ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ระวังภัยหนาว เพชฌฆาตที่มาพร้อมสายลม!!

ระวังภัยหนาว เพชฌฆาตที่มาพร้อมสายลม!!

 

 

รู้ทันพร้อมเตรียมตัวป้องกันภัยหนาว ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มาพร้อมลมหนาว จากคำแนะนำแนวทางป้องกันและเฝ้าระวัง โดย 3 ผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีกับสภาพดิน ฟ้า อากาศ และภัยพิบัติในประเทศไทยเป็นอย่างดี

ในช่วงฤดูหนาวของทุกปีจะมีหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากลมหนาวที่พัดผ่านมาเป็นประจำ บางจังหวัดอาจสัมผัสถึงความหนาวเย็นได้ไม่เต็มที่ แต่ในบางพื้นที่กลับกลายเป็นพื้นที่ประสบภัยหนาวโดยไม่ตั้งใจ ทีมเดลินิวส์ออนไลน์ จึงลงพื้นที่เข้าขอสัมภาษณ์ผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องภัยหนาว เพื่อแนะนำวิธีการรับมือภัยธรรมชาตินี้อย่างมีสติ และไม่ตื่นตระหนก

นายจำนง แก้วชะฎา รองอธิบดีด้านวิชาการ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงภาพรวมของอากาศในฤดูหนาวปีนี้ว่า ในปีนี้ฤดูหนาวเริ่มมาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม โดยเฉลี่ยแล้วในปีนี้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นกว่าปีที่แล้ว และช่วงที่มีอากาศเย็นที่สุดจะอยู่ในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมกราคม เพราะบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนบ่อยครั้งและต่อเนื่องมากขึ้น ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวเกือบทั่วไป และมีอากาศหนาวจัดบางพื้นที่โดยเฉพาะตอนบนของภาค

“ฤดูหนาวปีนี้จะยาวไปถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดไม่รวมยอดดอยอยู่ที่ประมาณ 12-14 องศาเซลเซียสที่ภาคเหนือ แต่ถ้าวัดอุณหภูมิตามยอดดอยจะอยู่ที่เลขตัวเดียวในหลายพื้นที่ ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดลองจากภาคเหนือที่ประมาณ 14-16 องศาเซลเซียสไม่รวมพื้นที่ยอดดอย ไม่เพียงภาคเหนือและอีสานเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์ลานีญาทำให้อุณหภูมิเกือบทั้งประเทศต่ำลงกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ภาคกลางและภาคตะวันออกในหลายพื้นที่จะมีอากาศหนาวเย็นกว่าที่เคย อีกด้วย” รองอธิบดีด้านวิชาการ กรมอุตุฯ กล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์ในการประกาศพื้นที่ประสบภัยหนาวและให้ความช่วยเหลือ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า หากพื้นที่ใดมีสภาพอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 3 วัน จังหวัดจะสามารถประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยหนาว)ได้ทันที และสามารถใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เกินปีละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สำหรับจัดหาเครื่องกันหนาวให้กับราษฎรในพื้นที่ประสบภัย

ถามถึงความอันตรายจากภัยหนาวที่หลายคนกำลังกังวล อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ภัยหนาวไม่ได้อันตรายอย่างที่หลายคนคิด ถ้ารู้จักป้องกันตัวและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในช่วงฤดูหนาว 5 ข้อคือ ไม่ดื่มสุราแก้หนาว เพราะนอกจากไม่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย ยังจะทำให้ร่างกายรู้สึกร้อน วูบวาบและอุณหภูมิร่างกายลดต่ำกว่าปกติ หากเมาหมดสติ โดยไม่ห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่นเพียงพอ อาจทำให้เสียชีวิตได้

อีกทั้ง ควรหลีกเลี่ยงการผิงไฟที่อับอากาศหรือเต็นท์ เพราะจะทำให้ร่างกายสูดดมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากควันไฟเข้าสู่ทางเดินหายใจจำนวนมาก จนขาดออกซิเจนและสำลักควันไฟ ไม่ควรนอนในที่โล่งแจ้ง โดยไม่มีสิ่งปกคลุมร่างกาย เพราะการปล่อยให้ร่างกายสัมผัสกับอากาศหนาวเย็นเป็นเวลานาน จะทำให้เส้นเลือดหดตัว การไหลเวียนของเลือดช้าลง ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน

สำหรับการดูแลเด็กเล็ก ไม่ควรให้เด็กเข้าใกล้ควันไฟหรือห่มผ้าคลุมศีรษะมิดชิดเกินไป เพราะควันไฟทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจของเด็กระคายเคือง ส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ ส่วนการห่มผ้าคลุมศีรษะมิดชิดเกินไป จะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ส่งผลให้เด็กเกิดอาการช็อคจนเสียชีวิตได้ ที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เพราะสภาพอากาศในช่วงฤดูหนาวเอื้ออำนวยต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ

“จากข้อมูลสถิติย้อนหลัง 5 ปีตั้งแต่ พ.ศ.2549/2550-2553/2554 พบว่ามีพื้นที่ประสบภัยหนาวมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2553 มีพื้นที่ประสบภัยหนาวถึง 52 จังหวัด และในปี 2554 ณ ปัจจุบัน มีพื้นที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยหนาวแล้ว 20 จังหวัด คาดว่าจะมีการประกาศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะยังเหลือระยะเวลาของฤดูหนาวอีกกว่า 2 เดือน ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประชาชนที่อาศัยบริเวณเชิงเขาและยอดดอย ซึ่งด้อยโอกาสในเรื่องเครื่องป้องกันมากกว่าคนเมือง

โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมความพร้อมรับมือภัยหนาวและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยไว้หลายทาง เช่น จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวปี 2554-2555 พร้อมประสานทุกจังหวัด ยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้ จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว” อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงความพร้อมในการป้องกันภัยหนาว

ด้าน นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า ตนไม่อยากให้ชาวบ้านในพื้นที่ และนักท่องเที่ยววิตกกับคำว่าภัยหนาวมากเกินไป เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงในการประกาศพื้นที่ประสบภัยหนาว เพื่อจะได้มีงบประมาณเตรียมการสำหรับช่วยเหลือผู้ขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มเพื่อป้องกันอากาศหนาวในพื้นที่ได้อย่างเร่งด่วน สำหรับคนที่มีกำลังทรัพย์ในการจัดหาเครื่องป้องกันอากาศหนาว ถ้าหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง 5 ข้อได้ ก็คงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

“ช่วงที่หนาวที่สุดของปีนี้จะเริ่มตั้งแต่สุดสัปดาห์นี้ไปยาวไปจนถึงปีใหม่ แต่ก็ไม่สามารถคาดการณ์แน่นอนในระยะยาวได้ เพราะผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนทำให้อากาศแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ผมอยากให้ประชาชนรับข่าวสารอย่างมีสติทุกครั้ง และหมั่นติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอถึงจะไมได้อยู่ในพื้นที่ประสบภัยแต่ก็ควรรับรู้ข่าวสารไว้เพื่อเตรียมการป้องกัน

จากสถิติหลายปีที่ผ่านมาผมมองว่าภัยหนาวไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อคนกรุงเทพฯ หรือผู้ที่อาศัยในพื้นราบปกติมากเท่ากับชาวบ้านที่อาศัยบนดอย แต่กับเป็นช่วงที่อากาศที่เย็นสบาย และน่าเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆมากกว่า เห็นได้แหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศหนาวเย็นจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้นไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับเรื่องภัยหนาว ขอเพียงทุกคนรู้จักป้องกันตัวเอง และดูแลคนรอบข้างโดยไม่ประมาท รับรองว่าภัยหนาวไม่สามารถทำอันตรายเราได้แน่นอน  ” ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าว

ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถเรียนรู้ที่จะป้องกันได้ ขอเพียงใช้สติให้มากในการรับข่าวสาร พร้อมตั้งตนบนความไม่ประมาท และเรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี เพียงเท่านี้ไม่ว่าภัยพิบัติจะมาในรูปแบบใดก็จะสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที

 







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน