เผยรธน.ใหม่ ไม่มีคปป.แน่ เสร็จแล้วกว่า 60%

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เรียบเรียงโดยทีมงาน www.legendnews.net
ให้‘องค์กร’ที่มีอยู่ ทําแทนเมื่อมีทางตัน
ชำแหละการทำงานข้าราชการ “หม่อม-เหลน” อดีตปลัดสำนัก นายกฯ และอดีต ผวจ.หลายจังหวัด ชี้ชัดขาดเอกภาพ ไร้ทีมเวิร์ก ทำงานแบบตัวใครตัวมัน ไม่สนองนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน จวกยับมิติความคิดเลือกทำงานให้เฉพาะบางรัฐบาล ส่งผลประเทศชาติหยุดชะงัก เผยเตรียมปรับผังรายการช่อง 11 เน้นใช้ภาษาชาวบ้านเข้าใจง่ายตามบัญชานายกฯ กรธ.ย้ำไม่มีแนวคิดตั้งองค์กรพิเศษคล้าย คปป. แต่ติดดาบเพิ่มอำนาจให้องค์กรที่มีอยู่ใช้ผ่านทางตัน หวัง รธน.ฉบับใหม่จะใช้ได้ยาวนานถึงลูกหลาน ยืนกรานเขียนกันอย่างอิสระ ไม่มีใครมาบังคับขู่เข็ญ ขณะที่ฝ่ายต่างๆยังแทงความเห็นผ่านสื่อถึงหู กรธ. ทั้งให้สร้างกลไกป้องกันเสียงข้างมากเป็นเผด็จการรัฐสภา เขียนอำนาจพิเศษที่จะให้บางองค์กรใช้ผ่านทางตันให้ชัดเจน พร้อมแนะอย่าตัดสิทธิ์การถอดถอน-เสนอ ก.ม.ของประชาชน
สืบเนื่องจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกระทรวงต่างๆ ในช่วงเดือน เม.ย. 59 หลังจากเข้ามาบริหารประเทศครบ 2 ปี โดยพุ่งเป้าประเมินผลงานข้าราชการ ความประพฤติ รวมทั้งความพึงพอใจของประชาชน โดยโฆษกรัฐบาลขยายความเพิ่มเติมว่า นายกฯจะลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด ปรับย้ายทันที หากประเมินแล้วไร้ประสิทธิภาพ ล่าสุด รมต.ประจำสำนักนายกฯ ออกมาชำแหละปัญหาในแวดวงข้าราชการ พร้อมตำหนิแนวคิดเลือกทำงานเฉพาะรัฐบาล ไม่คิดถึงผลประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง
ปรับเกณฑ์ประเมิน ขรก.แบบเจาะลึก
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.สั่งการเร่งด่วนให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดทำข้อเสนอใหม่เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกระดับ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่า เข้าใจว่าต้องการกำหนดตัวชี้วัดการทำงานข้าราชการให้กระชับมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถอธิบายทุกบริบทในการทำงานเรื่องต่างๆได้ ฉะนั้นคิดว่า ก.พ.และก.พ.ร.จะต้องกำหนดการประเมินให้ลึกไปกว่าเดิม อาจลงไปในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อย และกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ ขั้นสูง
ชี้ปัญหาทำงานตัวใครตัวมัน–เกียร์ว่าง
ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ปัญหาการทำงานของข้าราชการ ที่ผ่านมาส่วนหนึ่งพบว่ายังไม่เป็นทีมเวิร์กที่ดี ขาดความเป็นเอกภาพ อย่างการทำงานในส่วน ภูมิภาคต้องมาดูว่าคานอำนาจกับท้องถิ่นหรือไม่ ต้องร่วมกันทำงาน ไม่ใช่ไปอวดเบ่งกับท้องถิ่น และต้องมีตัวชี้วัดที่เหมาะสม ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเพราะที่ผ่านมาผู้ปฏิบัติระดับล่างไม่ได้ขับเคลื่อนสนองนโยบายรัฐบาลเท่าที่ควรหรือไม่ ม.ล.ปนัดดาตอบว่า คิดว่าใช่ เพราะอย่าลืมว่าการขับเคลื่อนงานของทางราชการจะไปได้ราบรื่น มีประสิทธิภาพ อยู่ที่การขับเคลื่อนข้าราชการ เมื่อฝ่ายการเมือง ฝ่ายบริหาร ให้กรอบความคิดการทำงานอะไรลงไป อยู่ที่การนำไปสู่การปฏิบัติ
ฉะอย่าคิดเยอะ รัฐบาลไหนก็ต้องทำงาน
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีการมองว่าการที่รัฐบาลไม่ได้มาจากภาวะปกติ จึงยังไม่ขยับอะไรเพื่อรอไปสู่ภาวะปกติ ม.ล.ปนัดดาตอบว่า “ถ้าคิดอย่างนั้นประเทศชาติก็ไม่เดิน รัฐบาลจะเข้ามาโดยปกติหรือไม่ปกติ แต่นี่คือประเทศไทยของเรา ผลลัพธ์คือประโยชน์สุขของประชาชน ต้องช่วยกันขับเคลื่อน พูดกันมาเลยอะไรที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เก็บเงียบ กอดไว้แล้วไม่ทำ เพราะถ้าคิดแบบนี้ก็ตาย ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี”
ยกเครื่องช่อง 11 ใช้ภาษาเข้าใจง่าย
ม.ล.ปนัดดายังกล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ช่อง 11 ปรับปรุงรูปแบบและผังรายการใหม่ว่าจะเรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพูดคุยในสัปดาห์นี้ เบื้องต้นอยากปรับเปลี่ยนให้ใช้การสื่อสารที่ประชาชนเข้าใจง่ายขึ้น เริ่มตั้งแต่เช้าจนถึงเข้านอน ดูว่ามีข่าวอะไรบ้างที่ต้องอธิบายให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ไม่ใช่ข่าวที่มีแต่การฆ่าฟันกันหรือข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดวิตก เมื่อถามว่า ช่อง 11 ถือเป็นกระบอกเสียงของประชาชน เทคโนโลยีค่อนข้างสูง ทำไมถึงไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเท่าที่ควร ม.ล.ปนัดดาตอบว่า มองว่ากรมประชาสัมพันธ์ เป็นข่าวราชการส่วนใหญ่ ยึดมั่นในกรอบระเบียบวินัย ตอนนี้ก็ต้องมาคุยทำให้ข่าวเกิดความเข้าใจง่ายขึ้น แต่ต้องไม่ใช่ข่าวเท็จ หรือข่าวลวง ถ้าเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่สื่อโทรทัศน์ที่ดี
เชื่อเจตนา “บิ๊กตู่” ต้องการเร่งงาน
นายปรีชา วัชราภัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อดีตเลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า กรณีที่นายกฯจะประเมินผลงานข้าราชการนั้น เข้าใจว่าอยากทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ส่วนที่มองกันว่าเป็นเพราะข้าราชการเกียร์ว่างจำนวนมากนั้น ตรงนี้นายกฯไม่ได้ระบุ แต่เชื่อว่าท่านอยากได้งานเร็ว เพราะเวลารัฐบาลเหลือน้อยแล้ว ต้องเร่งให้เสร็จตามเวลาที่มีอยู่ เช่น สั่งการว่าเรื่องนี้จะต้องทำให้เสร็จภายใน 10 เดือน ก็ต้อง 10 เดือน ทั้งนี้การจะได้งานเร็วนั้น วิธีประเมินจะต้องทำให้เห็นผลได้ชัดเจนมากขึ้น หากมองว่าระบบเดิมมีขั้นตอนมากไป หรือวินิจฉัยไม่เด็ดขาด ก็ต้องปรับเปลี่ยน ถือเป็นสิ่งดี อย่างไรก็ตาม หากช้าราชการคนใดไม่มีผลงาน ไม่ใช่ว่าจะถูกลงโทษทางวินัย แต่จะมีผลการแต่งตั้งโยกย้าย เว้นแต่ว่ามาแต่ไม่ทำงาน เซ็นชื่อแต่ตัวไม่อยู่ อย่างนี้ถือว่าผิดวินัย
กรธ.ยันไม่สร้างองค์กรใหม่แบบ คปป.
ด้านความเคลื่อนไหวการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ดำเนินการอยู่นั้น วันเดียวกัน นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรธ.ได้พิจารณาประเด็นหลักๆไปได้หลายเรื่องแล้ว เหลืออีกเพียงไม่กี่เรื่อง เชื่อว่าจะเสร็จทันตามกำหนดแน่นอน กรณีที่สังคมเป็นห่วงว่าจะมีการตั้งหน่วยงานใหม่ลักษณะเดียวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้น หลักการของเราคือ จะไม่มีองค์กรใหม่แบบนี้ขึ้นมา จะใช้องค์กรที่มีอยู่แล้วทำหน้าที่ไป เช่น ใช้ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อมีเหตุการณ์ที่เรียกว่าถึงทางตัน มีข้อขัดแย้งทางการเมือง หรือทางรัฐธรรมนูญ ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ โดยอาจเพิ่มเครื่องมือ หรือช่องทางให้เขา เราไม่อยากไปตั้งองค์กรอะไรใหม่ขึ้นมา ถ้ายังไม่มีปัญหาอะไรก็ไม่ควรไปตั้งอะไร ก็ใช้องค์กรเดิมที่มีอยู่แล้ว เราคิดเบื้องต้นแบบนี้
ดีไซน์ รธน.หวังใช้ยาวถึงลูกหลาน
นายชาติชายกล่าวอีกว่า ส่วนทาง สปท.เราก็ให้เขาไปทำข้อเสนอในเรื่องปฏิรูปมาให้ดู โดยอาจจะเขียนเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรืออาจจะเขียนไว้เป็นแค่หลักการ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป กรธ.พยายามเขียนรัฐธรรมนูญให้สั้น อ่านแล้วไม่ใช่เหมือนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดมากมายไปหมด ยืนยันว่าเรามีความตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อชาติ ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ใคร มองความถูกต้องและเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ต่อไปด้วย ส่วนเมื่อร่างแรกเสร็จ เราก็มีหน้าที่อธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าต้องมองระยะยาว เราเขียนเพื่อไม่ให้สิ่งไม่ดีเกิดอีก เขียนเพื่อปูทางเพื่อความหลากหลาย สู้กับโลกได้ แน่นอนว่าคนเสียประโยชน์ก็ต้องด่า ตอนที่ได้ไม่ค่อยพูดแต่ที่เสียกลับมาด่าเรา
คืบหน้าแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ. และอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของ กรธ.ว่า กระบวนการทำงานของ กรธ.ขณะนี้ถือว่าเป็นไปตามแผนงานที่ได้วางกรอบไว้ด้วยความเรียบร้อยดี คืบหน้าประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว มีเพียงบางประเด็นที่ต้องไปค้นรายละเอียดเพิ่มเติม เช่นที่มา ส.ว. ซึ่งจะต้องรอฟังมติจากที่ประชุม กรธ.ก่อนว่าจะกำหนดอย่างไร รวมทั้งประเด็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะกำหนดให้มีอำนาจเพิ่มเติมหรือไม่ หรือจะควบคุมการใช้อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินให้โปร่งใสได้อย่างไร เป็นต้น
ยันไม่มีใครเอาปืนจี้ให้เขียน
“การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่รู้สึกหนักใจเลย เพราะไม่มีใครมาบังคับขู่เข็ญ เราทำงานไปตามหลักวิชาการ สิ่งใดที่เห็นว่าดีกับประเทศก็ดำเนินการไป ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องสั้น กระชับ สามารถวิวัฒนาการไปได้ด้วยตัวของมันเองในอนาคต เพราะเราไม่ได้ออกแบบเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่เราออกแบบสำหรับสิ่งที่จะใช้ในอนาคต และขอย้ำว่าร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จทันตามกรอบที่กำหนดไว้พร้อมเผยแพร่สู่สาธารณชนในวันที่ 29 ม.ค.2559 นี้แน่นอน” นายปกรณ์กล่าว
จี้ กรธ.สร้างภูมิคุ้มกันเผด็จการรัฐสภา
นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ก่อนเกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ประชาชนหลายล้านคนออกมาขับไล่รัฐบาลชุดเก่าโดยมีสาเหตุตั้งต้นมาจากรัฐสภาลงมติลักหลับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง เป็นเหตุการณ์อัปยศที่คนไทยยอมรับไม่ได้ รวมไปถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการเสียบบัตรแทนกัน ปลอมแปลงเอกสาร นั่นเป็นปรากฏการณ์ฉ้อฉลของเสียงข้างมากที่นำไปสู่ปัญหาวิกฤติครั้งประวัติศาสตร์ ดังนั้น นอกเหนือจากการเลือกตั้งด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสมเพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กได้มีพื้นที่ในสภา และมีการวางมาตรการสกัดกั้นคนโกงไม่ให้เข้ามาสู่วงจรอำนาจด้วยเงื่อนไขคุมเข้มต่างๆแล้ว รัฐธรรมนูญควรมีมาตรการจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ที่สามารถสกัดกั้นเผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมาก ควรวางแนวทางให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ให้สมาชิกพรรคเป็นเจ้าของพรรคและร่วมกันกำหนดชะตากรรมของพรรคอย่างเป็นจริงได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ใครมาสั่งการพรรคให้ซ้ายหันขวาหันตามอำเภอใจ
ต้องแก้ให้ได้ปัญหาบล็อกโหวต ส.ว.
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่ กรธ.เสนอให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อม 3 ระดับ ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ว่า ต้องดูว่าวิธีการแบบนี้มีปัญหาอยู่ตรงไหนหรือไม่อย่างไร อาจจะมีแนวโน้มทำให้เกิดการบล็อกโหวต เกณฑ์คนมาลงคะแนน หรือการซื้อเสียง ซึ่งจะกำหนดแนวทางอย่างไรให้แก้ปัญหาตรงนี้ได้ จะใช้วิธีการใดก็ตามต้องดูผลดีผลเสีย ต้องดูรายละเอียด ทั้งนี้ ตนไม่ปฏิเสธวิธีการดังกล่าว แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะได้ ส.ว.ที่เป็นอิสระจริงหรือไม่ ถ้าตอบได้ก็ไม่มีปัญหา
อย่าตัดอำนาจถอดถอนของ ปชช.
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีที่ กรธ.ตัดอำนาจถอดถอนของวุฒิสภาออก โดยจะให้องค์กรอิสระอื่นทำหน้าที่แทนว่า มีคำถามถึง กรธ.ว่าจะตัดสิทธิการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไปด้วยหรือไม่ ถ้ายังคงอยู่จะมีกระบวนการอย่างไรและองค์กรใดจะทำหน้าที่รองรับสิทธิของประชาชนตรงนี้ แต่ถ้าตัดสิทธิในส่วนนี้ของประชาชนทิ้งไป ก็จะเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนให้จองจำอยู่แค่การเลือกตั้ง สิทธิถอดถอนโดยประชาชน ถือเป็นการยกระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนให้ไปไกลกว่าการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาๆ เลือกตั้งแล้วก็แล้วกันไป ดังนั้นจึงอยากให้ กรธ.คงกลไกส่วนนี้ไว้ รวมทั้งการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน
จี้เขียนอำนาจผ่าทางตันให้ชัด
นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. กล่าวว่า เห็นด้วยที่ในร่างรัฐธรรมนูญต้องมีกลไกผ่าทางตันเอาไว้เพื่อผ่านวิกฤติไปให้ได้ ที่ กรธ.จะต้องคิดต่อไปคือ จะเขียนอย่างไรให้เหมาะสม ถ้ากำหนดให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมาแก้ปัญหาจะให้มีอำนาจอะไรบ้าง ต้องระบุให้ชัดไม่ให้เกิดการตีความเหมือนคราวที่แล้ว ที่วุฒิสภามีอำนาจ แต่ไม่ทำหน้าที่ ไม่กล้าตัดสินใจ เมื่อถามว่า ช่วงที่ กรธ.กำลังร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบทบัญญัติใช้ผ่าทางตันของบ้านเมือง ควรเชิญพรรคการเมืองเข้าให้ข้อเสนอแนะหรือไม่ นายถาวรตอบว่า เห็นด้วย หาก กรธ.เชิญทุกพรรค ทุกกลุ่มน่าจะเป็นเรื่องดี ทั้ง นปช. กปปส. พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย
หวั่นเชิญพรรคการเมืองประทับตรายาง
ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยหาก กรธ.มีแนวคิดให้ใช้องค์กรเดิมที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญมาแก้ปัญหาผ่าทางตันโดยไม่ต้องสร้างองค์กรใหม่ ถ้า กรธ.ฟังเสียงนักการเมือง นักวิชาการที่ออกมาวิจารณ์จริงๆ เขาคงได้ยินไปแล้ว ตนก็ออกมาพูดบ่อย ไม่จำเป็นต้องเชิญฝ่ายการเมืองเข้าให้ข้อเสนอแนะแบบเต็มรูปแบบ หรือเป็นทางการ เพราะถ้าเชิญจริงก็ไม่เชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองใดส่งตัวจริงไปร่วม ขนาดบรรดาคนที่ไปเป็นสมาชิก สปท.พรรคการเมือง ยังส่งแค่บุคคลที่กำลังจะวางมือทางการเมืองไปร่วมเลย หรือถ้ามีคนไปร่วมให้ความเห็นจริง แต่ กรธ.กลับไม่ฟัง พรรคการเมืองจะกลายเป็นตรายางเพิ่มความชอบธรรมให้ กรธ.อีก ดังนั้น 1.กรธ.ต้องฟังให้มาก 2.ฟังคนที่ควรฟัง เพราะถ้าฟังเยอะ แต่ไปฟังคนที่ไม่ควรฟังก็ไร้ประโยชน์
กังวลใช้ปมตัดเอกสิทธิ์ ส.ส.กลั่นแกล้ง
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กรธ.มีแนวคิดให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งควบเป็นรัฐมนตรีได้ว่า เป็นเรื่องปกติในของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ กรธ.บัญญัติแบบนี้ถูกต้องแล้ว กว่าจะมาเป็น ส.ส.ต้องผ่านการพบปะประชาชน เห็นปัญหามามาก เมื่อมีประสบการณ์มาก ส.ส.ย่อมเข้าใจปัญหาพี่น้องประชาชนได้ดีกว่ารัฐมนตรีที่มาจากวิธีอื่น ส่วนแนวคิด กรธ.ที่จะไม่ให้ ส.ส.ที่มีคดีทุจริต ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองระหว่างสมัยประชุมสภานั้น ถ้าต้องการให้นักการเมืองมีคุณธรรมและจริยธรรม ก็สามารถทำได้ แต่ที่น่ากังวลคือ ผู้มีอำนาจรัฐในขณะนั้นอาจกลั่นแกล้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน เพื่อผลโหวตกฎหมายต่างๆหรือไม่ กรธ.จึงควรคิดกลไกไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งด้วย
โพลชี้ให้มี ส.ว.150 คน–ที่มาหลากหลาย
วันเดียวกัน “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “สมาชิกวุฒิสภา” ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค. จากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คนทั่วประเทศ โดยร้อยละ 42.24 ต้องการให้วุฒิสภาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ร้อยละ 25.60 แต่งตั้ง/ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และร้อยละ 22.96 ทำหน้าที่เสนอกฎหมาย สำหรับที่มาของ ส.ว.นั้น ร้อยละ 72.16 ระบุควรมาจากทุกกลุ่ม ร้อยละ 16.32 ควรมาจากกลุ่มนักวิชาการ และร้อยละ 9.04 ควรมาจากกลุ่มอาชีพ ต่อข้อถามถึงจำนวน ส.ว.ที่คิดว่าเหมาะสม ร้อยละ 37.84 ระบุควรมี 150 คน ร้อยละ 25.76 ระบุ 200 คน และร้อยละ 25.76 เช่นกัน เห็นควรมี 100 คน เมื่อถามถึงวาระในการดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่ร้อยละ 73.84 ระบุ 4 ปี ส่วนคุณลักษณะนั้น ควรมีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับ และเป็นกลางทางการเมือง
เศรษฐกิจแย่ครองแชมป์เรื่องน่าห่วง
ขณะที่ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็น “10 เรื่องที่คนไทยเป็นห่วง ณ วันนี้” ระหว่างวันที่ 1-5 ธ.ค. จากกลุ่มตัวอย่างประชาชน 1,324 คน พบว่า อันดับ 1 ปัญหาเศรษฐกิจ การส่งออก การค้าการลงทุน 2 การบริหารประเทศของรัฐบาล เสถียรภาพทางการเมือง 3 การก่อการร้าย อาชญากรรมรูปแบบต่างๆ 4 การทุจริตคอร์รัปชัน แสวงหาผลประโยชน์ 5 ความขัดแย้งแตกแยก ขาดความสามัคคีปรองดอง 6 ระบบการศึกษา คุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทย 7 ยาเสพติด มาเฟีย ผู้มีอิทธิพล 8 ภาคการเกษตร ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย 9 ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี คุณธรรมจริยธรรม ที่เสื่อมทรามไปตามวัตถุนิยม 10 การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รอคำตอบ คสช.สางปัญหา กทม.
วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า หนังสือที่ส่งถึงหัวหน้าคสช.ไปเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.นั้น ไม่ได้ขอให้ คสช.อนุญาตให้พรรคการเมืองประชุม แต่ขอให้ คสช.ทบทวนประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินการประชุมหรือทำกิจกรรมต่างๆพร้อมแนบเหตุผลความจำเป็น 4 ประการ และถ้าหาก คสช.พิจารณาแก้ประกาศดังกล่าวก็ต้องมีการบังคับใช้กับทุกพรรคการเมืองอยู่แล้ว ส่วนมาตรการที่พรรคจะดำเนินการต่อจากนี้ จะไม่พูดอะไรล่วงหน้าถ้ายังไม่ได้คำตอบจาก คสช. สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องเรื่องของ กทม.นั้น พรรคต้องทำหน้าที่ในการติดตามการทำงาน เพราะส่งคนลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรค จึงมีความรับผิดชอบที่สำคัญในการประสานงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ถ้าจะทำอะไรที่เป็นเรื่องของพรรคอย่างเป็นทางการ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประชุมพรรค เพราะฉะนั้นต้องรอฟัง คสช.ก่อนว่าจะตอบมาอย่างไร
จี้นายกฯทวงคืนผืนป่า อ.น้ำยืน
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบโรงโม่หินของนักการเมืองระดับชาติ เข้าข่ายบุกรุกที่ ส.ป.ก.และป่าสงวนแห่งชาติ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานีว่า ล่าสุดได้รับหนังสือจากนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.อุบลราชธานี ตอบยืนยันว่ามีการลักลอบขุดดินและดินนอกเขตสัมปทานบัตรของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งจริง โดยพื้นที่ที่ลักลอบขุดหินและดินอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และอยู่ในเขต ส.ป.ก. รวมเนื้อที่กว่า 7 ไร่ ในจดหมายของผู้ว่าฯอุบลราชธานีระบุว่า มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งความร้องทุกข์แล้ว และก่อนหน้านี้นายมนต์สังข์ ภู่ศิริวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งหนังสือตอบมายังตนยืนยันว่าบริษัทของนักการเมืองใหญ่ได้รุกล้ำพื้นที่ ส.ป.ก.และป่าสงวนแห่งชาติจริง ปัญหามีอยู่ว่าเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.อุบลราชธานีและเจ้าหน้าที่ป่าไม้กล้าไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาตรงไปตรงมาหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะคุ้มครองดูแลความปลอดภัยพวกเขาได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะทวงคืนผืนป่า ท่านจะกล้าทวงคืนผืนป่าที่ จ.อุบลราชธานีจริงหรือ
“กปปส.” ยังเชื่อมือทีม ศก. “สมคิด”
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับ ครม.ว่า หากมีการปรับในขณะนี้ก็คงปรับบางตำแหน่ง หรือเป็นการหาคนใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง อาทิ กรณีองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ติดธงแดงประเทศไทย ส่วนทีมเศรษฐกิจชุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เข้ามาทำงาน ยังเห็นว่าทำได้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ตั้งแต่มีทีมเศรษฐกิจชุดนายสมคิดมีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามีปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศอยู่ ส่วนตัวยังเชื่อในการบริหารงานของรัฐบาลอยู่ ที่ผ่านมายังไม่เห็นว่าทำอะไรผิดพลาด
“ปู” เคารพคำตัดสินศาล “บ่าฮู้จะว่าใด”
วันเดียวกัน ที่ จ.เชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯพร้อมด้วยบุตรชาย ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร เดินทางไปร่วมงาน “สิงห์ขาว ม.ช. รุ่น 21 คืนถิ่น” ที่เพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้น ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ โดยร่วมทำกิจกรรมที่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับเพื่อนร่วมรุ่นที่มาร่วมงานกว่า 30 คน พร้อมมอบทุนการศึกษาให้กับรุ่นน้อง ท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่นสนุกสนาน ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่อนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อร่วมหารือกับสมาชิกรัฐสภายุโรป น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบเป็นภาษาเหนือว่า “บ่าฮู้จะว่าใด” หรือแปลว่าไม่รู้จะว่าอย่างไร เคารพการตัดสินใจของศาล เมื่อศาลท่านไม่อนุญาตก็ไม่ได้ไปร่วมงานดังกล่าว
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์