ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ผลกระทบค่าจ้าง300 บาท ตกงานแค่หลักพัน

ผลกระทบค่าจ้าง300 บาท ตกงานแค่หลักพัน 


 
            วันนี้ (16 ม.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร  มีนายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ทั้งนี้ได้พิจารณาเรื่องการติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล โดยเชิญนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และ นายเอนก สิริวิชช์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)มาชี้แจง

              นายสมเกียรติ กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าแรงเมื่อเดือนเม.ย.2555พบว่ามีการจ้างงานขยายตัว 9.5ล้านคนคิดเป็นอัตราการขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีเพราะว่าในเดือนพ.ย.และธ.ค.การจ้างงานขยายตัวถึง 3% ส่วนภาพรวมของการเลิกจ้างประมาณ 5,000-8,000คน ซึ่งถือว่าเป็นระดับปกติสำหรับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 15 ม.ค.56 ได้รับรายงานว่ามีการเลิกจ้างประมาณ 1,000คน แบ่งเป็นการเลิกจ้างจากสาเหตุค่าแรง 300 บาทจำนวน 435คน และจากสาเหตุอื่นๆ 598 คน จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังไม่มีอะไรผิดปกติ เพียงแต่มีข่าวการเลิกจ้างบ่อยครั้งขึ้นเท่านั้น โดยข้อมูลการเลิกจ้างที่เราได้มายังไม่มีความสมบูรณ์จนกว่าจะถึงสิ้นเดือนม.ค.ไปแล้วเพื่อให้ตัวเลขของการรับเงินทดแทน ดังนั้น ตัวเลขอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่บ้าง

              ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า จากการติดตามประสิทธิภาพในด้านแรงงานหลังจากปรับเพิ่มค่าแรง 300 บาทช่วงเดือนเม.ย.55พบว่าอยู่ในระดับ 6-12% จากเดิม 2% ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสาเหตุที่ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นก็มาจากการปรับตัวของผู้ประกอบการด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตมากขึ้น และสิ่งที่กังวลคือถ้าขึ้นค่าจ้างแล้วแต่ควบคุมค่าครองชีพไม่ได้ การขึ้นค่าจ้างก็จะไม่มีประโยชน์ โดยเกณฑ์เงินเฟ้อเวลานี้ยังเป็นปกติอยู่แต่จะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

              ด้านนายเอนก กล่าวว่า ปัญหาค่าแรงเกิดมานานแล้วและขณะนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ในกลุ่มของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกำลังรอคอยกองทุนเยียวยาอยู่ เพราะสภาวะของเอสเอ็มอี (SME)ที่ผ่านมาตั้งแต่เจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมเรียกได้ว่าเซไปเรียบร้อยแล้วและไม่รู้ว่าจะจบลงตรงไหน หลังจากยังไม่มีความคืบหน้าจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง

              "เราไม่ไหวแล้วเพราะแหล่งเงินทุนก็ไม่มี มันไม่ทันการแล้ว ที่ผ่านมามีหลายคณะทำงานบอกว่าได้ทำการศึกษาไม่ได้หยุดเลยก็จริงแต่ถามว่า 1 ม.ค.ผ่านมาถึงวันที่ 16 ม.ค.แล้วยังมีปัญหาอยู่ ทุกอย่างต้องเป็นมติคณะรัฐมนตรี ฝากว่าช่วยกันต่อเถอะครับ ตอนนี้พวกเราก็ต้องต่อสู้เพราะเออีซีก็จะมาแล้ว ตรงนี้มันติดขัดอะไรตรงไหนผมก็ไม่รู้ และการจะฟื้นขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเพราะแต่ละพื้นที่ก็มีขนาดไม่เท่ากัน" นายเอนก กล่าว.







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน