ReadyPlanet.com
dot dot
dot

dot
ตราครุฑ




มีบุตรยาก แก้ง่าย การแพทย์ช่วยได้ ด้วย IVF

มีบุตรยาก แก้ง่าย การแพทย์ช่วยได้ ด้วย IVF

 

นำเสนอโดยทีมงาน www.legendnews.net

มีบุตรยาก แก้ง่าย การแพทย์ช่วยได้ ด้วย IVF

สำหรับคำว่าครอบครัวแล้ว ความสมบูรณ์แบบคงเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจาก “ลูก” จิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคู่ แต่ก็ใช่ว่าทุกครอบครัวจะสมปรารถนาดังที่หวัง โดยเฉพาะในปัจจุบัน ปัญหาคู่สมรสที่มีบุตรยากนั้นนับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญมาจากหลายปัจจัย ทั้งจากปัญหาร่างกาย ความเครียดจากการทำงาน และอายุที่มากขึ้นของคู่สมรส ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยต่อเติมความฝันของครอบครัวให้สมบูรณ์ได้ ด้วยการทำ IVF หรือ ที่เราทุกคนคุ้นหูกันดีว่า “เด็กหลอดแก้ว”

สภาวะแบบไหน ถึงเข้าข่าย “มีบุตรยาก”

พญ.นพรัตน์ ไชยบูรณะพันธ์กุล สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้อธิบายถึงภาวะของการมีบุตรยากว่า หมายถึง ภาวะที่คู่สามี-ภรรยาไม่สามารถมีบุตรได้ เมื่อมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ได้คุมกำเนิดในระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือน ซึ่งพบได้ประมาณ 10-20% โดยภาวะมีบุตรยาก ยังสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ชนิดปฐมภูมิ หมายถึง คู่ที่ยังไม่เคยมีลูกมาก่อนเลย
  2. ชนิดทุติยภูมิ หมายถึง คู่ที่เคยมีบุตรแล้ว แต่ไม่สามารถมีได้อีก

ทั้งนี้ ความสม่ำเสมอในการมีเพศสัมพันธ์นั้น ควรอยู่ในช่วง 2-3 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งหากไม่ได้คุมกำเนิด จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากถึง 50% ภายใน 5 เดือน และหากยังคงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอโอกาสในการตั้งครรภ์ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หากภายหลัง 1 ปีไปแล้ว ยังไม่ตั้งครรภ์ นั่นถือเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าคู่สมรสคู่นั้นๆ กำลังประสบกับปัญหาภาวะการมีบุตรยาก

มีบุตรยาก เพราะใคร “ผู้ชาย” หรือ “ผู้หญิง”

น่าจะเป็นคำถามที่คู่ชีวิตหลายๆ คู่ มีความสงสัยเกิดขึ้นในจิตใจ ว่าการที่ทั้งสองไม่สามารถมีลูกได้นั้น สาเหตุเกิดมาจากใครกันแน่ เป็นความผิดปกติของฝ่ายชาย หรือ ฝ่ายหญิง ซึ่งแท้จริงแล้ว ภาวะมีบุตรยากนั้น อาจไม่ได้เกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่อาจเกิดจากความผิดปกติที่ทั้ง 2 คนมีร่วมกันก็ได้ โดยเราสามารถ จำแนกถึงสาเหตุหลักๆ ของภาวะมีบุตรยากได้ ดังนี้

  1. ฝ่ายหญิงมีความผิดปกติ โดยอาจมีภาวะไข่ไม่ตก ท่อรังไข่อุดตัน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีพังผืดในช่องเชิงกราน หรือที่ปีกมดลูก มีเนื้องอกในมดลูก เป็นต้น
  2. ฝ่ายชายมีความผิดปกติ โดยเชื้ออสุจิอาจมีปริมาณน้อยเกินไป อ่อนแอ มีรูปร่างที่ไม่สมบูรณ์ หรืออาจมีภาวะเป็นหมัน ถึงขั้นอาจไม่มีเชื้ออสุจิ
  3. ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใดทั้งชายและหญิง แต่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก โดยอาจเป็นเพราะภาวะการเจริญพันธุ์ของทั้งคู่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งพบว่ามีถึงกว่าร้อยละ 15 ของคู่สมรสภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ

อย่างไรก็ดี พญ.นพรัตน์ ไชยบูรณะพันธ์กุล สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลพญาไท 3 แนะนำให้คู่สมรสทุกคู่ ที่สงสัยว่าคู่ของตนกำลังตกอยู่ในภาวะมีบุตรยากหรือไม่ เข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อหาถึงสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางของการแก้ไขปัญหาต่อไป

ตรวจอย่างไร ถึงรู้ว่า “มีบุตรยาก”

เมื่อคู่สมรสเกิดความสงสัยในภาวะมีบุตรยาก และตัดสินใจเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ ในเบื้องต้น ศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก โรงพยาบาลพญาไท 3 มีแนวทางการตรวจวินิจฉัย คือ

  1. ทำการสอบถามประวัติทางการแพทย์ของทั้งสองฝ่าย เช่น ประวัติการมีประจำเดือนในฝ่ายหญิง ประวัติเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติครอบครัว
  2. ทำการตรวจร่างกายทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง รวมทั้งการตรวจภายในฝ่ายหญิง ว่ามีความผิดปกติเบื้องต้นหรือไม่
  3. ทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหาสาเหตุเพิ่มเติมตามสิ่งที่แพทย์ตรวจพบและดุลยพินิจของแพทย์ โดยจำแนกการการตรวจแบ่งเป็น ชาย – หญิง ดังนี้

    แนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการฝ่ายชาย
    • ตรวจความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิในฝ่ายชาย ซึ่งควรงดการหลั่งก่อนวันตรวจอย่างน้อย 2 วัน
    • ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนเพศชาย
    • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    แนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการฝ่ายหญิง
    • ตรวจภายใน เพื่อหาความผิดปกติของระบบอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
    • ตรวจความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ และการทำงานของรังไข่ โดยดูจากระดับฮอร์โมนเพศหญิง
    • ตรวจอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกราน เพื่อดูลักษณะความเหมาะสมหรือผิดปกติของ มดลูก และรังไข่

ปัญหาภาวะมีบุตรยาก เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ เพียงแต่เราจำเป็นต้องหาสาเหตุที่แน่ชัดให้พบ ดังนั้น การเข้ารับการตรวจสภาพร่างกายทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จึงเป็นก้าวแรกของทางออกที่สำคัญ ที่จะทำให้ความฝันในการมีบุตรของทุกคู่เป็นความจริงขึ้นมาได้

เทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อ “ผู้มีบุตรยาก”

เมื่อคู่สามี-ภรรยานั้นได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะมีบุตรยาก แพทย์ที่ทำการดูแลจะมีการประเมินเพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการรักษา ซึ่งเทคโนโลยีการช่วยการเจริญพันธุ์ที่ใช้บ่อยในปัจจุบันมี 3 วิธี ได้แก่

มีบุตรยาก

  1. การผสมเทียม IUI (Intra-uterine insemination) คือการฉีดเชื้ออสุจิที่ผ่านกระบวนการเตรียมตัวเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง ในช่วงเวลาที่มีการตกไข่ เพื่อให้อสุจิและไข่ได้ทำการปฎิสนธิกันเองภายในร่างกาย โดยแพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้ในกรณีที่ฝ่ายชายควรจะมีตัวอสุจิที่เคลื่อนไหวดีมากกว่า 10 ล้านตัว และฝ่ายหญิงต้องมีท่อนำไข่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง
  2. การทำเด็กหลอดแก้ว IVF (In Vitro Fertilization) หรือการปฎิสนธิภายนอกร่างกาย เป็นกระบวนการรักษาที่จะนำเซลล์ไข่จากฝ่ายหญิง และเซลล์อสุจิจากฝ่ายชายมาปฎิสนธิกันภายนอกร่างกาย และทำการเลี้ยงตัวอ่อนอยู่ภายนอกร่างกายเป็นเวลา 3 – 5 วัน และคัดเลือกตัวอ่อนที่คุณภาพดี ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวต่อไป
  3. การทำกิ๊ฟ (Gamete Intra-Fallopian Transfer: GIFT) คือ การนำไข่และเชื้ออสุจิที่ได้จากคู่สมรส กลับไปใส่ที่ท่อนำไข่ของฝ่ายหญิง เพื่อเพิ่มโอกาสความสามารถในการปฏิสนธิที่บริเวณท่อนำไข่ และไข่ที่ผสมแล้ว เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน และเดินทางกลับไปฝังตัวที่โพรงมดลูกต่อไป ดังนั้นฝ่ายหญิงต้องมีท่อนำไข่ที่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง อัตราการตั้งครรภ์จากการทำกิ๊ฟแต่ละครั้งประมาณ 20-30% ขึ้นอยู่กับอายุฝ่ายหญิง (อายุน้อย ผลการรักษาดี กว่าอายุมาก), ความผิดปกติภายในอุ้งเชิงกรานฝ่ายหญิง, และความแข็งแรงของเชื้ออสุจิ

ในปัจจุบันกระบวนการทำ IVF นี้ ถือว่าเป็นวิธีที่มีอัตราการตั้งครรภ์สูง คือประมาณ 30 – 50% แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนและมีปัจจัยของความสำเร็จหลายๆอย่างที่ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์อย่างเหมาะสม

IVF ทำอย่างไร? แก้ข้อสงสัยแบบเจาะลึก

การทำ IVF ( In Vitro Fertilization ) หรือเด็กหลอดแก้ว เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้คู่สมรสที่มีบุตรยาก สามารถมีบุตรได้ โดยเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเหลือภาวะการเจริญพันธุ์ที่ได้ผลดีกว่าการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยยา หรือการผ่าตัดแบบสมัยก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ผู้ป่วยถูกคัดเลือกมาเป็นอย่างดีว่ามีความเหมาะสมสำหรับวิธีการนั้นๆ การรักษาด้วย IVF นั้นได้มีการพัฒนาจนมาถึงจุดที่แพทย์สามารถเสนอให้เป็นทางเลือกแรกสำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยากได้ เนื่องจากไม่มีสาเหตุใดที่เป็นข้อห้ามสำหรับการทำ ท้ายที่สุดแล้วการทำการรักษาด้วย IVF ยังเป็นเสมือนเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยสาเหตุของการมีบุตรยาก โดยจะช่วยให้สามารถมองเห็นกระบวนการเจริญเติบโตของตัวอ่อนแต่ละระยะได้เป็นอย่างดีที่สุดด้วย

3 ขั้นตอน IVF Easy Steps to understand

พญ.นพรัตน์ ไชยบูรณะพันธ์กุล สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้สรุปหลักในการทำ IVF ให้เข้าใจง่ายได้ ด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ

  1. นำไข่และเชื้ออสุจิมาปฏิสนธิกันภายนอกร่างกาย
  2. รอให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตถึงให้แข็งแรงถึงระยะที่เหมาะสม
  3. นำตัวอ่อนที่ได้กลับเข้าไปฝังในโพรงมดลูก

มีบุตรยาก

ทั้งนี้ ในกระบวนการเชิงลึกของ 3 ขั้นตอนหลักข้างต้น จะมีส่วนสำคัญอยู่ที่ การเก็บไข่ของฝ่ายหญิง เหตุก็เพราะการทำ IVF เป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย เชื้ออสุจิของฝ่ายชายไม่มีความยุ่งยากในการเรียกเก็บ หากแต่ไข่ของฝ่ายหญิงนั้น มีกระบวนการที่ซับซ้อนมากกว่า โดยสามารถอธิบายถึงขั้นตอนต่างๆของการเก็บไข่ ได้ดังนี้

การกระตุ้นไข่ : สามารถทำได้โดยการให้ Human chorionic gonadotropin (HCG) ซึ่งจะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการสุกอย่างสมบูรณ์ของเซลล์ไข่ โดยจะทำการฉีด HCG ให้เมื่อไข่โตได้ขนาดที่ต้องการ และจะสามารถทำการเจาะไข่ได้ภายใน 34–36 ชั่วโมงหลังจากนั้น

การกระตุ้นไข่ตก : ปัจจุบันการเจาะไข่ทางช่องคลอดร่วมกับการทำอัลตราซาวด์นั้น เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และช่วยให้สามารถเก็บเอาเซลล์ไข่ออกมาได้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่นๆ เนื่องจากจำนวนครั้งที่ใช้เข็มเจาะผ่านเข้าไปในผิวรังไข่น้อยกว่า ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงและปริมาณการเสียเลือดจากผิวรังไข่ที่ไหลออกมาสู่ช่องท้องได้มากกว่า

การตรวจอัลตราซาวด์: วิธีการหลักในการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของไข่นั้นทำได้โดยการตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจอัลตราซาวด์ในครั้งแรกนั้นจะกระทำภายหลังจากเริ่มฉีดยากระตุ้นไข่ไปแล้ว 7 วัน และจะทำการตรวจซ้ำขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งในแต่ละครั้งที่ทำการตรวจ แพทย์จะตรวจดูรังไข่ทั้งสองข้าง รวมทั้งมดลูกและจำนวนของไข่ในรังไข่แต่ละข้างก็จะถูกตรวจสอบและวัดขนาดอย่างละเอียด

การเจาะเก็บไข่ : เมื่อจะเริ่มทำการเจาะเก็บไข่ จะมีการใช้ยาระงับความรู้สึกชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อให้หลับไปเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะทำการเจาะ แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อให้มองเห็นรังไข่และอวัยวะในอุ้งเชิงกรานในระหว่างการเจาะและใช้เข็มเจาะไข่เจาะผนังช่องคลอดเข้าไปยังรังไข่ จากนั้นจึงดูดเอาเซลล์ไข่ออกมาสู่หลอดทดลอง เซลล์ไข่จะถูกนำออกมาทำความสะอาดในน้ำยาสำหรับเพาะเลี้ยง และจะถูกนำไปเก็บไว้ในตู้อบที่จะช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ 37 องศาเซลเซียสตลอดเวลา การเจาะไข่ผ่านทางช่องคลอดนั้นเป็นวิธีการที่ปลอดภัย ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใดและสามารถตื่นฟื้นคืนสติได้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น การเจาะไข่มักใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที และอาจนอนพักเป็นเวลาเพียงหนึ่งถึงสองชั่วโมงก่อนกลับบ้านในวันนั้น การเก็บตัวอย่างเชื้ออสุจิ สามีของผู้ป่วยจะถูกขอให้ทำการเก็บตัวอย่างเชื้ออสุจิให้ ซึ่งจะกระทำในวันเดียวกับการเจาะไข่ น้ำอสุจิที่หลั่งออกมาได้จะถูกเก็บไว้ในภาชนะพลาสติกที่ไม่เป็นพิษต่ออสุจิและสะอาดปราศจากเชื้อโรค ตัวอย่างอสุจิที่เก็บได้จะถูกนำไปวิเคราะห์ก่อนนำไปเตรียมเพื่อการทำ IVF การเตรียมอสุจินั้นปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี แต่ทุกวิธีมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ คัดกรองเอาน้ำอสุจิ ส่วนประกอบทางเคมี ตัวอสุจิที่ตายและผิดปกติ และเซลล์อื่นๆออกไปให้หมด ซึ่งจะคงเหลือไว้เพียงตัวอสุจิที่ปกติ มีชีวิต และเคลื่อนไหวได้ อยู่ในน้ำยาเพาะเลี้ยง

การให้ฮอร์โมน Progesterone เสริม : เพื่อป้องกันการสร้างฮอร์โมน Progesterone ไม่เพียงพอ จึงได้มีการให์ฮอร์โมน Progesterone เสริม โดยจะเริ่มให้ในตอนเย็นของวันที่ทำการเจาะเก็บไข่หรือในเช้าวันรุ่งขึ้น ยาที่ใช้โดยทั่วไปจะใช้เหน็บเข้าไปยังช่องคลอด ซึ่งยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป การเหน็บยาฮอร์โมน Progesterone จะกระทำต่อเนื่องไปจนได้รับผลการตรวจการตั้งครรภ์ หากผลแสดงว่าไม่ตั้งครรภ์ก็จะหยุดการเหน็บยาได้ และรอบเดือนก็จะมาภายในสองสัปดาห์หลังจากนั้น แต่ถ้าหากผู้ป่วยตั้งครรภ์ ก็จะต้องทำการเหน็บยาต่อไปจนกระทั่งอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์

ทั้งนี้ กระบวนการทำเด็กหลอดแก้วใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 4-6 สัปดาห์จึงจะสมบูรณ์ โดยหลังการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกประมาณ 2 สัปดาห์แพทย์จะนัดมาตรวจเลือดเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยกระบวนการ IVF ไม่ได้สามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้ในอัตราสำเร็จเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังต้องขึ้นอยู่กับอีกหลายๆ ปัจจัย อาทิ ความแข็งแรงของเชื้ออสุจิ ความผิดปกติของท่อนำไข่ และลักษณะของอุ้งเชิงกรานในฝ่ายหญิง เป็นต้น

ผู้ป่วยแบบไหน เหมาะกับ IVF

ผู้ที่เหมาะสมจะรับการรักษาด้วยวิธิการนี้ ได้แก่ผู้ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์มานานกว่าสองปี และควรตัดสินใจเข้ารับการรักษา ก่อนที่อายุของฝ่ายหญิงจะกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการรักษาได้ ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้เทคนิคอื่นๆร่วมด้วย เช่นในรายที่ไม่มีอสุจิจากการหลั่งปกติอาจต้องทำการผ่าตัดชิ้นเนื้อจากอัณฑะ เพื่อนำตัวอสุจิจากเนื้อเยื่อที่ได้มาทำการปฏิสนธิกับไข่ หรือในรายที่มีจำนวนอสุจิน้อยมาก อาจต้องทำการช่วยปฏิสนธิร่วมด้วย เป็นต้น

ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่าการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำ IVF และเทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์ต่างๆนั้น ได้ผลดีมากกว่าการรักษาด้วยยา หรือการผ่าตัดแบบสมัยก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ผู้ป่วยถูกคัดเลือกมาเป็นอย่างดีว่ามีความเหมาะสมสำหรับวิธีการนั้นๆ การรักษาด้วย IVF นั้นได้มีการพัฒนาจนมาถึงจุดที่แพทย์สามารถเสนอให้เป็นทางเลือกแรกสำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยากได้ เนื่องจากไม่มีสาเหตุใดที่เป็นข้อห้ามสำหรับการทำ ท้ายที่สุดแล้วการทำการรักษาด้วย IVF ยังเป็นเสมือนเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยสาเหตุของการมีบุตรยาก โดยจะช่วยให้สามารถมองเห็นกระบวนการเจริญเติบโตของตัวอ่อนแต่ละระยะได้เป็นอย่างดีที่สุดด้วย ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องแปลกหากจะตรวจพบปัญหาที่ไม่ได้คาดหวังไว้ระหว่างการทำการรักษาด้วย IVF

คู่สมรสที่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธี IVFได้แก่

  • ฝ่ายหญิงมีความผิดปกติของท่อนำไข่ตีบหรือตันทั้งสองข้าง
  • ฝ่ายหญิงมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานมาก และรักษาด้วยการผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล
  • ฝ่ายหญิงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และรักษาภาวะนี้แล้วด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล
  • เชื้ออสุจิฝ่ายชายคุณภาพไม่ดี ซึ่งรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้
  • ภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ

ผลสำเร็จในการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ อายุของฝ่ายหญิง คุณภาพของไข่ จำนวนของอสุจิ ทารกที่เกิดมานั้นอาจมีโอกาสเกิดความพิการไม่แตกต่างจากการตั้งครรภ์ธรรมชาติ ถึงแม้กระบวนการทำ IVF นี้ ถือว่าเป็นวิธีที่มีอัตราการตั้งครรภ์สูง แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจากรักษาเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยและต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์อย่างเหมาะสม

ที่มา

 

 พญ.นพรัตน์ ไชยบูรณะพันธ์กุล
สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ศูนย์สุขภาพหญิง ชั้น 2 โรงพยาบาลพญาไท 3

Phyathai Call Center 1772



แพทย์ วิสัญญี เภสัชกร ยาแผนปัจจุบัน การดูแลผู้ป่วย สาระน่ารู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ

ควรทานยาปฏิชีวนะให้ครบ
ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
โรคฉี่หนู
อย่ากินแอปเปิ้ลไซเดอร์ถ้าไม่รู้ 4.5 ข้อนี้ article
ผิวดำง่ายมากเกิดจาก 6 ข้อนี้ article
กินอาหารแล้วอ้วนจริงหรือ article
เอ็นข้อศอกอักเสบ เกิดจากอะไร? article
เจาะลึกกระบวนการ 'ทดลองยาในคน' article
กว่าจะเป็นยา ต้องผ่านขั้นตอน อะไรบ้าง? article
5 โรคร้ายรักษาง่ายๆด้วย ข้าวกล้อง article
เคล็บลับนอนหลับง่ายๆโดยไม่ต้องใช้ยา article
5 อาหารไขมันสูงยิ่งกินยิ่งผอม article
มือชา รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
กระดูกพรุน รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
เท้าปุก คืออะไร? รักษาอย่างไร? article
กระดูกสันหลังเสื่อม รักษาอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
ปวดหลังร้าวลงขา นั่งไม่ได้ รักษาอย่างไร? article
โรคท้องผูก ลำไส้ทำงานอย่างไร? เข้าใจทุกประเด็นในคลิปนี้ article
การรับมือกับโรคมะเร็ง article
โรคหลอดเลือดหัวใจในหนุ่มสาว article
การจัดการโรคไตเรื้อรัง และสิ่งที่เชื่อผิดๆ article
น้ำดื่มบำรุงไต ไม่อยากฟอกไตต้องดู article
5 ความเชื่อผิดๆที่ทำให้ลดน้ำหนักไม่มีวันสำเร็จ article
7 วิธีควบคุมความดันโดยไม่ต้องพึ่งยา article
3 เทคนิคลดความอ้วน “#ไม่ต้องออกกำลังกาย” article



เว็บไซต์ www.legendnews.net ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการคัดลอกหรือเปลี่ยนเป็นชื่อเว็บของท่าน