ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




แก้น้ำท่วมต้องทั่วประเทศ

แก้น้ำท่วมต้องทั่วประเทศ

คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหาร จัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้ประชุมเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาน้ำท่วม ทั้งเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ และพื้นที่แก้มลิงในการรองรับน้ำ โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ ในวงเงินงบประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม  และขอให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งถือว่าเป็นความคืบหน้าของการวางระบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคตให้ประชาชนได้รับรู้ อย่างไรก็ตาม มีผู้ให้ความเห็นว่าอย่าได้วางแผนแก้ไขเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลางและกรุงเทพฯ เท่านั้น ควรวางแผนให้ครบทุกภาคของประเทศ

ทุก ๆ ปีนับตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไปจนถึงท้ายปีและช่วงปีใหม่ พายุฝนได้ซัดพัดถล่มประเทศไทยไล่เรียงตั้งแต่ภาคเหนือภาคอีสานมายังภาคกลางโดยปิดท้ายที่ภาคใต้ ซึ่งอุทกภัยที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จะต้องมีดินโคลนถล่มตามมาเพิ่มความเสียหายให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก  สาเหตุที่ดินถล่มไหลมาตามน้ำจำนวนมากจากฝนตกหนักก็ทราบกันดีว่าเป็นเพราะมีการตัดไม้ทำลายป่ากันมากมายในแทบทุกพื้นที่ของประเทศ ทำให้ไม่มีต้นไม้ตามธรรมชาติคอยอุ้มน้ำกันดินถล่ม เมื่อทุกฝ่ายรู้ถึงสาเหตุของน้ำท่วมหนักและดินถล่มแล้วว่าเป็นเพราะเหตุใด เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายไม่ว่าภาคใดของประเทศจะต้องดับที่สาเหตุนั้นให้ได้ผลมากที่สุด

ถ้าติดตามข่าวฝนตกน้ำท่วมดินถล่มในพื้นที่จังหวัด ภาคใต้ ก็จะรับทราบว่าเป็นเหตุการณ์ปกติทุก ๆ ปีที่ชาวบ้านต้องรับกรรมซ้ำซากทุกปีเช่นกัน โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่าตามภูเขาต่าง ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของน้ำท่วมดินถล่มเป็นประจำทุกปี แต่ที่ได้รับรู้เพิ่มเติมในครั้งนี้ก็คือการตัดไม้ทำลายป่าบนภูเขาแล้ว ผู้มีอิทธิพลและชาวบ้านก็ได้ปลูกต้นยางแทนป่าที่ถูกทำลายบนภูเขา ซึ่งจะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือจงใจก็ไม่ทราบได้ แต่รู้มาว่ารากของต้นยางนั้นสั้นไม่สามารถที่จะยึดดินให้แน่นและอุ้มน้ำจากฝนที่ตกหนักได้ เป็นผลทำให้ดินถล่มไหลจากภูเขาลงมาทับบ้านเรือนชาวบ้าน ไม่เหมือนกับต้นไม้ใหญ่ตามธรรมชาติที่รากลึกยึดดินได้แน่น 

พูดกันมานานหลายรัฐบาลว่าการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นผู้ที่รับผิดชอบจะต้องป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มงวดมากยิ่ง ๆ ขึ้น เนื่องจากผู้บุกรุกป่ามักจะนึกถึงประโยชน์ส่วนตนโดยไม่สนใจความเสียหายใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาภายหลัง โดยเฉพาะพื้นที่ภูเขาต่าง ๆ ในภาคใต้ที่ถูกทำลายแล้วนำต้นยางมาปลูกแทนป่าธรรมชาติ หน่วยราชการที่รับผิดชอบรวมถึงผู้นำตั้งแต่ระดับชาติจนถึงชุมชนควรต้องอธิบายชี้แจงให้ประชาชนได้ตาสว่างว่าการปลูกต้นยางบนภูเขานั้นไม่ถูกต้องมีผลเสียมากกว่าผลดี ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของป่าไม้ เวลาฝนตกน้ำก็ไม่ท่วมรุนแรงและไม่มีปัญหาดินถล่ม







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน