ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ราชบุรีฯเล็งลงทุนนิวซีแลนด์เพิ่มเทหมื่นล้านบ.ฮุบ8โรงไฟฟ้าออสซี่ article

ราชบุรีฯเล็งลงทุนนิวซีแลนด์เพิ่มเทหมื่นล้านบ.ฮุบ8โรงไฟฟ้าออสซี่

วันพฤหัสบดี ที่ 03 พฤศจิกายน 2554 เวลา 0:00 น. เดลินิวส์

ท่ามกลางวิกฤติน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพฯและปริมณฑลขณะนี้ กำลังกลายเป็นมหันตภัยลูกใหญ่ของประเทศที่ไม่รู้ว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าใดเพื่อให้ก้าวผ่านพ้นปัญหา ฟื้นฟู เยียวยาสภาพประเทศ ให้สภาพเศรษฐกิจ กลับมาเดินหน้าต่อไปได้เหมือนเดิม
   
แม้ว่าปัญหาของประเทศยังมองไม่เห็นทางออกที่จะแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ แต่ในภาคของธุรกิจที่ลงทุนเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท คงไม่สามารถหยุดเดินหน้า หยุดเดินธุรกิจของตัวเองได้ เพราะหากธุรกิจที่เป็นฟันเฟืองในการหมุนเศรษฐกิจต้องหยุดเดิน...นั่นหมายความว่า ’ความพินาศ“ กำลังคืบคลานเข้าสู่ประเทศไทย
   
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าแม้จะเกิดวิกฤติน้ำท่วม แต่มีหลายธุรกิจที่ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธุรกิจการผลิตกระแสไฟฟ้า” เพราะตราบใดที่ธรรมชาติไม่หมดไปจากโลกนี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าก็ไม่มีทางที่จะหมดลมหายใจไปอย่างแน่นอน
   
ด้วยเหตุนี้ บริษัท ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ จึงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ สร้างรายได้ให้กับคนไทยและสร้างรายได้ให้กับตัวเอง โดยเฉพาะการทุ่มทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อเข้าไปซื้อกิจการของกองทุนทีเอสไอเอฟ ซึ่งเป็นกองทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของออสเตรเลีย ในสัดส่วน 80% เพื่อเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 8 แห่งในออสเตรเลีย โดยให้บริษัทในเครือคือ บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ดำเนินการในเชิงปฏิบัติทั้งหมด
   
ทันทีที่กระบวนการทางกฎหมายในระยะแรกแล้วเสร็จ ด้วยการเป็นเจ้าของหุ้นในกิจการของทีเอสไอเอฟในสัดส่วน 56.16%  ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทราช-ออสเตรเลีย จำกัด หรืออาร์เอซี  “นพพล มิลินทางกูร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราชบุรีฯ ก็ถือโอกาสพาคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมกิจการของโรงไฟฟ้าพลังงานลม “ทูร่า” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 แห่งที่อาร์เอซี เป็นเจ้าของในออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 25-29 ต.ค.ที่ผ่านมา
   
เหตุผลหลักที่ทำให้ บมจ.ราชบุรีฯ เข้าไปซื้อกิจการโรงไฟฟ้าของออสเตรเลียหลังจากได้เข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว เป็นจำนวนมาก ก็เพราะต้องการขยายการลงทุนให้มากขึ้นและมองเห็นว่าศักยภาพของออสเตรเลียนั้นมีโอกาสขยายกำลังผลิตไฟฟ้าได้อีกมากโดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่รัฐบาลออสเตรเลียกำหนดให้ในปี 2563 จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เป็น 20% ของกำลังผลิตทั้งประเทศ โดยออสเตรเลียมีกำลังผลิตติดตั้งอยู่ในปัจจุบันประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ แต่เป็นกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนเพียง 2,000 เมกะวัตต์เท่านั้น
   
การที่เลือกออสเตรเลียเพราะเปิดกว้างให้กับนักลงทุนสามารถเข้ามาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าได้  แถมยังเป็นตลาดที่มีการพัฒนาแล้ว เป็นระบบพาวเวอร์พูล มีสัญญาที่ชัดเจน มีบริษัทรับซื้อกระแสไฟฟ้าหรือออฟเทคเกอร์ที่ชัดเจน ที่สำคัญปัจจุบันที่ออสเตรเลียยังมีกฎหมายกฎระเบียบในการลงทุนที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไร แล้วจะได้อะไร จึงกลายเป็นจุดสำคัญในการตัดสินใจ
   
นอกจากนี้ยังมีสภาพธรรมชาติ โดยเฉพาะกระแสแรงลม ที่เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญ รวมไปถึงการทำธุรกิจที่ค่อนข้างคุ้มค่ากับการลงทุนโดยเฉพาะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลม “ทูร่า” ที่เมื่อเดือน ก.ย. สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 5.5 ล้านหน่วย ซึ่งในแง่ของผู้ลงทุนแล้วถือว่าเป็นผลงานที่ดีเยี่ยม เพราะเมื่อนำมาคำนวณตามระบบการซื้อขายกระแสไฟฟ้าแล้วพบว่าได้ทำรายได้ให้บริษัทมากถึง 30 ล้านบาททีเดียว
   
การเข้าซื้อหุ้นในทีเอสไอเอฟครั้งนี้ ทำให้อาร์เอซีกลายเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าในออสเตรเลียถึง 8 แห่ง ตั้งกระจายอยู่ในมลรัฐต่าง ๆ ทั่วออสเตรเลีย ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 3 แห่ง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 แห่ง  มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 1,126 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงรวม 569 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินรวม 489 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมรวม 68 เมกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่โรงไฟฟ้าของอาร์เอซี ยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าคงเหลือเฉลี่ยอีกประมาณ 11 ปี 
   
“นพพล” ยังบอกด้วยว่า บมจ.ราชบุรีฯ ได้วางเป้าหมายการลงทุนในโรงไฟฟ้าในออสเตรเลียในหลายรูปแบบ ทั้งการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มเติมอีก 3 โรง มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 100 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่อาร์เอซีมีโรงไฟฟ้าพลังงานลมอยู่แล้ว 3 แห่ง รวมกำลังการผลิต 68 เมกะวัตต์ เพราะในออสเตรเลียมีลมพัดสม่ำเสมอและความเร็วลมเฉลี่ยอยู่ที่ 8 เมตรต่อวินาที ซึ่งเหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาในรายละเอียดว่าที่ไหนที่เป็นที่น่าสนใจ เช่นในเกาะทัสมาเนีย ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย
   
ไม่เพียงแค่นี้ยังมีเป้าหมายปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วทั้ง 3 แห่ง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งนั่นหมายถึงผลตอบแทนสูงสุดที่จะได้กลับคืนมาทั้งโรงไฟฟ้าเคเมอตัน โรงไฟฟ้าทาวส์วิลเล่ย์ ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และโรงไฟฟ้าคอนวินส์วิลเล่ย์ ที่ใช้ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งตามแผนการลงทุนเบื้องต้นต้องใช้เงินลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตประมาณ 1,500 ล้านบาท ที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียดทั้งหมด รวมทั้งยังมีแผนขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้า เช่น ธุรกิจระบบสายส่ง เหมืองถ่านหิน เป็นต้น
   
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าพลังงานลม “ทูร่า” ถือเป็นทุ่งกังหันลมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของออสเตรเลีย และเป็นทุ่งกังหันลมขนาดใหญ่แห่งที่สองที่สร้างขึ้นในมลรัฐวิกตอเรีย ซึ่งเปิดใช้งานมาแล้ว 9 ปี มีกังหันลมที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจำนวน 12 ต้น ขนาดกำลังการผลิตของกังหันลม ต้นละ 1.75 เมกะวัตต์ สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 6,600 ครัวเรือน กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้มีแรงดัน 22,000 โวลต์ ซึ่งถูกส่งผ่านเข้าหม้อแปลงเพิ่มแรงดันเป็น 66,000 โวลต์ โดยบริษัท ทรู เอนเนอยี่ ซึ่งเป็นออฟเทคเกอร์หรือเป็นผู้รับซื้อกระแสไฟฟ้าจากทุ่งกังหันลมทูร่าทั้งหมด โดยส่งผ่านสายส่งของบริษัทซิตี้ พาวเวอร์ และยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 48,000 ตันต่อปี ภายในพื้นที่โครงการสามารถใช้ประโยชน์ทำปศุสัตว์ และเลี้ยงสัตว์ได้โดยไม่มีผลกระทบและถือเป็นพลังงานสะอาดที่สอด คล้องกับกฎหมายด้านพลังงานทดแทนของออสเตรเลีย
   
อย่างไรก็ตามการลงทุนของ บมจ.ราชบุรีฯ ยังไม่ได้หยุดยั้งอยู่เพียงแค่ประเทศออสเตรเลียเท่านั้น แต่ยังมีแผนเดินหน้าขยายการลงทุนไปยังประเทศนิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะมีศักยภาพของระบบผลิตไฟฟ้าเช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลีย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ บมจ.ราชบุรีฯ สามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าของบริษัทให้ได้ 7,800 เมกะวัตต์ และพลังงานทดแทนอีก 100 เมกะวัตต์ ภายในปี 59 อีกด้วย.

มาริสา  ช่อกระถิน







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน