ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




กสท.ไฟเขียว แจกคูปองทีวีดิจิตอล เผยมะกันทำมาแล้ว

 

กสท.ไฟเขียว แจกคูปองทีวีดิจิตอล เผยมะกันทำมาแล้ว

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556 


 

             เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า บอร์ด กสท.ได้มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 1 เสียง และอีก 1 เสียงไม่ได้มาเข้าประชุม เห็นด้วยกับแนวคิดของคณะอนุกรรมการ กสท.ด้านการเปลี่ยนผ่านดิจิตอล ผ่านการออกคูปองเงินสนับสนุนการซื้ออุปกรณ์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากทีวีอนาล็อกสู่ทีวีในระบบดิจิตอล โดย 1 เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการคือนายธวัชชัย จิตภาษ์นันท์ กรรมการ กสท.ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ได้ให้เหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับหลักการในการใช้คูปองสนับสนุน ที่ผูกติดกับราคาตั้งต้นการประมูลทีวีดิจิตอล ส่วนอีก 1 เสียงที่ไม่ได้มาเข้าประชุม คือ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสท.ด้านการกำกับดูแลผังเนื้อหาและรายการโทรทัศน์ ที่ติดภารกิจต่างประเทศ

           พ.อ.นทีกล่าวว่า บอร์ดเห็นด้วยใน 4 หลักการ ประกอบด้วย 1.การใช้เงินที่ได้จากการประมูลใบอนุญาตเพื่อขอใช้คลื่นความถี่กิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ในกลุ่มช่องธุรกิจจำนวน 24 ช่อง ที่ประกอบด้วย ช่องแบบปกติ 1 ช่อง และความคมชัดคุณภาพสูง (เอชดี) ในการออกคูปองสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี 2.การสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในครั้งนี้ได้ 3.เพื่อความคล่องตัวในการใช้คูปองสนับสนุน กำหนดให้ตัวคูปองสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดในการซื้ออุปกรณ์ที่สามารถใช้ในการรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ อาทิ โทรทัศน์ที่สามารถจูนเนอร์สัญญาณในระบบดิจิตอลได้ และ 4.กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลช่องรายการทีวีดิจิตอลต้องนำเงินที่ชำระค่าประมูลไปใช้เพื่อการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุนยูโซ่

     "สาเหตุที่เรากำหนดให้ต้องนำเงินส่วนหนึ่งของราคาค่าประมูลไปสนับสนุนค่าซื้ออุปกรณ์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของประชาชน เพราะคิดว่าคลื่นความถี่นั้นเป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติ เมื่อประมูลแล้วได้เงินก็ควรนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่กลับคืนสู่ประชาชน ซึ่งแนวคิดนี้ถือว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ทำ เพราะในต่างประเทศได้ใช้วิธีนี้หลายประเทศแล้วเช่นกัน เช่น สหรัฐอเมริกา ตอนเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีได้มีการออกคูปองสนับสนุนค่าซื้ออุปกรณ์แก่ประชาชนเช่นกัน ในอัตราครัวเรือนละ 2 ใบ ที่ราคาราว 30-40 ดอลลาร์ต่อใบ (1,200 บาท)" พ.อ.นทีกล่าว

            พ.อ.นทีกล่าวว่า สำหรับเงินที่ได้จากการประมูลนั้น ทาง กสทช.จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 นำไปเข้าในกองทุนยูโซ่ และส่วนที่ 2 นำไปสนับสนุนค่าเปลี่ยนผ่านอุปกรณ์ในระบบทีวีดิจิตอล โดยราคาเงินสนับสนุนในคูปองเทคโนโลยี จะมีมูลค่าเท่ากับอัตราราคาตั้งต้นการประมูลโดยรวมของในกลุ่มช่องธุรกิจทั้ง 20 ช่องปกติ และ 4 ช่องเอชดี หารด้วยจำนวน 22 ล้านครัวเรือนที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมูลค่าเงินสนับสนุนในคูปองคาดจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งข้อมูลราคามูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริงของทีวีดิจิตอลส่งมายัง กสท.ในช่วง 1-2 เดือนต่อจากนี้ ส่วนการแจกคูปองน่าจะเริ่มออกให้ประชาชนได้หลังประมูลเสร็จ และผู้ชนะการประมูลนำเงินค่าประมูลมาชำระยัง กสทช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการประมูลจะเริ่มต้นในช่วงปลายไตรมาส 2 หรือเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมกันทั้ง 24 ช่อง

          รองประธาน กสทช.กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นพร้อมรับข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน ภายหลัง กสทช.ได้ออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลทีวีดิจิตอลเป็นที่เสร็จสิ้น ทั้งนี้ เรื่องการออกคูปองขณะนี้เป็นเพียงแค่แนวนโยบายเท่านั้น เมื่อออกตัวประกาศหลักเกณฑ์การประมูลเสร็จสิ้นจึงสามารถรับทราบรายละเอียดที่แน่ชัดกว่านี้ของตัวคูปองได้ เช่น ราคาเงินในคูปอง หรือวิธีการแจกคูปองให้ถึงมือประชาชน แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าการออกหลักเกณฑ์ทั้งหมดจะเสร็จสิ้นเมื่อใด แต่จะเกิดขึ้นก่อนการประมูลอย่างแน่นอน

         "ตอนนี้ผมยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าราคาค่าคูปองจะมีเท่าใด จะถึงครึ่งของราคากล่องรับสัญญาณ หรือเต็มจำนวนของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลซึ่งปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ราว 800-1,000 บาท หรือไม่ เพราะต้องรอราคาตั้งต้นการประมูลออกมาก่อน แต่เชื่อว่าทั้ง 24 ช่องรายการที่จะจัดประมูล จะสามารถประมูลออกไปได้ครบทั้งหมดอย่างแน่นอน ส่วนราคาประมูลจะมากกว่าราคาตั้งต้นเยอะหรือไม่นั้น ไม่ได้กังวลแต่อย่างใด" พ.อ.นทีกล่าว 

           พ.อ.นทีกล่าวว่า จะนัดประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล รวมทั้งผู้ผลิตและจัดจำหน่ายโทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณในระบบดิจิตอลได้ ทั้งหมดจะต้องมาหารือร่วมกันอีกครั้งถึงความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุน ไปจนถึงแนวทางการจะนำเข้าหรือการผลิตในประเทศ นอกจากนี้ กสท.ยังได้มีการหารือร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในการกำหนดมาตรฐานกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถผลิตในรูปแบบเดียวกันเพื่อจัดจำหน่ายและใช้งานได้เหมือนกันทั่วทุกภูมิภาค จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกล่องรับสัญญาณมีจำนวนถูกลง จากการที่ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยการผลิตจำนวนที่มากขึ้น เพื่อประชาชนจะสามารถซื้อกล่องได้ในราคาถูกลง 

             พ.อ.นทีกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ บอร์ด กสท.ยังได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช.อีก 2 เรื่องด้วย ประกอบด้วย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และเรื่องหลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของช่องรายการรายหนึ่งต้องแบ่งให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถขอเช่าเวลาออกอากาศได้ไม่น้อยกว่า 20% และไม่เกิน 40% ของช่วงเวลาทั้งหมด โดยทั้ง 2 ร่างประกาศ กสทช.ทาง กสท.จะนำส่งเข้าบอร์ด กสทช. เพื่อพิจารณาอีกครั้งก่อนการนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

 








เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน