ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




จุฬาฯเวนคืน"21ไร่" อุเทนถวายยื่นทบทวน

จุฬาฯเวนคืน"21ไร่" อุเทนถวายยื่นทบทวน

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2556
 
 
           เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 15 มีนาคม กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวายรวมตัวภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย โดยมีกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน หรือกองร้อยน้ำหวาน 30 คน ตั้งจุดตรวจค้นอาวุธ และคนเข้าออก มีเครื่องสแกนตรวจจับอาวุธตั้งอยู่บริเวณทางเข้า โดยยึดอาวุธมีดได้บางส่วน นอกจากนั้น ยังมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างพยายามขี่เข้าไป แต่เมื่อพบตำรวจคอยตรวจค้นอยู่ก็เร่งเครื่องหนีไปด้วยความรวดเร็ว 

            นายสืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กล่าวว่า การรวมตัวของศิษย์เก่าอุเทนถวายวันนี้ ได้พูดคุยกับเหล่าศิษย์เก่าและนักศึกษาอุเทนถวาย แล้วว่าให้ชุมนุมอย่างสงบ เพื่อแสดงจุดยืนที่จะขออยู่ที่เดิมต่อ ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีที่ดินมากมายเป็น 100 ไร่ กับพื้นที่ของอุเทนถวาย แค่ 21 ไร่ เพื่อให้จัดการเรียนการสอน ก็ไม่น่ามีปัญหา โดยจะขอเช่าพื้นที่ต่อจากจุฬาฯ อย่างไรก็ตาม การชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อ และไม่วุ่นวายแน่นอน หากเกิดความวุ่นวาย ไม่น่าจะใช่นักศึกษาอุเทนถวาย เพราะได้กำชับแล้วว่าให้ชุมนุมอย่างสงบ 

           ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวาย 50 คน ยื่นหนังสือต่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่วิทยาเขตอุเทนถวาย และขอให้ตั้งอยู่ที่เดิม โดยนายพงศ์เทพออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมกล่าวว่า ประเด็นที่นักศึกษามายื่นหนังสือ เป็นประเด็นที่ตรงกับผู้บริหารอุเทนถวายได้เคยมาหารือ ทั้งนี้ ข้อสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไรขอพิจารณาในข้อกฎหมายต่างๆ ก่อน 

            เวลา 11.30 น. นักศึกษาอุเทนถวายได้ชี้แจงเส้นทางเดินขบวนให้เจ้าหน้าที่รับทราบเพื่อขอให้อำนวยความสะดวก โดยยืนยันไม่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน และจะใช้พื้นที่เกาะกลางหน้าสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์ ขณะเดียวกัน จะยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงจุฬาฯด้วย

            จากนั้น เวลา 12.00 น. ที่อาคารจามจุรี 3 จุฬาฯ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ พร้อมคณะผู้บริหาร เปิดแถลงข่าวว่า มีความกังวลใจ และห่วงใยสวัสดิภาพของนิสิต 40,000 คน และ

           บุคลากรจุฬาฯ ประมาณ 8,000 คน แต่จะไม่ปิดทำการจนกว่าจะได้รับการยืนยันถึงสถานการณ์จากตำรวจ ขณะเดียวกัน เชื่อว่าแนวทางในการแก้ปัญหา ต้องมีการเจรจาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ ศธ. จุฬาฯ และอุเทนถวาย โดยเชื่อว่าหากอุเทนถวายมีที่ใหม่ที่ดีกว่าเดิม และใกล้กับภาคอุตสาหกรรมน่าจะยินดีขยับขยาย อย่างไรก็ตาม นายพงศ์เทพได้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความห่วงใย โดยคิดว่าแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือการเจรจาเท่านั้น ส่วนข้อเสนอของอุเทนถวายว่าจะเช่าที่เดิมต่อนั้น คงต้องเจรจาต่อไป ยืนยันและเคยบอกตลอดเวลาว่า ไม่ได้ให้อุเทนถวายย้ายออกทันทีมองด้วยความเห็นใจ ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีเคยมีมติไปแล้วว่าจะหาสถานที่ที่เหมาะสมให้อุเทนถวาย 

           ผู้สื่อข่าวถามว่า หากต่างฝ่ายต่างเห็นว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ใครจะเป็นผู้ชี้ขาด นพ.ภิรมย์กล่าวว่า เรื่องประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และใครก็มีสิทธิที่จะใช้ข้อความตอนหนึ่งตอนใดมาเป็นประวัติศาสตร์ได้ แต่การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ก็ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานหลักฐาน จากจุฬาฯและอุเทนถวายอย่างรอบคอบแล้ว โดยใช้เวลาพิจารณาถึง 2 ปี 

           ต่อมาเวลา 13.00 น. กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวาย ประมาณ 2,000 คน ได้เดินขบวนโดยใช้พื้นที่บริเวณถนนพญาไทขาเข้า ฝั่งด้านหน้าจุฬาฯ มายังบริเวณหน้าสำนักงานอธิการบดี และอาคารสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ โดยใช้รถบรรทุกติดตั้งเครื่องกระจายเสียงปราศรัย ขณะที่นักศึกษากว่า 2,000 คน ตั้งแถวชูป้ายข้อความต่างๆ เป็นต้น โดยนักศึกษายืนเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ และเปิดช่องทางให้รถสัญจรไปมาบนท้องถนนได้ 2 ช่องทาง ทำให้การจราจรไม่ติดขัดมากนัก ทั้งนี้ ตลอดแนวถนนที่นักศึกษาอุเทนฯเดินผ่านนั้น มีตำรวจคอยดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด 

            จากนั้น ตัวแทนศิษย์เก่าและนายลิขิต จิตประวัติ นักศึกษาชั้นปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะนายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ตัวแทนศิษย์ปัจจุบัน เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมในกรรมสิทธิ์ที่ดินของอุเทนถวาย โดยมี นพ.เจษฎา แสงสุพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารจุฬาฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ 

           ทั้งนี้ นายลิขิตกล่าวว่า มาขอความเป็นธรรมในกรรมสิทธิ์ที่ดินของอุเทนถวาย เพราะเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมาจำนวนมาก ดังนั้น อยากให้จุฬาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาเอกสารทางด้านประวัติศาสตร์ที่นำมายื่นครั้งนี้

            ด้าน นพ.เจษฎากล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะบริหารจุฬาฯ และจะศึกษารายละเอียดประวัติศาสตร์ตามเอกสารที่ทางอุเทนถวายได้ยื่นมา

           สำหรับบรรยากาศในการชุมนุมนั้น ตัวแทนอุเทนถวายได้ปราศรัยว่าจุฬาฯ และอุเทนถวายอยู่ร่วมกันมานานกว่า 80 ปี และที่ดินดังกล่าว

           อุเทนถวายได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และอุเทนถวายได้ตั้งอยู่ตรงนี้มาตลอด ไม่เคยย้ายไปที่อื่น อุเทนถวายและจุฬาฯเป็นเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกัน ส่วนกรณีที่จะให้อุเทนถวาย ย้ายบ้านไปอยู่ที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการนั้น ก็ยินดีไป หากจุฬาฯจะไปร่วมพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยอยากให้จุฬาฯคำนึงถึงสัดส่วนพื้นที่การจัดการศึกษากับพื้นที่การค้าใหม่ และให้สัดส่วนเหมาะสม ไม่ใช่เอาแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ และยืนยันว่าจะไม่ย้ายออกจากตรงนี้เด็ดขาด 

          จากนั้นเวลา 14.40 น. กลุ่มศิษย์เก่าฯได้ประกาศยุติการชุมนุมและได้ขอให้ผู้บริหารจุฬาฯ พิจารณาข้อเรียกร้องที่อุเทนถวายนำมาเสนอ หากยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ครั้งต่อไปอุเทนถวายก็จะยกระดับการชุมนุมเพื่อยืนยันในข้อเรียกร้องเดิมต่อไป 
 
 

 








เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน