ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




นครพนม-ทุบสถิติ!รับปีใหม่ สืบสานทำบุญเผาข้าวหลาม2,556 บั้ง

นครพนม-ทุบสถิติ!รับปีใหม่ สืบสานทำบุญเผาข้าวหลาม2,556 บั้ง 

วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:45:37 น.

   

 
          ที่วัดบ้านดงโชค ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม   นายณรงค์  แสงเมือง อายุ 54 ปี  อดีตกำนันตำบลหนองญาติ ผู้สืบทอดงานบุญประเพณีบุญข้าวหลามบ้านดงโชค   ร่วมกับชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ  ออกมาร่วมแรงร่วมใจกัน นำไม้ไผ่บ้าน  มาร่วมสืบสานงานประเพณีบุญข้าวหลามบ้านดงโชค  ซึ่งถือเป็นประเพณีโบราณ ที่ชาวบ้านดงโชค ร่วมกันสืบสานมานานกว่า 50 ปี และเป็นแห่งเดียวของ จ.นครพนม  โดยเมื่อถึงเดือนธันวาคม ใกล้ถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือเดือน 1 ของชาวอีสาน ชาวบ้านจะพากันบอกบุญเอาไม้ไผ่ ตามไร่นามาบริจาค  เพื่อนำมาตัดเป็นกระบอกข้าวหลาม ตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน  พร้อมแผ่บุญข้าวสาร มะพร้าว น้ำตาล เพื่อนำมาปรุงแต่ง  ก่อนนำไปกรอกลงกระบอกไม้ไผ่ หรือชาวบ้านเรียกว่า ข้าวหลาม  ก่อนนำไปเผาไฟ  แล้วนำมาแจกจ่ายให้ชาวบ้าน ที่มาร่วมงาน รวมถึงนำไปทำบุญถวายพระ ในช่วงเทศกาลปีใหม่  ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าหากใครได้มาร่วมทำบุญเผาข้าวหลามถวายพระ จะถือเป็นสิริมงคล และทำให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุขตลอดปี  และในปีนี้ถือเป็นพิเศษกว่าทุกปีชาวบ้านได้ทำสถิติโดยจะทำข้าวหลามมากกว่าทุกปีถึง 2,556  บั้ง    และต้องใช้เวลาเผา 3 วัน 3 คืน
 
         นายณรงค์  แสงเมือง อายุ 54 ปี  อดีตกำนันตำบลหนองญาติ ผู้สืบทอดงานบุญประเพณีบุญข้าวหลามบ้านดงโชค  กล่าวว่า  สำหรับงานบุญประเพณีบุญข้าวหลามบ้านดงโชค ถือเป็นแห่งเดียวของ จ.นครพนม ที่ตนและชาวบ้าน ได้ร่วมกันจัดสืบทอดกันมาทุกปี  โดยเมื่อถึงใกล้เทศกาลปีใหม่ ชาวบ้านในหมู่บ้าน จะรวบรวมลูกหลาน ที่อยู่ในหมู่บ้าน หรือที่กลับมาจากต่างจังหวัด  เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันทำข้าวหลาม ตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน   เริ่มจากการนำไม้ไผ่มาตัดเป็นกระบอก และกรอกด้วยข้าวสาร ปรุงแต่งจากน้ำกะทิ น้ำตาล เพิ่มรสชาติ ก่อนนำไปเผาไฟ  ซึ่งถือเป็นบุญประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้าน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน หรือผู้ที่มาร่วมทำบุญ  ที่สำคัญจะได้นำไปถวายพระทำบุญในช่วงเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นการบูชาพระแม่โพสพ  ที่จะทำให้ชาวบ้านมีความอยู่เย็นเป็นสุข และเป็นสิริมงคลตลอดปี
 
         สำหรับข้าวหลาม ถือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน ที่หารับประทานยก โดยจะใช้วิธีนำข้าวสารที่ผ่านการแช่น้ำ และปรุงแต่งรสชาติ มากรอกลงกระบอกไม้ไผ่  ก่อนนำไปเผาไฟให้สุก ซึ่งจะต้องใช้ความชำนาญมากในการเผา หากไฟแรงไปก็จะทำให้ไหม้ อ่อนไปก็จะไม่สุก  แต่ชาวบ้านมีความชำนาญจึงสามารถรู้ได้ว่าข้าวหลามบั้งไหนสุก สามารถนำมารับประทานได้  ด้วยการใช้วิธีนำไม้ปลายแหลมไปเสียบลงไปในกระบอกข้าวหลาม หากดึงแล้วข้าวข้างในเหนียว ติดขึ้นมากับไม้  แสดงว่าสุกแล้ว  ส่วนข้าวหลามจะมีลักษณะเด่นคือ เมื่อสุกแล้วจะมีความหอมอร่อยจากการเผา  สำคัญที่สุดไม่เพียงได้นำข้าวหลามที่มีรสชาติหอมอร่อยแล้ว ยังสามารถนำไปทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคล ตลอดจนเป็นการสร้างความสามัคคีให้กับชาวบ้านในชุมชน ได้มีโอกาสมาพบปะร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานประเพณีสำคัญของหมู่บ้านที่สืบทอดมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภายหลังจากเดินทางไปทำงานต่างถิ่น  ให้ลูกหลานได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษในหมู่บ้าน  เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานต่อไปในอนาคต   ทำให้ชาวบ้าน รวมถึงลูกหลานได้เดินทางมาร่วมงานประเพณีบุญข้าวหลามบ้านดงโชคทุกปี  ในช่วงเทศกาลปีใหม่  โดยในปีนี้พิเศษทำมากถึง 2,556  บั้ง  รับปีพุทธศักราชใหม่ เพื่อนำไปทำบุญ และแจกจ่ายให้ประชาชนตามหมู่บ้านใกล้เคียงได้รับประทาน






เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน