ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ประวัติสงครามโลกครั้งที่ 1

 

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: World War I หรือ First World War) ซึ่งก่อน ค.ศ. 1939 ถูกเรียกว่า "สงครามโลก" หรือ "มหาสงคราม" (อังกฤษ: Great War) เป็นสงครามครั้งสำคัญที่อุบัติขึ้นโดยมีศูนย์กลางอยู่ในทวีปยุโรประหว่าง ค.ศ. 1914 - 1918 โดยประเทศมหาอำนาจทั้งหมดของโลกเข้าร่วมสงคราม[1] แบ่งออกเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไตรภาคี) และฝ่ายมหาอำนาจกลาง[2] โดยพบว่ามีทหารมากกว่า 70 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นชาวยุโรป 60 ล้านคน ถูกระดมเข้าสู่หนึ่งในสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นี้[3][4] ทหารผู้เข้าร่วมสงครามเสียชีวิตมากกว่า 9 ล้านนาย สาเหตุหลักเพราะมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านอำนาจการยิงโดยไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าในความสามารถในการเคลื่อนที่ เป็นสงครามที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์อันดับที่หก[5] ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย รวมกันไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน[6]

การลอบปลงพระชนม์อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 โดยกัฟรีโล ปรินซีป เป็นชนวนเหตุใกล้ชิดของสงคราม ส่วนสาเหตุระยะยาวนั้น เช่น นโยบายต่างประเทศแบบจักรวรรดินิยมของมหาอำนาจทั้งหลายในยุโรป อย่างจักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมันจักรวรรดิรัสเซียจักรวรรดิอังกฤษฝรั่งเศสและอิตาลี ก็เป็นสาเหตุสำคัญเช่นกัน การลอบปลงพระชนม์อาร์คดยุคเฟอร์ดินานด์ทำให้ออสเตรีย-ฮังการียื่นคำขาดแก่ราชอาณาจักรเซอร์เบีย[7][8] พันธมิตรทั้งหลายซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อหลายทศวรรษก่อนถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ มหาอำนาจทั้งหลายจึงอยู่ในสภาวะสงคราม และความขัดแย้งเริ่มขยายลุกลามไปทั่วโลกผ่านอาณานิคมต่าง ๆ

วันที่ 28 กรกฎาคม ความขัดแย้งเปิดฉากขึ้นเมื่อออสเตรีย-ฮังการีรุกรานเซอร์เบีย[9][10] ตามด้วยการรุกรานเบลเยียม ลักเซมเบิร์กและฝรั่งเศสของเยอรมนี และการโจมตีเยอรมนีของรัสเซีย หลังจากการบุกโจมตีกรุงปารีสของเยอรมนีถูกทำให้หยุดชะงัก แนวรบด้านตะวันตกก็กลายสภาพเป็นการสู้รบที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ด้วยแนวสนามเพลาะที่เปลี่ยนแปลงน้อยมากกระทั่ง ค.ศ. 1917 ในทางตะวันออก กองทัพรัสเซียสามารถเอาชนะกองทัพออสเตรีย-ฮังการี แต่ถูกบีบให้ถอยกลับโดยกองทัพเยอรมัน แนวรบเพิ่มเติมเปิดฉากขึ้นเมื่อจักรวรรดิออตโตมันเข้าสู่สงครามใน ค.ศ. 1914 อิตาลีและบัลแกเรียใน ค.ศ. 1915 และโรมาเนียใน ค.ศ. 1916 จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลงใน ค.ศ. 1917 และรัสเซียถอนตัวจากสงครามหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน หลังการรุกตามแนวรบด้านตะวันตกของเยอรมนีใน ค.ศ. 1918 กองทัพสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามและกองทัพสัมพันธมิตรสามารถผลักดันกองทัพเยอรมันกลับไปหลังได้รับชัยชนะติดต่อกันหลายครั้ง เยอรมนีตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ วันสงบศึก

เมื่อสงครามยุติ รัฐจักรวรรดิใหญ่สี่รัฐ อันได้แก่ จักรวรดิเยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและออตโตมัน พ่ายแพ้ทั้งทางการเมืองและทางทหารและสิ้นสภาพไป เยอรมนีและรัสเซียสูญเสียดินแดนไปมหาศาล ส่วนอีกสองรัฐที่เหลือนั้นล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง แผนที่ยุโรปกลางได้ถูกเขียนใหม่โดยมีประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ[11]สันนิบาตชาติถูกก่อตั้งขึ้นด้วยหวังว่าจะป้องกันความขัดแย้งเช่นนี้มิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ลัทธิชาตินิยมยุโรปเกิดขึ้นหลังสงรามและ

การสื้นสุดของจักรวรรดิรัสเซีย นำไปสู่การก่อตั้ง สหภาพโซเวียต อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติรัสเซีย ต่อมา ได้มีการก่อตั้ง สันนิบาตชาติ เพื่อเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีจุดประสงค์เพื่อการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศด้วยวิธีการทางการทูต แต่ทว่าจากลัทธิชาตินิยมที่เกิดขึ้นหลังสงครามและการแตกออกของจักรวรรดิทั้งหลาย ผลสะท้อนจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีและปัญหาของสนธิสัญญาแวร์ซาย เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นปัจจัยในการปะทุของสงครามโลกครั้งที่สอง[12]

 

 

เบื้องหลัง

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาติมหาอำนาจยุโรปได้ประสบปัญหากับการรักษาไว้ซึ่งสมดุลแห่งอำนาจทั่วทั้งทวีปยุโรป ซึ่งเป็นผลมาจากเครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองและทหารอันซับซ้อนจนถึง ค.ศ. 1900[2] พันธมิตรทางการเมืองและทหารถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1815 ด้วยพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์ อันประกอบด้วยปรัสเซีย รัสเซียและออสเตรีย จากนั้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1873 นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออตโต ฟอน บิสมาร์ก เจรจาตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิระหว่างพระมหากษัตริย์ของออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและเยอรมนี ความตกลงดังกล่าวล้มเหลวเพราะออสเตรีย-ฮังการีและรัสเซียไม่สามารถตกลงในนโยบายเหนือคาบสมุทรบอลข่าน ทิ้งให้เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีจัดตั้งพันธมิตรกันสองประเทศใน ค.ศ. 1879 เรียกว่า ทวิพันธมิตร ซึ่งถูกมองว่าเป็นวิธีตอบโต้อิทธิพลของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่านเมื่อจักรวรรดิออตโตมันอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง[2] ใน ค.ศ. 1882 พันธมิตรนี้ขยายรวมไปถึงอิตาลีและเกิดเป็นไตรพันธมิตร[13]

หลัง ค.ศ. 1870 ความขัดแย้งในยุโรปเบี่ยงเบนไปส่วนใหญ่ผ่านเครือข่ายสนธิสัญญาที่มีการวางแผนไว้อย่างระมัดระวังระหว่างจักรวรรดิเยอรมันกับประเทศที่เหลือในยุโรปด้วยฝีมือของนายกรัฐมนตรีบิสมาร์ค เขาเน้นการทำงานเพื่อยึดรัสเซียให้อยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมนีเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามสองแนวรบกับฝรั่งเศสและรัสเซีย เมื่อจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเยอรมนี (ไกเซอร์) พันธมิตรของบิสมาร์คค่อย ๆ ถูกลดการให้ความสำคัญลง ตัวอย่างเช่น จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ทรงปฏิเสธจะต่อสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีกับรัสเซียใน ค.ศ. 1890 อีกสองปีต่อมา มีการลงนามจัดตั้งพันธมิตรฝรั่งเศส-รัสเซียเพื่อตอบโต้อำนาจของไตรพันธมิตร ใน ค.ศ. 1904 สหราชอาณาจักรประทับตราเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ซึ่งเรียกว่า ความตกลงฉันทไมตรี และใน ค.ศ. 1907 สหราชอาณาจักรและรัสเซียลงนามในอนุสัญญาอังกฤษ-รัสเซีย ระบบนี้ประสานความตกลงทวิภาคี และก่อตั้งขึ้นเป็นฝ่ายไตรภาคี[2]

เอชเอ็มเอส ดรีตนอท การแข่งขันทางอาวุธกองทัพเรือเกิดขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรกับเยอรมนี

อำนาจทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตขึ้นอย่างมากหลังการรวมชาติและการสถาปนาจักรวรรดิใน ค.ศ. 1870 นับตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา รัฐบาลของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ได้ใช้ฐานนี้ในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมันขนานใหญ่ แข่งขันกับกองทัพเรืออังกฤษเพื่อชิงความเป็นเจ้านาวิกโลก[14] ผลที่ตามมาคือ ทั้งสองชาติต่างพยายามแข่งขันผลิตเรือรบขนาดใหญ่ระหว่างกัน ด้วยการปล่อยเอชเอ็มเอส ดรีดนอท ใน ค.ศ. 1906 จักรวรรดิอังกฤษได้ขยายความได้เปรียบเหนือเยอรมนีคู่แข่งอย่างสำคัญ[14] การแข่งขันอาวุธระหว่าอังกฤษและเยอรมนีได้ลุกลามไปยังส่วนที่เหลือของยุโรปในที่สุด โดยประเทศมหาอำนาจทั้งหมดทุ่มเทฐานอุตสาหกรรมของตนในการผลิตยุทโธปกรณ์และอาวุธที่จำเป็นสำหรับความขัดแย้งทั่วทวีปยุโรป[15] ระหว่าง ค.ศ. 1908 และ 1913 ค่าใช้จ่ายด้านการทหารของประเทศในยุโรปเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซนต์[16]

ออสเตรีย-ฮังการีจุดชนวนเร่งให้เกิดวิกฤตการณ์บอสเนีย ค.ศ. 1908-1909 โดยการผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ซึ่งเป็นอดีตดินแดนของจักรวรรดิออตโตมัน อย่างเป็นทางการ หลังได้ยึดครองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1878 สร้างความโกรธแค้นแก่ราชอาณาจักรเซอร์เบียและประเทศผู้ให้การสนับสนุน และจักรวรรดิรัสเซียซึ่งมีแนวคิดรวมชาติสลาฟ[17] การดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองของรัสเซียในภูมิภาคบั่นทอนเสถียรภาพของสันติภาพควบคู่ไปกับความแตกร้าวที่เกิดขึ้นแล้วในสิ่งที่เป็นที่รู้จักกันว่า "ถังดินปืนแห่งยุโรป"[17]

ใน ค.ศ. 1912 และ 1913 สงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่งสู้รบกันระหว่างสันนิบาตบอลข่านและจักรวรรดิออตโตมันที่เสื่อมอำนาจลง สนธิสัญญาลอนดอนอันเป็นผลของสงครามได้ลดขนาดของจักรวรรดิออตโตมันไปอีก สถาปนาอัลเบเนียเป็นรัฐเอกราช ขณะที่เพิ่มดินแดนให้แก่บัลแกเรีย เซอร์เบีย มอนเตเนโกรและกรีซ เมื่อบัลแกเรียโจมตีเซอร์เบียและกรีซเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1913 บัลแกเรียก็เสียมาซิโดเนียส่วนใหญ่ให้แก่เซอร์เบียและกรีซ และเสียเซาเทิร์นดอบรูจาให้แก่โรมาเนียในสงครามบอลข่านครั้งที่สองนาน 33 วัน ซึ่งบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาคยิ่งขึ้นไปอีก[18]

กัฟรีโล ปรินซีปถูกจับกุมทันทีหลังลอบปลงพระชนม์อาร์คดยุคเฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย

วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 กัฟรีโล ปรินซีป นักศึกษาชาวบอสเนียเซิร์บและสมาชิกของบอสเนียหนุ่ม ลอบปลงพระชนม์รัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย ในซาราเยโว บอสเนีย[19] อันเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินกลยุทธ์ทางการทูตระหว่างออสเตรีย-ฮังการี เยอรมนี รัสเซีย ฝรั่งเศสและอังกฤษ เรียกว่า วิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม โดยต้องการยุติการเข้าแทรกแซงของเซอร์เบียในบอสเนีย ออสเตรีย-ฮังการีจึงยื่นคำขาดเดือนกรกฎาคมแก่เซอร์เบีย ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสิบประการซึ่งมีเจตนาทำให้ยอมรับไม่ได้ และเจตนาจุดชนวนสงครามกับเซอร์เบีย[20] เมื่อเซอร์เบียยอมตกลงในข้อเรียกร้องเพียงแปดจากสิบข้อ ออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914

จักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งไม่ต้องการปล่อยให้ออสเตรีย-ฮังการีกำจัดอิทธิพลของตนในบอลข่าน และเพื่อให้การสนับสนุนชาวเซิร์บที่อยู่ในความคุ้มครองเป็นเวลานานแล้ว จึงออกคำสั่งระดมพลบางส่วนในวันต่อมา[13] เมื่อจักรวรรดิเยอรมันเริ่มระดมพลเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ฝรั่งเศส ซึ่งโกรธแค้นจากการยึดครองอัลซาซ-ลอแรนของเยอรมนีระหว่างสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย จึงสั่งระดมพลเช่นกันเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เยอรมนีประกาศสงครามต่อรัสเซียในวันเดียวกัน[21] สหราชอาณาจักรประกาศสงครามต่อเยอรมนีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 หลัง "คำตอบซึ่งไม่น่าพอใจ" ต่อคำขาดของอังกฤษที่เรียกร้องให้เคารพความเป็นกลางของเบลเยียม[22]

วิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคมและการประกาศสงคราม

สาส์นประกาศสงครามของจักรพรรดิไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 ของจักรวรรดิเยอรมนีในปี 1914

รัฐบาลของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี ได้ยกเอาเหตุผลของการลอบปลงพระชนม์ อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย เป็นการตั้งคำถามกับเซอร์เบีย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ออสเตรีย-ฮังการีได้ยื่นคำขาดแก่เซอร์เบียโดยมีความต้องการสิบข้อ ซึ่งบางข้อนั้นเซอร์เบียเห็นว่ารุนแรงเกินไป จึงปฏิเสธคำขาดข้อที่หก เซอร์เบียนั้นไว้ใจว่าตนจะได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากรัสเซีย จึงทำให้เกิดการปฏิเสธคำขาดบางกรณี และหลังจากนั้นก็มีการออกคำสั่งระดมพล จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้ตอบสนองโดยการประกาศสงครามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ในตอนเริ่มต้น กองทัพรัสเซียได้สั่งระดมพลเป็นบางส่วน มุ่งตรงมายังชายแดนของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม หลังจากที่กองเสนาธิการทั่วไปของรัสเซียได้ทูลแก่พระเจ้าซาร์ว่า การส่งกำลังบำรุงแก่ทหารเกณฑ์นันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จึงได้เปลี่ยนเป็นการระดมพลเต็มขนาดแทน แผนการชลีฟเฟ็นซึ่งมีเป้าหมายที่จะโจมตีสายฟ้าแลบต่อฝรั่งเศสนั้น ไม่สามารถให้รัสเซียสามารถระดมพลได้ นอกจากภายหลังกองทัพเยอรมันได้เข้าโจมตีแล้ว ดังนั้น เยอรมนีจึงประกาศสงครามกับรัสเซียเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม และฝรั่งเศสในอีกสองวันต่อมา หลังจากนั้นเยอรมนีก็ได้ฝ่าฝืนต่อความเป็นกลางของเบลเยี่ยมโดยการเดินทัพผ่านเพื่อไปโจมตีกรุงปารีส ซึ่งส่งผลให้จักรวรรดิอังกฤษเข้าสู่สงคราม ด้วยสาเหตุนี้ ห้าในหกประเทศมหาอำนาจของยุโรป จึงเข้ามาพัวพันอยู่ในความขัดแย้งวงกว้างภายในทวีปยุโรปครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามนโปเลียน[23]

 เส้นทางของสงคราม

 

 

 








เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน