ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ปัญหาสเตียรอยด์ ปลอมปนในสมุนไพรไทย article
ปัญหาสเตียรอยด์ ปลอมปนในสมุนไพรไทย
 
 
 
           บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข มักจะออกมาให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนอยู่เสมอว่า พบสารสเตียรอยด์ หรือ ยาสเตียรอยด์ ปนอยู่ในยาสมุนไพรที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด และมักจะตบท้ายอยู่เสมอว่า การรับประทานยาที่มีการปลอมปนสารดังกล่าวจะเกิดโทษร้ายแรงตามมา แต่ก็มักจะเป็นแต่เพียงการให้ข้อมูลแบบสรุป ชาวบ้านที่รับข่าวสารดังกล่าวมักจะไม่ทราบในเชิงลึกว่า สารสเตียรอยด์ คือสารชนิดใด, มีชื่อว่าอะไรบ้าง?, ผลเสียที่จะมีจากการบริโภคสารดังกล่าวมีอย่างไรบ้าง? ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคยาดังกล่าว การที่จะหลีกเลี่ยงสารสเตียรอยด์ด้วยการเว้นจากการกินยาตามตำรับแผนไทยเสียทั้งหมด ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการตัดสินใจที่มักง่ายเกินไป และเป็นการดูถูกภูมิปัญญาของบรรพชนไทยเองอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง, ผู้เขียนจึงอยากจะนำเอาความรู้เรื่อง "สเตียรอยด์" มาเล่าสู่กันฟัง เมื่อทราบว่าสเตียรอยด์คืออะไร, มีผลดี ผลเสีย อย่างไร, เหตุใดจึงเกิดการปลอมปนในยาสมุนไพร และเราจะหลีกเลี่ยงสารประเภทนี้ได้อย่างไร ก็จะเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอีกทีหนึ่ง

           สเตียรอยด์ (steroid) ในเมืองไทยเห็นมีคนออกเสียงกันถึง 3 อย่างด้วยกัน คือ สเตียรอยด์, สเตอรอยด์ และ สตีรอยด์ แต่จากการสอบถามคนที่อยู่ในแวดวงของเภสัชกร นิยมออกเสียงว่า "สเตียรอยด์" เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นต่อไปเราก็จะใช้ว่า สเตียรอยด์ เท่านั้น

            สเตียรอยด์ คืออะไร? หากเราจะไปเปิดตำราที่เกี่ยวกับการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็จะพบคำอธิบายเพียงย่อๆ สั้นๆ ซึ่งคนธรรมดาที่ขาดความรู้พื้นฐานทางวิชาเคมีค่อนข้างจะงุนงงและไม่ได้รับความกระจ่างแต่อย่างใด ท่านลองพิจารณาดูจากคำอธิบายต่อไปนี้

  1.Steroid n. กลุ่มของสารประกอบ ที่ประกอบด้วย 4 carbon rings ที่ต่อกันเป็นระบบ เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างของฮอร์โมนหลายชนิด (ที่มา-พจนานุกรมศัพท์แพทย์, สนพ. แห่งจุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552)

  2.Steroid (สเทอ" รอยด์) กลุ่มของสารประกอบที่ประกอบด้วย 4 carbon rings ที่ต่อกันเป็นระบบ hydrogenated cyclopentophenanthrene-ring ได้แก่ ฮอร์โมนหลายชนิด, cardiac, aglycones, bild acids, sterols และอื่นๆ (ที่มา-พจนานุกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, รวมสาส์น, 2543)

  3.Steroids สารที่ได้จากสารจำพวกที่มาจากไขมันและน้ำมันเป็น derived lipids ซึ่ง ได้แก่ sterols, bile acids, ฮอร์โมนบางอย่างและกลูโคไซด์, วิตามินดี (ที่มา-พจนานุกรมศัพท์วิทยาศาสตร์, ระวิ สงวนทรัพย์, โอเดี้ยนสโตร์, 2546)

  4.Steroid/"steroid, "stieroid/ n. (chemistry) any of a number of chemical compounds produced naturally in the body, including certain hormones (HORMONE) and vitamins (VITAMIN). Steroids can be used to treat various diseases and are also sometimes used by various diseases and are also sometimes used by sports players to improve their performance. (ที่มา-OXFORD Advanced Learner"s Dictionary, OXFORD UNIVERSITY PRESS, 1995)

           จากตัวอย่างคำอธิบายทั้ง 4 ข้อ ข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า สเตียรอยด์ นั้น เป็นสารประกอบชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างทางเคมีเฉพาะที่แน่นอน ซึ่งร่างกายสร้างขึ้นได้ ซึ่งก็ได้แก่ ฮอร์โมนหลายชนิด, กรดน้ำดี, สารประกอบไขมันชนิดแอลกอฮอล์ (สเตอรอล), และอื่นๆ ซึ่งนำมาใช้รักษาโรคได้ อีกทั้งบางชนิดก็นำมาใช้ในการกีฬาต่างๆ ได้ด้วย ที่ได้ยกมาประกอบไว้ ก็เพื่อให้คนที่ชอบในเชิงวิชาการได้ศึกษาเพิ่มเติมเท่านั้น ส่วนท่านที่เห็นว่าน่าจะเป็นการรกสมองเกินไป ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจดไปจำอะไรให้มากเรื่อง ประเดี๋ยวในตอนท้ายๆ ผู้เขียนจะสรุปเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันอีกทีก็แล้วกัน

           ยาในกลุ่มของสเตียรอยด์นั้น จัดเข้าในจำพวกยาแก้อักเสบ (Anti Inflammatory drugs) ซึ่งหมายถึง ยาที่ใช้เพื่อลดการอักเสบต่างๆ อันได้แก่ อาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณผิวหนัง หรือตามข้อ เป็นต้น แต่อาการดังกล่าวก็อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน, ยาแก้อักเสบแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มสเตียรอยด์ (steroids) เช่น ยาเพร็ดนิโซโลน, เด็กซาเมทาโซน, ไตรแอมซิโนโลน และไฮโดรคอร์ติโซน เป็นต้น และอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroid) พวกหลังนี้ ก็เช่น แอสไพริน, อินโดเมทาซิน และฟินิลบิวตาโซน เป็นต้น

           ไหนๆ ก็พูดถึงยาแก้อักเสบแล้ว หลายคนอาจจะจำสับสนกับยาปฏิชีวนะ เพราะคุ้นเคยมาด้วยกันทั้ง 2 ชื่อ ก็ขอเรียนว่า ยา 2 ชื่อนี้ เป็นคนละพวกกัน, ยาปฏิชีวนะ มีความหมายว่า เป็นยาที่ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (bacteria-สมัยก่อนมักจะเรียกว่า "บัคเตรี" ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก บางชนิดก่อให้เกิดโรคได้ เช่น โรคต่อมทอนซิลอักเสบ, ไซนัสอักเสบ, หูอักเสบ และไข้หวัดจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น)

           เชื้อโรคที่มีในธรรมชาติอีกพวกหนึ่ง ได้แก่ เชื้อไวรัส (virus) เป็นเชื้อชนิดที่มีขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดใช้แสง เช่น โรคหัดเยอรมัน, อีสุกอีใส, คางทูม, ไข้เลือดออก, เริม, งูสวัด และตับอักเสบจากไวรัส เป็นต้น

            ยาปฏิชีวนะ ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (ซึ่งเป็นต้นเหตุของการอักเสบ) แต่ยาแก้อักเสบใช้แก้อาการอักเสบ, พวกเราเคยได้ยินชื่อยาปฏิชีวนะกันมาแล้วทุกคน ซึ่งก็ได้แก่ยาที่มีชื่อลงท้ายด้วย คำว่า "มัยซิน" ทั้งหลายนั่นเอง เช่น อีริโทรมัยซิน, คลาริโอมัยซิน, เจนตามัยซิน หรือพวกที่ลงท้ายด้วย คำว่า "ซิลลิน" เช่น เพนนิซิลลิน, อะม็อกซีซิลลิน, แอมพิซิลลิน หรือพวกที่มีชื่อลงท้ายด้วย คำว่า "ซัยคลิน" เช่น เตตร้าซัยคลิน และด็อกซี่ซัยคลิน เป็นต้น พวกที่มีชื่อต่างออกไปแต่นับเข้าเป็นพวกยาปฏิชีวนะ ก็มี เช่น คลอแรมเฟนิคอล, เซฟาโซลิน, ไรแฟมบิซิน และอื่นๆ อีกหลายตัว, ภาษาอังกฤษเรียกยาพวกนี้ว่า Antibiotic Drug

           เป็นอันว่า พวกเราได้รู้ถึงข้อแตกต่างระหว่างยาแก้อักเสบ (พวกสเตียรอยด์ กับ พวกไม่ใช่สเตียรอยด์) และ ยาปฏิชีวนะ กันแล้ว ต่อไปก็จะได้เน้นไปที่ยาสเตียรอยด์กันเสียที

           ชาวโลกเริ่มได้รู้จักยาสเตียรอยด์เอาใน ปี พ.ศ. 2493 คือ เมื่อราว 62 ปีก่อน โดย นายแพทย์ฟิลลิป เฮนซ์ ได้นำเอายาคอร์ติโคสเตียรอยด์มาใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งได้ผลดีมากในระยะแรกๆ ทำให้ต่อมาเขาได้รับรางวัลโนเบล, แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่า มีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นในหมู่คนไข้ที่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในขนาดสูงๆ อาการดังกล่าว ก็คือ กระดูกบาง หน้าบาง ผิวบาง เบาหวานกำเริบ ภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่ำ เป็นต้น ทำให้แพทย์ต้องกลับมาทบทวนถึงผลดีผลเสีย, เทคนิคในการใช้ยาจากข้อบ่งชี้ต่างๆ จนพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงยุคปัจจุบัน สรุปแล้วแพทย์ยังเห็นว่า ยาสเตียรอยด์เป็นยาดีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางอย่างเหนือกว่ายาชนิดอื่น ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรค หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก โดยช่วยลดการอักเสบในการรักษาโรคข้ออักเสบ (Synovitis) โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis) โรคเส้นเลือดอักเสบ (Vasculitis) และโรคไตอักเสบ (Nephritis) นอกจากนี้ ก็ยังใช้ในโรคลูปัส (SLE-Systemic Lupus erythematosus) คือ โรคที่เกิดจากภูมิแพ้ตัวเอง (autoimmune) ที่ทำให้เกิดอาการขึ้นได้ในทุกระบบของร่างกาย, โรคไตอักเสบ, โรคหืด, โรคการอักเสบของระบบประสาทบางชนิด และโรคเลือดบางชนิด เป็นต้น

          ในวงการแพทย์ทั่วโลกต่างถือว่า นายแพทย์ฟิลลิป เฮนซ์ เป็นผู้ที่มีคุณูปการแก่ชาวโลกอย่างมหาศาล แต่ทั้งนี้การใช้ยาสเตียรอยด์จะต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น เพราะการใช้ยาสเตียรอยด์จะต้องใช้ยา (บริหารยา) ในหลายรูปแบบด้วยกัน จึงจะเกิดประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะยาสเตียรอยด์มีทั้งชนิดกินและชนิดฉีด, ขนาดของยาต้องเหมาะสมกับอาการของโรค, หากขาดยาสเตียรอยด์เสียแล้ว คนไข้ในโรคบางอย่างจะตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่เลยทีเดียว

            เมื่อคนไข้หายหรือแทบจะไม่มีอาการของโรคนั้นๆ แล้ว แพทย์จะหยุดสั่งยาสเตียรอยด์ในทันที

            ขอย้อนกลับไปที่ชื่อของ คอร์ติโคสเตียรอยด์อีกสักหน่อย, คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) มีอีกชื่อหนึ่งว่า คอร์ติคอยด์ (Corticoid) หมายถึง สเตียรอยด์ที่ได้มาจากเปลือกหมวกไต, เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการรักษาสมดุลของร่างกายทั่วไป ประกอบด้วย คอร์ติซอล, แอลโดสเตอโรน และคอร์ติโคสเตอโรน, แต่ในเชิงการค้านั้น การผลิตยาสเตียรอยด์ดังกล่าวเขาใช้วิธีการสังเคราะห์สารเตียรอยด์เลียนแบบสารที่ร่างกายมนุษย์ผลิตขึ้น

           โดยปกติแล้วยาสเตียรอยด์นั้น เป็นยาที่มีกฎหมายควบคุม โดยถือว่า เป็น "ยาควบคุมพิเศษ" ไม่ใช่ยาที่ใครอยากจะซื้อก็ซื้อได้ ต้องมีแพทย์หรือเภสัชกรสั่งตามความจำเป็นของคนไข้แต่ละรายเท่านั้น แต่ก็น่าแปลกตรงที่มีคนนำเอายาดังกล่าวไปใช้ปลอมปนในยาตำรับแผนไทยได้ แสดงว่า การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับยาต้องมีช่องโหว่อยู่อย่างแน่นอน

           เรื่องของการนำเอาสารสเตียรอยด์ไปผสมกับยาในตำรับแพทย์แผนไทยนั้น มีรายงานในบทความ เรื่อง "สถานการณ์ยาสตีรอยด์" เขียนโดย "ภก. ภาณุโชติ ทองยัง" ซึ่งเป็นประธานชมรมเภสัชชนบท ตีพิมพ์ในนิตยสาร "หมอชาวบ้าน" ฉบับที่ 399-กรกฎาคม 2555 พอสรุปได้ว่า มีการนำเอายาสเตียรอยด์พวกเด็กซาเมทาโซน, เพร็ดนิโซโลน และยาแผนปัจจุบันอื่นๆ ไปผสมในยาแผนโบราณ (ทั้งยาผง, ยาลูกกลอน, ยาน้ำ และแคปซูล เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552) และในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2553-2554 พบการปลอมปนของยาแผนปัจจุบันในยาเม็ด 38.4%, ยาผง 23.7%, ยาน้ำ 56.8% และยาแคปซูล 9.1% เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่า ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะได้รับสารสเตียรอยด์สูง 4-12 เม็ด ต่อวัน บางรายได้รับนานถึง 3 เดือน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น เรื่องของการปลอมปนสารสเตียรอยด์ในยาแผนไทย จึงไม่ใช่ "ข่าวโคมลอย" หากเป็นเรื่องที่น่าวิตกและน่าตกใจเป็นอย่างมาก

          ยาแผนปัจจุบันอย่างอื่นที่นำไปปลอมปนในยาแผนไทย ก็ได้แก่ ยาลดไขมัน, ยาแก้ปวด แก้อักเสบ, ยาแก้แพ้, ยาแก้ไข้ และยานอนหลับ

          ยาในกลุ่มสเตียรอยด์นั้น มีหลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่ ยาทาภายนอก แก้ผื่นแดง, ยาหยอดตา แก้ตาอักเสบที่ไม่ได้ติดเชื้อ, ยาฉีดเฉพาะที่ (เข้าข้อ) แก้ข้ออักเสบชนิดรูมาตอยด์, ยาพ่นบรรเทาหอบหืด, ยากินในโรคหลายชนิด และยาฉีดเข้าหลอดเลือด

          อันตรายจากการใช้ยาสเตียรอยด์ไม่ถูกต้อง (ได้รับในปริมาณมากและเป็นเวลานาน) จะทำให้เกิดอาการน้ำคัดหลั่งจากเปลือกต่อมหมวกไตมากเกินปกติ (Cushing"s Syndrome) ซึ่งท่านผูกเป็นคำคล้องจองไว้ว่า "หน้าจันทร์แรม, แถมอ้อยเชื่อม, เอื้อมไม่ไหว, ยายกี๋หนวด, ปวดกระดูก, ลูกทะเล, เท่เหมือนควาย, ลายหน้าท้อง และ หมองสกิน"

            ซึ่งมีคำอธิบายว่า หน้าจะกลมเหมือนพระจันทร์ (moon face), น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, มีขนเพิ่มตามใบหน้าและผิวหนัง, ปวดกระดูก กระดูกบาง พรุน ผุ, เกลือ และความดันเพิ่ม, เกิดหนอกไขมันที่ต้นคอด้านหลัง, หน้าท้องลาย พุงป่อง และผิวหนังบางและลาย เกิดสิวเม็ดเล็กๆ ตามลำดับ

             ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า ยาสมุนไพรตามตำรับแพทย์แผนไทยนั้น ไม่ได้มีสารสเตียรอยด์ที่คนส่วนใหญ่เกรงถึงภัยอันตรายแต่อย่างใด แต่จะมีขึ้นได้ก็แต่เมื่อมีคนนำเอาสารดังกล่าวไปปลอมปนในยาสมุนไพรเท่านั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้น เกิดจากผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเพียงไม่กี่คน (อาจจะมีบางคนที่กระทำไปด้วยความที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์) ซึ่งส่งผลเสียหายแก่ภาพลักษณ์ของสมุนไพรไทยทั้งหมดและแก่ผู้บริโภค, ผู้ที่กระทำการปลอมปนดังกล่าว นอกจากจะถือได้ว่ากระทำความชั่วแล้ว ยังเป็นผู้ที่สร้างบาปแก่ผู้บริโภคอย่างเลือดเย็นอีกด้วย เป็นสิ่งที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง สมควรที่พวกเราจะช่วยกันดูแลเอาใจใส่และระมัดระวังร่วมกัน

            เจตนาในการเขียนเรื่องนี้, ผู้เขียนต้องการให้คนไทยมีความรู้เรื่องสารสเตียรอยด์ดีขึ้น คือ รู้ว่าสารสเตียรอยด์มีคุณสำหรับผู้ที่เป็นโรคบางโรค และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น ส่วนการนำเอาสารดังกล่าวมาปนอยู่ในยาสมุนไพรในทุกรูปแบบเป็นการกระทำที่จะก่อให้เกิดโทษมหันต์...
 






เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน