ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




ปัญหาการจัดการศึกษาของไทย

 ปัญหาการจัดการศึกษาของไทย

นำเสนอโดยทีมงาน www.legendnews.net

 การศึกษาในประเทศไทย

 

          อะไรคือปัญหาการจัดการศึกษาของไทย ที่ทำให้ความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ในภาพรวมแล้ว พบว่ามีอุปสรรคปัญหาสำคัญอยู่ ปัญหาใหญ่ๆ โดยจะกล่าวถึงต่อไปนี้และมีแนวทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร 1. ปัญหาครูอาจารย์ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาของไทยส่วนใหญ่ ยังขาดความเข้าใจว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงนั้นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างถึงรากถึงโคน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและแตกต่างไปจากเดิม เช่น การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีทำงาน ของผู้บริหารการศึกษาและครูอาจารย์ เปลี่ยนแปลงหลักสูตร วิธีการสอนแบบบรรยายให้ผู้เรียนท่องจำไปสอนแบบครูเป็นผู้ชี้แนะ ช่วยให้เด็กรักการอ่าน การใฝ่เรียนใฝ่รู้ รู้จักที่จะเรียนด้วยตนเอง คิดวิเคราะห์ ทดลอง ลงมือปฏิบัติ แต่การปฏิรูปการศึกษาของไทยในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านกลับถูกตีความหมายว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร และวิธีการทำงานของครูอาจารย์ตาม กฎหมาย นโยบาย คำสั่ง และคำชี้แนะต่างๆจากบนลงล่าง การที่จะให้คนในองค์กรไม่ว่าครูอาจารย์ ผู้บริหารทุกระดับในกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิรูปการศึกษาหรือปฏิรูปตนเองเป็นไปได้ยากและมีข้อจำกัดหลายประการ เนื่องจากมนุษย์เราโดยทั่วไป มีความเคยชินกับวิถีชีวิตเดิม ไม่อยากเปลี่ยนแปลง มักคิดแบบเข้าข้างตนเองว่าตนเองทำถูกแล้วหรือทำดีอยู่แล้ว ถึงแม้จะมีคนในองค์กร บางคนที่มีความคิดก้าวหน้า วิเคราะห์องค์กรตัวเองแบบวิพากษ์วิจารณ์ได้และสนใจที่จะปฏิรูปตัวเองและองค์กรของตัวเองอยู่บ้าง แต่ก็มักเป็นคนส่วนน้อยที่มีอำนาจและบทบาทที่จำกัดทำให้มี การวิเคราะห์ได้จำกัดไปด้วย ไม่เหมือนกับให้คนนอกที่เป็นกลางไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องเข้ามา ช่วยวิเคราะห์ ทำให้นักปฏิรูปภายในองค์กรมักจะมองการปฏิรูปในเชิงภาคปฏิบัติจากส่วนที่ตัวเองทำได้ และมักจะเปลี่ยนแปลงแบบเล็กน้อย ค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าที่จะมองปัญหาเชิงโครงสร้างที่ ต้องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน หรือเปลี่ยนทั้งระบบ ในขณะที่คนนอกจะมีโอกาสมองได้กว้างขวางกว่าและวิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่า การปฏิรูปการศึกษาที่ได้ผลในประเทศอื่นมักจะมาจากแรงผลักดันภายนอกองค์กรโดยอาศัยประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการศึกษาที่เข้มแข็ง เป็นผู้นำในการปฏิรูปการศึกษา บางประเทศมีการตั้งคณะกรรมมาธิการแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่ประกอบด้วย คนนอกกระทรวงศึกษาและไม่ใช่ข้าราชการประจำ มาเป็นคณะผู้นำในการปฏิรูป เพราะเขาเห็นว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในระดับชาติ ไม่ใช่การปรับปรุง เล็กน้อยในระดับกระทรวง รวมทั้งยังมีแรงผลักดันจากผู้ปกครอง นายจ้าง นักเรียนนักศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้นำทางสังคม ที่ตระหนักว่าการปฏิรูปการศึกษาคือความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงคุณภาพคนครั้งใหญ่ เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศได้อย่างแท้จริง สำหรับในประเทศไทยในช่วงเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษาราวปี พ.ศ.2540-2544 มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ที่เป็นองค์กรต่างหากจากหน่วยงานประจำในกระทรวงศึกษาธิการ และมีคณะกรรมการมาจากหลายฝ่ายแต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นนักการศึกษาที่มาจากมหาวิทยาลัยในระบบราชการ องค์กรนี้ได้เน้นการปฏิรูปในเชิงเสนอกฎหมายใหม่และเมื่อดำเนินการร่างกฎหมายเสร็จ องค์กรนี้ก็ยุติบทบาทไปไม่มีคนอื่นนอกจากผู้บริหารกระทรวง ศึกษาธิการ ที่จะมาคอยติดตามประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา ส่วนนักการเมืองของไทยนั้น ส่วนใหญ่จะสนใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ/ธุรกิจแบบเน้นการเจริญเติบโตของสินค้าและบริการ มองการศึกษาเป็นแค่เครื่องมือในการรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพื่อการแสวงหากำไรสูงสุดของเอกชนมากกว่าจะสนใจการพัฒนาคนทั้งประเทศ ให้มีความรู้และคุณธรรมเพื่อแก้ไขและพัฒนาสังคมได้อย่างแท้จริง พวกเขามักคิดว่าการจัดการศึกษาแบบแพ้คัดออก คัดคนส่วนน้อยมาเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อไปทำงานรับใช้ระบบเศรษฐกิจก็ดีอยู่แล้ว ทำให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไปมองการศึกษาเป็นเพียงบันไดในการหางานทำ และเลื่อนฐานะทางสังคมไม่ได้มองการศึกษาอย่างวิพากษ์วิจารณ์ หรือถึงบางคนจะคิดบ้างแต่ก็ไม่รู้สึกรุนแรงมากพอที่จะเป็นฝ่ายเรียกร้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้แต่ภาคธุรกิจเอกชนก็ยังไม่มีการรวมพลังเข้ามาช่วยผลักดันการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบอย่างจริงจัง อาจเป็นเพราะนักธุรกิจ นักบริหารของไทยโดยทั่วไปแล้วยังคิดอยู่ในกรอบผลประโยชน์ส่วนตัวและองค์กรของตนมากกว่าที่จะมีวิสัยทัศน์คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศในระยะยาวอย่างมุ่งมั่น ทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำได้โดยการลดขนาดและบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการลง ด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และองค์กรอื่นๆเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นแทน จากการวิจัยและประเมินผลของ สมศ.และ หน่วยงานพบว่า นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดโดยโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักเรียนของสถาบันการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาโดยให้เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นๆจัดการศึกษาเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น จะช่วยส่งเสริมให้มี การแข่งขันของสถานศึกษา ทำให้การปฏิรูปการบริหารจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนเป็นไปได้เร็วขึ้น รวมทั้งการลดอำนาจและบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนกลางลง โดยกระจาย อำนาจไปให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถาบันการศึกษาโดยตรงเพิ่มขึ้น ให้เสรีภาพองค์กรอื่นๆในการ จัดตั้งสถาบันการศึกษา ให้สถานศึกษากำหนดหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้ สมศ.ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนเป็นผู้ประเมินและรับรอง มาตรฐานของสถาบันการศึกษาและให้ข้อมูลข่าวสารต่อผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการแข่งขันในด้านคุณภาพ และรัฐต้องเพิ่มงบประมาณให้สถาบันการศึกษาขนาดกลางและขนาดเล็กในจังหวัดและ อำเภอรอบนอก ส่งเสริมให้ครูอาจารย์มีแรงจูงใจในการไปทำงานโรงเรียนรอบนอกเพิ่มขึ้นเพื่อยกระดับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ในเมือง นอกจากนี้แล้วต้องปฏิรูประบบงบประมาณให้รัฐสามารถจ่ายเงินอุดหนุนให้สถานศึกษาแบบอื่นๆ ได้อย่างยืดหยุ่นคล่องตัวด้วย







เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน