ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




70 ถนนจุดเสี่ยง เร่งปรับด่วน หวั่นซ้ำรอยน้องมายด์ ตปท.เลิกสร้าง "แยกตัววาย"

70 ถนนจุดเสี่ยง เร่งปรับด่วน หวั่นซ้ำรอยน้องมายด์ ตปท.เลิกสร้าง "แยกตัววาย"

 

 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดโศกนาฏกรรมน้องมายด์กับเพื่อนตกสะพานรัชโยธิน เสียชีวิต ส่งผลให้ กทม.ในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลสะพานดังกล่าวต้องออกมาวางมาตรการแก้ไขและป้องกันอันตรายในอนาคต

ล่าสุด นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สั่งให้สำนักการโยธา (สนย.) และสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. ร่วมกันปรับปรุงบริเวณจุดเกิดเหตุ อาทิ ติดตั้ง Rubber Stripes (รับเบอร์สไตรปส์) หรือแถบยางบนพื้นผิวถนน เพื่อช่วยเตือนผู้ขับขี่ให้ชะลอความเร็ว เพราะใกล้ถึงโค้งอันตราย เพิ่มป้ายเตือนและป้ายแนะนำการจำกัดความเร็ว และป้ายบอกทางเข้าโค้งให้มีความชัดเจน

ขณะเดียวกันให้สำรวจความเสียหายหรือชำรุดของวัสดุอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ เช่น แบริเออร์หรือแนวกั้น สัญญาณไฟกะพริบเตือนบริเวณเขตทางโค้งหรือทางเบี่ยง หรือบริเวณทางลงทางด่วน ซึ่งเมื่อลงจากทางด่วนมาแล้วจะเจอทางแยกทันที เช่น ทางลงด่วนถนนพระราม 6 เป็นต้น หากพบว่ามีความชำรุดเสียหายหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนให้เร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขทันที



ส่งจนท.ลงพื้นที่-แก้ 70 จุดเสี่ยง

นายธีระชนระบุว่า สมัย ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าฯ เคยสำรวจเส้นทางและโค้งอันตราย พบว่าทั่วทั้ง กทม.มีมากกว่า 70 จุด ส่วนใหญ่เป็นโค้งชื่อดังที่ประชาชนรู้จักกันดี เช่น โค้ง 100 ศพถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น ที่ผ่านมา กทม. ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยนำแถบยางบนพื้นผิวถนนมาติดตั้ง รวมทั้งนำแบริเออร์ ทั้งชนิดอ่อนและแข็งมาเสริมเป็นแนวป้องกัน ทั้งสั่งการให้สนย.และสจส. ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง บริเวณเส้นทางและโค้งอันตรายเพิ่มเติมด้วย เพื่อเสริมมาตรการป้องกันเต็มที่



เร่งติดอุปกรณ์ลดแรงกระแทก

นายสุธน อาณากุล ผอ.สำนักงานวิศวกรรมจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. (สจส.) อธิบายว่า บริเวณจุดเกิดเหตุดังกล่าวมีราวกันชนในลักษณะแท่นปูนวางไว้ตรงจุดตัววาย ซึ่งติดตั้งไว้อยู่แล้วเพื่อป้องกันอุบัติเหตุรถร่วงลงมาด้านล่าง แต่แท่นปูนมีขนาดเล็กเป็นแนวเฉลียงพอดีกับการรับแรงเหวี่ยงของรถขณะกำลังเข้าโค้ง เพื่อชะลอความเร็วรถไม่ให้เกิดการเสียหลัก ซึ่งบริเวณโค้งดังกล่าวมีป้ายจำกัดความเร็วที่ 40 ก.ม.ต่อชั่วโมง

"เพื่อความปลอดภัยผู้ขับขี่ควรขับรถตามที่กฎหมายกำหนด ตัวรถจะไม่ร่วงลงไปด้านล่างอย่างแน่นอน ดังนั้น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เบื้องต้นสจส.จะนำ Crashcushion (แครชคูชั่น) หรืออุปกรณ์ลดแรงปะทะขนาดยาว 2.5 เมตร กว้าง 50 ซ.ม. สูง 90 ซ.ม. มาติดตั้งด้านหน้าของราวกันชน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นโลหะจะทำหน้าที่ลดความแรงของรถที่จะชนได้ เมื่อชนไปแล้วอุปกรณ์จะยุบตัวลงไป ขณะนี้เร่งสำรวจราคาเพื่อจัดซื้อจัดจ้างและเจ้าหน้าที่ได้สำรวจถนนและสะพานที่มีความเสี่ยงตามจุดต่างๆ อาทิ ทางยกระดับจตุรทิศ ทางยกระดับศรีอยุธยา พระราม 9 ถนนบรมราชชนนี ทางแยกรัชวิภา ฯลฯ เพื่อนำอุปกรณ์ไปติดตั้งทุกแยกในถนนต่างระดับทั้งหมด ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จเดือนก.ย.นี้" นายสุธน กล่าว



แนะใช้"แครชคูชั่น"-ขับรถช้าลง

นายเกษม ชูจารุกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า การออกแบบด้านวิศวกรรมจราจรโดยปกติแล้ว อะไรก็ตามที่เป็น "สโลป" เป็นโค้งบนถนน หรือทางแยก จะต้องออกแบบตามความเร็วที่ปลอดภัยอยู่แล้ว เพราะแน่นอนว่าจุดเหล่านี้อันตรายกว่าถนนเส้นตรงธรรมดา ฉะนั้นจึงมีการติดตั้งป้ายหรือสัญญาณไฟกะพริบเตือนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนไม่ค่อยได้สัญจรผ่านบริเวณจุดเกิดเหตุ จึงไม่เห็นภาพว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร แต่สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนต้องดูปัจจัยร่วมคือ คน รถ และถนน ประกอบกัน ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่เกินความ เร็วที่กำหนด

นายเกษมกล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดตรงทางแยกที่เป็นตัววาย จะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้ขับขี่ไม่คุ้นเคยกับเส้นทาง เกิดความลังเลในการตัดสินใจว่าจะไปทางไหน ในด้านวิศวกรรมจึงต้องติดป้ายเตือนล่วงหน้า อีกประการที่เมืองไทยยังไม่ค่อยมีคือติดตั้งอุปกรณ์บรรเทาอุบัติเหตุ เช่น แคร็ชคูชั่น ซึ่งสามารถลดแรงกระแทกและชะลอความเร็วตรงจุดทางแยกตัววาย เพราะมีศักยภาพช่วยถ่ายพลังงาน แนวคิดเหล่านี้ถึงบ้านเราจะมีแต่ไม่ได้นำมาใช้มาก ไม่เหมือนต่างประเทศที่ระบบถนนนั้นคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ปลอดภัยมากขึ้น

"ถึงจะติดตั้งแครชคูชั่นตรงทางแยกตัววาย แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ขับขี่จะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะพื้นฐานของอุบัติเหตุบนท้องถนนมาจากความเร็วของรถ ถ้าเกินว่าเกณฑ์ที่กำหนดแน่นอนว่าเสี่ยงอยู่แล้ว และจากงานวิจัยที่ผ่านมาชี้ชัดว่าความรุนแรงของอุบัติเหตุสัมพันธ์ความเร็วขับขี่" อ.วิศวกรรมโยธา จุฬาฯ ชี้



ชี้ควรทำแนวกั้นตก-ให้รถแฉลบ

นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศว กรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การป้องกันดีที่สุดควรจะทำแนวกั้นตก หรือทำให้รถแฉลบออกไปด้านอื่นแทนการตกลงไปด้านล่าง เท่าที่เคยติดตามข่าว มาอุบัติเหตุรถตกทางยกระดับหรือทางด่วนมีจำนวน 3 ครั้ง คือ ทางด่วนขั้นที่ 1 คลองเตย, รถตู้ ตกโทลเวย์ และทางต่างระดับรัชวิภา โดยบริเวณทางด่วนขั้นที่ 1 คลองเตย หลังจากเคยมีล้อรถกระบะตกลงมาใส่บ้านคนก็ใช้ตะแกรงเหล็กมาป้องกันไว้ จุดเสี่ยงอื่นๆ อาจใช้วิธีนี้ก็ได้ แต่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญไปประเมินก่อนว่าจุดใดบ้างเป็น จุดเสี่ยง

"บริเวณดังกล่าวคนไม่รู้เส้นทางจะอันตราย โดยลังเลว่าจะไปทางใดดี เพราะเป็นทางโค้ง และอาจมีข้อจำกัดของพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนการนำแบริเออร์มากั้นจุดเสี่ยงอาจเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจเพิ่มน้ำหนักกับโครงสร้างที่ไม่ได้ออกแบบรองรับไว้" นายสุทธิศักดิ์ระบุ



ตปท.เลิกสร้าง "แยกตัววาย"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการค้นหาข้อมูลจุดเสี่ยงบนทางด่วน พบว่าเมื่อปีพ.ศ.2553 นายศาสตราวุฒิ พลบูรณ์ นักวิจัยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) อ้างถึงจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เรียกว่า "ทอแคเรีย" หรือ "จุดก้างปลาตัววาย" หลังพบว่าสถิติบริเวณจุดดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด เพราะการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ออกแบบก่อสร้างให้เป็นลักษณะทางแรมป์ลาดต่ำ และเป็นเนินสูงตรงทางแยกด้านหน้ากำแพงทางด่วนเพื่อลดแรงกระแทก แต่การก่อสร้างในลักษณะนี้ต่างประเทศยกเลิกแล้ว เพราะหากรถขับมาด้วยความเร็วสูง บางจังหวะจะทำให้รถเหินตัวและตกลงด้านล่างได้ แทนที่จะลดแรงปะทะ

นายศาสตราวุฒิระบุอีกว่า ศูนย์เคยมีหนังสือถึงกทพ. เพื่อให้ยกเลิกรูปแบบการก่อสร้างจากแรมป์ดังกล่าว เปลี่ยนเป็นรูปแบบที่เรียกว่า "แครชคูชั่น" เป็นการลดแรงปะทะของรถ ใช้วัสดุเป็นเหล็กที่สปริงเรียงกันเมื่อรถพุ่งชนจะลดแรงปะทะ หยุดอยู่กับที่ไม่ตกทางด่วน แต่มีราคาสูงราว 300,000 บาทต่อจุด และอยากให้ กทพ.เร่งติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะทางแยกด่วนพระราม 6 เพราะเป็นรอยต่อทางด่วน 2 กับทางด่วน 1 โดยทางด่วน 1 จากดินแดง ท่าเรือ จะเลี้ยวขวาลงพระราม 6 ก็ต้องมาตัดกระแสรถอีก เป็นจุดที่อันตราย ขณะที่กรมทางหลวงใช้อุปกรณ์ ชนิดนี้ที่ทางด่วนมอเตอร์เวย์บริเวณก่อนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางไปแล้ว



กทพ.แก้แล้ว-จุดมหาภัยทางด่วน

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการกทพ. เปิดเผยว่า จุดเสี่ยงบนทางด่วนที่มักเกิดปัญหาอุบัติเหตุ มี 2 จุด คือ บนทางด่วนขั้นที่ 2 ตรงจุดทางลงทางด่วนรูปตัววี บริเวณถนนพระราม 6 และบนทางด่วนขั้นที่ 1 ตรงจุดทางแยกต่างระดับ บริเวณคลองเตย ที่ผ่านมาพบว่าเคยมีอุบัติเหตุรถตกลงจากทางด่วนทั้ง 2 จุด ทําให้กทพ. ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยในส่วนทางลงถนนพระราม 6 ปัจจุบัน กทพ.แก้ไขปัญหาด้วยการทําลูกระนาดตรงทางแยกเพื่อให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็ว รวมถึงตีเส้นจราจร ติดสัญญาณไฟกะพริบแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่รับรู้ล่วงหน้าในระยะไกล เพื่อให้ชะลอความเร็วและเตรียมเบี่ยงรถเพื่อขับลงทางแยกได้อย่างปลอดภัย และภายหลังการแก้ปัญหาไม่พบว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก

"ส่วนทางแยกบนทางด่วน ต่างระดับคลองเตย กทพ.นําแบร์ริเออร์หรือแท่งปูนไปติดตั้งเพื่อป้องกันไม่ให้รถตกจากทางด่วนหากเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางแยก รวมทั้งติดไฟกะพริบบอกให้ผู้ขับขี่รับรู้ว่าข้างหน้าเป็นทางแยก ซึ่งรถจะต้องชะลอความเร็ว ทําให้ปัจจุบันปัญหาการเกิดอุบัติเหตุหมดไป" ผู้ว่าการ กทพ.ยืนยัน



เสนอติด"แผงกั้นด้านหลัง"เพิ่ม

นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า ไม่อยากให้มองว่าปัญหาอยู่ที่การออกแบบถนนอย่างเดียว เพราะทางตรงธรรมดาก็มีเหตุรถพุ่งชนแผงกั้นข้างทางบ่อยครั้ง ดังนั้น การหาที่มาของอุบัติเหตุต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ทั้งสติคนขับ ช่วงเวลาเกิดเหตุ และสัญญาณจราจรบริเวณนั้น การออกแบบขอบกั้นช่วงแยกตัววายให้มีลักษณะเป็นสโลปนั้นทำถูกต้องแล้ว เพราะหากรถซึ่งขับไม่เร็วมากวิ่งมาชน สามารถแฉลบออกทางซ้ายหรือขวาได้ แต่ถ้าทำขอบตั้งสูงอุบัติเหตุจะรุนแรงมากกว่า แต่จากนี้อาจต้องช่วยกันคิดว่าควรทำแผงกั้นด้านหลังอีกชั้นหรือไม่ เพื่อไม่ให้รถที่ชนด้วยความเร็วพุ่งตกสะพาน

"การป้องกันอุบัติเหตุลักษณะนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก ทำได้โดยเพิ่มป้ายหรือสัญญาณเตือน และผู้ใช้รถต้องระมัดระวังในการขับขี่ให้มากขึ้น การขับรถในเส้นทางที่ไม่เคยผ่าน ต้องชะลอความเร็ว เพราะแม้แต่ทางตรงธรรมดาถ้าประมาทหรือขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็เกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ พื้นที่ที่เกิดเหตุอยู่ในความดูแลของ กทม. ถ้าผู้เสียหายบอกว่าถนนออกแบบไม่ดีสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่ศาลจะต้องนำสืบพยานด้วยว่าคนขับในขณะเกิดเหตุเป็นอย่างไร จึงจะสรุปได้ว่าฝ่ายใดผิด" นายกวิศวกรรม สถานฯ กล่าว



ทล.ใช้"แบร์ริเออร์ใหญ่"ป้องกัน

นายวันชัย ภาคลักษณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า บริเวณทางแยกบนถนนพื้นราบ หรือบนสะพานข้ามแยกที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทล. ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีปัญหาเรื่องการเกิดอุบัติเหตุรถชนน้อย เนื่องจากทางมีการออกแบบได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยเฉพาะบริเวณทางแยกที่เป็นรูปตัววายบริเวณสะพานข้ามแยกเกือบทุกแยก ทล.จะนำแบร์ ริเออร์ปูนขนาดใหญ่เข้าไปติดตั้งในลักษณะโค้งตามแนวถนน เพื่อป้องกันไม่ให้รถตกจากสะพานหากเกิดเหตุอุบัติเหตุขึ้นบริเวณทางแยกสะพานข้ามแยก

ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุของ ทล. ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 ที่ผ่านมาพบว่า เกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงทั่วประเทศแล้ว 7,461 ครั้ง แบ่งออกเป็น บริเวณทางตรง 4,996 ครั้ง ทางโค้ง 937 ครั้ง ทางแยก 757 ครั้ง จุดเปิดกลางถนน 597 ครั้ง ทางเชื่อม 113 ครั้ง และทางโค้งหักศอก 61 ครั้ง โดยรถยนต์นั่งประสบอุบัติเหตุสูงสุด คิดเป็น 27.85% รองลงมา รถปิกอัพ 25.74% สาเหตุส่วนใหญ่ 65.55% ขับรถเร็วเกินกำหนด และวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือวันจันทร์ 15.68%

 








เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน