ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




สุขุมพันธุ์ ยันบริสุทธิ์ปมสัญญา รถไฟฟ้า'บีทีเอส'
สุขุมพันธุ์  ยันบริสุทธิ์ปมสัญญา รถไฟฟ้า'บีทีเอส'
วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ.2556


           วันที่ 2 ม.ค. เวลา 16.00 น. ณ ห้องเจ้าพระยา กทม.  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม.แถลงกรณีที่เป็นข่าวในสื่อสารมวลชนว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีหมายเรียกผู้บริหาร กทม. บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไปรับแจ้งข้อกล่าวหาในโครงการที่กรุงเทพมหานครดำเนินการให้มีการเดินรถไฟฟ้า เป็นเวลา 30 ปี (คดี BTS) ว่า “ร่วมกันประกอบกิจการรถรางโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”

           ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ขอยืนยัน ต่อประชาชนชาวกรุงเทพฯ ว่า ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตระหนักอยู่เสมอว่า ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ ให้มาทำหน้าที่รับใช้และบริหารงานกรุงเทพมหานคร การดำเนินการทุกอย่าง ทุกประการ เป็นไปและมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารของกรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อประชาชน ซึ่งก็มีหลายองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ  อาทิ ป.ป.ช., ส.ต.ง. เป็นต้น โดยกรุงเทพมหานครได้ให้ความร่วมมือด้วยดีตลอดมา เพราะกรุงเทพมหานครเข้าใจดีว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้น

           สำหรับกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ อ้างว่าการดำเนินการโครงการจ้างเดินรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร มีการกระทำความผิดและจะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และผู้บริหารบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวม 11 คนนั้น เพื่อความชัดเจนต่อสาธารณชน ขอเรียนดังนี้

     1. ก่อนดำเนินการโครงการนี้ ได้ตรวจสอบข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนจนมีความชัดเจนแล้วจึงดำเนินการ และขอยืนยันว่า การดำเนินการของกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่การต่อสัมปทาน แต่เป็นสัญญาว่าจ้างโดยใช้ทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร  ซึ่งรายได้ทั้งหมดจากโครงการจะตกเป็นของกรุงเทพมหานคร  เป็นการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา 281 และ มาตรา 283  ตลอดจน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
       ส่วนที่อ้างว่า กรุงเทพมหานคร ฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 นั้น ความจริงก็คือ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยในหลายเรื่องหลายครั้งว่า กิจการที่กำหนดตามประกาศของคณะปฏิวัติ รวมทั้งกิจการการเดินรถรางนั้น  ใช้บังคับเฉพาะสำหรับกรณีการอนุญาตหรือการให้สัมปทานแก่เอกชนเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งหลักกฎหมายนี้ มีระบุไว้ชัดเจน ตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายเรื่องเช่น เรื่องเสร็จที่ 252/2525  เรื่องเสร็จที่ 398/2535 และเรื่องเสร็จที่ 532/2546 ซึ่งเอกสารทั้งหมดกรุงเทพมหานครได้จัดส่งให้คณะกรรมการคดีพิเศษทั้งสองชุด รวมทั้งส่งให้เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว

      2. ผู้บริหารกรุงเทพมหานครมิได้กังวลต่อการตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย และทราบดีว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 หากมีกรณีที่ข้าราชการการเมืองถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น  องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ โดยการไต่สวนและชี้มูลหรือไม่ชี้มูลความผิด ก็คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามมาตรา 19 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และมาตรา 250 และมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  รวมทั้งมาตรา  21/1 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547  แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงไม่มีอำนาจสอบสวน รวมถึงการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง และเป็นบุคคลตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ฯ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  ซึ่งเรื่องนี้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 32/2550 รองรับอยู่แล้ว

      3. ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเสนอกระทรวงมหาดไทย ให้บอกเลิกสัญญาที่กรุงเทพมหานครดำเนินการในเรื่องนี้นั้น  เป็นประเด็นที่กระทรวงมหาดไทย น่าที่จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะเหตุผลที่กล่าวมา กรุงเทพมหานครยืนยันว่า ได้ดำเนินการในทุกประการโดยถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในกรณีที่กระทรวงมหาดไทยจะด่วนบอกเลิกสัญญาตามข้อเสนอของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ไม่มีสัญญาว่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร และหาก BTSC หยุดการเดินรถ
      ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการดังกล่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีข้อพิรุธชวน ให้สงสัยในความบริสุทธิ์ใจมาตั้งแต่แรก ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร จึงตัดสินใจว่า จะส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมตรวจสอบว่า การดำเนินการของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา  200

       โดยกรุงเทพมหานคร จำเป็นต้องใช้สิทธิ์ในการดำเนินการตามกฎหมายกล่าวโทษ ผู้เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงคณะกรรมการคดีพิเศษที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อศาลอาญาทันที ที่ได้รับเอกสารจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะถือได้ว่า การกระทำผิดสำเร็จ

       ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยได้กลับเข้าสู่สภาวะความเที่ยงธรรมตามหลักนิติธรรมในการบริหารบ้านเมืองที่ดี โดยกล่าวในตอนท้ายว่า “ผมเชื่อมั่นในกระบวนการของกฎหมาย แต่ไม่เชื่อมั่นในคน”.

 







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน