ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ให้ออกครูดนตรีไทยราชภัฏทำอนาจารลูกศิษย์

ให้ออกครูดนตรีไทยราชภัฏทำอนาจารลูกศิษย์

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ.2556




               กรรมการสิทธิฯจี้กระทรวงศึกษาฯสร้างกลไกป้องกันละเมิด ทางเพศในมหาวิทยาลัย หลังพบสถิติสูงขึ้นแต่เรื่องถูกปิดเงียบ เพราะกลัวเสียชื่อเสียง หลังผลสำรวจจากโพลระบุว่านักเรียนหญิง 75% ถูกละเมิดทางเพศโดยครูพลศึกษา เตรียมทำเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้เกิดการตระหนักและปลอดการล่วงละเมิด ด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏสมเด็จเจ้าพระยาให้ออกครูดนตรีไทยที่กระทำอนาจารลูกศิษย์

                เรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย ที่หลายคนยังถูกปกปิดเงียบ จนต้องมีการจี้ให้ขับเคลื่อนการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เรื่องดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. มีการเสวนาเรื่อง “การจัดการสถานการณ์ละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย” โดยมูลนิธิสร้างความ เข้าใจเรื่องสุขภาพเพศหญิง (สคส.) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยมอนทาน่า จากสหรัฐอเมริกา ร่วมสะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไข ซึ่งเห็นว่าการละเมิด ทางเพศในมหาวิทยาลัยจากอาจารย์กับลูกศิษย์และนักศึกษาด้วยกันเองมีมากขึ้น แต่ไม่ถูกเปิดเผยเพราะ กลัวเสียชื่อเสียง ประกอบกับวัฒนธรรมไทยยังมีความทะลึ่งตึงตัง ตลกโปกฮาจนมองข้ามการละเมิด ทางแก้ไขจึงต้องชัดเจน โดยศึกษาแนวทางจากมหาวิทยาลัยมอนทาน่า ที่มีกฎระเบียบและกลไกในการช่วยเหลือและเก็บความลับผู้ถูกกระทำ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยของไทย โดยเฉพาะการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย และควรสร้างกลไกให้มีกฎระเบียบ หรือกฎหมายชัดเจน เพราะขณะนี้มีเพียงกฎ กพ. ที่มีผล กับข้าราชการพลเรือนเท่านั้น

              รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผอ.สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การละเมิดทางเพศมีมากขึ้น แต่คนไทยยังสับสนคำว่า “คุกคามทางเพศ” และ “ละเมิดทางเพศ” มอง กันว่าการคุกคามเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะการละเมิดเกิดทั้งทางวาจา กอดจูบ ลูบไล้ ไปจนถึงพยายามข่มขืน ข่มขืนสำเร็จ นอกจากในสถานศึกษายังมีเกิดขึ้นทุกพื้นที่ แม้แต่ในวัดก็มีการละเมิด แม้ว่ายังไม่มีการเก็บสถิติที่ชัดเจน แต่ถ้า ดูจากข่าวที่รวบรวมไว้จะเห็นว่าตลอด 10 ปี มีเพิ่ม มากขึ้น แต่สถานศึกษากลัวเสียชื่อจึงเก็บเงียบไว้ เมื่อเกิดปัญหามักมีการตั้งคำถามในทางลบกับนักศึกษาที่ถูกกระทำ ที่จริงการถูกโลมเลียด้วยสายตาหื่น ก็ ถือว่าเป็นการละเมิด แม้ไม่ผิดกฎหมายอาญา แต่ผิดวินัย ปัจจุบันมีกฎ กพ. ปี 2553 ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศ ระบุไว้ชัดเจน นอกจากการสัมผัสทางกาย การวิพากษ์วิจารณ์ พูดหยอกล้อ หยาบคาย ใช้สายตาลวนลามล้วนเป็นการคุกคามทางเพศ แต่กฎนี้ยังมีข้อเสีย เพราะใช้ได้กับข้าราชการพลเรือนในกระทรวงเท่านั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล หรือครู ซึ่งมีผลสำรวจ จากโพลระบุว่า นักเรียนหญิง 75% ถูกละเมิดทางเพศ โดยครูพละศึกษามากที่สุด อาจเพราะต้องมีการถูกเนื้อต้องตัวกัน

            “เชื่อว่าในมหาวิทยาลัยมีการละเมิดมากกว่าโรงเรียน แต่กลัวเสียชื่อจึงถูกปิดเงียบ ประกอบกับ เมื่อเกิดเรื่องขึ้น เหยื่อมักถูกตีตราล่วงหน้า จากการตั้งคำถามในทางลบ ในปี 2550 มหาวิทยาลัยแห่ง หนึ่งเคยไล่อาจารย์ออก เพราะละเมิดทางเพศนักศึกษา ด้วยการให้อมนกเขาแลกเกรด แต่นักศึกษาไม่ยอมจนตกเป็นข่าวครึกโครม หลังจากนั้นหลายมหาวิทยาลัย มีการออกจรรยาบรรณ แต่เน้นเฉพาะอาจารย์กับศิษย์ จริงๆไม่ถูกต้อง เพราะเหตุอาจเกิดกับใครก็ได้ จึงต้องมีการจัดการและมีบทลงโทษอย่างจริงจัง เหมือนในต่างประเทศมีการป้องกันการละเมิดทางเพศชัดเจน ให้เห็นว่าการละเมิดคืออะไร ผิดอย่างไร มีการป้องกัน มีกระบวนการร้องทุกข์ชัดเจน แต่ในมหาวิทยาลัยของไทยยังไม่มีการทำเรื่องนี้” รศ.ดร.กฤตยา กล่าว

              นางวิสา เบญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับแจ้งการกระทำรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นการละเมิดทางเพศในปี 2554 จำนวน 2.5 หมื่นราย ในปี 2555 จำนวน 2.7 หมื่นราย เพิ่มสูงขึ้น คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนและติดตามตรวจสอบการละเมิดทางเพศมากขึ้น โดยพบว่ามีนักเรียนหญิงถูกละเมิดมากที่สุด ทั้งครูกระทำกับเด็ก คนพิการถูกครูล่วงละเมิด ผู้หญิงถูกแพทย์ล่วงละเมิด ถูกกระทำโดยนักการเมืองท้องถิ่น นักกฎหมาย และถูกผู้บังคับบัญชารวมทั้งมีนักศึกษาดนตรีรายหนึ่ง ถูกทหารละเมิดทางเพศถึง 20 คน แต่ในมหาวิทยาลัยแม้จะมีการละเมิดเกิดขึ้น แต่ยังไม่พบการร้องเรียนเข้ามาเพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง การเปิดศูนย์ร้องเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนกรรมการสิทธิฯ จะมีการทำเอ็มโอยูความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ มีการออกค่ายนักศึกษา โดยนำนักศึกษาจาก 7 มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมทำในเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เกิดความตระหนัก และจะพยายามผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมความเสมอภาคให้เปลี่ยนจากคำว่าคุกคามทางเพศเป็นละเมิดทางเพศ เพราะการคุกคามเหมือนยังไม่ถูกกระทำ รวมทั้งจะมีการร่างประมวลจริยธรรมของสำนักงานกรรมการสิทธิ เพื่อให้เกิดการตระหนักและให้ปลอดจากการละเมิดในทุกระดับ

             วันเดียวกัน นางบังอร เสรีรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณี นักศึกษาคณะครุศาสตร์ แจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีนายกฤษดา สุขสำเนียง อายุ 38 ปี อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ สาขาศิลปกรรมศึกษา แขนงดนตรีไทย ข้อหาล่อลวงและกระทำอนาจาร เมื่อเดือน ต.ค.2555 และมหาวิทยาลัยฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่ามีมูลความผิดจริง จึงเห็นควรให้มีบทลงโทษนายกฤษดาโดยการให้ออก ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้ทีมนักกฎหมายพิจารณารายละเอียดข้อมูลให้รอบคอบ ก่อนที่จะแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบและดำเนินการตามผลการพิจารณา คาดว่าน่าจะสรุปผลข้อมูลชัดเจนและแจ้งให้ทราบภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน