคนสวมรองเท้าไม้ในท่าไม่แสดงความเคารพ

                  ๖๒. จักไม่แสดงธรรม  กับคนสวมรองเท้าในท่าไม่แสดงความเคารพ

                  ๖๓. จักไม่แสดงธรรม  กับคนผู้ขึ้นอยู่บนยานพาหนะที่ไม่แสดงความเคารพ

                  ๖๔. จักไม่แสดงธรรม  กับคนผู้อยู่บนที่นอนในท่าไม่แสดงความเคารพ

                  ๖๕. จักไม่แสดงธรรม  กับคนนั่งงอเข่าในท่าไม่เคารพ

                  ๖๖. จักไม่แสดงธรรม  กับคนโพกศรีษะในท่าไม่เคารพ

                  ๖๗. จักไม่แสดงธรรม  กับคนคนคลุมศรีษะในท่าไม่เคารพ

                  ๖๘. เวลานั่งที่แผ่นดินจักไม่แสดงธรรมกับคนที่นั่งบนที่สูง

                  ๖๙. เวลานั่งที่อาสนะต่ำ  จักไม่แสดงธรรมกับคนนั่งอาสนะสูง

                  ๗๐. เวลายืนจักไม่แสดงธรรม  กับคนที่นั่งโดยไม่แสดงอาการเคารพ

                  ๗๑. เวลาเดินอยู่ข้างหลัง  จักไม่แสดงธรรมกับคนที่เดินล้ำหน้าไป

                 ๗๒. เวลาเดินอยู่ข้างทาง  จักไม่แสดงธรรมกับคนอยู่บนทาง

                 ๗๓.  พึงระวังว่าจักไม่ยืนถ่ายอุจจาระ  ถ่ายปัสสาวะ

                 ๗๔.  จักไม่ถ่ายอุจจาระ  ปัสสาวะ  บ้วนน้ำลาย  รดที่อันไม่สมควร

                 ๗๕.  จักไม่ถ่ายอุจจาระ  ถ่ายปัสสาวะ  บ้วนน้ำลาย  ให้น้ำสกปรก

               (สิกขาบทตอนนี้  ที่ยกขึ้นเป็นอาบัติถุลลัจจัยบ้าง  ทุกกฏบบ้าง  ทุพภาษิตบ้าง  เป็นสิกขาบทไม่ได้มาในพระปาติโมกข์)

อธิกรณ์ 

อธิกรณ์มี    คือ

               ๑.  วิวาทาธิกรณ์  การวิวาทกันในเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย

              ๒.  อนุวาทาธิกรณ์  การโจทฟ้องกันด้วยศีลวิบัติ  เป็นต้น

              ๓.  อาปัตตาธิกรณ์  การต้องอาบัติต่างๆ

              ๔.  กิจจาธิกรณ์  เรื่องที่สงฆ์จะต้องจัดต้องทำที่เป็นสังฆกรรม

อธิกรณ์แต่ละอย่างจะระงับได้ด้วยสมถะ  (วิธีระงับ)  อะไรบ้าง  ดังนี้

               ๑.  วิวาทาธิกรณ์

                     การวิวาทกันในเรื่องเกี่ยวกันกับพระธรรมวินัยย่อมระงับด้วยวิธีระงับ    ประการ  คือ

                     ๑. ระงับในที่พร้อมหน้า  (สัมมุขาวินัย)

                    ๒. ระงับโดยถือเสียงมากเป็นประมาณ  (เยภุยยสิกา)

               ๒.  อนุวาทาธิกรณ์

                      การโจทฟ้องกันด้วยศีลวิบัติ  (ความเสียหายเกี่ยวกับศีล)  อาจารวิบัติ  (ความเสียหายเกี่ยวกับความประพฤติ)  ทิฏฐิวิบัติ  (ความเสียหายเกี่ยวกับความเห็น)  และอาชีววิบัติ  (ความเสียหายเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ)  ระงับด้วยวิธีด้วยระงับ    ประการคือ

                     ๑. ระงับในที่พร้อมหน้า  (สัมมุขาวินัย)

                    ๒. ระงับด้วยยกให้ว่ามีสติ  (สติวินัย)

                    ๓.  ระงับด้วยยกให้ว่าเป็นบ้า  (อมูฬหวินัย)

                    ๔.  ระงับด้วยการลงโทษ  (ตัสสปาปิยสิกกา)

               ๓. อาปัตตาธิกรณ์

                    การต้องอาบัติต่างๆ  ระงับด้วยวิธีระงับ    ประการ  คือ

                   ๑. ระงับในที่พร้อมหน้า   (สัมมุขาวินัย)

                  ๒. ระงับด้วยถือคำสารภาพ  (ปฏิญญาตกรณะ)

                  ๓.  ระงับด้วยให้เลิกแล้วกัน  (ติณวัตถาระกะ)

                  ๔.  กิจจากรณ์  เรื่องที่สงฆ์จะต้องจัดต้องทำที่เป็นสังฆกรรม  ระงับด้วยวิธีระงับประการเดียว  คือระงับในที่พร้อมหน้า  (สัมมุขาวินัย)

                  ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์  แก่ผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์  ที่ชำระเสร็จไปแล้ว  และปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ให้ฉันทะแล้วบ่นว่าภายหลัง  (เว้นแต่อธิกรณ์นั้นชำระไม่เป็นธรรม)

                  * จากพระไตรปิฎก  ฉบับสำหรับประชาชน

อธิกรณ์สมณะ 

(ว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์)

               ภิกษุฉัพพัคคีย์  (พวก ๖)  ทำกรรมประเภทลงโทษแก่ภิกษุทั้งหลายที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า  (เป็นการทำลับหลัง)  คือ  ตัชชนีกรรม  (ข่มขู่)  บ้าง,  นิยสกรรม  (ถอดยศหรือตัดสิทธิ)  บ้าง,  ปัพพาชนียกรรม  (ขับไล่)  บ้าง,  ปฏิสารณียกรรม  (ให้ขอขมาคฤหัสถ์)  บ้าง,  อุกเขปนียธรรม  (ยกเสียจากหมู่ไม่ให้ใครคบ)  บ้าง  มีผู้ติเตียน

               พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัย  ห้ามทำการลับหลังผู้ถูกลงโทษ  ทรงปรับอาบัติทุกกฎแก่ผู้ทำเช่นกัน

               ๑. สัมมุขาวินัย  (การระงับต่อหน้า)

                    คือความระงับอธิกรณ์ทั้ง    นั้น  ในที่พร้อมหน้าสงฆ์  ในที่พร้อมหน้าบุคคล  ในที่พร้อมหน้าวัตถุ  ในที่พร้อมหน้าธรรม

                    ทรงแสดงภิกษุที่เป็นบุคคล  ฝ่ายไม่ดี    ประเภท  คือ

               ๑.  บุคคล  (คนเดียว)

              ๒.  บุคคลหลายคน

              ๓.  สงฆ์  (๔ รูป)  ขึ้นไป  ที่พูดไม่เป็นธรรมฝ่ายหนึ่ง

                    กับทรงแสดงภิกษุที่เป็นบุคคล  ฝ่ายดี    ประเภท  คือ

               ๑. บุคคล  (คนเดียว)

              ๒. บุคคลหลายคน

              ๓. สงฆ์  (๔ รูป)  ขึ้นไป  ที่พูดไม่เป็นธรรมฝ่ายหนึ่ง

               ฝ่ายที่พูดไม่เป็นธรรม  แม้จะงับเรื่องเกิดขึ้นในที่พร้อมหน้าก็เรียกว่า  สัมมุขาวินัยเทียม  และระงับอย่างไม่เป็นธรรม

               ฝ่ายที่พูดเป็นธรรม  ระงับเรื่องที่เกิดขึ้น  เรียกว่า  สัมมุขาวินัย  และระงับอย่างเป็นธรรม

               ๒.  สติวินัย  (การระงับด้วยการยกให้ว่าเป็นผู้มีสติ)

                     พระผู้มีภาค  ทรงแนะวิธีระงับอธิกรณ์  ซึ่งเกิดขึ้นแก่พระอรหันต์  คือให้สงฆ์สวดประกาศให้สติวินัยแก่พระอรหันต์  ทรงแสดงเงื่อนไข    ประการ  ในการให้สติวินัย  คือ

                     ๑.  ภิกษุผู้ถูกโจทฟ้อง  เป็นผู้สิทธิ์  ไม่มีอาบัติ

                    ๒.  มีผู้กล่าวฟ้องเธอ

                    ๓.  เธอขอสติวินัย

                    ๔.  สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้โดยธรรม  อย่างนี้จึงเรียกว่าการให้สติวินัยอันเป็นธรรม

              ๓.  อมูฬหวินัย  (การระงับด้วยการยกให้ว่าเป็นบ้า)

                    ภิกษุชื่อ  คัดคะ  เป็นบ้า  ได้ทำความผิดหลายประการ  มีผู้โจทฟ้อง  พระผู้มีพระภาคจึงทรงแนะนำให้ระงับด้วยอมูฬหวินัย  โดยให้ผู้ถูกฟ้อง  (ซึ่งหายแล้ว)  ขออมูฬหวินัย  และให้สงฆ์สวดประกาศให้อมูฬหฬหวินัยเป็นอันระงับ  ด้วยยกให้ว่าเป็นในขณะทำความผิด

                    แต่ก็ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า  ถ้าทำความผิดขณะที่รู้สึกตน  และไม่เป็นบ้า  แต่แก้ตัวว่าไม่รู้สึกตน  หรือรู้สึกเหมือนฝัน  หรือแก้ตัวอ้างความเป็นบ้า  สงฆ์ให้อมูฬหวินัยแก่เธอ  ดังนี้  เรียกว่าไม่เป็นธรรม  ถ้าตรงข้ามคือทำไปในขณะที่เป็นบ้าไม่รู้สึกตัวจริงๆ  การให้อมูฬกวินัยจึงเป็นธรรม

              ๔. ปฏิญญาตกรณะ  (ระงับด้วยคำสารภาพของผู้ถูกฟ้อง)

                   ภิกษุฉัพพัคคีย์ลงกรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย  โดยไม่หวังคำสารภาพของภิกษุเหล่านั้น  มีผู้ติเตียน  พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัยห้ามทำเช่นนั้น  ถ้าฝ่าฝืน  ต้องอาบัติทุกกฏ

                   จึงทรงแสดงวิธีระงับอธิกรณ์  ด้วยการรับสารภาพของจำเลยที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม  ที่ไม่เป็นธรรมคือ  สารภาพผิดจากที่ทำลงไปจริง  เช่น  ต้องอาบัติหนัก  สารภาพว่าต้องอาบัติรองลงมา  หรือต้องอาบัติเบา  สารภาพว่าต้องอาบัติหนัก  ส่วนที่เป็นธรรมคือ  ต้องอาบัติอะไร  ก็สารภาพถูกตรงตามนั้น

              ๕.  เยภุยยสิกา  (การระงับด้วยถือเสียงข้างมาก)

                    ภิกษุทั้งหลายทะเลาะวิวาทกัน  พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ระงับอธิกรณ์ชนิดนี้ด้วยถือเอาเสียงข้างมาก  ให้สมมติภิกษุผู้ให้จับฉลาก  (คำว่า  สลาก  แปลว่า  ซี่ไม้สำหรับใช้ลงคะแนน)  ภิกษุผู้ให้จับสลากจะต้องประกอบด้วยองค์    คือ  ไม่ลำเอียงเพราะรัก,  เพราะเกลียด,  เพราะหลง,  เพราะกลัว  และรู้ว่าอย่างไรเป็นอันจับ  อย่างไรไม่เป็นอันจับ  (คุมการลงคะแนนได้ดี)แล้วให้สวดประกาศแต่งตั้งภิกษุผู้ให้จับสลากเป็นการสงฆ์

               แล้วทรงแสดงการจับสลาก  (ลงคะแนน)  ที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม  อย่างละ  ๑๐  ประการ  การจับสลากที่ไม่เป็นธรรมคือ  ๑. อธิกรณ์เป็นเรื่องเล็กน้อย  ๒.  ไม่ลุกลามไปไกล  ๓.  ไม่ต้องคิดแล้วคิดเล่า  ๔.  รู้ว่าผู้กล่าวไม่เป็นธรรมมีมากกว่า  ๕.  รู้ว่าผู้กล่าวไม่เป็นธรรมอาจมีมากกว่า  ๖.  รู้ว่าสงฆ์จะแตกกัน  (ถ้าขืนลงมติ)  ๗.  รู้ว่าสงฆ์อาจแตกกัน  ๘.  จับสลากโดยไม่เป็นธรรม  ๙.  จับฉลากตามเป็นๆ  ๑๐.  มิได้จับสลากตามความเห็นของตน  ส่วนที่เป็นธรรมคือที่ตรงกันข้าม

               ๖. ตัสสปาปิยสสิกา  (ระงับด้วยการลงโทษ)

                    ภิกษุ  ชื่อ  อุปวาฬะ  ถูกฟ้องด้วยเรื่องต้องอาบัติในที่ประชุมสงฆ์  ปฏิเสธแล้วกลับรับรับแล้วกลับปฏิเสธ  ให้การกลับกลอก  กล่าวเท็จทั้งๆที่รู้  พระผู้มีพระภาคทรงทราบ  จึงทรงแนะให้สงฆ์  ใช้วิธีตัสสปาปิยสิกา  คือ  ให้สงฆ์สวดประกาศเป็นการสงฆ์ลงโทษจำเลย  (ตามควรแก่อาบัติ)

                    ทรงแสดงการทำตัสสปาปิยสิกากรรม  ที่เป็นธรรมประกอบด้วยองค์    คือ

                    ๑. ภิกษุเป็นผู้ไม่สะอาด  ๒. เป็นไม่ยางอาย  ๓. มีผู้โจทฟ้อง  ๔. สงฆ์ทำตัสสปาปิยสิกากรรม  (ลงโทษ)  แก่เธอ  ๕. สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงโทษโดยธรรม

               ๗. ติณวัตถารกะ  (การระงับด้วยให้เลิกแล้วกัน)

                    ภิกษุทั้งหลายเกิดความบาดหมาง  ทะเลาะวิวาทกัน  ได้ประพฤติละเมิดกิจอันไม่ควรแก่สมณะเป็นอันมาก  ทั้งที่กล่าวด้วยวาจาและพยายามทำด้วยกาย  ภิกษุทั้งหลายเห็นว่าถ้าพวกเราจะปรับกันด้วยอาบัติเหล่านี้  บางทีอธิกรณ์นั้นจะเป็นไปเพื่อความรุนแรง  ถึงกับแตกแยกกันก็ได้  พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ระงับอธิกรณ์ชนิดนี้  ด้วยให้เลิกแล้วกันไป

                    ทรงแสดงวิธีสวดประกาศขอมติในที่ประชุมสงฆ์  ให้เป็นอันพ้นอาบัติด้วยกันทั้งสองฝ่ายโดยมีภิกษุรูปหนึ่งแต่ละฝ่ายที่เสนอญัตตินั้นเป็นผู้แสดงแทน  เว้นอาบัติหนัก  เว้นอาบัติที่เนื่องด้วยคฤหัสถ์  เว้นผู้แสดงความเห็นแย้ง  เว้นผู้ไม่ได้ประชุมอยู่ในที่นั้น  (คือมีผู้ขาดประชุม)

 

คำชี้ชวนวิงวอนของพระศาสดา

ยํ  ภิกฺขเว  สตฺถารา  กรณียํ  สาวกาน

หิเตสินา  อนุกมฺปเ

+กน  อนุกมฺปํ  อุปาทาย

กตํ  โว  ตํ  มยา

ภิกษุทั้งหลาย!  กิจอันใดที่ศาสนาผู้เอ็นดู  แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล

อาศัยความเอ็นดูแล้ว  จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย

กิจอันนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย

เอตานิ  ภิกฺขเว  รุกฺขมูลานิ

เอนิตตา  สุญฺญาคารานิ

ภิกษุทั้งหลาย!  นั่นโคนไม้  นั่นเรือนว่าง

ฌายถ  ภิกฺขเว  มา  ปมาทตฺถ

ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลายจงเพียรเผากิเลส  อย่าได้ประมาท

มา  ปจฺฉา  วิปฺปฏิสาริโน  อหุวตฺถ

พวกเธอทั้งหลาย  อย่าได้ผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเลย

อยํ  โว  อมฺหากํ  อนุสาสนี

นี่แล  เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนพวกเธอทั้งหลายของเรา

               * คัดจาก  สฬายตนวคฺค  สํ.  ๑๘/๔๔๑/๖๗๔

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

              

 

 

         

 

              

 

   

 

 

 

 

 

 

 

 

 







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน