ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




"วราเทพ" นั่งรมต.สำนักนายกฯ หลายฝ่ายความเห็นต่าง

 

"วราเทพ" นั่งรมต.สำนักนายกฯ หลายฝ่ายความเห็นต่าง

      กลายเป็นประเด็นถกเถียง สำหรับการแต่งตั้ง นายวราเทพ รัตนากร เป็นรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา สมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. เปิดประเด็น นายวราเทพอาจมีคุณสมบัติต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาคดีหวยบนดิน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยให้รอลงอาญา
ขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 174(5) ระบุ รัฐมนตรีต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมาไม่ถึง 5 ปี ก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ  แต่ความเห็นดังกล่าว ยังมีคนมองต่างมุม 
      กรณีนายวราเทพ โทษจำคุกเป็นโทษรอลงอาญา ขณะที่ มาตรา 102 (4) ระบุ ต้องถูกคุมขังโดยหมายศาล จึงไม่น่าจะเข้าข่ายมาตรา 174(5) อีกทั้งกรณีนี้ยังเป็นเคสเดียวกับกรณี นายเนวิน ชิดชอบ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า การรอลงโทษ ไม่ใช่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

มีความเห็นจากนักวิชาการในประเด็นดังกล่าว

ตระกูล มีชัย 
ภาควิชาการปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

     ถ้ามีปัญหาก็ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่กระบวนการที่เดินไป ปัญหามีว่า 1. ระหว่างที่ส่งศาลฯ มีการโปรดเกล้าฯ มาแล้ว 2. ต้องรอการถวายสัตย์ปฏิญาณตน ระหว่างรอคำวินิจฉัยศาลฯ ในเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องให้เป็นไปตามขั้นตอน คือหลังถวายสัตย์ก็ทำงานไป แต่หลังศาลฯวินิจฉัย ศาลฯ เห็นว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น เรื่องจะได้จบ การตีความเรื่องนี้มองได้ 2 มุม คือมองว่าเป็นแบบเดียวกับกรณีของนายเนวิน ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์เคยพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยให้รอลงอาญา 1 ปี ซึ่งศาลฯ ชุดก่อน (นายเชาวน์ สายเชื้อ เป็นประธาน) วินิจฉัยว่า การรอลงโทษไม่ใช่เป็นการต้องคำพิพากษาให้จำคุก กรณีของนายเนวิน จึงไม่ถือว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุกตามความหมายของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 216 (4) ความเป็น รัฐมนตรีของนายเนวิน จึงยังไม่สิ้นสุดลง แต่กรณีนายเนวินที่เกิดขึ้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540 ขณะที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 มีการเพิ่มเติมบางอย่าง และตอนร่างก็มีการพูดถึงประเด็นความเป็นผ้าขาวของรัฐมนตรี กรณีของนายเนวิน มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากเรื่องเจตนา รมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการรัฐมนตรีที่เป็นผ้าขาว ต้องการให้รัฐมนตรีเป็นบุคคลพิเศษเหนือบุคคลอื่น ซึ่งหลักการนี้ผมว่านักวิชาการต่างยอมรับ ตอนวินิจฉัยกรณีนายเนวิน ผม นักวิชาการรัฐศาสตร์ หรือ นายธงทอง จันทรางศุ ก็วิพากษ์วิจารณ์ รัฐธรรมนูญต่างฉบับ องค์คณะตุลาการที่ต่างกัน และไม่ได้หมายความว่าคำวินิจฉัยครั้งแรกของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นบรรดาทัดฐานเหมือนกับคำตัดสินของศาลฎีกา ดังนั้นเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องส่งศาลฯ วินิจฉัย เพื่อความบริสุทธิ์ใจรัฐบาลน่าจะทำเรื่องส่งศาลฯเอง ศาลฯเห็นอย่างไรเรื่องจะได้จบ 


นิรันดร์ ประดิษฐกุล 
ส.ว.สรรหา อดีตผู้เชี่ยวชาญประจำศาลรัฐธรรมนูญ

      กรณีคุณสมบัติของนายวราเทพ ที่เคยถูกตัดสินจำคุกคดีหวยบนดิน แต่ศาลให้รอลง อาญา 2 ปี อาจนำไปเทียบเคียงกับคำพิพากษาของนายเนวิน ต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อปี 2542 เหมือนดังที่โฆษกศาลรัฐธรรมนูญเคยออกมาให้ความเห็นได้ เนื่องจากมีประเด็นที่คล้ายกัน เพราะในทางกฎหมายการตัดสินให้รอลงอาญาเท่ากับว่ายังไม่ติดคุก จึงไม่เข้าข่ายต่อมาตรา 174 (5) แต่ก็ต้องลงไปดูในรายละเอียดของคดีด้วยเช่นกันว่าเหมือนกันทั้งหมดหรือไม่ หากเหมือนกันทั้งหมด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะใช้คำพิพากษาของนายเนวิน เป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยกรณีของนายวราเทพ เนื่องจากในวงการตุลาการมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำต่อกันมา เท่ากับว่านายวราเทพก็จะหลุดจากข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติ  ส่วนที่มีการมองว่าทั้งสองกรณีเกิดขึ้นระหว่างการบังคับใช้รัฐธรรมนูญคนละฉบับคือ ปี 2540 และ ปี 2550 ตรงนี้ยังไม่แน่ใจว่าหลักใหญ่ใจความของรัฐ ธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ นั้นเหมือนกันหรือไม่ ถ้าเหมือน กันก็เป็นที่แน่นอนว่าบรรทัด ฐานการตัดสินยิ่งต้องไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ การนำประเด็นดังกล่าวไปเชื่อมโยงกับมาตรา 182(3) ว่าด้วยเรื่องการสิ้นสุดของรัฐมนตรี ก็ไม่น่าจะนำมาเทียบเคียงได้ เนื่องจากครม.ยิ่งลักษณ์ 3 อยู่ในขั้นเพียงโปรดเกล้าฯ แต่ยังไม่ได้มีการรับรองสัตยาบัน เท่ากับว่าสถานการณ์เป็นรัฐมนตรียังเกิดขึ้นไม่สมบูรณ์นั่นเอง

เสรี สุวรรณภานนท์ 
อดีตรองประธานส.ส.ร. 50
 
     พูดให้เข้าใจง่ายเลย รัฐธรรมนูญแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ ชัดเจน ระหว่างบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่ง กับบุคคลที่อยู่ในตำแหน่ง นายวราเทพ เป็นบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 174 ว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี แต่สำหรับบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งและต้องพ้นออก จึงจะเป็นไปตามมาตรา 182 คือการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อดูมาตรา 174 (5) ที่ระบุว่า "ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ" นายวราเทพโดนโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา ตั้งแต่ปี 2552 ในคดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เราอย่าไปตีความให้ยุ่งยาก ที่มองว่ายกเว้นโทษเฉพาะความผิดเล็กน้อย หมายความว่า ถึงแม้ศาลจะสั่งจำคุกแต่ถือว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดก็ยังได้รับการยกเว้นอยู่ ซึ่งบุคคลที่จะเข้าข่ายโทษมาตรานี้จึงจะต้องถูกจำคุกมาแล้วเท่านั้น แต่นายวราเทพมีติ่งดีตรงที่รอเว้นโทษ กฎหมายยังให้เรามองเชื่อมโยงกับมาตรา 102 (4) ด้วย ซึ่งตีความการจำคุก เช่นกันว่า "ต้องคำพิพากษาให้ จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล" จึงจะถือว่าเป็นลักษณะบุคคลต้องห้ามเข้ารับตำแหน่ง ในทางกลับกัน หากได้รับโทษถึงแม้จะรอลงอาญา แต่ถ้าอยู่ระหว่างนั่งเป็นรัฐมนตรี ก็ต้องออกจากตำแหน่งอย่างเด็ดขาดตามมาตรา 182 (3)  ประเด็นการพ้นของรัฐมนตรีเป็นปัญหามาตลอดในอดีต จนกระทั่งการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ส.ส.ร.จึงปรับแก้ไข แบ่งแยกการมา การไป ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่เว้นแม้แต่ชาวบ้านก็ยังเข้าใจคำว่า จำคุก ในทางประมวลกฎหมายอาญาเลยว่าเป็นการเอาตัวไปคุมขังไว้ในเรือนจำ ตามกำหนดเวลาที่ศาลพิพากษา ซึ่งมีบรรทัด ฐานมายาวนานกันเป็นร้อยๆ ปีแล้ว หลักทฤษฎีเหมือนเดิม แต่การนำไปใช้ของคนกลับพยายามพลิกแพลงกันเอง 
ผมไม่อยากก้าวล่วงความคิดเห็นบุคคลอื่นที่คิดต่าง แต่ขอว่าอย่ายึดอารมณ์ตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วใช้กฎหมายไปในทางที่ผิดๆ



 
 






เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน