ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ชำแหละมาตรการดับไฟใต้

 
ชำแหละมาตรการดับไฟใต้

 

ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง 

แม้แต่ช่วงถือศีลอดรอมฎอน เหตุการณ์ ก็ไม่บรรเทาเบาบาง มิหนำซ้ำคนร้ายยังพุ่งเป้าไปที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่รัฐ 

ขณะที่รัฐบาลก็ออกมาตรการแก้วิกฤตปัญหา เน้นการเยียวยาและงานมวลชนให้ทั่วถึง เช่น การเพิ่มวันหยุดราชการ เพิ่มเงินเยียวยา ขยายเวลาออกทีวีภาษามลายู ฯลฯ 

แต่ก็ไม่ลืมความเข้มข้นของแผน รปภ. ด้วยการเพิ่มพื้นที่เซฟตี้โซน พร้อมกันนี้ยังแต่งตั้งคนในรัฐบาลลงไปเสริมทัพอย่างต่อเนื่องด้วย 

นักวิชาการที่ใกล้ชิดกับพื้นที่มีความเห็นต่อมาตรการดับไฟใต้ของรัฐบาลอย่างไร การแก้ไขตรงจุดหรือไม่ โดยแสดงความเห็นไว้ดังนี้ 



วรวิทย์ บารู 

ส.ว.ปัตตานี 


แม้จำนวนคนตายและปัญหาการก่อเหตุจะลดลง แต่การก่อเหตุจะรุนแรงและมีการพัฒนารูปแบบ 

โดยผู้ก่อการพุ่งเป้าไปที่ข้าราชการและทำในลักษณะที่รุนแรงมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนหวาดกลัว หวังจะดึงมวลชนออกมา ให้เห็นว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่ทหารก็ยังไม่ปลอดภัย ไม่สามารถดูแลประชาชนได้ 

วันนี้มีการฆ่ากันประทุษร้ายต่อชีวิต ประชาชนอยู่ด้วยความหวาดกลัว ใช้กลยุทธ์ให้ประชาชนเกิดความร้าวฉาน โดยเฉพาะภาพการยิงเจ้าหน้าที่ทหาร ใครดูก็หดหู่จนมีแต่คนนำไปพูดถึง 

เดือนรอมฎอนจะต้องสนับสนุนให้คนทำความดี แต่ตอนนี้กลายเป็นต้องมาจับจ้อง ถือเป็นความทุกข์ของประชาชน ฝ่ายความมั่นคงจะมีคำตอบอย่างไร เพราะหลายปีแล้วที่ทำงานไม่สำเร็จจนประชาชนวิตกไม่รู้จะอยู่กันอย่างไร 

การแก้ไขปัญหาต้องทำโดยเร็ว พร้อมกับการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่และการศึกษา รัฐจะต้องทุ่มเทให้ถึงเป้าหมาย ให้ประชาชนมีงานทำเกิดความผาสุก

ในพื้นที่จะต้องรับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะชาวบ้าน ไม่ควรแบ่งแยกชาวพุทธกับมุสลิม แนวคิดเอาทหารออกจากพื้นที่จะต้องฟังเสียงประชาชนด้วย 

การจัดเซฟตี้โซนของรัฐบาลมีทั้งข้อดีข้อเสีย หากเราเข้มไปเศรษฐกิจจะพัง ดังนั้น ต้องระดมความเห็นจากทุกส่วน สำคัญคือภาคประชาชนต้องบูรณาการความคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย 

จ.ยะลา น่าสงสาร เมื่อเราจัดเซฟตี้โซนพื้นที่ก็ปลอดภัย แต่ด้านเศรษฐกิจ ห่อเหี่ยว ดังนั้น 2 เรื่องต้องควบคู่กัน เจ้าหน้าที่ต้องมีส่วนร่วมคิดให้หนักและทำอย่างจริงจัง

ส่วนการจัดโทรทัศน์ท้องถิ่นมลายูนั้น ผมเห็นด้วย แต่ต้องนำคนที่เป็นมืออาชีพ มีประสบ การณ์ ความรู้ ความเข้าใจในท้องถิ่น อย่าทำให้เกิดความสับสนว่าภาษามลายูคือศาสนาอิสลาม 

แต่ภาษาคือความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นที่ถือเป็นทรัพยากรที่หลอมรวมเป็นประเทศไทย ต้องทำอย่างเอาจริงเอาจัง ส่วนนโยบายการเยียวยาของรัฐ ผมก็สนับสนุนเพราะบางครั้งเงินก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่เงินไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่เมื่อจะทำแล้วต้องให้ทั่วถึง

สำหรับข้าราชการในพื้นที่จะต้องเข้าใจระบบการทำงาน โดยเฉพาะการเมืองนำการทหาร ที่ผ่านมา ศอ.บต.โดยพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาฯศอ.บต. ถือว่าผ่าน ทำงานลงพื้นที่เข้าถึงประชาชน 

ส่วนทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง จะต้องประสานกันอย่างมีเอกภาพ อย่าเพียงพูดสวยหรู "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" แต่ต้องตีความให้ออกและนำไปปฏิบัติให้ได้ การใช้กำลังอย่างเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องระดมสมองช่วยกันคิดด้วย 

รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ข้าราชการต้องสนองตอบความเดือดร้อนประชาชนเพื่อให้เกิดความสอดคล้อง อย่ามองทุกฝ่ายต่างจากเรา แต่เราทุกคนคือคนไทย



พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม 

ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้
 

มาตรการของรัฐบาล เช่น การปรับปรุงเงินเยียวยา งานมวลชน ขยายเวลาออกอากาศทีวีมลายู หรือพิจารณาเพิ่มวันหยุดคริสต์มาส และวันตรุษของศาสนาอิสลามนั้น 

เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือและบรรเทา ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาความไม่สงบ จึงไม่มีผลต่อกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือ ดินแดนที่เป็นอิสระจาก รัฐบาล

การแก้ปัญหาความไม่สงบต้องเริ่มด้วยการกระจาย อำนาจหรือแบ่งอำนาจ ความแตกแยกของ 2 ชาติพันธุ์ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการเมือง จึงต้องแก้ด้วยการเมืองซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด 

ประชาชนแม้มีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง แต่การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นไม่ว่า อบจ.หรือ อบต. ยังเป็นแค่ภาพลวงตา เพราะสุดท้าย แล้วถูกครอบด้วยระบบราชการอยู่ดี 

ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่จะดูแลหรือบริหารงบประมาณได้ เพราะการปกครองระดับท้องถิ่นยังยึดโยงกับส่วนกลาง แล้วกระจาย อำนาจแค่ผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอเท่านั้น 

รัฐบาลจึงต้องกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เพราะประชาชน ต้องการการปกครองที่ไม่เอาเปรียบ มีการจ่ายภาษีอย่างเป็นธรรม หรือใช้ทรัพยากร ที่มีอย่างเป็นประโยชน์ 

ที่ผ่านมารัฐบาลแต่ละสมัยต่างล้มเหลวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้เรียกร้องหรือผู้ก่อการร้ายจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการต่อสู้ตามรูปแบบของขบวนการแบ่งแยกดินแดนและทำร้ายประชาชนบริสุทธิ์ ไม่มีอาวุธ ไม่มีทางสู้อยู่อย่างต่อเนื่อง 

มาตรการของรัฐบาลจึงเป็นแค่การปลอบใจประชาชน ยังไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง



ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์


ความรุนแรงจะเพิ่มสูงในช่วงเหตุ การณ์ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ครบรอบเหตุการณ์ความรุนแรงที่ตากใบ มัสยิดกรือเซะ วันสำคัญของขบวนการบีอาร์เอ็น ขบวนการพูโล หรือวันสำคัญทางประวัติ ศาสตร์ของเขา

อีกช่วงคือเดือนรอมฎอน ซึ่ง 2 ปีหลัง ความรุนแรงในเดือนนี้เพิ่มขึ้นชัดเจน จากเดิมที่เดือนหนึ่งเกิดไม่ถึงร้อยครั้ง ก็เพิ่มเป็นประมาณ 120 ครั้งต่อเดือน 

สาเหตุมาจากลักษณะพิเศษ ของการต่อสู้ที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ เป็นการต่อสู้ที่สะท้อน ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของขบวนการ ทั้งเรื่องชาติพันธุ์มลายู ประวัติศาสตร์ปัตตานี และศาสนาอิสลามที่มีลักษณะพิเศษของคนในพื้นที่ 

ทั้ง 3 อย่างจะผสมกันอยู่ เพราะในทางการเมืองพวกเขาถูกรัฐไทยกดทับ ปิดกั้น และทำลายมาอย่างต่อเนื่อง จึงสะท้อนออกมาในช่วงนี้ 

เมื่อเชื่อมโยงกับมิติด้านศาสนาถือเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์เลยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงนี้เพิ่มขึ้นแรงขึ้น 

นโยบายแก้ปัญหาของรัฐบาลขณะนี้ เป็นการแก้เฉพาะหน้าที่พยายามลดเงื่อนไขความรู้สึกเชิงอัตลักษณ์ต่างๆ เช่น ทีวีมลายู การใช้ภาษามลายู การศึกษา ฯลฯ 

แต่การแก้ปัญหาระยะยาวซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของสภาความมั่นคงฯ คือการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการถกเถียงแก้ปัญหาการเมืองการปกครอง การบริหารท้องถิ่น โดยพูดคุยในทางสันติและหาข้อสรุปร่วมกัน ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องทำ

รวมไปถึงการพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ประชาชน และฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล หรือหาวิธีการแก้ปัญหาในเชิงสันติ แยกคนที่ใช้ความรุนแรงและคนที่ไม่ใช้ความรุนแรงออกมาให้ชัดเจน 

ตลอดจนการให้ความสำคัญเรื่องความยุติธรรม การจัดการด้านกฎหมาย และขบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น 

ที่สำคัญต้องทบทวนการใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องยกเลิกในพื้นที่ ที่มีความรุนแรงลดลงแล้วหันมาใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเห็นต่างได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา 

ซึ่งการเปิดพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่สาธารณะให้ทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหาน่าจะเป็นหัวใจสำคัญในระยะยาว

ขณะที่การแก้ปัญหาระยะสั้นที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ก็ต้องดำเนินการด้วย 








เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน