ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




การพัฒนาการเลี้ยงสัตว์

 

 


แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาการปศุสัตว์

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชฤทัยในกิจการเกี่ยวกับการ เกษตรในทุกด้าน รวมทั้งด้านปศุสัตว์ บ่อยครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลจากการ คมนาคม พระองค์ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ ทั้งด้านปศุสัตว์และสัตว์ปีก พร้อมทั้งพระราชทานสิ่งของต่าง ๆ รวมทั้งพันธุ์สัตว์ เพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาสนำไปขยายพันธุ์ด้วย พระองค์ทรงเห็นว่า ในพื้นที่ที่เหมาะสมนั้น เมื่อทำการเพาะปลูกแล้ว ควรทำการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปด้วย เพื่อเกษตรกรจะได้ใช้ผลิตผลพลอยได้ หรือสิ่งเหลือทิ้งจากการเพาะปลูก ในการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นประโยชน์ เช่น มูลของสัตว์ก็สามารถใช้ในการปรับปรุง บำรุงดินซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตทางด้านการเพาะปลูก ได้ผลดียิ่งขึ้น และสามารถทำเป็นแบบอย่างหรือแนวทางให้ เกษตรกรในเขตที่มีสภาพและสิ่งแวดล้อม ใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกันนำไปใช้ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และการเพาะปลูกของเกษตรกรให้เป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ หากมีมูลสัตว์มากเพียงพอก็สามารถนำไป หมักเพื่อให้ได้ก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นพลังงานใน บ้านได้ด้วย

 

 

ในพื้นที่บางแห่งมีพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกน้อย ก็ทรงเห็นว่า ควรดำเนินการในลักษณะการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ทุกรูปแบบ เช่น โครงการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งบางแห่งพื้นที่ดินไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชอย่างอื่นได้ พระองค์ก็มีพระราชดำริให้ปรับปรุงจัดทำเป็นทุ่งหญ้าสาธารณะสำหรับเลี้ยงสัตว์เพื่อเกษตรกรใช้เลี้ยงสัตว์ร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 

ลักษณะแนวการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งยังประโยชน์ให้แก่เกษตรกรในด้านการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ พอสรุปได้ดังนี้

 

๑. การเลี้ยงสัตว์เพื่อสาธิต ได้แก่การนำสัตว์ต่าง ๆ เช่น โค กระบือ สุกร แกะ แพะ เป็ด ไก่ ฯลฯ มาเลี้ยงเพื่อเป็นการสาธิตแก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์

 

๒. การปลูกพืชอาหารสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรรู้จักพันธุ์พืชอาหารสัตว์ วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยวพันธุ์พืชอาหารสัตว์ ตลอดจนวิธีการเก็บถนอมรักษาพืชอาหารสัตว์ไว้เลี้ยงสัตว์ในยามขาดแคลน

 

๓. การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ให้บริการในด้านการผสมพันธุ์สัตว์ ทั้งการผสมพันธุ์โดยใช้พ่อพันธุ์ และการผสมเทียม เพื่อให้เกษตรกรมีสัตว์พันธุ์ดีไว้เลี้ยงขยายพันธุ์ต่อไป ตลอดจนบริการตอนสัตว์ที่มีลักษณะไม่ดีไม่เหมาะที่จะใช้ทำพันธุ์เพื่อไม่ให้สัตว์นั้นแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป

 

 

๔. การป้องกันการกำจัดโรคและพยาธิของสัตว์ โดยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ รักษาโรค และถ่ายพยาธิให้แก่สัตว์ ตลอดจนการอบรมประชาชนให้มีความรู้เบื้องต้นในการดูแลรักษาสัตว์ด้วย

 

๕. ส่งเสริมและเผยแพร่ ได้แก่
   - การแจกจ่ายสัตว์พันธุ์ดีให้เกษตรกรหรือจำหน่ายในราคาถูก การให้ยืม การให้เช่า โค กระบือ เพื่อใช้งาน เพื่อขยายพันธุ์ เป็นต้น
   - จัดฝึกอบรมเกษตรกร เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชอาหารสัตว์ ตลอดจนการสุขาภิบาลสัตว์ และการป้องกันกำจัดโรคติดต่อสัตว์
   - แนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักนำผลิตผลพลอยได้ หรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ข้าวเปลือก ฟางข้าว หรือเศษอาหารในครัวเรือนนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ และแนะนำเกษตรกรให้รู้จักใช้อาหารสัตว์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาเลี้ยงสัตว์เป็นการประหยัดรายจ่าย และให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง

 

๖. งานทดลองค้นคว้าวิจัย ให้มีการค้นคว้า วิจัย เพื่อนำผลผลิตที่ได้จากการค้นคว้าวิเคราะห์ วิจัย มาปรับปรุงใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นของตน

 

 

การส่งเสริมการเลี้ยงโคนม
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกี่ยวกับการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ การพัฒนาปศุสัตว์มีเป็นจำนวนมาก อาทิ การส่งเสริมการเลี้ยงโคนม

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริส่งเสริมการเลี้ยงโคนม ในระยะแรกทรงทดลองเป็นโครงการส่วนพระองค์ และเมื่อทรงทดลองจนเห็นว่าสามารถทำเป็นอาชีพได้แล้ว จึงทรงนำออกเผยแพร่ส่งเสริมแก่เกษตรกร เนื่องจากกิจการโคนมเป็นงานใหม่ที่เกษตรกรยังไม่มีความชำนาญพอ ดังนั้นในระยะแรกจึงมักปรากฏว่าผู้เลี้ยงโคนมจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการที่จำหน่ายนมสดที่ผลิตได้ไม่หมด ต้องนำนมที่เหลือทิ้งไป เพราะบูดเสีย เพื่อแก้ไขปัญหานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้นำนมสดมาแปรรูปเป็นนมผง ซึ่งจะเก็บไว้จำหน่ายได้นานนับเดือน โดยพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์รวมกับรายได้จากการจำหน่ายนมสดสวนจิตรลดา ให้หม่อมราชวงศ์ เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมเกษตรดำเนินการออกแบบสร้างเครื่องจักรกล ก่อสร้างโรงงานผลิตนมผงแบบทันสมัยขนาดย่อมขึ้นในบริเวณสวนจิตรลดา เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒ เปิดดำเนินการในวันที่ ๗ ธันวาคม ปีเดียวกัน พระราชทานชื่อโรงงานว่า "โรงนมผงสวนดุสิต"

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้ไปร่วมงานพิธีในวันเปิดโรงงานนมผงดุสิต ความตอนหนึ่งว่า

 

"โรงงานนี้จะเป็นโรงงานตัวอย่าง และดำเนินการเป็นตัวอย่างสำหรับกสิกรและผู้ที่สนใจในการผลิตนมในประเทศไทย โรงงานนี้เป็นแห่งแรกที่ทำขึ้นในเมืองไทยและก็เป็นที่น่าภูมิใจว่าคนไทยได้ออกแบบและเป็นผู้สร้าง ขอให้ถือว่าโรงงานนี้เป็นโรงงานตัวอย่าง ใครอยากได้ความรู้ ใครอยากที่จะทำกิจการโคนมให้สำเร็จให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่เศรษฐกิจของบ้านเมืองก็มาดูกิจการได้ทุกเมื่อ…" (พระราชดำรัส พระราชทานเนื่องในพิธีเปิดโรงงานนมผง "สวนดุสิต" ๗ ธันวาคม ๒๕๑๒)

 

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทรงช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ รัฐบาลเดนมาร์คร่วมกับองค์การเกษตรกรรมของเดนมาร์ค ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฟาร์มโคนมตัวอย่างขึ้นในประเทศไทย โดยการจัดตั้งฟาร์มโคนมไทยเดนมาร์คขึ้นที่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อให้เป็นฟาร์มที่จะทดลองหาพันธุ์โคนมที่เหมาะสมกับการเลี้ยงเพื่อผลิตนมในประเทศไทย และฝึกอบรมเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของไทยให้มีความรู้ ความชำนาญในการเลี้ยงโคนม







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน