ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




กรุงเทพ คาดปี 55 ในกรุงรถติดอ่วม เหนือ-ใต้-ตก-ยกเว้นตะวันออก

กรุงเทพ คาดปี 55 ในกรุงรถติดอ่วม เหนือ-ใต้-ตก-ยกเว้นตะวันออก

   

 

“รถติด” เป็นคำฮิตติดปาก ที่อยู่ใกล้ตัวคนกรุงทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่ลืมตาตื่นในแต่ละวัน คนที่ต้องออกจากบ้านเดินทางไปทำงาน หรือธุระปะปัง สิ่งแรกที่ต้องคิดคือ “วันนี้รถจะติดไหมนะ ถ้าติดจะเปลี่ยนเส้นทางไปทางไหนถึงจะดีที่สุด”

จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุหลักเกิดจาก ปริมาณรถยนต์ที่มีเพิ่มขึ้นทุกวันแปรผันตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่ถนนหนทางกลับมีเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก ทำให้ถนนมีไม่พอให้รถวิ่ง เกิดปัญหารถติดสะสมเรื้อรังนานจนหาวิธีแก้ไขได้ยากจึงหาทางออกด้วยการทำระบบขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะระบบราง จำพวกรถไฟฟ้า เพื่อขนคน ลดการนำรถยนต์ส่วนตัวออกมาใช้ ก็เป็นไปได้ยากเพราะใช้งบประมาณสูง
         
  นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ในปี 2555 คาดการณ์ว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีปัญหาการจราจรติดขัดเพิ่มขึ้น โดยดูจากปัจจัยปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นในปี 2554 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. พบว่าจำนวนรถจดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ ณ วันที่ 31 ต.ค. 2554 มีจำนวน 6,841,171 คัน เพิ่มขึ้น 396,540 คัน จากจำนวนรถจดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2553 ที่มี 6,444,631 คัน คิดเป็นร้อยละ 6.2  โดยมีรถยนต์ 4 ล้อ ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน และรถยนต์ 4 ล้อรับจ้าง จดทะเบียนรถใหม่เฉลี่ยวันละ 1,225 คัน เทียบกับปี 2553 มีจดทะเบียนใหม่เฉลี่ยวันละ 991 คัน เพิ่มขึ้น 234 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 23.6 ในขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์ มีการจดทะเบียนใหม่ในปี 2554 เฉลี่ยวันละ 1,140 คัน เทียบกับปี 2553 มีการจดทะเบียนใหม่เฉลี่ยวันละ 1,058 คัน เพิ่มขึ้น 82 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 7.8 แต่โครงข่ายถนนมีอยู่เท่าเดิมอยู่ที่ 4,149 กม.
           
สำหรับอัตราความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนสายหลักต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ ไม่รวมบนถนนวงแหวนชั้นใน ของปี 2554 ปรากฏว่า ความเร็วเฉลี่ยในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าประมาณ 16.3 กม.ต่อ ชม. ช่วงเร่งด่วนเย็นมีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 23.5 กม. ต่อ ชม. เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 พบว่า อัตราความเร็วเฉลี่ยในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า (ขาเข้าเมือง) ลดลงเฉลี่ยประมาณ 1 กม. ต่อ ชม. หรือร้อยละ 5.9 ขณะที่ชั่วโมงเร่งด่วนเย็น (ขาออกเมือง) ความเร็วเฉลี่ยลดลงประมาณ 2.1 กม. ต่อ ชม. หรือร้อยละ 8.2 ซึ่งสาเหตุที่ความเร็วเฉลี่ยรถยนต์ลดลง นอกจากจะเกิดจากปริมาณรถยนต์ที่มีเพิ่ม ยังเกิดจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อการจราจร ทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ หัวลำโพง-บางแค โครงการก่อสร้างทางลอดแยกบรมราชชนนี และแยกไฟฉาย บนถนนจรัญสนิทวงศ์ โครงการขยายถนนศรีนครินทร์ โครงการก่อสร้างสะพานลอยที่วงเวียนหลักสี่

นางสร้อยทิพย์ กล่าวต่อว่า จากปัจจัยดังกล่าวสามารถคาดการณ์ได้ว่า ในปี 2555 ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแต่เพิ่มขึ้น จากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถที่รัฐบาลได้ผลักดันโครงการ “รถคันแรก” มาเป็นแรงกระตุ้นด้วยเพียงส่วนหนึ่ง เพราะถึงไม่มีโครงการนี้คนกรุงเทพฯ ยังนิยมซื้อรถมาใช้เพื่อความสะดวกสบาย ส่วนปัจจัยน้ำท่วมทำให้รถเสียหายที่อาจส่งผลให้มีปริมาณรถน้อยลงนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะประชาชนก็ยังแห่ซื้อรถมาใช้ใหม่อยู่ดี เพื่อความสะดวกสบาย โดยหันไปใช้รถกระบะกันมากขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยจากโครงการก่อสร้างก็ส่งผลกระทบต่อการจราจรเช่นกัน ทั้งเรื่องการบูรณะซ่อมแซมถนนที่เสียหายจากน้ำท่วม โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างขยายพื้นที่ก่อสร้าง สำหรับโครงการที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ หัวลำโพง-บางแค โดยเฉพาะช่วงที่ต้องก่อสร้างผ่าเข้าใจกลางเมืองผ่านย่านเยาวราช ถนนเจริญกรุง สนามไชย มีปัญหาหนักอย่างแน่นอน โดยโครงการนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ บนถนนจรัญสนิทวงศ์และถนนเพชรเกษมอีกด้วย        

ขณะที่ด้านใต้ของกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธากับผู้รับเหมาแล้ว โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบคือถนนสุขุมวิท ส่วนพื้นที่ด้านเหนือของกรุงเทพฯ มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ที่แม้การก่อสร้างจะสร้างในแนวเขตทางรถไฟ แต่ยังส่งผลกระทบต่อการจราจรได้ในจุดที่เป็นจุดตัดของถนนสายต่าง ๆ และหากปีหน้ากรุงเทพมหานคร (กทม.) สามารถผลักดันให้เกิดการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกายได้สำเร็จ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการจราจรอย่างมาก กลายเป็นจิ๊กซอว์โครงการก่อสร้างเต็มเมือง จนหลีกเลี่ยงพื้นที่รถติดได้ยาก อย่างไรก็ตามโดยสรุปในปี 2555 จะมีปัญหาการจราจรเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชั้นในย่านเยาวราช รวมถึงชานเมืองทุกด้าน ยกเว้นด้านตะวันออกที่จะอยู่ในระดับคงที่ เพราะไม่มีโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ ทำให้คนเริ่มชิน ทางแก้ไขให้บรรเทาลงในระยะสั้น หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้าง ต้องแจ้งประชาสัมพันธ์การปิดการจราจรให้ประชาชนทราบล่วงหน้า และให้เข้าถึงทุกฝ่าย เพื่อให้มีการหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในจุดที่เป็นปัญหา ช่วยลดผลกระทบการจราจรได้ทางหนึ่ง

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ต้องผลักดันโครงการขนส่งสาธารณะ รวมถึงระบบรางให้เป็นรูปธรรมและครอบคลุมทั่วพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความสะดวกที่จะทิ้งรถไว้บ้านและเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างเห็นผล.

 

 







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน