พระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เรียบเรียงข้อมูลโดย www.legendnews.net
สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ นามสกุล คชวัตร ประสูติที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ เวลาประมาณ ๑๐ ทุ่ม มีเศษ (หรือเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ นาฬิกาเศษ แห่งวันเสาร์ที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ตามที่นับแบบปัจจุบัน) พระชนกชื่อ นายน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พุทธศักราช ๒๔๖๕) พระชนนีชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พุทธศักราช ๒๕๐๘)
พุทธศักราช ๒๔๖๙ ทรงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม ( วัดเหนือ ) จังหวัดกาญจนบุรี พระครูอดุลยสมณกิจ ( พุทฺธโชติ ดี เอกฉันท์ ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆารามเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร ( สุวณฺณโชติ เหรียญ รัสสุวรรณ ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม ( วัดหนองบัว ) เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล
สมเด็จพระสังฆราช
ขณะเป็นสามเณรเจริญ คชวัตร
พุทธศักราช ๒๔๗๖ พระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี พระครูอดุลยสมณกิจ (พุทฺธโชติ ดี เอกฉันท์) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม
เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร (สุวณฺณโชติ เหรียญ รัสสุวรรณ)
เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัด หรุง
นามสกุลเซี่ยงฉี เจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อ
วันที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ อุปสมบทแล้วทรงจำพรรษา ที่วัดเทวสังฆาราม ๑ พรรษา
พระครูอดุลยสมณกิจ
พระอุปัชฌาย์เมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราช
ทรงพรรพชาเป็นสามเณร
เมื่อออกพรรษาแล้วในศกเดียวกัน ได้ทรงทำทัฬหีกรรม ( ญัตติซ้ำ ) เป็นธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ( สุจิตฺโต หม่อมราชวงศ์ ชื่น นภวงศ์ ป.๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี ( อิสฺสรณญาโณ จู ทีปรักษพันธุ์ ป.๗) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูนิวิฐสมาจาร พระอาจารย์
ผู้ให้สรณะและศีล เมื่อครั้ง
สมเด็จพระสังฆราชทรงบรรพชา
เป็นสามเณร และพระกรรมวาจาจารย์
เมื่อทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระปลัดหรุง พระอนุสาวนาจารย์
เมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราช
ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
เมื่อออกพรรษาแล้วใศกเดียวกัน ได้ทรงทำทัฬหีกรรม (ญัตติซ้ำ) เป็นธรรมยุตที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (สุจิตฺโต หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์
ป. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี (อิสฺสรญาโณ จู ทีปรักษพันธุ์ ป. ๗) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์พระอุปัชฌาย์
เมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราช
ทรงทำทัฬหีกรรมเป็นธรรมยุต พระเทพเมธี พระกรรมวาจาจารย์
เมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราช
ทรงทำทัฬหีกรรมเป็นธรรมยุต
การศึกษา
ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม จบชั้นประถม 5 (เทียบชั้นมัธยม 2) หลังจากทรงบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ทรงเรียนพระปริยัติธรรมและทรงสอบไล่ได้ชั้นต่าง ๆ เป็นลำดับมาในสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ดังนี้
พุทธศักราช ๒๔๗๒ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี
พุทธศักราช ๒๔๗๓ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม ๓ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๗๕ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๔ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๗๖ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๗๘ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๘๑ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๘๔ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค
ผลงานด้านพระนิพนธ์และการสั่งสอนของเจ้าพระคุณ
สมเด็จ ฯ ได้ให้สิ่งที่มีคุณค่าทั้งต่อวงการศึกษาและประชาชนทั่วไปอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ หลัก
หรือแนวทาง ในการศึกษาพระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติ ที่นิยมเรียกกันว่า “การปฏิบัติสมาธิ
กรรมฐาน” พระนิพนธ์เกี่ยวกับธรรมปฏิบัติของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ดังที่ได้ระบุชื่อมาแล้วใน
ตอนต้น นอกจากจะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมหรือการปฏิบัติสมาธิ
กรรมฐานแล้ว ยังให้หลักการปฏิบัติหรือแนวปฏิบัติสมาธิกรรมฐานที่ผู้สนใจทั่วไปสามารถนำ
ไปศึกษาและฝึกปฏิบัติได้ ด้วยตนเอง
คำสอนเรื่องการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานที่ทรงสอนนิสิตนักศึกษาหรือบุคลากรใน
หน่วยงานต่างๆ ดังเช่นที่ปรากฏในพระนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำสมาธิเบื้องต้น” เป็นการแสดง
ให้เห็นว่า เรื่องการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่มุ่งผลเฉพาะการบรรลุธรรมขั้นสูง
หรือบรรลุนิพพานเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สำคัญและมีประโยชน์แม้ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
เช่น การศึกษา การทำงานเป็นต้น เพราะจิตใจที่ได้รับการฝึกหัดนั้น ย่อมมีพลังที่จะระงับ
อารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ ซึ่งเท่ากับสามารถควบคุมจิตใจของตนได้นั่นเอง และย่อมมี
พลังสมาธิดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานทุกด้าน
และในรายการบริหารทางจิต ที่ทรงแสดงทางสถานีวิทยุ อส พระราชวังดุสิต ทุก
เช้าวันอาทิตย์ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปีนั้น ก็ทรงแสดงให้เห็นว่า การฝึกสมาธินั้น มิใช่
จำเป็นสำหรับผู้ใหญ่หรือว่าฝึกปฏิบัติได้เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สามารถฝึก และควร
ฝึกตั้งแต่วัยเด็ก เพราะจิตทุกระดับควรได้รับการฝึกหัด ยิ่งฝึกหัดได้มากเท่าไร ผลดีก็เกิดขึ้น
แก่ผู้ฝึกหัดมากเท่านั้น
เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงทรงเป็นผู้ริเริ่มแนะนำเผยแพร่ให้คนทุกระดับทั้งวัยเด็ก
และวัยผู้ใหญ่ สนใจฝึกหัดปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน พร้อมทั้งทรงแนะนำวิธีการฝึกหัดที่เหมาะสม
แก่คนในวัยนั้น ๆ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาจิตใจ พัฒนาจริยธรรมคุณธรรม ซึ่ง
ผลรวมก็คือการ พัฒนาชีวิตของคนทุกระดับให้ดีมีสุขขึ้น แนวพระดำริและแนวปฏิบัติดังกล่าว
นี้ก็ได้รับการสาน ต่อกระทั่งเกิดเป็นความนิยมแพร่หลายไปทั่ว ทั้งในสถานศึกษาและในหน่วย
งานต่าง ๆ ทั่วไป
แม้ว่าเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จะทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ในสมณเพศมาโดยตลอด แต่ความเป็นไปในพระชนมชีพของพระองค์สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ดีได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เพราะแก่นแท้ของชีวิตหรือว่าส่วนที่เป็นความดีของชีวิต ที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่างในการสร้างความดีให้แก่ตนเองและสังคมนั้นก็คือคุณธรรม และคุณธรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมของบรรพชิตหรือคุณธรรมของคฤหัสถ์ก็คือคุณธรรมอันเดียวกัน เช่น เมตตา กรุณา ไม่ว่าจะเป็นเมตตา กรุณา ที่มีอยู่ในจิตใจของพระหรือมีอยู่ในจิตใจของชาวบ้าน ก็เป็นเมตตา กรุณา อันเดียวกัน
พระประวัติชีวิตและผลงานของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ให้สิ่งที่มีคุณค่าควรแก่การยึดถือเป็นแบบ อย่างของคนทั่วไป อย่างน้อย ๒ ประการคือ ชีวิตแบบอย่าง และปฏิปทาแบบอย่าง
การกล่าวถึงพระคุณธรรมในชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ข้างต้นนั้น เป็นการมอง
ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในภาพรวมเช่นกับชีวิตของคนทั่วไปว่า ทรงมีอะไรบ้าง ทรงทำ
อะไรบ้าง แต่ถ้ามองชีวิตของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง ก็จะเห็นแบบอย่าง
ของชีวิตในทางธรรมที่ชัดเจนอีกภาพหนึ่ง นั่นคือ ปฏิปทาแบบอย่าง สำหรับพระสงฆ์ทั่วไป
พระปฏิปทาอันเป็นแบบอย่างดังกล่าวก็คือ
ความเป็นผู้ทรงปริยัติและไม่ทิ้งปฏิบัติ
ความเป็นผู้สำรวมระวังในพระวินัย
ความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ
ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้นก็ไม่แตกต่างไปจากชีวิตของคนทั่ว ๆ ไป คือมีทั้งผิด หวังและสมหวัง มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งดีใจและเสียใจ แต่โดยที่ทรงมีคุณธรรม หลายประการที่โดดเด่นเป็นแกนหรือเป็นแก่นของชีวิต ชีวิตของพระองค์จึงมีความสมหวัง มากกว่าผิดหวัง มีความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว และมีความดีใจมากกว่าเสียใจกล่าวโดยรวมก็คือ ด้วยคุณธรรมอันเป็นแกนของชีวิตดังกล่าวพระองค์จึงทรงประสบความสำเร็จ หรือทรง เจริญก้าวหน้าไปตามครรลองของชีวิตจนถึงที่สุด ดังเป็นที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้ หากวิเคราะห์ ตามที่ปรากฏในพระประวัติ ก็จะเห็นได้ว่า พระคุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิตของพระองค์ ก็คือ
อดทน
ใฝ่รู้
กตัญญู
ถ่อมตน
คารวธรรม
พระคุณธรรมประการแรกที่ปรากฏเด่นชัดในชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็คือ ความอดทน (ขันติ) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีพระสุขภาพอ่อนแอไม่แข็งแรงมาตั้งเยาว์วัย และมีผลสืบเนื่องมา จนถึงเมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร พระสุขภาพที่อ่อนแอนับเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน พระองค์ต้องทรงใช้ความอดทนอย่างหนักจึงสามารถผ่านพ้นอุปสรรคแต่ละขั้นตอนมาได้ ทรงเล่าว่า บางครั้งเมื่อถึงเวลาสอบ ต้องทรงใช้ผ้าสักหลาดพันรอบอกหลายชั้น เพื่อไม่ให้เกิดอาการหนาวสั่น ในเวลานั่งสอบ นอกจากจะต้องงอดทนต่อความไม่สมบูรณ์ของร่างกายแล้ว ยังต้องงอดทนต่อเสียง ค่อนแคะของเพื่อนร่วมสำนักอีกนานัปการ แต่สิ่งเหล่านี้แทนที่จะทำให้กำลังพระทัยลดน้อยลง แต่กลับทำให้ทรงรู้สึกว่าจะต้องมีความอดทนมากขึ้น
พระคุณธรรมที่โดดเด่นประการต่อมาก็คือ ความใฝ่รู้ (สิกขกามตา) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้มาโดยตลอดแม้เมื่อทรงเป็นพระมหาเถระแล้ว พระอัธยาศัยใฝ่รู้ของพระองค์ ก็ไม่เคยจืดจาง ได้ทรงแสวงหาความรู้อยู่เสมอด้วยการทรงอ่านหนังสือ ทั้งที่เป็นหนังสือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ หนังสือดีมีประโยชน์บางเรื่องที่ทรงอ่านแล้ว ยังทรงพระเมตตาแนะนำให้ ผู้ใกล้ชิดอ่านด้วย โดยมักมีรับสั่งว่า “เรื่องนี้เขาเขียนดี น่าอ่าน”
พระคุณธรรมข้อกตัญญู ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมี พระคุณธรรมข้อนี้อย่างเด่นชัด และทรงหาโอกาสสนองคุณของผู้ที่มีพระคุณต่อพระองค์ แม้เพียงเล็กน้อยอยู่เสมอ ดังเช่น เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ที่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นรูปแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะหาก ไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นรูปที่ ๑ ก็คงไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร คือพระองค์เอง เป็นรูปที่ ๒ ฉะนั้นเมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา จึงเสด็จไปถวายสักการะพระรูปสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ที่วัดราชสิทธารามเป็นประจำทุกปีตลอด
อีกกรณีหนึ่ง เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ และทรงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารใหม่ ๆ (พ.ศ.๒๕๐๔) คราวหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ ได้ทรงปรารภกับพระองค์ด้วยความห่วงใยว่า “เจ้าคุณ จะเอาวัดบวรไว้อยู่หรือ” ซึ่งหมายความว่า จะปกครองวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญทั้งมีพระเถระที่มีอาวุโสมากกว่า อยู่มากองค์ในขณะนั้นให้เรียบร้อยได้หรือ ด้วยพระปรารภดังกล่าวนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงถือว่า สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ทรงมีพระเมตตาต่อพระองค์ จึงทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราช พระองค์นั้นอยู่เสมอ เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาจึงทรงไปถวายสักการะ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น นับแต่เมื่อยังมีพระชนม์อยู่และตลอดมาจนบัดนี้
พระคุณธรรมข้อถ่อมตน (นิวาตะ) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีความถ่อมพระองค์มาแต่ต้น เพราะความถ่อมตน เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงทรงเป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ตรัสน้อย และไม่ชอบแสดงตน ดังเช่นในการสอนสมาธิกรรมฐาน พระองค์ก็มิได้แสดงพระองค์ว่าเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญกว่าใคร ๆ แต่มักตรัสว่า “แนะนำในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยกัน”
บางครั้งมีผู้กล่าวถึงพระองค์ว่า เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบจะทรงแนะว่า ไม่ควรกล่าวเช่นนั้น เพราะ “ใคร ๆ ไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น”
อีกตัวอย่างหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จทรงเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมมาตั้งแต่ทรง ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ และทรงเป็นตลอดมาทุกสมัย ในการประชุมมหาเถรสมาคม แต่ละครั้ง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ประทับเก้าอี้ท้ายแถวเสมอ กระทั่งครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยาราม ซึ่งทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมในขณะนั้น ทรงทักแบบ สัพยอกด้วยพระเมตตาว่า “เจ้าคุณสานั่งไกลนัก กลัวจะเป็นสมเด็จหรือไง”
พระคุณธรรมข้อคารวธรรม คือความเป็นผู้มีความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ คารวธรรม ประการแรกของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็คือความเคารพในพระรัตนตรัย ความเคารพในพระพุทธเจ้านั้น ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระพุทธรูปในทุกสถานการณ์ ดังเช่น ทรงแนะนำภิกษุสามเณร อยู่เสมอว่า การลงโบสถ์ทำวัตรเช้าค่ำนั้น ก็เสมือนการไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประจำวันทำให้รำลึกถึง พระพุทธคุณ จิตใจไม่ห่างไกลจากพระธรรม ข้อที่ทรงแนะนำอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธรูป ไม่ควรตั้งวางในที่ต่ำ หรือในที่ที่จะต้องเดินข้ามไปข้ามมาเป็นต้น
ความเคารพต่อพระธรรมก็ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระคัมภีร์ เช่นพระคัมภีร์ทาง พระพุทธศาสนาทุกชนิดทรงเก็บรักษาไว้ในที่สูงเสมอ ไม่เก็บไว้ในที่ที่ต้องเดินข้ามเดินผ่านเช่นกัน แม้หนังสือธรรมทุกชนิดก็ไม่ทรงวางบนพื้นธรรมดา ต้องวางไว้บนที่สูงเช่น บนโต๊ะ บนพานเป็นต้น หากทรงเห็นใครวางหนังสือธรรมบนพื้น ก็จะตรัสเตือนว่า “นั่นพระธรรม อย่าวางบนพื้น”
ความเคารพในพระสงฆ์ ก็ทรงแสดงออกโดยทรงมีความเคารพต่อ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือที่เรียกกันว่า พระกรรมฐานเป็นพิเศษ เช่นเมื่อมีพระกรรมฐานเป็น อาคันตุกะ มาสู่พระอาราม แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่าก็ทรงต้อนรับปฏิสันถารด้วยความเคารพ
พระคุณธรรมข้อนี้ที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไปก็คือ ทรงแสดงความเคารพต่อพระเถระ ผู้มีอาวุโสมากกว่าพระองค์ทุกรูป ไม่ว่าพระเถระรูปนั้นจะเป็นภิกษุธรรมดาไม่มียศศักดิ์ อะไรหากมีอาวุโสพรรษามากกว่า พระองค์ก็ทรงกราบแสดงความเคารพเสมอ เมื่อมีพระสงฆ์ จากที่ต่าง ๆ มาเข้าเฝ้า หากมีพระเถระผู้เฒ้ามาด้วย ก็จะทรงถามก่อนว่า “ท่านพรรษาเท่าไร” หากมีอายุ พรรษามากกว่า จะทรงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะและทรงกราบตามธรรมเนียมทางพระวินัย
พระคุณธรรมเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นชีวิตที่งดงามหรือกล่าวอย่าง ภาษาชาวโลกก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เป็นชีวิตที่สามารถยึดถือ เป็นแบบอย่าง ได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทาง โลกหรือชีวิตทางธรรม
ยํ ยํ ปุญฺญํ กตํ อุปจิตํ,
กาเยน วา วาจาย วา มนสา วา,
ตํ ตํ อายสฺมนฺตา นํ อาทิสฺสามิ;
สาธุ อายสฺมนฺโต ตสฺมึ ตสฺมึ ปุญฺเญ
ปฏคฺคเหตฺวา อนุโมทนฺตุ,
เตน อนุโมทนามเยน ปุญฺเญน วุฑฺฒึ
วิรุฬฺหึ เวปุลฺลํ อาปชฺชนฺตุ ฯ
บุญใด ๆ ที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว สั่งสมแล้ว
กายก็ดี วาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี,
ข้าพเจ้าขอมอบบุญนั้น ๆ ให้แก่ท่านทั้งหลาย,
สาธุ ขอท่านทั้งหลายจงรับแล้วอนุโมทนาในบุญนั้น ๆ,
เพราะบุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนานั้น ๆ
ขอท่านทั้งหลายจงประสบความเจริญงอกงามไพบูลย์ เทอญ.