ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ฅนประมงพัฒนางานวิจัยใช้ถังไฟเบอร์กลาส อนุบาลปลาช่อน ได้ขนาด ได้มาตรฐาน ได้ใจผู้บริโภค article

ฅนประมงพัฒนางานวิจัยใช้ถังไฟเบอร์กลาส อนุบาลปลาช่อน ได้ขนาด ได้มาตรฐาน ได้ใจผู้บริโภค

ปัจจุบันปลาช่อนเป็นปลาเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ยังพบปัญหาและอุปสรรคเนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่เสื่อมโทรมน้ำมีมลพิษมากขึ้น แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของปลาในธรรมชาติถูกทำลาย ส่งผลให้ปริมาณปลาช่อนในแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดประกอบกับมีการจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติโดยใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมถึงมีการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทางกรมประมงได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาช่อนโดยสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด สามารถวิจัยและทดลองอนุบาลลูกปลาช่อนจนเป็นผลสำเร็จและนำไปปล่อยคืนแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง 

          นายสมหวัง พิมลบุตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมประมงประสบปัญหาการอนุบาลลูกปลาช่อนคือ ผลผลิตที่ได้ค่อนข้างน้อยและมีขนาดไม่เท่ากัน ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ดังนั้นนางณพัชร สงวนงาม และคณะวิจัย ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสิงห์บุรี สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและทดลองอนุบาลลูกปลาช่อง โดยการเลือกขนาดถังอนุบาลและอัตราการปล่อยที่ต่างกันต่อการอนุบาลจนประสบผลสำเร็จ ลูกปลาช่อนส่วนใหญ่ที่ได้จะมีขนาด 5-7 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงเชิงพาณิชย์และเป็นที่ต้องการของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง เนื่องจากเป็นขนาดที่มีอัตรารอดตายสูง และมีการเจริญเติบที่ดี 

          ในการทดลองอนุบาล คณะผู้วิจัยได้ใช้ถังอนุบาลไฟเบอร์กลาสกลมต่างกัน 3 ขนาด คือ 0.5,1.0และ3.0 ตารางเมตร และอัตราปล่อยต่างกัน 5 ระดับ คือ 100, 600, 1,200, 1,800 และ 2,400 ตัวต่อตารางเมตร โดยอนุบาลลูกปลาช่อนรุ่นเดียวกันที่ความลึกของน้ำ 20 เซนติเมตร ในระบบน้ำไหลผ่าน ลูกปลาที่นำมาทดลองมีความยาวเฉลี่ย 28.0 มิลลิเมตร น้ำหนักเริ่มต้นเฉลี่ย 0.19 กรัม ให้อาหารเม็ดลอยน้ำโปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ แบบให้กินจนอิ่มวันละ 3 ครั้ง โดยดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสิงห์บุรีในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา 

          ผลจากการศึกษาพบว่าขนาดถังอนุบาลที่ต่างกันจะมีผลต่อการเติบโตของลูกปลาที่ต่างกันโดยถังอนุบาลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้ลูกปลาสามารถเติบโตได้เร็วมากกว่า และการอนุบาลลูกปลาช่อนที่ระดับอัตราปล่อยที่มากขึ้นจะมีผลให้การเติบโตของลูกปลาช่องมีค่าน้อยกว่าระดับอัตราปล่อยที่น้อยลง จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนพบว่าลูกปลาช่อนที่อนุบาลในถังขนาด 3.0 ตารางเมตร ที่อัตราปล่อย 2,400 ตัวต่อตารางเมตร ใช้ระยะเวลาอนุบาลเพียง 20 วัน ได้ลูกปลาที่มีความยาวเฉลี่ย 6.7 เซนติเมตร อัตรารอดตายร้อยละ 85 และมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยเฉลี่ย 0.39 บาทต่อตัว มีกำไรสุทธิเฉลี่ย 1,300 บาทต่อถัง และมีผลตอบแทนสูงสุดร้อยละ 54.47 ของเงินลงทุนเมื่อพิจารณาต้นทุนและผลตอบแทนพบว่ามีความเหมาะสมในการนำไปปฏิบัติมากที่สุด ซึ่งผลการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เกษตรกรที่เลี้ยงปลาช่อนเชิงพาณิชย์สามารถที่จะนำไปเป็นแนวทางในดำเนินกิจการของตนเองได้ 

          นับเป็นอีกหนึ่งผลงานด้านการศึกษาวิจัยของกรมประมงที่สามารถเอื้อต่อความต้องการของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญปลาช่อนในปัจจุบันยังคงเป็นปลาน้ำจืดที่มีตลาดรองรับอย่างแน่นอน และมีความต้องการอย่างต่อเนื่องด้วยเป็นปลาที่ให้คุณค่าต่อร่างกายของผู้บริโภคสูง ซึ่งเกษตรกรผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสิงห์บุรีสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง โทร. 0-3653-9481, 0-3655-1126--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์








เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน