ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




บทสรุปของสนามแบงคอกฟุตซอลอารีน่า

 

 
Pic_304310

 

หลังจากยืดเยื้อ ซื้อเวลากันมานาน ในที่สุด สนาม "แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา" ก็จะกลายเป็นเพียง "อนุสรณ์" อย่างที่ท่านผู้หลักผู้ใหญ่บางคน ได้ออกตัวแก้ต่างไว้ตั้งแต่ต้นจริงๆ 

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ฟีฟ่า ได้พิพากษาเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้ใช้สนามดังกล่าวแม้แต่รอบเดียว ในศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 ที่ไทย เป็นเจ้าภาพจัดครั้งแรก และคาดว่า น่าจะเป็นครั้งสุดท้าย!!!

ดูเหมือนจะเป็นการตบหน้า กทม. และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างจัง แม้จะอุตส่าห์มุ่งมั่นช่วยกันพยายามสร้างสนามให้เสร็จอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่หวั่นท่ามกลางเสียงครหานินทาว่า "ดันทุรัง" เกินไป

แต่เพราะในสภาพที่ "ผักชี" ท่วมสนามอย่างที่ชาวบ้านตาดำๆ อย่างเรายังเห็น ก็จึงไม่แปลกที่ องค์กรลูกหนังระดับโลกอย่าง "ฟีฟ่า" จะทำเป็นทองไม่รู้ร้อน มองข้ามไปได้

แม้ก่อนหน้านี้ จะเสียความน่าเชื่อถือไปบ้าง จากความพยายาม "รอมชอม" ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลพลังภายในอะไรก็แล้วแต่ หลังจากสนามแห่งนี้เสร็จไม่ทันกำหนดการส่งมอบ ครั้งแล้วครั้งเล่า

แม้ว่าจะอุตส่าห์พยายามตัด, ลด, ข้ามขั้นตอนรายละเอียดยิบๆ ย่อยๆ บางอย่าง เหลือเพียงเน้น "การใช้งาน" เพื่อประหยัดเวลา จนทำให้รูปร่างสนาม รวมถึง ภูมิทัศน์ โดยรอบ "ผิดเพี้ยน" ไปจากต้นฉบับเดิมแล้วก็ตาม

แต่ "ความปลอดภัย" คือประเด็นสำคัญที่ ฟีฟ่า ให้เหตุผล รวมถึงภาพลักษณ์ขององค์กร ที่อาจเสียหน้าไม่น้อย หากยอมปล่อยให้ภาพของสนามที่มีสภาพ "พิกลพิการ" ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก 

ไม่ว่าจะเพราะปัญหาจากการบริหาร, เกมการเมือง หรือ ปัจจัยทางธรรมชาติต่างๆ  นี่ก็ถือเป็นอีก "บทเรียน" ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนัก หากจะต้องการ ขอเสนอตัวรับเป็นเจ้าภาพทัวร์นาเมนต์ระดับโลก ในอนาคตข้างหน้า

และวันนี้ "ทีมข่าวกีฬาไทยรัฐออนไลน์" จึงนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในการสร้างสนามแห่งนี้ ที่ครั้งหนึ่ง เตรียมจะถูกยกย่องว่าเป็น 1 ใน 5 สนามกีฬาอินดอร์ที่ดีที่สุดในเอเชีย แต่สุดท้าย กลายเป็นเพียง "สนามร้าง" ที่ไม่สมประกอบ มาให้ได้ทบทวนกันอีกครั้ง 

ลำดับเหตุการณ์ สู่วันอวสานของ "แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา" 


วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2553 ฟีฟ่า มีมติให้ไทยเป็นเจ้าภาพ ฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2553 รัฐบาลมีมติให้สร้างสนามแห่งใหม่ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร แถวหนองจอก
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554 รัฐบาลมีมติอนุมัติงบประมาณก่อสร้าง 1,239 ล้านบาท 
เดือนสิงหาคม พ.ศ.2554 เสนอแบบเพื่อให้กระทรวงมหาดไทยอนุมัติ
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2554 ผ่านการเห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงินดังกล่าว
วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2555 กทม. เซ็นสัญญา กับ บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) ภายใต้สัญญาเสร็จสิ้นการก่อสร้างในช่วงกลางปี พ.ศ.2556 หรือใช้เวลาราว 500 วัน
วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2555 เริ่มก่อสร้างสนาม
วันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2555 มีพิธีวางศิลาฤกษ์ สนามแบงค็อก ฟุตซอล อารีนา 
วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2555 กทม. ตั้งชื่อสนาม "แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา"
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2555 กทม. อ้างว่าไม่ได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้าง ในงวดที่ 3
เดือนมิถุนายน พ.ศ.2555 มีรายงานว่า การก่อสร้างสนาม มีความคืบหน้าไปแล้วถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเร่งทำงานกันอย่างเต็มที่ 24 ชั่วโมง 
เดือนกันยายน พ.ศ.2555 นางนฤมล ศิริวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา คาดการณ์ว่า การก่อสร้างสนามอาจไม่เสร็จสิ้นทันการแข่งขัน 
วันที่ 30 กันยายน- 2 ตุลาคม พ.ศ.2555 ฟีฟ่า เดินทางมาตรวจความพร้อมของสนาม แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา, นิมิบุตร
วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2555 ฟีฟ่า ประกาศยกเลิกใช้สนามแบงค็อก ฟุตซอล อารีนา จัดพิธีเปิด และการแข่งขันรอบแรก 
วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2555 ฟีฟ่า กำหนดการส่งมอบ สนาม แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา แต่ กทม.สร้างไม่เสร็จ และต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 29 ต.ค.
วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2555 มีข่าว กทม.เผย ติดปัญหาการนำเข้าพื้นปูสนามฟุตซอลที่สั่งมาจากสหรัฐฯ ซึ่งติดอยู่ที่ด่านศุลกากรในประเทศจีน และฟีฟ่า ประกาศเลื่อนการส่งมอบอีกครั้งอย่างไม่มีกำหนด
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2555 แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยมีการจัดการบวงสรวง และ จัดเกมฟุตซอลนัดพิเศษระหว่าง "เอ็มบีเอออลสตาร์" กับ ทีมร่วมสื่อมวลชน เพื่อทดสอบสนาม
วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2555 ฟีฟ่า พร้อมให้ สนาม แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา จัดการแข่งขันตั้งแต่รอบก่อนรองชนะเลิศ ไปจนถึงนัดชิงชนะเลิศ ถ้าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ไว้ได้ ภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน
วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ฟีฟ่า ประกาศ ไม่อนุญาตให้ใช้สนามแบงค็อก ฟุตซอล อารีนา จัดการแข่งขันทุกรอบ ในศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 พร้อมโยกโปรแกรมรอบก่อนรองชนะเลิศ ไปเตะที่ สนามนิมิบุตร, รอบรองชนะเลิศ, ชิงอันดับ 3 และ รอบชิงชนะเลิศ เตะที่ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก

 

 

 

 






เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน